ข่าวประชาสัมพันธ์

งานเปิดโครงการ Partnership for Action on Green Economy ในประเทศไทย

10 พฤศจิกายน 2022

ดูภาพข่าว

กรุงเทพฯ - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานเปิดโครงการPartnership for Action on Green Economy หรือ PAGE ในประเทศไทย จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

สำหรับการจัดงานเปิดโครงการฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการ PAGE (ประเทศไทย) พร้อมทั้งเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางนโยบาย การปฏิบัติและการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจสีเขียวในภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตรความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งใช้งานเปิดตัวฯ ดังกล่าวเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และมุมมองของแต่ละภาคส่วน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่สนับสนุน ไม่ซ้ำซ้อน และแบ่งปันบทบาทหน้าที่และความร่วมมือในการปฏิบัติการให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวแบบบูรณาการ (Inclusive Green Economy; IGE) ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นเวทีในการนำเสนอผลการดำเนินงานในของโครงการ PAGE (ประเทศไทย) ในระยะที่ผ่านมา ได้แก่ การศึกษา Stocktaking ด้านเศรษฐกิจสีเขียว การศึกษาประเมินความต้องการด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Learning Needs Assessment) และแผนงานการศึกษาประเมินการใช้งบประมาณโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Assessment) ภายใต้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดวงเงิน 4 แสนล้านบาท เป็นต้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างการร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ว่ารัฐบาลไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Partnership for Action on Green Economy โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้ำนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีความมุ่งหวังในการปรับเปลี่ยนไทยไปสู่โฉมหน้าใหม่ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดย 1 ใน 5 เป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดรับกับเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังมีนโยบายการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับแผนพัฒนาฯ 13 โดยโมเดลฯ ดังกล่าว ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน จากระดับชุมชนไปถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ สร้างความสมดุลเป็นธรรมและมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำหรับการเปิดตัวโครงการ PAGE ในวันนี้ยังเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนต่าง ๆ จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นเพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวแบบบูรณาการในทุกมิติ รวมถึงการใช้เศรษฐกิจสีเขียวในกิจกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดร. วิชญายุทธ บุญชิต ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทย และรองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวระหว่างช่วงการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งจะทำงานโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่แสดงความจำนงค์เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย  และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การลดการปล่อยคาร์บอนและมลพิษ (2) การส่งเสริมการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (3) การป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (4) การเพิ่มงานที่มีคุณค่า (5) การกระจายรายได้และความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะนำพาประเทศไปสู่การการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์ความท้าทาย 3 ข้อที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ด้านความยากจนถาวร ด้านการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เสมอภาค และการก้าวข้ามขีดจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความเท่าเทียมและเสมอภาคทางสังคม

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมาย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ขึ้น โดยในการดำเนินงานในปี 2565 คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) กิจกรรมการศึกษาการจัดทำระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ (ETS) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (2) กิจกรรมการพัฒนากลไกด้านการเงินสำหรับการจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ (3) กิจกรรมสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นในด้านเศรษฐกิจสีเขียวผ่านการสร้างความรู้ พัฒนาและจัดการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องกลไก ETS โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคเกษตรและการสร้างงานสีเขียว และ (4) กิจกรรมการให้ความรู้และการสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้ระดับชาติและระดับภูมิภาค งานเปิดตัวแนะนำโครงการ PAGE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะสื่อสารให้แก่ประชาชนและสังคมได้รับทราบว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการขับเคลื่อนเข้าสู่การพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจสีเขียวภายใต้โครงการความร่วมมือของ PAGE ซึ่งมีความสอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบาย BCG  

ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทย ใคร่ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามีส่วนร่วมผลักดัน และขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการด้วยกัน เพื่อให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยความเท่าเทียมเสมอภาค และมีทรัพยากรคงอยู่เหลือไว้สำหรับคนรุ่นถัดไป    

นางศุกร์สิริ แจ่มสุข รองผู้แทนประจำภูมิภาค องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการ PAGE ในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานสหประชาชาติพันธมิตรในโครงการอีก 4 หน่วยงานได้แก่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสถาบันการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ ร่วมสนับสนุนด้านเทคนิคจากความชำนาญและประสบการณ์ระหว่างประเทศ ทั้งด้านการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว แรงงานสีเขียว การเงินและการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการฝึกอบรมและวิจัยร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ

ปัจจุบันโครงการมีสมาชิกทั้งสิ้น 22 ประเทศ ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ PAGE เป็นประเทศที่ 20 ในปี 2562 และเริ่มดำเนินการโครงการระยะเริ่มต้น (Inception phase) ในเดือนมีนาคม2563 ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19  โดยมีระยะเวลาดำเนินระยะปฏิบัติการทั้งสิ้น 3 ปี ด้วยงบประมาณสนับสนุนประมาณหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ  การดำเนินการระยะในระยะเริ่มต้นของโครงการได้สนับสนุน ได้แก่ การศึกษารวบรวมข้อมูลประเมินสถานะความพร้อมด้านเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ (Green Economy Stocktaking) การประเมินการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวจากสถานการณ์โควิด (Green Recovery Assessment) และการประเมินความต้องการการเสริมสร้างศักยภาพด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Learning Needs Assessment)

พันธมิตรในโครงการสหประชาชาติทั้ง 5 หน่วยงาน มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมดำเนินงานกับประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะนำเศรษฐกิจสีเขียวมาสู่การปฏิบัติ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ วิเคราะห์และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาด จูงใจให้เกิดการบริโภคที่คำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้การจัดงานเปิดโครงการฯ และแถลงข่าวในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ Partnership for Action on Green Economy (PAGE)  ในประเทศไทยเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการ โดยในงานฯ มีผู้บริหารหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการกำหนดนโยบาย สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานในรูปแบบ onsite มากกว่า 120 คนและ online มากกว่า 200 คน

องค์กรของสหประชาชาติที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้

ILO
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ยูเอ็น
สหประชาชาติ
UNDP
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
UN Environment
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
UNIDO
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ

เป้าหมายที่เราสนับสนุนผ่านโครงการริเริ่มนี้