คำกล่าวของผู้ประสานงานสประชาชาติประจำประเทศไทย ในวาระการสัมนาออนไลน์เรื่องจิตอาสา โดยโครงการอาสาสมัครของสหประชาชาติ (UN Volunteer)
คำกล่าวของ กีต้า ซับบระวาล ในวาระการสัมนาออนไลน์เรื่องจิตอาสา โดยโครงการอาสาสมัครของสหประชาชาติ (UN Volunteer) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2020
หลังจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ โลกของเราคงไม่มีทางที่จะ “กลับไปเป็นปรกติ” ในประเทศไทย องค์การสหประชาชาติกำลังกำหนดนิยามของ “ความปรกติใหม่” และใช้โอกาสจากการหยุดชะงักงันที่เกิดขึ้นเพราะโควิด 19 เพื่อทบทวนทิศทางการรับมือของสหประชาชาติในประเทศไทย และจุดประกายความสนใจเรื่องจิตอาสาร่วมกับโครงการอาสาสมัครของสหประชาชาติ (UNV) นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังเล็งเห็นและเน้นย้ำเช่นเดียวกันว่า ภาวะปรกติใหม่นี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป และการระดมอาสาสมัครคือสิ่งสำคัญในการเร่งกระบวนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ดังที่ได้มีการสรุปไว้ ณ การประชุม Asia–Pacific Forum on Sustainable Development – APFSD เมื่อเร็ว ๆ นี้)
ในประเทศที่เยาวชนแสดงออกถึงความต้องการที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะสละเวลาและทักษะเพื่อช่วยเหลือในภาวะของการระบาดใหญ่ เราได้ร่วมมือกับสำนักงานภูมิภาคของโครงการอาสาสมัครของสหประชาชาติ เพื่อเปิดตัวโครงการอาสาสมัครออนไลน์ V Force Thailand ภายในช่วงเวลาอันรวดเร็วเป็นประวัติการณ์
ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เราได้ต้อนรับอาสาสมัคร 10 ท่านที่เข้ามาสนับสนุนในส่วนต่าง ๆ ของครอบครัวสหประชาชาติในประเทศไทยในการขยายขอบเขตของการสื่อสารด้านความเสี่ยง คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง และสุขภาวะทางอารมณ์ด้วยการสื่อสารเป็นภาษาท้องถิ่น การสนับสนุนจากอาสาสมัครเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าถึงผู้รับสื่อกว่า 14 ล้านคน นอกจากนี้เรายังวางแผนที่จะนำอาสาสมัคร V Force เข้ามาร่วมงานกับสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติในการวิเคราะห์ Big Data เพื่อติดตามการพูดคุยบนสื่อสังคมออนไลน์ในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงเพื่อรายงานต่อการประเมินประเทศร่วม (Common Country Assessment - CCA)
ดิฉันขออนุญาตใช้โอกาสนี้ในการอธิบายถึงคุณค่าเพิ่มเติมเชิงกลยุทธ์ของอาสาสมัครในบริบทของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในประเทศศรีสังกา ซึ่งสร้างโอกาสอันสำคัญยิ่งสำหรับสหประชาชาติในการผลักดันประเด้นความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและการปรองดอง การที่สำนักงานโครงการอาสาสมัครของสหประชาติกว่า 40 แห่งได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม การทรวงการคลัง และกระทรวงการตั้งถิ่นฐานใหม่ (Ministry of Resettlement) รวมถึงองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการตำรวจ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้โครงการเสริมสร้างสันติภาพของสหประชาชาติสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังแก้ปัญหาช่องว่างทางขีดความสามารถภายในรัฐบาลในการจัดการกับประเด็นเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอีกด้วย สิ่งนี้ถือเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญของสำนักเสริมสร้างสันติภาพแห่งสหประชาชาติ และได้รับการกล่าวถึงโดยผู้เสนอรายงานพิเศษ (special rapporteur) ว่าด้วยการปรองดองในบันทึกทางวิชาการที่ส่งมอบให้รัฐบาล
ประเทศศรีลังกายังเป็นผู้บุกเบิกโครงการ V Force ที่นำโดยสำนักงานโครงการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติประจำประเทศ ในวันนี้โครงการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติทำงานกับอาสาสมัคร V Force ราว 500 คนโดยเฉลี่ยทุกปี และได้รับการสนับสนุนจากทีมสหประชาชาติประจำประเทศในโครงการที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน อนึ่ง ทูตเยาวชนของเลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน ก็เริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัคร V Force ในประเทศศรีลังกานั่นเอง
ดิฉันขอสรุปโดยกล่าวว่า จิตวิญญาณของอาสาสมัครที่ได้รับการส่งเสริมผ่าน V Force คือพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบในการลงทุนในเยาวชน และให้โอกาสพวกเขาในการทำความเข้าใจคุณค่าของความร่วมมือแบบพหุภาคีมากขึ้น และหวังว่าพวกเขาจะกลายเป็นพันธมิตรของเราในอนาคตเพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งพลเมืองเพียง 4 ใน 10 เท่านั้นที่ตระหนักถึงบทบาทของสหประชาชาติ และเพียง 1 ใน 3 ที่ทราบเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ตามที่คุณมานงคอยกล่าวเตือนดิฉันเสมอ ความสำเร็จของ V Force นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่การจับคู่อุปสงค์กับอุปทานอย่างมีกลยุทธ์ เนื่องจากโดยปกติแล้วทีมสหประชาชาติประจำประเทศนั้นไม่สามารถสร้างโอกาสให้กับอาสาสมัครได้เป็นปริมาณมากและรวดเร็วเท่ากับที่อาสาสมัครใน V Force ต้องการที่จะมีส่วนร่วม