มนุษยชาติก้าวหน้ามาไกลและเรายังต้องไปต่อ เพื่อสร้างโลกอันเท่าเทียมที่กำลังจะเป็นบ้านของคน 8 พันล้าน
ㅤㅤ
มนุษย์ใช้เวลาหลายแสนปีกว่าจะเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเป็น 1 พันล้านคน แต่เชื่อไหมว่า เพิ่งจะเมื่อราว ๆ 200 ปีที่ผ่านมานี่เอง ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกือบ 8 เท่า เมื่อปี 2011 โลกมีประชากรถึง 7 พันล้านคน มาจนถึงปีนี้ เราจะเดินทางมาถึงหมุดหมายใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 พฤศจิกายน โลกของเราจะมีประชากรเกิน 8 พันล้านชีวิต
หมุดหมายนี้ได้รับทั้งความสนใจและการโต้แย้ง กล่าวคือในขณะที่บางคนทึ่งกับความก้าวหน้าทางสุขภาพที่ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาว ทำให้อัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง เรามีนวัตกรรมที่ย่นย่อระยะทาง เชื่อมคนทั้งโลกเข้าหากัน ทำให้เราเข้าใจและโอบรับความเป็นมนุษย์อันหลากหลายของกันมากขึ้น รวมถึงการที่วัคซีนถูกพัฒนาสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ แต่บางคนกลับสร้างความตระหนกด้วยข่าวลือเกินจริง แพร่ความเข้าใจผิดว่าโลกของเรา “มีคนมากเกินไป”
เราต้องมองให้ไกลกว่าตัวเลขประชากร เพราะการขับเคลื่อนโลกสู่อนาคตที่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนมากหรือน้อย แต่อยู่ที่การเข้าถึงโอกาสและความเท่าเทียมของผู้คนต่างหาก ข้อมูลจากรายงานประชากรโลกปี 2022 บอกว่าเรา ความกังวลและความท้าทายที่เคยถูกพูดถึงเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความรุนแรงทางเพศ การเลือกปฏิบัติ ยังคงมีอยู่หรือแย่ลง นอกจากนี้ยังมีวิกฤติที่เคยถูกละเลยและวันนี้ได้ปรากฏชัดแก่สายตาแล้ว อย่างข้อมูลน่าตกใจว่าครึ่งหนึ่งของการตั้งครรภ์ทุกวันนี้ เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
ทั้งหมดคือวาระเร่งด่วน ที่ทุกคนจำเป็นต้องหันมามอง และทุกวันนี้ ทีมงานสหประชาชาติใน ประเทศไทย นำโดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund - UNFPA) กำลังสนับสนุนความพยายามระดับชาติที่จะบรรลุความยืดหยุ่นทางประชากร ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต บนพื้นฐานแนวคิดว่า “คนคือผู้ไขกุญแจสู่ทางออก ไม่ใช่ปัญหา”
เพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่ง “วันประชากรโลก” เราชวนคุณอ่านเรื่องราวความก้าวหน้าของมนุษย์ แม้จะก้าวหน้ามาไกลและเรายังต้องไปต่อ ปีนี้มนุษยชาติกำลังจะมีจำนวนเกิน 8 พันล้านคน ภารกิจของเราในการสร้างโลกและสังคมที่ให้คุณค่าในสิทธิ ทางเลือกและตัวตนของพลเมือง ซึ่งเราเป็นประจักษ์พยานครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขที่ทุกคนปรารถนาและสมควรได้รับจริง ๆ
เมื่อโครงสร้างประชากรโลกเปลี่ยนแปลง
เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นน่าทึ่ง ระหว่างปี 2000 ถึง 2019 อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 66.8 ปี เป็น 73.4 ปี ความก้าวหน้าทางสาธารณสุขยังทำให้ปัจจุบัน จำนวนคนอายุยืนยาวถึง 100 ปี มีมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามในขณะที่คนอายุยืนขึ้น อัตราการเกิดกลับน้อยลง ย้อนกลับไปช่วงปี 1970 ผู้หญิงหนึ่งคนจะมีลูกเฉลี่ย 4.5 คน แต่มาในปี 2015 ภาวะเจริญพันธุ์โดยรวมของโลกลดลง ผู้หญิงหนึ่งคนมีลูกน้อยกว่า 2.1 คนโดยเฉลี่ย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้ามาอาศัยในเขตชุมชนเมือง
โครงสร้างประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้สำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การจ้างงาน การกระจายรายได้ การคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัย น้ำ อาหาร และพลังงาน ตลอดจนการเข้าถึงระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดีสำหรับผู้หญิง รวมทั้งระบบบำนาญที่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุ และการคำนึงถึงกลุ่มชายขอบของสังคม
สร้างความเสมอภาคทางเพศในสังคมสูงวัย
เมื่อเราเข้าสู่ปี 2050 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประชากร 1 ใน 4 คน จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ในกลุ่มประชากรสูงวัยเหล่านั้น ส่วนมากคือผู้หญิง และแม้สิทธิสตรีจะพัฒนามาไกล แต่ทุกวันนี้เรายังคงอยู่ในโลกของความไม่เท่าเทียมทางเพศที่กว้างใหญ่ และภายใต้บริบทของสังคมสูงอายุ ช่องว่างที่เกิดจากเพศสภาพนั้นจะยิ่งถ่างและซับซ้อนขึ้น
เพื่อให้ผู้หญิงก้าวสู่วัยชราได้อย่างมั่นคง พวกเธอต้องมีการพัฒนาตลอดช่วงวัย (A Life-Cycle Approach) ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผู้หญิงควรเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เรื่อยมาจนวันรุ่นและวัยผู้ใหญ่ พวกเธอควรเข้าถึงการวางแผนครอบครัวที่อยู่บนพื้นฐานสิทธิ เพื่อที่พวกเธอจะสามารถวางแผนชีวิตได้ตลอดทุกช่วงวัย สามารถตัดสินใจได้ว่าอยากมีลูกหรือไม่ มีกับใคร และจะมีตอนอายุเท่าไหร่ ตลอดจนสามารถคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวไปจนแก่เฒ่าของพวกเธอเอง
ผู้หญิงยังต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงทักษะความรู้ที่เป็นรากฐานของชีวิต ทุกวันนี้โอกาสเติบโตในสายงานไอทีของผู้หญิงและผู้ชายยังห่างกันถึง 4 เท่า ทั้งยังมีช่องว่างในการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างเพศที่สูงถึงร้อยละ 12.5 ทั่วโลก ดังนั้นเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าสู่สายงานด้านเทคโนโลยี เด็กยุคใหม่ทุกคนควรได้รับโอกาสในการฝึกฝนทักษะที่จำเป็น อย่างการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหา (Science Technology Engineering and Mathematics Education หรือ STEM)
นอกจากนี้ ในรายงานสถานะประชากรโลกล่าสุดที่เปิดตัวในปี 2022 SEEING THE UNSEEN ยังได้เปิดเผยอีกหนึ่งวิกฤติของผู้หญิง นั่นคือการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมากกว่า 3 ใน 5 สิ้นสุดที่การทำแท้ง และการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้หญิงหลายล้านคนต่อปี
หลายปีที่ผ่านมาหลายภาคส่วนในประเทศไทยและ UNFPA ได้ร่วมกันผลักดันการเยียวยาวิกฤตินี้ ด้วยการมีกรอบกฎหมายและนโยบายตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ความสำเร็จในนโยบายนี้นำไปสู่บริการที่ครอบคลุมมากขึ้นในการจัดหายาคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ฟรี เช่น LAC ถุงยางอนามัย และยาคุมกำเนิดสำหรับวัยรุ่น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายสำหรับการทำแท้งอย่างปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงวัยรุ่นทุกคน
เตรียมความพร้อมสู่สังคมที่คนเกิดน้อยลง
คนเกิดน้อยลง คนสูงวัยมากขึ้น ส่งผลให้คนวัยทำงานลดจำนวนลงเรื่อยๆ อย่างในประเทศไทย มีการประมาณการว่า จากปัจจุบันที่มีประชากร 5 คนทำงานเลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คน ภายในปี 2040 จะเหลือประชากรไม่ถึง 2 คน ทำงานเพื่อเลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คน
ปัจจุบันจำนวนประเทศที่เผชิญกับการสูงวัยของประชากรมีมากขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้เกือบร้อยละ 60 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยผู้หญิงแต่ละคนให้กำเนิดลูกน้อยกว่า 2.1 คนอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น ส่วนแบ่งของประชากรโลกที่อายุ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.3 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 22 ในปี 2050 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราเห็นสถิติจำนวนประชากรที่สุดขั้วขนาดนี้
หนึ่งในหนทางที่จะเอาชนะความท้าทายนี้ คือการลงทุนเพื่อพัฒนาคนรุ่นต่อไป โดยสร้างหลักประกันการเรียนรู้ และความพร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลังในการขับเคลื่อนศรษฐกิจและสังคม เด็กรุ่นใหม่ต้องได้รับการบ่มเพาะทักษะสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ที่การเปลี่ยนแปลงและการโดนดิสรัปต์เกิดขึ้นได้ทุกนาที
ประเทศไทยมีเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี ราว 12 ล้านคน ที่กำลังจะกลายเป็นผู้นำสังคมในอนาคต อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ร้อยละ 15 ของเยาวชนอายุ 15-24 ปี ไม่ได้อยู่ทั้งในระบบการศึกษา การฝึกอบรมหรือการจ้างงานใดๆ เราต้องเพิ่มงบประมาณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาชีวศึกษาด้วยเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนขาดโอกาสเหล่านี้เข้าถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต
กุญแจคือความยืดหยุ่นทางประชากร
เมื่อมองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรโลก การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และอีกสารพัดวิกฤติมากมาย ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความท้าทายที่เด็กๆ รุ่นใหม่ต้องเผชิญนั้นซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่าที่คนรุ่นก่อนพบเจอมาก
อย่างไรก็ตาม “คนคือผู้ไขกุญแจสู่ทางออก ไม่ใช่ปัญหา” UNFPA จึงเริ่มโครงการความยืดหยุ่นทางประชากร ซึ่งมุ่งมั่นที่จะไม่นับเฉพาะแค่จำนวนคน แต่ให้น้ำหนักและความสำคัญกับโอกาสที่จะนำพาทุกคนไปสู่ความก้าวหน้า เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเข้าใจและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรได้ดีขึ้น สามารถบรรเทาผลกระทบด้านลบ ลดความเสี่ยงและตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต
ภารกิจของ UNFPA คือการทำให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ มีทักษะ เครื่องมือ ที่จะช่วยให้รัฐบาลประเมินความต้องการของประชากรที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น และมีการพัฒนานโยบายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการอ้างอิงจากข้อมูล หลักฐาน และสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยุติธรรม นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ออกดอกผลแก่ทุกคน
เช่น ขยายทางเลือกและโอกาสให้คนหนุ่มสาว ให้ผู้หญิงและผู้ชายผสานการทำงานเข้ากับการสร้างครอบครัว ปรับปรุงระบบดูแลและจัดการเด็กๆ เพื่อให้พ่อแม่รุ่นใหม่สามารถมีลูกได้ตามที่ปรารถนา เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในที่ทำงาน สร้างการมีส่วนร่วมของคนพลัดถิ่น สนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีและแอคทีฟอยู่เสมอ
เดือนแห่งวันประชากรโลก ปีที่มนุษยชาติมีมากกว่า 8 พันล้านคนบนโลก ในโลกอุดมคติ คงหมายถึง 8 พันล้านโอกาสของการใช้ชีวิตอย่างสง่างาม ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งสิทธิและทางเลือกของผู้คนจะเสริมพลังสู่สังคมที่สมบูรณ์แข็งแรงกว่าเดิม แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ทุกวันนี้คนจำนวนมากยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ถูกล่วงละเมิด และถูกกระทำด้วยความรุนแรง เราจะไม่สามารถช่วยให้โลกดีขึ้นได้เลย หากยังเพิกเฉยต่อพวกเขา
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, ภาพ วศิน ปฐมหยก
Tags: #RightsChoices4All #8BillionStrong #WorldPopulationDay #วันประชากรโลก