ล่าสุด
ภาพ
29 พฤศจิกายน 2023
Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Silk Success Sustainability
เรียนรู้เพิ่มเติม
ข่าวประชาสัมพันธ์
24 พฤศจิกายน 2023
ถึงเวลาให้ชุมชนนําทางมุ่งสู่การยุติเอดส์
เรียนรู้เพิ่มเติม
วิดีโอ
22 พฤศจิกายน 2023
การประชุม UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) ประจำปี 2566
เรียนรู้เพิ่มเติม
ล่าสุด
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ประเทศไทย
ทีมงานสหประชาชาติในประเทศไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเน้นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG localization) เพื่อนำวาระการพัฒนาระดับโลกสู่ชุมชนท้องถิ่นให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ผลการดำเนินงานที่มีความโดดเด่นที่ผ่านมา ได้แก่ ความพยายามในการส่งเสริมระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบบูรณาการสำหรับทุกคน (เป้าหมาย 1.3) การแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เป้าหมายที่ 3.4) การให้การศึกษาที่ครอบคลุมซึ่งรวมถึงเด็กในกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (เป้าหมาย 3.4) และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี (เป้าหมาย 5.5) อีกทั้งยังมุ่งเสริมพลังและความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และส่งเสริมนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่โดยเน้นสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจและการพลิกโฉมวิสาหกิจด้วยระบบดิจิทัล (เป้าหมาย 8.3) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ (LGBTI) (เป้าหมาย 10.2) รวมถึงการดำเนินงานด้านการอภิบาลแรงงานข้ามชาติเพื่อส่งเสริมให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ถูกกฎหมาย และมีระเบียบที่ชัดเจน (เป้าหมาย 10.7) นอกจากนั้น องค์การสหประชาชาติยังได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมาย 13.2) การจัดการขยะมูลฝอย (เป้าหมาย 11.6) และการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและภาคการเงินและการลงทุนที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมสีเขียวในหมู่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เป้าหมาย 7.2) สนับสนุนสิทธิการเป็นพลเมืองที่ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของประชาชน (เป้าหมาย 16.9) และแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยกับนานาประเทศ ผ่านความร่วมมือไตรภาคีแบบใต้-ใต้ (เป้าหมาย 17.9) สู่การพลิกโฉมสังคมไทยไปพร้อมกับทุกภาคส่วน ให้มีความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุม
ลงมือทำ
15 สิงหาคม 2023
ส่องวิธีประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟ-ดีต่อโลก
เรายังคงใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซเป็นส่วนใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน คุณจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในบ้านของคุณได้อย่างไร? ดูได้ที่นี่เลย!
1 of 5

วิดีโอ
15 สิงหาคม 2023
กระทรวงมหาดไทย-UN-องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก:TGO-KBank ลงนามเทรดคาร์บอนเครดิต
1 of 5

เรื่อง
21 สิงหาคม 2023
'คริสติน่า' เดินหน้าลงพื้นที่สานต่อภารกิจเพื่อสังคม
ถือเป็นความมุ่งมั่นและส่งต่อกำลังใจที่ยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง กับศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมเพลงไทย คริสติน่า อากีล่าร์ หลังได้รับการแต่งตั้งจาก UNFPA เป็น Champion of UNFPA คนแรกของประเทศไทย ได้สานต่อและผลักดันให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศ และยุติความรุนแรง
โดยมี กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA) และภาคีหลัก บริษัท นินจา เพอร์เฟคชั่น จำกัด (NINJA Perfection) ร่วมกับ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด (TVBG) ลงพื้นที่พบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและนายอำเภอเชียงของ เพื่อรับฟัง พูดคุยและสัมผัสถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมถึงปัญหาของผู้คนในสังคมด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ยังร่วมสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่คลินิกวัยรุ่น, กลุ่มเคียงริมโขง, มูลนิธิศูนย์เพื่อน้องหญิง, กองร้อยนำส้ม, สภาแม่หญิงเชียงของ และน้องๆ วัยรุ่นชาติพันธุ์ ชุมชนเผ่าม้ง เพื่อสนับสนุนงานการส่งเสริมสิทธิสุขภาพทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และการสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ตลอดทุกช่วงวัย
โดย คริสติน่า เผยว่า “ในฐานะ Champion of UNFPA คนแรกของไทย ติ๊นาได้มีโอกาสลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือสังคม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ค่อนข้างมีความเปราะบาง ด้วยเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ จึงมีปัญหาที่ค่อนข้างเปราะบาง การเดินทางครั้งนี้ ติ๊นาได้มีโอกาสรับรู้ถึงปัญหามากมายที่เกิดขึ้น และยังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่ถูกกระทำ เพื่อถามไถ่ถึงสิ่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือ
และติ๊นาเองตั้งใจช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมกับทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่มีความหมายในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และส่งมอบกำลังใจให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรง ติ๊นาเชื่อว่า ทุกคนต่างต้องการโอกาส เพื่อที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนสังคม และก้าวไปเป็นดวงดาวที่สวยงามของสังคมต่อไปค่ะ”
อ่านต้นฉบับบนไทยโพสต์
1 of 5

เรื่อง
27 เมษายน 2023
'สภาพแวดล้อมปลอดภัย-ดีต่อสุขภาพ' สิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานทุกคน
ทุกปีของวันที่ 28 เมษายน ถือเป็น 'วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล' ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เริ่มให้มีการกําหนดวันความปลอดภัยฯ เมื่อปี 2545 เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมแนวคิดในการสร้างและก่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างยั่งยืน
Keypoint:
วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล รณรงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำงาน พร้อมทั้งระลึกถึงแรงงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนานาชาติ
การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงาน
เมื่อแรงงานรู้สึกปลอดภัยและมีสุขภาพดีในที่ทำงาน แรงงานมีแนวโน้มจะสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
แนวคิดดังกล่าว เพื่อเป็นวันที่มีการระลึกถึงแรงงาน ซึ่งบรรดาแรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี2532 เพื่อรําลึกถึงคนงานที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยกําหนดให้เป็นวันที่ 28 เมษายนของทุกปีสหพันธ์สหภาพแรงงานเสรีนานาชาติ และสมาพันธ์สหภาพแรงงานโลก ได้ขยายผลของกิจกรรมนี้ในระดับโลก
โดยได้เน้นการรณรงค์เพื่อความยั่งยืนในการทํางาน เป็นวันระลึกถึงแรงงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนานาชาติ (International Commemoration Day for Dead and Injured Workers) ได้กลายเป็นวันสําคัญในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ จึงนับว่าวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล
ทั้งนี้ เพื่อการฉลองวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ชี้ให้เห็นว่าการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ และมีสิ่งใดบ้างที่เราสามารถทำให้สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นจริงได้
อุบัติเหตุ-ความสูญเสียเกิดขึ้นต่อแรงงานทุกวัน
เป็นเวลาสิบปีแล้วที่เกิดเหตุโศกนาฎกรรม อาคารรานา พลาซ่า (Rana Plaza) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศถล่ม ในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,132 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและผู้บาดเจ็บกว่า 2,500 คน
โศกนาฎกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจทั่วโลกและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หายนะเช่น Rana Plaza เป็นข่าวใหญ่ อุบัติเหตุและการเสียชีวิตยังคงเกิดขึ้นในที่ทำงานทั่วทุกประเทศทุกวัน
อันที่จริงแล้ว ในทุก ๆ ปี มีผู้หญิงและผู้ชายราว 2.9 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานซึ่งหมายความว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8,000 คนต่อวัน
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่ามหาศาล ทั้งในแง่ของความโศกเศร้าและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นต่อบุคคล ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ดำเนินการครั้งสำคัญเมื่อมีการพิจารณาให้การมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน
ทำไม? เรื่องสภาพแวดล้อมในที่ทำงานจึงสำคัญ
เรื่องนี้สำคัญก็เพราะว่าในวันนี้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยไม่ใช่เรื่องที่เป็นตัวเลือกอีกต่อไปแล้ว ประเทศสมาชิกของ ไอแอลโอ ทั้งหมด 186 ประเทศมีพันธกรณีที่ต้องเคารพ ส่งเสริม และบรรลุการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและที่ดีต่อสุขภาพในฐานะหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน โดยไม่คำนึงว่าประเทศสมาชิกจะให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยหรือไม่
ประการแรกและสำคัญที่สุด ไอแอลโอ ตระหนักว่าแรงงานทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากอันตรายและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในที่ทำงาน
โดยการกำหนดให้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไอแอลโอ กำลังสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลและนายจ้างถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพสำหรับแรงงานทุกคน
จากการวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานในภาคการก่อสร้างพบว่าการคุ้มครองสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานไม่ใช่เพียงแค่ความจำเป็นทางคุณธรรม แต่เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่ดีด้วยเช่นกัน
เมื่อแรงงานรู้สึกปลอดภัยและมีสุขภาพดีในที่ทำงาน แรงงานมีแนวโน้มจะสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน นายจ้าง ตลอดจนเศรษฐกิจในวงกว้าง ในทางกลับกัน เมื่อแรงงานได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากอันตรายจากการทำงาน อาจส่งผลเสียอย่างมากต่อผลิตภาพแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
"การกำหนดให้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียม สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อแรงงานในชุมชนชายขอบซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการทำงานที่สูงกว่า เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความยากจน การเลือกปฏิบัติ และการขาดการเข้าถึงการศึกษา การอบรม และการบริการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน"
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในแง่ของการทำให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานซึ่งจะนำไปสู่สภาพการทำงานที่ดีขึ้นและผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานตามลำดับ
ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเกิดขึ้นในหลายด้าน มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานหลายฉบับ ในขณะเดียวกันมีนโยบาย กฎหมาย และโครงการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับชาติเกิดขึ้นใหม่ทั่วทั้งภูมิภาค มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อรับรองว่าว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น มีความพยายามเข้าถึงแรงงานที่ทำงานด้านสุขาภิบาลและการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ในภูมิภาคเอเชียใต้ รวมถึงวิสาหกิจขนาดเล็กที่สุดและแรงงานนอกระบบในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ มีการยกระดับศักยภาพของพนักงานตรวจแรงงานที่เป็นด่านหน้าในการดำเนินงานในการรับรองว่าสถานที่ทำงานมีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สำคัญซึ่งต้องได้รับการชื่นชมและสนับสนุน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเกิดขึ้นจริงในชีวิตการทำงานประจำวันสำหรับแรงงานทุกคน จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานเรื่องอื่นๆ ของไอแอลโอ ซึ่งได้แก่ เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกัน การขจัดแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก ตลอดจนการยุติการเลือกปฏิบัติในโลกของการทำงาน
สร้างการส่วนร่วม-วัฒนธรรมเชิงป้องกันในที่ทำงาน
การมีส่วนร่วมของทั้งนายจ้างและลูกจ้างผ่านการเจรจาทางสังคมและความร่วมมือในสถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดีในการทำงาน
เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกันช่วยให้แรงงานจัดตั้งและเจรจาต่อรองเพื่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงความปลอดภัยและสุขภาพ หากไม่มีสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ แรงงานอาจไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองได้ และอาจเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และการปฏิบัติมิชอบ
สหภาพแรงงาน มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ในการเป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงาน ตลอดจนจัดฝึกอบรมแรงงานในเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเบื้องต้น
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานในสถานประกอบการ เช่น คณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เปิดโอกาสให้แรงงานและนายจ้างสามารถร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาพโดยเท่าเทียมกัน
การใช้แรงงานบังคับและการใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการเลือกปฏิบัติในเรื่องเพศ อายุ สถานะของแรงงานข้ามชาติ การจ้างงาน และการประกอบอาชีพล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน เว้นแต่ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการจัดการแก้ไขไปพร้อมกัน ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้สูงอายุ เยาวชน และผู้ที่มีความเปราะบาง ก็ยังคงเผชิญกับสภาพการทำงานที่อันตราย ซึ่งอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปและการคุ้มครองทางสังคมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานทุกคน รัฐบาล นายจ้าง สหภาพแรงงาน ตลอดจนบริษัทต่างๆ ในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทานต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำให้สิทธิแรงงานดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
"เราทุกคนสามารถสร้างให้สิทธิแรงงานดังกล่าวเกิดขึ้นได้ผ่านความมุ่งมั่นร่วมกัน ความพยายามร่วมกัน และใช้วิธีการดำเนินการแบบองค์รวม ซึ่งเป็นแนวทางที่ตระหนักและส่งเสริมสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานและช่วยสร้างความยุติธรรมทางสังคมและงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน"
อ่านข่าวต้นฉบับบได้จากกรุงเทพธุรกิจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: สุขภาพ แรงงาน ปลอดภัย สิทธิขั้นพื้นฐาน สภาพแวดล้อม อาชีวอนามัย
1 of 5

เรื่อง
30 พฤศจิกายน 2023
พระราชวังที่ถูกลืม
จากมุมมองในพุทธศตวรรษที่ 26 สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325) ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย ดูเหมือนจะถูกบดบังด้วยทั้งความงดงามของเมืองอยุธยาโบราณที่สูญสิ้นไป และความอลังการแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังคงเป็นที่ประจักษ์อยู่ทุกวันนี้ด้วยความยิ่งใหญ่ของพระบรมมหาราชวังที่ตระการตาผู้เยี่ยมชมหลายล้านคนทุกปี อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 15 ปีระหว่างการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาและการสถาปนาราชวงศ์จักรีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปูทางสู่ความเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
ห่างจากพระบรมมหาราชวัง (ซึ่งยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างคึกคักไม่ขาดสาย) และปิดล้อมอยู่ภายในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพเรือที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งมรดกแห่งพระราชวังเดิมได้รับการทะนุบำรุงอย่างพิถีพิถัน ด้วยความพยายามอันน่ายกย่องในการทำให้บทสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยบทนี้มีความหมายและก้องกังวาลในบริบทปัจจุบัน
เมื่อมองจากแม่น้ำเจ้าพระยา โครงสร้างที่โดดเด่นที่สุดของพระราชวังเดิมคือป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องเส้นทางคมนาคมทางน้ำไปยังราชธานีกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 23
ในปี พ.ศ. 2310 เนื่องด้วยกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมจากสงครามจนเกินกว่าจะฟื้นฟูได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2277-2325) จึงทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ของอาณาจักรที่ครอบคลุมระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2311 โดยอาศัยที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของป้อมวิไชยประสิทธิ์
หลังจากมีการก่อรัฐประหาร สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกประหาร ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปี พ.ศ. 2325 ตั้งแต่นั้นมาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ประทับที่พระราชวังเดิมจนกระทั่งปี พ.ศ. 2443 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระราชวังเดิมให้กับกองทัพเรือเพื่อให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ครึ่งศตวรรษต่อมา กองทัพเรือดัดแปลงสถานที่ดังกล่าวให้เป็นกองบัญชาการ ปัจจุบันด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 300 ปี ป้อมวิไชยประสิทธิ์เป็นสถานที่จัดยิงสลุต โดยมีฉากหลังอันสง่างามของธงกองทัพเรือและธงผู้บัญชาการทหารเรือบนเสาธงที่มีลักษณะเหมือนเสากระโดงเรือ
สิ่งที่ยังสถิตอยู่ในใจกลางพระราชวังเดิมคือ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายของท้องพระโรง ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งเดียวจากรัชสมัยพระเจ้าตากสินที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลังที่ต่อกันเป็นรูปตัว ‘T’ เนื่องจากท้องพระโรงไม่เคยถูกทิ้งร้างตลอดความเป็นมาอันยาวนาน จึงสังเกตได้ว่าลักษณะบางประการของพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เช่น พื้นหินอ่อนและเสาคอนกรีต บ่งบอกถึงการปรับปรุงโครงสร้างในอดีตที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความแท้ทางวัสดุเสมอไป อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าผังของท้องพระโรงโดยรวมและหลังคาทรงไทยที่มีหน้าจั่ว 3 ด้าน สะท้อนถึงแนวออกแบบดั้งเดิมจากสมัยกรุงธนบุรี ที่น่าสังเกตคือ การออกแบบให้พระที่นั่งองค์ทิศเหนือเปิดโล่งเป็นลักษณะที่แตกต่างอย่างน่าสนใจจากโครงสร้างแบบปิดของท้องพระโรงอื่น ๆ ในประเทศไทย
ด้านหนึ่งของพระที่นั่งองค์ทิศเหนือมี ‘มุขเด็จ’ หรือ ‘มุขเสด็จ’ ที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับเวลาออกว่าราชการ อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ดึงดูดความสนใจคือระฆัง ซึ่งน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากจีน โดยเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม (ตั้งตามชื่อนายหง เศรษฐีชาวจีนผู้สร้างวัดนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) มอบให้กับกองทัพเรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แม้เหตุผลสำหรับการมอบของขวัญชิ้นนี้ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่มีตำนานเล่าขานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน (ซึ่งพระบิดาของพระองค์เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว) เสด็จมาสรงน้ำในบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของวัดเพื่อเป็นพิธีกรรมก่อนเสด็จออกราชการสงคราม ปัจจุบันพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารเรือและพิธีประดับเครื่องหมายยศจะจัดขึ้นที่พระที่นั่งองค์ทิศเหนือของท้องพระโรง
ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ (หรือที่เรียกว่า ‘พระที่นั่งขวาง’) น่าจะเป็นที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินใช้ว่าราชการส่วนพระองค์ ปัจจุบันกองทัพเรือใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งคราวในการต้อนรับแขกพิเศษและจัดการประชุมท่ามกลางเรือพระราชพิธีจำลองอันวิจิตรงดงาม โดยเรือแต่ละลำมีการออกแบบและมีชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะลำ
ทางด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงมีตำหนักเก๋งจีน 2 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมทีตำหนักทั้ง 2 หลังเป็นที่ประทับของ ‘เจ้านายชั้นสูง’ ต่อมาใช้เป็นสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์ฝึกซ้อมและตำราเรียนของโรงเรียนนายเรือ ปัจจุบันตำหนักทั้ง 2 หลังนี้ใช้สำหรับเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินผ่านจิตรกรรมที่สั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษและการจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ รวมถึงอาวุธในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเพิ่มสีสันให้กับธีมการรบของนิทรรศการภายในตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก
โบราณวัตถุที่น่าทึ่งอีกชิ้นหนึ่งคือ สำเนาแผนที่สมัยกรุงธนบุรีที่วาดขึ้นโดยสายลับพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินในการสร้างคูน้ำและกำแพงเมืองเพื่อปกป้องราชธานีแห่งใหม่ของพระองค์
ในฐานะผู้นำยามสงครามผู้ทรงรื้อฟื้นประเพณีกษัตริย์นักรบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นที่กล่าวขานในปัจจุบันในด้านพระราชกรณียกิจการสงคราม แต่ที่น่าทึ่งก็คือ พระองค์ทรงสละเวลาสำหรับพระราชกรณียกิจในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์จำนวน 5 ตอน ทั้งนี้ มีการนำ 1 ตอน (‘ท้าวมาลีวราชพิพากษาความ’) มาถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวาผ่านตุ๊กตาที่ทำขึ้นด้วยมือและจัดแสดงในตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่
ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของท้องพระโรง สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิมในปี พ.ศ. 2351 เนื่องด้วยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรกระหว่าง พ.ศ. 2394 ถึง พ.ศ. 2408 จึงทรงได้รับการยกย่องในฐานะผู้วางรากฐานให้กับราชนาวีไทย อาคารหลังนี้ถือได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ปัจจุบัน นอกเหนือจากการจัดแสดงนิทรรศการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯแล้ว ชั้นบนของตำหนักยังจัดแสดงเครื่องเบญจรงค์อันล้ำค่า (ซึ่งในอดีตเครื่องถ้วยชามดังกล่าวสั่งทำเป็นพิเศษจากจีน) ส่วนชั้นล่างได้รับการดัดแปลงให้เป็นสำนักงานขนาดกะทัดรัดของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อทำหน้าที่ระดมทุนและบูรณะมรดกสิ่งปลูกสร้างในพระราชวังเดิม
โครงการบูรณะพระราชวังเดิมได้รับ Award of Merit จากยูเนสโกในการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2547 โดยการประกวดรางวัลดังกล่าวได้เชิดชูความสำเร็จในการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบรางวัลดังกล่าวยกย่อง ‘โครงการที่ทะเยอทะยานและครอบคลุมหลากหลายแง่มุม’ ในด้าน ‘การประยุกต์ใช้วิธีการและงานฝีมือแบบดั้งเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์ตัวอย่างที่สำคัญของวิจิตรศิลป์หลวง’
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้มิได้ทำให้คุณหญิงนงนุช ศิริเดช นิ่งนอนใจ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ คุณหญิงนงนุช ผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวว่า ‘งานบูรณะโบราณสถานเป็นงานที่ต้องทำตลอด’ เช่นเดียวกับแหล่งมรดกริมแม่น้ำแห่งอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น ปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความอ่อนตัวของดินริมแม่น้ำ ความชื้น และปลวก คือภัยที่คุกคามอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างอาคารได้ หากไม่ได้รับการดูแลและบำรุงรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอภายใต้การบริหารจัดการของมูลนิธิ คุณหญิงนงนุชกล่าวว่า ‘อาคารเหล่านี้คงจะราบไปหมดแล้ว’
ที่สุดแล้ว คุณหญิงนงนุชหวังว่าการอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมจะช่วยทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวา จับต้องได้ และเข้าถึงคนรุ่นต่อไปเพราะถ้าประวัติศาสตร์สามารถให้บทเรียนกับเราได้ บทเรียนจากประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีที่น่าจะเป็นกำลังใจสำหรับเรา โดยเฉพาะในโลกยุคหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็คือ จิตวิญญาณของมนุษย์มีความแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่ไม่คาดฝัน ด้วยความกล้าหาญและความไม่ย่อท้อที่จะดำรงอยู่และเจริญเฟื่องฟูต่อไป มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว หล่อหลอมชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตน และปลูกฝังการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ชีวิตมีความหมายแม้ในช่วงเวลาที่คับขันที่สุด
1 of 5

เรื่อง
30 พฤศจิกายน 2023
พัฒนาต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนาน และการเทิดทูนที่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของชุมชน วัดประยุรวงศาวาส (หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า ‘วัดประยูรฯ’) ตระการตาด้วยความยิ่งใหญ่ของพระบรมธาตุมหาเจดีย์อันสูงตระหง่าน ความงดงามของสัดส่วนรูปทรงระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ก้องกังวานในเจดีย์บริวาร 18 องค์ที่ประดับระเบียงแบบผังกลม
พระพรหมบัณฑิต ท่านเจ้าอาวาสวัดประยูรฯ กล่าวว่า ‘เจดีย์นี้เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย’ ขณะที่ท่านนั่งในพระอุโบสถ โดยมีฉากหลังเป็นพระพุทธรูปที่ยังคงความเหลืองอร่ามด้วยการปิดทองอย่างวิจิตรบรรจงเมื่อเกือบ 2 ศตวรรษที่แล้ว
จุดเด่นของเจดีย์นี้คือสามารถเข้าไปข้างในได้ ภายในเจดีย์ เราจะตื่นตาเมื่อได้เห็นเสาแกนกลางขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20 เมตร และหนัก 144 ตัน เมื่อเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2371 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โครงสร้างของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ถือว่าผิดสมัย เนื่องจากเจดีย์กลวงที่มีเสาแกนกลางสะท้อนถึงเทคนิคการสร้างในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310) พระพรหมบัณฑิตเสริมว่า ‘แล้วในสมัยอยุธยาก็ไม่มีใหญ่ขนาดนี้เลย’
ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดมุ่งเป้าที่สะพานพุทธ ซึ่งมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในฐานะสะพานเดียวที่ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคนั้น แต่กลับพลาดเป้าและระเบิดใกล้ทางเข้าวัดประยูรฯ พระวิหารจึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่พระพุทธรูปองค์ใหญ่แบบศิลปะสุโขทัยที่ประดิษฐานอยู่ภายในกลับยืนหยัดโดยไม่ถูกสะกิดเลย
หลังคาพระอุโบสถเปิดบางส่วน ทำให้น้ำฝนรั่วเข้ามาชะล้างจิตรกรรมฝาผนังดั้งเดิมออกจากกำแพงถึง 3 ด้าน
หากสังเกตจากภายนอก ดูเหมือนพระบรมธาตุมหาเจดีย์จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ อย่างไรก็ตาม พระพรหมบัณฑิตสันนิษฐานว่า แรงกระแทกจากระเบิดทำให้เสาแกนกลางหักในแนวขวางประมาณ 2 เมตรเหนือฐานเสา และโน้มน้ำหนักมหาศาลไปพิงผนังด้านในของเจดีย์
ในการสำรวจโครงสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2549 วิศวกรจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พบว่าเจดีย์ทั้งองค์เอียงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 1.2 เมตร ด้วยเกรงว่าเจดีย์จะเอียงลงเรื่อย ๆ และอาจพังทลายในที่สุด ท่านเจ้าอาวาสวัดประยูรฯ จึงริเริ่มโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ โดยปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับ สจล. และกรมศิลปากร
เนื่องจากจำเป็นต้องดำรงรักษาเสาแกนกลางที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ไว้ ความพยายามในการบูรณปฏิสังขรณ์จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอันล้ำเลิศ โดยต้องใช้เวลานาน 6 เดือนในการจัดทำแผนงาน ซึ่งที่สุดแล้วหมายรวมถึงการสร้างนั่งร้านเหล็กล้อมเสาแกนกลางเพื่อเป็นมาตรการป้องกัน เสริมเหล็กห่อหุ้มโครงสร้างแกนกลางเพื่อความมั่นคงแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต และค่อย ๆ ยกเสาแกนกลางเข้าสู่ตำแหน่งเดิมด้วยการใช้แม่แรงไฮดรอลิคในพื้นที่แคบ
ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ (พ.ศ. 2549–2553) มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และพระเครื่องจำนวนมากบนเจดีย์องค์ใหญ่ในกรุลับ 2 กรุ ดังที่สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2497 ซึ่งทิ้งไว้โดยผู้ที่พยายามโจรกรรมศาสนวัตถุโบราณแต่ไม่สำเร็จ มูลค่าของวัตถุโบราณเหล่านี้ดึงดูดความสนใจที่ไม่พึงประสงค์มาเนิ่นนานแล้ว
ศาสนวัตถุโบราณที่ค้นพบจำนวนมาก (ตลอดจนหนังสือพิมพ์ดังกล่าว) ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาไว้ในพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ซึ่งเป็นศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเคยเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย หลังจากที่ไม่ได้ใช้งานและทรุดโทรมมาหลายปี ศาลานี้ได้รับการบูรณะพร้อมกับเจดีย์และดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก
โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาที่วัดประยูรฯ ได้รับ Award of Excellence จากยูเนสโกในการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation) ประจำปี พ.ศ. 2556 การประกวดรางวัลดังกล่าวได้เชิดชูความสำเร็จในการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบรางวัลดังกล่าวไม่เพียงชมเชย ‘ความเข้าใจที่ซับซ้อนเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์จากสมัยต้นรัตนโกสินทร์’ แต่ยังเน้นย้ำถึง ‘ผลกระทบทางสังคมที่กว้างขวางของโครงการในย่านกะดีจีน ซึ่งมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์และพหุวัฒนธรรม’
พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า การที่ได้รับคำยกย่องจากยูเนสโกทำให้วัดประยูรฯ มีความน่าเชื่อถือในการเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนพหุวัฒนธรรมแห่งกะดีจีนในเวลาต่อมา โดยทางวัดมีส่วนร่วมในการหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐและในการขับเคลื่อนโครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน อาทิ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ซึ่งออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์และเปิดให้บริการแก่สาธารณชนในปี พ.ศ. 2563) และทางเดินริมแม่น้ำที่ก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ (โดยเริ่มจากวัดประยูรฯ สิ้นสุดที่วัดกัลยาณมิตร และกว้างพอที่จะรองรับทั้งคนเดินเท้าและนักท่องเที่ยวที่ปั่นจักรยาน)
ปัจจุบัน พระพรหมบัณฑิตเปรียบวัดประยูรฯ เสมือน ‘รีเซฟชัน’ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครของชุมชนกะดีจีน แท้จริงแล้ว การผสมผสานที่น่าทึ่งระหว่างองค์ประกอบทางตะวันออกและตะวันตกที่เขามอของวัดประยูรฯ (ซึ่งเป็นภูเขาที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์และมีขนาดใหญ่ที่สุดนอกพระบรมมหาราชวัง) ตอกย้ำถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่อย่างกลมกลืน ซึ่งท่านเจ้าอาวาสมองว่านี่คือจุดแข็งของชุมชนแห่งนี้
เดินจากวัดประยูรฯ ไปไม่ไกลก็จะถึงโบสถ์ซางตาครู้ส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตั้งรกรากของชาวโปรตุเกสในพื้นที่นี้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325)
และไม่ไกลจากโบสถ์ซางตาครู้ส เราจะพบศาลเจ้าจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นั่นคือศาลเจ้าเกียนอันเกง ซึ่งมีเจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานเป็นองค์ประธาน
เมื่อเดินลึกเข้าไปในชุมชนกะดีจีน เราจะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบของย่านที่อยู่อาศัยแห่งนี้ มีซอยแคบ ๆ ที่ดูสะอาดตา และบ้านเรือนที่สร้างติดกันอย่างหนาแน่น ในยามบ่ายที่ผ่อนคลาย กลิ่นหอมกรุ่นของอาหารที่คนในชุมชนปรุงเองลอยมาตามสายลม เป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งห่างไกลจากห้างสรรพสินค้าที่หรูหรา และร้านสะดวกซื้อที่ให้บริการตามมาตรฐานในแนวเดียวกันหมด คนในพื้นที่บางคนได้แปลงบ้านของตนให้เป็นร้านค้าและภัตตาคารที่หลากสีสันด้วยอาหารคาวหวานซึ่งสะท้อนถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในย่านเก่าแก่แห่งนี้
ย้อนกลับไปที่วัดประยูรฯ พระพรหมบัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อไม่นานมานี้ การถ่ายทอดเรื่องราวของวัดผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงภาพยนตร์ไทยยอดนิยม เช่น บุพเพสันนิวาส 2 ได้ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของวัดประยูรฯ นอกจากนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีม่วงใต้จะทำให้วัดประยูรฯ และย่านกะดีจีนโดยรวมเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่อยากมาเยือน เมื่อคาดการณ์ถึงการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งท่านเจ้าอาวาสมองว่าเป็น ‘ดาบสองคม’ ท่านเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามแผนแม่บทที่มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมและการเน้นการค้าขายอย่างไร้ขอบเขต
สำหรับท่านเจ้าอาวาส ความคืบหน้าที่น่ายินดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากวัดประยูรฯ) คือการขยายขอบเขตเกาะรัตนโกสินทร์ให้ครอบคลุมริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดประยูรฯ ถึงวัดอรุณ การกำหนดเช่นนี้ถือเป็นคำสั่งห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารสูงซึ่งจะบดบังสถานที่สำคัญที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า ‘เราสืบสาน รักษา และพัฒนาต่อยอด วิถีชีวิตของคนที่นี่โดยมีศาสนาเป็นหลักยังคงอยู่ ตอนนี้เป็นที่รับรู้กันแล้วว่าถ้าเป็นเรื่องการรักษาทางวัฒนธรรม การอยู่กันอย่างน่ารัก ต้องย่านกะดีจีน’
ต่อคำถามที่ว่าท่านมองภาพอนาคตของวัดประยูรฯ เช่นไร พระพรหมบัณฑิตแสดงออกถึงวิสัยทัศน์เชิงบวกซึ่งกลั่นกรองมานานหลายทศวรรษด้วยปัญญาเชิงปฏิบัติว่า ‘วัดจะสวยงามกว่านี้’
บทความนี้เป็นฉบับแปลภาษาไทยของต้นฉบับภาษาอังกฤษซึ่งได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากบทความที่ออกเผยแพร่ครั้งแรกที่บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566.
#CultureForSustainableDevelopment
1 of 5

เรื่อง
15 กันยายน 2023
3 ประเด็นต้องจับตาเปิดฉากประชุมผู้นำโลก UNGA ครั้งที่ 78
เริ่มแล้วที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วงถกผู้นำประเทศสมาชิกยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศ รวมทั้งผู้นำไทย ในเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ UN General Assembly ครั้งที่ 78 (UNGA78) ซึ่งในช่วงสัปดาห์ผู้นำ (high-level week) ระหว่างวันที่ 18-26 กันยายนนี้ จะมีวาระสำคัญหลายประเด็น โดยข้อสรุปจากทุกเวที UNGA จะส่งผลต่อทิศทางการวางนโยบายการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ และการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนด้วย โดยจะมี 3 ประเด็นสำคัญที่คนไทยควรจับตามองในการประชุม UNGA ดังนี้
1. การประชุม SDG Summit วันที่ 18-19 กันยายน - ปรับแผน SDGs กันใหม่ เพื่อหมุดหมายความยั่งยืนในปี 2030
วิกฤติต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผนวกกับภัยพิบัติธรรมชาติ ความขัดแย้ง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะถดถอยลง โดยนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ทุกประเทศสมาชิกประกาศรับรอง SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก มีการดำเนินการเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้นำจากทั่วโลกจึงจะมารวมตัวกัน เพื่อแสดงจุดยืน ความกระตือรือร้น และความมุ่งมั่นต่อวิสัยทัศน์แห่งอนาคตและการลงมือทำ ณ การประชุม SDG Summit ในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเร่งการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ประการและรับประกันว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
สำหรับประเทศไทยเอง มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแสดงจุดยืนตามนโยบายรัฐบาลในการเชื่อมโยงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 3 หัวข้อหลัก คือการลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การประชุม Climate Ambition Summit วันที่ 20 กันยายน 2023 - ทุกภาคส่วนทั่วโลกร่วมเดินหน้า จัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
จากผลวิจัยของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC แสดงถึงความน่าเป็นห่วงของปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับจากวันนี้และตลอด 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
การจะแก้ปัญหาที่เร่งด่วนเช่นนี้ได้ จำเป็นจะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะจากทางภาครัฐของแต่ละประเทศ ตลอดจนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมและภาคการเงิน จึงเป็นเหตุให้นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ตัดสินใจจัดประชุม Climate Ambition Summit 2023 ในวันที่ 20 กันยายน ต่อเนื่องจากการประชุม SDG Summit เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าประชุมได้ร่วมหารืออย่างจริงจัง และนำเสนอแนวทางรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเชิงสร้างสรรค์ เช่น แนวทางการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) ที่เน้นตอบสนองต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
การประชุม Climate Ambition ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ทั่วโลกจะร่วมกันรับมือกับภาวะโลกเดือด และเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของพลังงานหมุนเวียนที่ผู้คนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เป็นที่สังเกตได้จากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการพูดถึงการส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลก
3. การประชุม Preparatory Ministerial Meeting for the Summit of the Future วันที่ 21 กันยายน - เตรียมพร้อมงานใหญ่ Summit of the Future 2024 เสริมพลังความร่วมมือระดับพหุภาคี
แรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ระดับโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การปะทุขึ้นของสงครามยูเครน และวิกฤตหลัก 3 ประการ (Triple Planetary Crisis) ที่กำลังคุกคามโลกของเรา ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ และวิกฤติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทายที่นานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศต้องเดินหน้าจัดการอย่างเร่งด่วน สมัชชาสหประชาชาติจึงตัดสินใจที่จะจัดเวทีการประชุม “Preparatory Ministerial Meeting for the Summit of the Future” ขึ้นที่ UNGA ครั้งที่ 78 นี้ เพื่อให้ผู้แทนประเทศและผู้มีอำนาจตัดสินใจได้มาร่วมประชุมกำหนดวาระสำคัญสำหรับการประชุม “Summit of the Future” (ชื่อเต็ม Summit of the Future: Multilateral Solutions for a Better Tomorrow) ที่กำหนดจะจัดในวันที่ 22-23 กันยายน 2024 (ปีหน้า) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การยึดถือธรรมาภิบาลโลก ความมุ่งมั่นในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกฎบัตรสหประชาชาติ
ทั้ง 3 ประเด็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประชุม UNGA ในปีนี้ ยังมีการประชุมย่อยอื่น ๆ อีกหลายเวทีที่มุ่งเป้าไปที่วาระสำคัญแตกต่างกัน ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์หลัก General Assembly High-level Week 2023
รายละเอียดเพิ่มเติม
SDG Summit ปรับแผน SDGs กันใหม่ เพื่อหมุดหมายความยั่งยืนในปี 2030
วันประชุม: 18 และ 19 กันยายน 2023
ติดตาม การประชุมแบบ Live: UN Web TV
เว็บไซต์หลักการประชุม: SDG Summit
Climate Ambition Summit 2023 ทุกภาคส่วนทั่วโลกร่วมเดินหน้า จัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
วันประชุม: 20 กันยายน 2023
ติดตาม การประชุมแบบ Live: UN Web TV
เว็บไซต์หลักการประชุม: Climate Ambition Summit 2023
Preparatory Ministerial Meeting for Summit of the Future เตรียมพร้อมงานใหญ่ 2024 เสริมพลังความร่วมมือระดับพหุภาคี
วันประชุม: 21 กันยายน 2024
ติดตาม การประชุมแบบ Live: UN Web TV
เว็บไซต์หลักการประชุม: Summit of the Future 2024
เรื่อง/เรียบเรียง ทัตพร นาคการะสิน, มิ่งขวัญ รัตนคช, อภิสรา ศิลป์สว่าง
1 of 5

เรื่อง
30 พฤศจิกายน 2023
หวนเยือนสามชุก ‘ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา’
หัวใจของชุมชนคือศูนย์รวมประวัติศาสตร์และความใฝ่ฝันที่ชุมชนนั้นหวงแหน และในชุมชนที่มีสีสันอย่างตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี หัวใจที่ยังคงเต้นให้จังหวะอยู่ก็คือ บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ บ้าน 3 ชั้นที่ทำจากไม้และคอนกรีตนี้มีอายุมากกว่า 100 ปี (สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459) แต่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของนายอากรประจำเขต ในปี พ.ศ. 2547 บ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะและดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งการบูรณะครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ (พ.ศ. 2542–2549) ที่ริเริ่มโดยมูลนิธิชุมชนไท โดยมีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับสมาชิกชุมชน สามปีหลังจากที่โครงการนี้แล้วเสร็จ ความสำเร็จที่เด่นชัดในการฟื้นฟู ‘แบบองค์รวม’ ของ ‘ศูนย์กลางการค้าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์’ แห่งนี้ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกด้วย Award of Merit จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2552
ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ยังคงปลูกฝังความซาบซึ้งในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประเทืองความภาคภูมิใจให้กับชุมชนตลาดสามชุก นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นใจกลางของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้าขายที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย เมื่อก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ สิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจทันทีก็คือ แบบจำลองย่านตลาดเก่านี้ ซึ่งเผยผังของตลาดได้อย่างชัดเจน มีร้านค้าห้องแถวไม้ 2 ชั้นกว่า 150 คูหา ตั้งเรียงรายทั้ง 2 ฝั่งของซอยหลัก 4 ซอยที่พาไปสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นทางสัญจรทางน้ำที่ให้กำเนิดการตั้งถิ่นฐานเชิงพาณิชย์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้
สำหรับผู้ที่เดินชมและดื่มด่ำอยู่กับความคึกคักของตลาด อาจไม่ง่ายที่จะเข้าใจตรรกะของผังนี้โดยทันที เนื่องจากอาหารเลิศรส (เช่น เป็ดย่าง ข้าวห่อใบบัว และขนมสาลี่) งานหัตถกรรมของที่ระลึก และสินค้านานาประเภท ต่างแข่งกันเรียกร้องความสนใจ แต่ในความเงียบสงบของพิพิธภัณฑ์ขุนจำนงจีนารักษ์ ความวิจิตรลึกซึ้งระดับจุลภาคของแบบจำลอง ประกอบกับการจัดแสดงที่ให้ข้อมูลได้เป็นอย่างดี สื่อได้อย่างแรงกล้าว่า ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน วิวัฒนาการของชุมชนนี้ได้สะท้อนปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่หล่อหลอมทั้งอำเภอสามชุกและที่อื่น ๆ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย
ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำท่าจีนเชื้อเชิญให้มนุษย์มาปักหลักอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามวิถีความเป็นมาของที่ราบภาคกลางของประเทศไทย ผืนนายังคงพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่นี้ หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า บริเวณที่ปัจจุบันนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘อำเภอสามชุก’ ได้มีประชากรอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาแบบมหายานจากพุทธศตวรรษที่ 18 ได้ถูกค้นพบที่เนินทางพระ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในอำเภอนี้
ประชากรของอำเภอสามชุกเพิ่มขึ้นอย่างมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325-2394) ซึ่งการเติบโตนี้ขับเคลื่อนโดยการค้าข้าวและถ่านเป็นหลัก ในยุคที่สายน้ำคือเส้นโลหิตของการพาณิชย์ ตลาดสามชุกเฟื่องฟูในฐานะศูนย์กลางทางการค้าที่ผสมผสานผู้คนและวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน
ในนิราศสุพรรณ ผลงานกวีนิพนธ์แบบโคลงประพันธ์โดยสุนทรภู่ (พ.ศ. 2329-2398) ซึ่งเล่าถึงการเดินทางไปสุพรรณบุรีในปี พ.ศ. 2385 (เพื่อค้นหาแร่ปรอทสำหรับการเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นทองคำ) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้พรรณนานาม ‘สามชุก’ ไว้ว่า ทำให้นึกถึงเรือค้าที่ ‘รายจอดทอดท่าน้ำ’ และการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างคึกคัก
ตลาดสามชุกเข้าสู่ยุคทองในช่วงทศวรรษแรก ๆ ของศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีตลาดอื่น ๆ ที่ทันสมัยกว่าเกิดขึ้น และรูปแบบการคมนาคมที่เปลี่ยนจากการสัญจรทางน้ำไปสู่ถนนคอนกรีต (โดยเฉพาะถนนมาลัยแมน หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 ที่เชื่อมต่อจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดนครปฐม) ทำให้ตลาดสามชุกเริ่มเงียบเหงาซบเซาลงเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2549 กรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินส่วนใหญ่ในสามชุก ได้ร่างแผนปรับปรุงพื้นที่ตลาดทั้งหมดให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะต้องเวนคืนที่อยู่อาศัยและรื้อถอนร้านค้าห้องแถวโบราณที่ตั้งอยู่ นี่จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ชุมชนรวมตัวกันประท้วง เมื่อเล็งเห็นความพยายามของชุมชน กรมศิลปากรจึงกำหนดให้พื้นที่ตลาดสามชุกเป็น ‘ย่านประวัติศาสตร์’ ในปี พ.ศ. 2550 เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูตลาดสามชุกจากระดับรากหญ้า ในที่สุด กรมธนารักษ์หันมาร่วมมือกับสมาชิกชุมชนเพื่อทำให้การฟื้นฟูของตลาดสามชุกมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และยั่งยืนกว่าที่ใคร ๆ ได้คาดคิดไว้ในตอนแรก
คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบ Award of Merit ให้กับ ‘ชุมชนสามชุกและย่านตลาดเก่า’ ในปี พ.ศ. 2552 เน้นย้ำว่า ‘ชุมชนเป็นแรงผลักดันหลักสำหรับโครงการ[อนุรักษ์]ในทุกระดับ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงการสร้างแนวทางการออกแบบชุมชนเมือง’ ในแง่ของตัวอย่างความสำเร็จด้านเทคนิค ต้องย้อนกลับไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ที่นี่ ทีมงานจากโครงการอนุรักษ์ได้บันทึกรายละเอียดการก่อสร้างอย่างถี่ถ้วนสำหรับอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น รวมถึงรายละเอียดการตกแต่งที่ประณีต (เช่น กระเบื้องเซรามิกปูพื้นที่ตกแต่งด้วยการพิมพ์ซิลค์สกรีน) และวิธีการก่อสร้างโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็กและโครงไม้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่าการบูรณะจะเคารพจิตวิญญาณของสถานที่ ทั้งในแง่ของวัสดุที่ใช้และคุณสมบัติด้านสุนทรียภาพ
คุณมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ‘ในทางตรงกันข้ามกับแหล่งมรดกโลก ซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล การประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมุ่งที่จะยกย่องความพยายามในการอนุรักษ์แบบล่างขึ้นบน ซึ่งริเริ่มโดยภาคเอกชนหรือผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน’ ดังที่ชุมชนตลาดสามชุกได้แสดงให้เห็น ความพยายามดังกล่าวไม่เพียงรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้มีความหมายและมีจุดมุ่งหมายในบริบทปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
1 of 5

เรื่อง
23 สิงหาคม 2023
ผู้พิทักษ์มรดก
มองจากเฉลียงมุขทางเข้าตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลไปตามวิถีอย่างสง่างามภายใต้อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของสะพานพระราม 8 ให้บรรยากาศที่ทั้งร่มรื่นและตระการตาในขณะเดียวกัน
คุณสุมัยวดี เมฆสุต กล่าวว่า ‘วิวแบบนี้ จะมีสักกี่คนที่ได้เข้ามานั่งทำงานนี้’ คุณสุมัยวดีดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนบริหารศูนย์การเรียนรู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ธปท. เป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดของวังเทวะเวสม์ คุณสุมัยวดีทำงานที่ ธปท. มาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว โดย 17 ปีแรกทำหน้าที่เป็นนักจดหมายเหตุ ก่อนที่จะหันมาอุทิศตนให้กับการดูแลคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์อันล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์ ธปท. และนำแขกพิเศษของ ธปท. เยี่ยมชมแหล่งมรดกแห่งนี้
ปัจจุบันคุณสุมัยวดีทำงานจนใกล้เกษียณแล้ว และได้หวนรำลึกถึงความทรงจำดี ๆ มากมายเกี่ยวกับวังเทวะเวสม์ เช่น ห้องบรรทมชั้น 3 ที่ตำหนักใหญ่เคยใช้เป็นพื้นที่สำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ธปท. คุณสุมัยวดีชี้ไปที่มุมหนึ่งของห้องและกล่าวว่า ‘พี่เคยนั่งอยู่ตรงนี้’
คุณสุมัยวดียังเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างการซ้อมใหญ่ขบวนเรือพระราชพิธี การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะเริ่มตรงจุดที่ไม่ไกลออกไปจากเรือนแพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อาคารบริวารของวังเทวะเวสม์ที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเสร็จงานในช่วงเย็น จะทันเวลาพอดีสำหรับคุณสุมัยวดีในการชมขบวนเรืออันวิจิตรงดงามจากอาคารตำหนักใหญ่ ในขณะที่เรือเคลื่อนขบวนอย่างสง่าผ่าเผยไปยังวัดอรุณราชวราราม
คุณสุมัยวดีอธิบายว่าแขกบ้านแขกเมือง (รวมถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เสด็จเยือนประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพิธีกาญจนาภิเษกในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี) สามารถชมขบวนเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิดจากเรือนแพ
วังเทวะเวสม์สร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2457 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2461 โดยพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พ.ศ. 2401-2466) พระมาตุลาของพระองค์ ผู้ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอย่างยาวนานจากสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6
สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีส่วนร่วมในการเลือกวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่งตำหนักใหญ่ด้วยพระองค์เอง ตัวอย่างเช่น คุณศรันยา บูรณวิทยวุฒิ รองผู้อำนวยการ ส่วนบริหารอาคารและระบบวิศวกรรมที่ ธปท. เล่าให้ฟังว่า ในเบื้องต้น ได้มีช่างทูลฯ เสนอกระเบื้องหลังคาสีขาว แต่พระองค์ทรงปฏิเสธและยืนยันพระประสงค์ให้หลังคาตำหนักเป็นสีแดง
คุณศรันยาตั้งข้อสังเกตว่า ‘การออกแบบทางสถาปัตยกรรมมีแนวความคิดต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เล่าเรื่องราวแนวความคิดของท่าน’ เมื่อเทียบกับความหรูหราสไตล์นีโอบาโรกของวังบางขุนพรหมที่อยู่ใกล้เคียง ความสมดุลแบบนีโอคลาสสิกและความสละสลวยแบบเรียบง่ายของวังเทวะเวสม์อาจสะท้อนถึงแนวคิดเชิงวิเคราะห์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อนึ่ง พระองค์ทรงเป็นผู้คิดค้นปฏิทินแบบสุริยคติของไทย โดยให้คำลงท้ายของแต่ละเดือนบ่งบอกถึงจำนวนวันในเดือนนั้น
คุณศรันยาอธิบายว่า ‘การออกแบบของอาคารตำหนัก เขาเรียกนีโอคลาสสิก แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบของประตู หน้าต่าง ก็ยังมีการออกแบบที่ใช้สำหรับบ้านเมืองร้อน จะมีช่องเปิดต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมกับการที่จะให้ระบายลมในช่วงหน้าร้อน’
คุณสุมัยวดีกล่าวว่า ‘ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าใต้หน้าต่างสามารถเปิดได้’ ก่อนที่จะเปิดให้ดูทันที คุณสุมัยวดียังเสริมอย่างอารมณ์ดีว่า ‘เวลาฝนฟ้าตก แม่บ้านจะต้องวิ่งไปปิดหน้าต่าง เราก็ต้องวิ่งไปช่วย’
เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2466 ทายาทของพระองค์สืบทอดและอาศัยอยู่ที่วังเทวะเวสม์จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขซื้อที่ดินและอาคารต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2493 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 ธปท. ได้กลายมาเป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดของวังเทวะเวสม์ และมีการวางแผนแม่บทที่จะให้วังริมแม่น้ำทั้งสองแห่ง (คือวังเทวะเวสม์และวังบางขุนพรหม) ได้รับการอนุรักษ์เพื่อเป็นภูมิสัญลักษณ์อันงดงาม ในขณะที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ ธปท. (‘อาคาร 1’) จะได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นภูมิหลังที่สอดคล้องกับแหล่งมรดกทั้งสองอย่างกลมกลืน
คุณศรันยากล่าวว่า สมัยที่เป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ท่านหนึ่งได้พาเธอมาดูงานซ่อมแซมที่วังบางขุนพรหม คุณศรันยาเล่าถึงความประทับใจในครั้งนั้น ‘เป็นตำหนักที่สวยงามมาก อยากจะทำงานที่นี่’ โอกาสครั้งใหญ่ของคุณศรันยามาถึงในปี พ.ศ. 2536 เมื่อ ธปท. ต้องการสถาปนิกมาดูแลโครงการฟื้นฟูบริเวณและอาคารต่าง ๆ ของวังเทวะเวสม์ คุณศรันยาไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสนั้น และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะตำหนักใหญ่
คุณศรันยาอธิบายว่า ‘ในการทำงานของแบงก์ชาติก็จะทำงานคู่กับกรมศิลปากรมาโดยตลอด เพื่อนำมาซึ่งกระบวนการซ่อมที่อ้างอิงถึงของเก่าด้วย’ ทุกรายละเอียดที่ตำหนักใหญ่ได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ต้องมีการสืบหาที่มาของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น บานพับ กลอนประตู มีการใช้เครื่องเป่าผมเพื่อค่อย ๆ ลอกสีผนังที่ทาทับไว้และเผยให้เห็นถึงสีเดิม นอกจากนี้ คุณสุมัยวดีกล่าวว่า สิ่งใดก็ตามที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เช่น ระบบปรับอากาศ จะต้องทำการติดตั้งในลักษณะที่ไม่ขัดต่อสุนทรียภาพดั้งเดิม
ทุกแง่มุมของกระบวนการบูรณะได้รับการบันทึกไว้อย่างครบถ้วน และมีการจัดแสดงถาวรทั้งที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์และเกี่ยวกับพระประวัติสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใน 2 ห้องชั้นล่างของตำหนักใหญ่
โครงการบูรณะตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ได้รับ Honourable Mention จากยูเนสโกในการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยการประกวดรางวัลดังกล่าวได้เชิดชูความสำเร็จในการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบรางวัลดังกล่าวเน้นย้ำถึง ‘การวิจัยที่ซับซ้อนเกี่ยวกับโครงสร้างอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างที่เหมาะสม และการปรับการใช้สอยอย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่’
ทุกวันนี้ วังเทวะเวสม์ยังคงได้รับการดูแลอย่างพิถีพิถัน คุณสุมัยวดีกล่าวว่า ‘ตึกนี้จะต้องถูกทำความสะอาดทุกวัน เช้าทำชั้นล่าง ตอนสายก็จะทำข้างบน’ หนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดคือการเอนตัวของตำหนักใหญ่ ซึ่งน่าจะสืบเนื่องมาจากความอ่อนตัวของดินริมแม่น้ำ หากยืนอยู่บนระเบียงชั้น 2 จะสามารถรู้สึกได้อย่างเด่นชัดถึงความเอียงไปทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม คุณศรันยายืนยันว่า ได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากการเอนตัวของตำหนักใหญ่แล้ว และยังมีการติดตามตรวจสอบการทรุดตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจถึงความมั่นคงและความปลอดภัยของอาคาร
จิตวิญญาณของสถานที่อาจเป็นสิ่งที่สามารถอนุรักษ์และเทิดทูนได้ด้วยความแท้และความครบถ้วนสมบูรณ์ทางวัตถุ แต่ที่สุดแล้ว จิตวิญญาณนั้นจะเปี่ยมด้วยความหมายสำหรับความเป็นมนุษย์ก็ต่อเมื่อได้รับการถ่ายทอดผ่านบุคคลที่หวงแหนและดูแลสถานที่แห่งนั้นด้วยใจรัก กล่าวคือ คนส่วนน้อยที่อุทิศตนจนเรื่องราวชีวิตและความใฝ่ฝัของพวกเขาได้พัฒนาความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับมรดกที่พวกเขามุ่งพิทักษ์รักษาทุกวี่วันให้กับคนรุ่นหลังต่อไป
รับชมวิดีโอบทสัมภาษณ์ผู้พิทักษ์มรดกแห่งตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ กรุงเทพฯ
บทความนี้เป็นฉบับแปลภาษาไทยโดยผู้เขียนต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งดัดแปลงมาเล็กน้อยจากบทความที่ออกเผยแพร่ครั้งแรกทางหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566
1 of 5

ข่าวประชาสัมพันธ์
23 พฤศจิกายน 2023
ถึงเวลาให้ชุมชนนําทางมุ่งสู่การยุติเอดส์
เป็นเวลาเกือบ 40 ปีที่ประเทศไทยดําเนินการอย่างเข็มแข็งและต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อยุติปัญหาเอดส์ ที่เป็นภัยคุกคามทางสาธารณสุข ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ภายในปี 2573
ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นต้นแบบในระดับนานาชาติของการมีผู้ได้รับผลกระทบ คือผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีลุกขึ้นมาช่วยเหลือดูแลกันแบบ “กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน” ตั้งแต่ปี 2538 และได้รวมกันเป็นเครือข่ายทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค เป็นเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ต่อมาในปี 2564 มีการพัฒนาสู่งาน “ศูนย์องค์รวม” ซึ่งเป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาระบบบริการด้านเอชไอวีร่วมกับโรงพยาบาล กลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ได้พลิกบทบาทจาก ผู้รับบริการ เป็นผู้ร่วมจัดบริการ เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุคลากรทางการแพทย์ ติดตามดูแลเพื่อน ๆ ทั้งทางด้านสุขภาพ จิตใจ สังคม และร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบสุขภาพและสิทธิด้า นอื่น ๆ ร่วมกับชุมชน ปัจจุบัน มีกลุ่มที่ทํางานศูนย์องค์รวมทั้งหมด 219 กลุ่ม
"ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยแต่เป็นที่ยอมรับของโลกว่า ความเป็นผู้นําของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมทํา เป็นหุ้นส่วนอย่างแท้จริงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การวางแผน การจัดบริการ การรณรงค์และการดําเนินการต่าง ๆ เป็นยุทธศาสตร์สําคัญมากและเป็นกุญแจสู่ความสําเร็จ อีกทั้งแนวคิดนี้ยังเป็นต้นแบบของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ด้วย เช่น โควิด เป็นต้น” กล่าวโดย ดร. พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อํานวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)
การมีส่วนร่วมของชุมชนในการยุติปัญหาเอดส์ มีความสําคัญเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในประเทศไทย ด้วยตระหนักว่าการตั้งรับอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การระบาดของเอชไอวีเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีความเปราะบาง ได้แก่ LGBTQI+, ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการ กลุ่มเยาวชน และประชากรข้ามชาติ ดังนั้นจุดแข็งของความเป็นชุมชนคือเข้าใจและเข้าถึงความต้องการ ปัญหาและอุปสรรคของประชากรกลุ่มนี้ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเอชไอวี ผู้ที่เข้าถึงยาก ผู้ที่ยังมีความกลัว กังวลการตีตราเลือกปฏิบัติ จึงยังไม่เข้าสู่ระบบสุขภาพทั่วไป
คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) และผู้อํานวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า การดําเนินงานโดยชุมชนและเพื่อชุมชนนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สําคัญของการยอมรับในบทบาทและศักยภาพของชุมชนจาก “ผู้รับบริการ” มาเป็น “ผู้ร่วมจัดบริการ” – ในรูปแบบ Community-Led Health Services โดยประเทศได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดําเนินงานภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนในการดําเนินงานของชุมชน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศต่อการแก้ปัญหาเอดส์
เภสัชกรหญิง ดร. ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมชองชุมชนเป็นหน่วยร่วมบริการ เป็นยุทธศาสตร์ที่จะทําให้ประเทศไทยยุติเอดส์ได้จริง เข้าถึงประชากรที่ต้องการมากที่สุด ในแต่ละปี สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณสําหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรเป้าหมาย โดยในปีงบประมาณ 2566 งบประมาณด้านบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เป็นเงิน 575.70 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อร่วมจัดบริการประมาณ 182.25 ล้านบาทต่อปี เพื่อเข้าถึงการป้องกัน การตรวจเอชไอวี และการรักษาได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้เป็นที่น่ายินดีที่มีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ารับการอบรมเพื่อร่วมจัดบริการ จากการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หลักสูตรของกรมควบคุมโรค และหลักสูตรของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการกําหนดมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนที่ดําเนินการโดยองค์กรประชาสังคม และการประเมินมาตรฐานของการให้บริการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาสังคม ที่เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการเอชไอวีฯ กับ สปสช. โดยขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการแล้ว 39 องค์กร นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบันมีอาสาสมัครฯ ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข 497 คน นอกจากนี้จากหลักสูตรวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล อีก 88 คน รวมจํานวน 585 คน
การเป็นผู้นําของชุมชนในด้านการสะท้อนข้อมูลจากผู้ที่รับบริการหรือจากผู้ได้ผลกระทบโดยตรงอย่างเป็นระบบ นับว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง เป็นข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ต่อการกําหนดนโยบายและการปรับปรุงการดําเนินงานในทุกระดับได้อย่างดีและตรงเป้า ได้แก่ ระบบติดตามโดยชุมชน (Community-Led Monitoring, CLM) และการสํารวจดัชนีการตีตราผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี (Stigma Index Survey)
คุณศตายุ สิทธิกาน ผู้อํานวยการมูลนิธิแคร์แมท จังหวัดเชียงใหม่ มีประสบการณ์ตรงในการบริหารจัดการเครื่องมือทั้งสองระบบนี้โดยร่วมพัฒนาประเด็นการกํากับติดตาม และบริการที่มีคุณภาพ โดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการติดตามการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวีในจังหวัด ผ่านระบบติดตามโดยชุมชน (CLM) ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีโรงพยาบาลเข้าร่วมระบบติดตามโดยชุมชนจํานวน 13 แห่ง โดยนําข้อค้นพบจาก CLM มาพัฒนาคุณภาพการบริการ ดังนี้ (1) การอบรมประเด็นอ่อนไหวเรื่องเพศสําหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (2) การพัฒนาเครือข่ายผู้ให้บริการเพร็พ ยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเขื้อในระดับจังหวัด และ (3) การรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและลดการตีตราต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ภายใต้แคมเปญ Undetectable = Untransmittable (U=U)
คุณพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ประธานคณะอํานวยการการสํารวจดัชนีการตีตราผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี ประเทศไทย กล่าวถึงภาคีเครือข่ายภาคชุมชนในการทําการสํารวจ Stigma Index ที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคีระดับโลกในระหว่างปี 2565-2566 เป็นการศึกษาที่ครอบคลุม 25 จังหวัดระดับประเทศ เป็นข้อมูลที่สะท้อนเรื่องราวของการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีที่สําคัญมากชิ้นหนึ่งของประเทศไทย
คุณนิภากร นันตา ประธานมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ประเทศไทย เป็นผู้บริหารจัดการสํารวจนี้ มีความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นไม่กี่แห่งของโลกที่องค์กรชุมชนผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีเป็นผู้ดําเนินการ ข้อมูล Stigma Index ซึ่งเป็นข้อมูลท่ีช่วยเปลี่ยนเสียงที่เคยเปล่งออกไปแต่ไม่ค่อยมีคนได้ฟังเป็นเสียงที่ดังขึ้น แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่อยู่กับเชื้อเอชไอวีที่ตั้งครรภ์ ความซับซ้อนกับการใช้สารเสพติต และชีวิตทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ ในขณะที่คุณซูฮายนงค์ สมาเฮาะ ผู้จัดการศูนย์ Care team สงขลายังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งการจัดบริการที่เป็นมิตรรอบด้าน และการสนับสนุนด้านกฎหมายในการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด
จากวันเอดส์โลกปีนี้ 2566 เหลือเพียงอีก 7 ปีที่จะถึงปี 2573 จากข้อมูลเชิงประจักษ์จากโครงการ EpiC ประเทศไทย ดําเนินการโดย Family Health International (FHI 360) ภายใต้การสนับสนุนจากแผนการฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา พบว่าค่าเฉลี่ยของระดับเซลล์ CD4 ณ วันที่ตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี ณ ศูนยส์ุขภาพชุมชนทั้ง 11 แห่งอยู่ที่ระดับ 429 เซลล์/ลบ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่ 172 เซลล์/ลบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในการร่วมจัดบริการเอชไอวี ที่ยังผลให้ผู้รับบริการรู้สถานะการติดเชื้อของตน เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีสุขภาพดี และลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี
นายแพทย์ สุนทร สุนทรชาติ ผู้อํานวยการสํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วม Fast Track Cities ตั้งแต่ปี 2557 มุ่งสู่ยุติเอดส์ด้วยความร่วมมือและเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรชุมชนทําให้กทม.ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศที่เป็นเมืองที่สามารถตรวจเร็วรักษาเร็วภายในวันเดียวได้ อย่างมีประสิทธิผล มีการขยายการให้ยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อฯ ได้มากที่สุดของประเทศ และเริ่มเห็นการลดลงของการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ผู้ตรวจพบผู้ป่วยเอดส์คนแรกของประเทศไทย มีความหวังว่า ประเทศไทยยังคงสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเป้าหมายใน 7 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน ถ้าผู้กําหนดนโยบาย ผู้บริหาร เพิ่มการลงทุนให้แก่องค์กรชุมชนอย่างเต็มที่ในเวลาที่เหลืออยู่และทุกภาคส่วนช่วยกับสนับสนุน แก้ไขนโยบาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทํางานองคก์รภาคชุมชน ที่มีพลังมากมายที่จะช่วยให้ประเทศไทยยุติเอดส์ได้จริง
1 of 5
ข่าวประชาสัมพันธ์
22 พฤศจิกายน 2023
UNGCNT-UN ประกาศปั้นบุคลากรทักษะสูงกว่าล้านคน รับเศรษฐกิจยุค 5.0 ยกโมเดลใหม่ Sustainable Intelligence สู่ความยั่งยืนปี 2030
22 พฤศจิกายน 2566 — สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืน ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) จัดประชุมผู้นำภาคเอกชนประจำปี ‘GCNT Forum 2023 : Partnership for Human Capital 5.0 – Towards Sustainable Intelligence ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ รวมพลังพันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ประกาศเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 133 องค์กรสมาชิกสมาคมฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 เตรียมตั้ง Sustainable Intelligence Youth Club เพิ่มศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในปี ค.ศ. 2024 ผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากภาคธุรกิจและพันธมิตรสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ในงานนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำด้านการพัฒนาคนสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน” โดยระบุว่า คนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน (human-centered approach) ตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่เรียกว่า “New Growth Path” เพื่อตอบโจทย์ Fifth Industrial Revolution ซึ่งประกอบด้วย 3 มิติคือ (1) Green growth การคำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย (2) Innovation-driven growth การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆรวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินนโยบายภาครัฐ และการทำธุรกิจของภาคเอกชน และ (3) Community-based growth การยกระดับแรงงานและการพัฒนากระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ การสร้างงานโดยมีนโยบายด้านแรงงานที่นำไปสู่การจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยได้ระบุว่าภาคเอกชนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในหลากหลายมิติเช่น การวัด carbon footprint ขององค์กร การสนับสนุนให้ supply chain ในธุรกิจเป็นธุรกิจสีเขียว การให้โอกาสธุรกิจเล็ก ๆ หรือ entrepreneursสร้างสรรค์ business model ใหม่ๆ “ในระยะต่อไป เราต้องเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น (SDG localization) ซึ่งหมายถึงการพัฒนาทักษะทั้ง upskill reskill และ new skills เพื่อพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย ให้มีความคิดสร้างสรรค์และริเริ่ม เพื่อตอบโจทย์ creative economy และเสริมสร้างผลิตภาพของประเทศในภาพรวม” ดร.ปานปรีย์ กล่าว ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือUNGCNT และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวรายงานในหัวข้อ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของ “คน” หรือทรัพยากรมนุษย์ นอกจากจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงแล้ว ยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค 5.0 หรือยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมทั้งเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ สู่ “สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” สำหรับนักเรียน นักศึกษา ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยี เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง (Action-Based Learning) และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวด้วย Growth Mindset บ่มเพาะ “จิตสำนึกแห่งความยั่งยืน” ครูผู้สอน ต้องปรับบทบาทจากผู้สอน (Instructor) เป็น โค้ช ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) เพื่อบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีตัวชี้วัดที่ส่งเสริมความโปร่งใส โดยภาคเอกชน สามารถทำบทบาทนี้ได้ ด้วยการจัดกิจกรรมเป็นฐานหรือศูนย์การเรียนรู้ สอดคล้องกับ SDGs ข้อที่เกี่ยวกับธุรกิจของตนแรงงาน องค์กรควรปรับมุมมองในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรให้เสริมงานที่ทำ นายจ้างรวมถึง ภาครัฐ ควรเตรียมทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้แรงงานปัจจุบันและอนาคต สามารถทำงานกับ AI ได้ โดยได้ยืนยันบทบาทของ UNGCNT ที่จะระดมกำลังสนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถของครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา พัฒนาแรงงาน ให้มีทักษะเหมาะสม ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 เน้นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สร้างคน SI - Sustainable Intelligence ที่มี “ภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” สร้างพื้นที่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง “ผมเชื่อว่า “คน” ที่มีภูมิปัญญาที่ยั่งยืน หรือคนยุค SI Over AI จะช่วยให้สังคมไทยและสังคมโลกเกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม และร่วมมือกันจัดการกับข้อท้าทายต่างๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ได้จริงตามกำหนด” นายศุภชัย กล่าว ในขณะที่ นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทยได้ชี้ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก การยกระดับทักษะความสามารถของแรงงานเป็นวาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และการพัฒนาบนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ทีมสหประชาชาติในประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการค้นหาทักษะที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว โดยจะต้องอาศัยวิธีการแบบบูรณาการรวมกัน ด้วยมุมมองล่างขึ้นบน (bottom up) และบนลงล่าง (top down) พร้อมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นรากฐานของทุนมนุษย์ที่ยั่งยืน “เสาหลักของการพัฒนาประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวคือการพัฒนา “ทุนมนุษย์” ซี่งจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่สูงขึ้น และเพิ่มศักยภาพประเทศให้มีบทบาทนำในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อ SDGs จะเป็นแรงผลักดันที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเร่งยกระดับขีดความสามารถของภาคเอกชนในการร่วมบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ นำโดย UNGCNT” นางกีต้า กล่าว หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานนี้ คือการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของสมาชิก UNGCNT ที่จะเร่งผลักดันนโยบายการพัฒนาบุคลากร ยกระดับความรู้ และทักษะเชิงเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกด้านความยั่งยืน ของบุคลากร อย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 133 องค์กรสมาชิก ภายในปี ค.ศ. 2030 และจะพัฒนาศักยภาพบุคลากรของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันพันธมิตร ตั้ง Sustainable Intelligence Youth Club ในปี ค.ศ. 2024 เพื่อสนับสนุนเยาวชนให้มีทัศนคติและทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากภาคธุรกิจและพันธมิตรสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนา 6 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ การเสวนาของผู้นำธุรกิจ สมาชิก UNGCNT และพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนศักยภาพทุนมนุษย์ยุค 5.0 ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติของคน (2) ปั้นคนให้ก้าวไปข้างหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) เปลี่ยนผ่านคนอย่างเป็นธรรมสู่องค์กรสีเขียว (4) ปลุกศักยภาพคนรับการเปลี่ยนแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (5) ยกระดับคน สร้างพลังสังคม และสุดท้าย จะร่วมกัน (6) มองความยั่งยืนผ่านคนรุ่นอนาคต ทั้งนี้ GCNT Forum 2023 “พันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. โดยมีสมาชิก UNGCNT และพันธมิตรเข้าร่วมงานกว่า 60 องค์กร 7 สถาบันการศึกษา 15 องค์กรเยาวชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบัน บัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) วิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัย มหิดล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยานเรศวร ผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิต ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอสเอชบีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
1 of 5
ข่าวประชาสัมพันธ์
30 ตุลาคม 2023
UNDP ร่วมกับ ก.ล.ต. TLCA และ GCNT เปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้ดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เปิดโอกาสทางการตลาดมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
กรุงเทพฯ (27 ตุลาคม 2566) – โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดงานเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG”
คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจที่จะผนวกแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับการกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจ โดยกรอบการดำเนินธุรกิจและมาตรการการวัดผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหลักการที่ถูกยอมรับระดับสากล ที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถจัดทำรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวได้โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดในแบบการเปิดเผยข้อมูล 56-1 One Report
สำหรับมาตรฐานผลกระทบ SDGs นั้น คือ แนวปฏิบัติมาตรฐานแบบสมัครใจ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินงานขององค์กร โดยออกแบบมาเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจรวมทั้งผู้ลงทุนสามารถผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในระบบการบริหารจัดการและใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ โดยระบุเกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ กลยุทธ์ แนวทางการจัดการ ความโปร่งใส และการกำกับดูแล ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถบริหารจัดการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ซึ่งส่งผลดีสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ผ่านมาคู่มือฉบับนี้ รวมถึงมาตรฐานผลกระทบ SDG ได้ให้กรอบการทำงานกับองค์กรที่สามารถตัดสินใจในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดีขึ้น ตั้งแต่ประเด็นลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ ไปจนถึงสถานที่ทำงานที่มีความครอบคลุม นอกจากนี้ยังช่วยปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจของทั้งองค์กรและของคู่ค้าให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยง และสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมงานเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ว่า "SDG guide book และ SDG Impact standards นี้เป็นทั้ง โอกาส และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) รูปแบบใหม่ สำหรับบริษัทจดทะเบียน และภาคธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทสมัยใหม่ต้องการจะนำเงินมาลงทุนในประเทศที่มีความยั่งยืนชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ด้านกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมการยกระดับตลาดทุนไทยให้เข้าถึงเครื่องมือและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศที่สอดคล้องกับ SDGs โดยเน้นย้ำว่า “การเร่งขับเคลื่อน SDGs จะต้องอาศัยภาคเอกชนในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม ตลอดจนการปฎิรูปห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้นในทุกด้าน คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯ ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้ภาคเอกชนปรับตัวเข้ากับแนวทาง ESG ได้อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น สหประชาชาติในประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศครั้งประวัติศาสตร์สู่การเติบโตสีเขียวที่มั่งคั่ง คาร์บอนต่ำ ทนต่อสภาพภูมิอากาศ และมีความเป็นธรรม”
ภาคธุรกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญในการพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยระบบนิเวศที่ต้องเริ่มมาตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร จนถึงการผลักดันการลงทุนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มุ่งพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี และผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ สอดรับกับเป้าหมาย SDGs โดยเน้นบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นำบริษัท (tone from the top) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ผู้ลงทุนคำนึงถึงการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าและระบบนิเวศที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเงินทุนจากภาคเอกชนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมมือและขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ก.ล.ต. จึงหวังว่าคู่มือและมาตรฐานผลกระทบ SDGs จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีความรู้ความเข้าใจ โดยนำมาใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้สามารถเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและจัดทำรายงานประจำปี (56-1 One Report) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ (value chain)”
โดยคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจจะเป็นเครื่องมือที่สร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ และช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการมุ่งมั่นทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ชี้ว่า “ประเด็นการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นประเด็นหลักของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนของไทย ได้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานกำกับ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญและกำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กรและของประเทศ อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในแบบรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ให้ครอบคลุมนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของบริษัทจดทะเบียนตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) และได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เปรียบเทียบ และแข่งขันระหว่างบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการนำ ESG (Environment, Social, Governance) ผนวกเข้ากับกลยุทธในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นช่องทางในการพัฒนาและต่อยอดในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุพันธกิจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการดูแลสิทธิมนุษยชนให้เป็นสากล”
เช่นเดียวกับศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่ย้ำถึงบทบาทของสมาคมฯ ว่า “สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มุ่งส่งเสริมการแข่งขันกันทำความดีอย่างสร้างสรรค์ หรือ “Race to the top” พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดทั้ง supply chain ของไทย เปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะที่มีความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม”
และเพื่อเป็นการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ระบุว่า “การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม รัฐบาลไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงผู้เดียว แต่ต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างตัวแทนภาครัฐและตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจึงทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ และคาดหวังให้คู่มือเล่มนี้ให้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนกับบริษัทจดทะเบียน ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังสามารถประเมินผลกระทบด้าน SDGs เพื่อรายงานผลได้ด้วย มาตรฐานการประเมินและกรอบการทำงานภายใต้คู่มือนี้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และโน้มน้าวให้บริษัทต่างๆ หันมาสร้างผลกระทบด้าน SDGs มากขึ้น”
สอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
Aphinya Siranart
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
aphinya.siranart@undp.org
----
Download the SDG guidebook
1 of 5
ข่าวประชาสัมพันธ์
02 พฤศจิกายน 2023
ไอโอเอ็มและกระทรวงการต่างประเทศผนึกกําลังผลักดันวาทกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานและการรายงานข่าวเชิงประจักษ์ในประเทศไทย
กรุงเทพฯ (1 กันยายน 2566) – ประเทศไทยเป็นแหล่งของการโยกย้ายถิ่นฐานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนผู้ย้ายถิ่นที่ลงทะเบียนอาศัยอยู่ในประเทศกว่าสามล้านคน แม้รัฐบาลไทยจะพยายามผลักดันความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานข้ามชาติ แต่แรงงานเหล่านี้ก็ยังตกเป็นเป้าของการตีตรา ที่บางครั้งก็มาพร้อมอคติและความหวาดกลัว
โดยตระหนักว่าสื่อมีบทบาทในการทัดทานทัศนคติเหมารวมเชิงลบต่อผู้ย้ายถิ่น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จึงได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการระยะเวลาสองปีให้กับนักข่าว นักเรียนวารสาร และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานสาขาการสื่อสาร เพื่อผลักดันวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานและการรายงานข่าวเชิงประจักษ์ในประเทศไทย
“การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นประเด็นสำคัญทั้งในข่าวสารระดับประเทศและการถกเถียงในเวทีโลก ข้อมูลบิดเบือนและคำอธิบายที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงสามารถแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความเข้าใจที่ผู้คนมีต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน และยังกระทบต่อผู้ย้ายถิ่นฐานและครอบครัวด้วย แม้แต่ผู้สื่อข่าวมืออาชีพก็อาจมีแนวโน้มที่จะนำเสนอหรือรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้คลาดเคลื่อนได้ หากไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม” เจรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงานไอโอเอ็มประจำประเทศไทย กล่าว
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อทั้งแบบดั้งเดิมและยุคใหม่ผ่านการใช้สื่อการเรียนรู้และการเข้าฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรายงานประเด็นข่าวการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างมีคุณภาพ และขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการโยกย้ายถิ่นฐานเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
การฝึกอบรมนี้ต่อยอดมาจากประสบการณ์อันกว้างขวางของไอโอเอ็มในการทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อทั่วโลก โดยเฉพาะความร่วมมือผ่านเครือข่าย Global Migration Media Academy (GMMA) ซึ่งเป็นเครือข่ายฝึกอบรมสื่อบนแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่เปิดให้เข้าถึงได้อย่างเสรี โดยมุ่งเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่แบ่งแยกและมีจริยธรรม ปัจจุบัน ไอโอเอ็มเป็นภาคีร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในหกประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์กอลเวย์ (NUIG) ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดการเรียนการสอนภาคฤดูร้อนของเครือข่าย GMMA เมื่อเดือนมิถุนายน 2565
“การฝึกอบรมเหล่านี้จะเป็นพื้นที่ให้สื่อไทยได้มีส่วนร่วมกับนักข่าวและนักวิชาการจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการรายงานข่าวการโยกย้ายถิ่นฐาน” อองซาร์คเสริม
ไอโอเอ็มจะร่วมมือกับองค์กรสื่อ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสาขาวารสารศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้จากงานวิจัยและการศึกษาเดิมที่มีอยู่แล้วในบริบทประเทศไทย ซึ่งจะครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่การโยกย้ายถิ่นฐานตามสภาพแวดล้อม ไปจนถึงการรายงานข่าวที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศสภาพ และไอโอเอ็มจะสนับสนุนการฝึกอบรม จัดโดยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยมหิดลในเดือนกันยายนและตุลาคม 2566 รวมทั้งงานสัมมนา เรื่อง ความรับรู้ของสาธารณชนต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนธันวาคม 2566
“ในยุคดิจิทัลแห่งปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของข่าวสารบิดเบือน ผู้กำหนดนโยบายจึงให้ความสำคัญกับสื่อในฐานะแหล่งข้อมูลข่าวสารที่มีอิทธิพล ดังนั้น ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวโดยคำนึงถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และมีมาตรฐานทางจริยธรรม จะทรงพลังในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่เพียงแต่จะกำหนดวาทกรรมสาธารณะ แต่ยังมีอิทธิพลต่อวาทกรรมระดับนโยบายด้วย” นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
“ด้วยความร่วมมืออย่างเข้มข้นกับไอโอเอ็ม เราหวังที่จะเสริมสร้างความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อในการจัดทำรายงานข่าวที่คำนึงถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเคารพสิทธิของผู้ย้ายถิ่น รวมทั้งส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนชาวไทยและชุมชนผู้ย้ายถิ่นไปพร้อมกัน”
ในภาพรวม โครงการนี้มุ่งหวังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทย ในฐานะประเทศ Champion Country ของ ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบ และเป็นปกติ (GCM) ที่จะขับเคลื่อนหนึ่งในสี่คำมั่นสัญญาเพื่อ “ส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเชิงบวกของผู้ย้ายถิ่น และยุติการเลือกปฏิบัติและการตีตราต่อผู้คนกลุ่มนี้”
โครงการร่วมนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
สอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
อนุชมา เชรสธา
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
anshrestha@iom.int
1 of 5
ข่าวประชาสัมพันธ์
19 กรกฎาคม 2023
ก.ล.ต. ผนึก UNPRI และ AIGCC จัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนในการมีส่วนร่วมกับบริษัท ที่ออกหลักทรัพย์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผสานความร่วมมือกับองค์การ สหประชาชาติ (UN) Principles for Responsible Investment (PRI) และ Asia Investor Group on Climate Change (AIGCC) จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “Responsible Investment in Practice: Undertaking Stewardship with a Focus on Climate Change” เพื่อส่งเสริมหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ประกอบธุรกิจที่เก่ียวข้องในตลาดทุน ซึ่งในปีน้ีมุ่งเน้นให้ความรู้ในเรื่องการมีส่วนร่วมกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ในการดูแลความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันท่ี 17 กรกฎาคม 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน
ก.ล.ต. ร่วมกับ UN PRI และ AIGCC เป็นเจ้าภาพ จัดงานสัมมนาออนไลน์ เพื่อให้ความรู้เชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (stewardship) อาทิ การจัดสรรเงินทุนไปยังบริษัทท่ีออกหลักทรัพย์ (investee companies) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนท่ีดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุนและเจ้าของทรัพย์สิน รวมท้ังการมีส่วนร่วม (engagement) กับบริษัทท่ีออกหลักทรัพย์เพื่อผลักดันให้บริษัทเหล่านี้รับมือกับความเสี่ยงที่เก่ียวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate risk) สามารถระบุความเสี่ยงและโอกาสท่ีเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศที่สําคัญ ท้ังความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (transition risk) และความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) เพื่อให้บริษัทที่ไปลงทุนสามารถกําหนดมาตรการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที สอดรับกับความเร่งด่วนของวาระสําคัญดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กองทุนท่ีบริหารจัดการรวมท้ังผู้ลงทุน ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาท่ียั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วย
ท้ังน้ี งานสัมมนาที่จัดขึ้นคร้ังนี้เป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. UN และ PRI ต่อเนื่องเป็นปีท่ี 3 ภายใต้ ธีม ‘Responsible Investment in Practice’ เพื่อผลักดันภารกิจของ ก.ล.ต. ในด้านการกํากับดูแลและพัฒนา ตลาดทุนไทย พร้อมกับให้ความสําคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมาย SDGs เพื่อช่วยให้ตลาดทุนไทย มีพัฒนาการด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมย่ิงข้ึน โดยการสัมมนาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนมีความรู้ความเข้าใจบทบาทและแนวทางดําเนินการที่จะช่วยให้ investee companies ดําเนินธุรกิจโดยดูแล climate risk ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจและประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
1 of 5
ทรัพยากรล่าสุด
1 / 11
ข้อมูล
10 ธันวาคม 2021
1 / 11