มัฟฟิ่น-กรลภัส ครุธเวโช UN Peacekeeper ร้อยเอกหญิงชาวไทยกับการทำตามฝันด้านสันติภาพและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภารกิจต่างแดน
UN Peacekeeper: When She Stands For Peace
ความฝันวัยเด็กสู่การเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ
เราฝันอยากเป็นนักการทูตมาตั้งแต่เด็ก ๆ ช่วงปิดเทอมสมัยเรียนคณะอักษรศาสตร์ จึงตั้งใจไปฝึกงานที่กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงกองความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม หลังเรียนจบก็ทำงานบริษัทเอกชนสักพัก แล้วจึงมาสมัครเป็นทหาร เพราะจริง ๆ แล้วในกองทัพมีส่วนงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย อย่างในกองพิธีการทูต กรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทยที่เราทำงานอยู่
ที่มาสมัครเป็นทหาร เพราะเราลองสมัครเข้ากระทรวงการต่างประเทศหลายรอบแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รุ่นพี่คนหนึ่งเห็นความตั้งใจของเราที่อยากจะทำงานด้านนี้ จึงแนะนำว่าจริง ๆ แล้วในกองทัพมีส่วนงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เลยตัดสินใจเบนเข็มมาเป็นทหารค่ะ โดยสังกัดของเราคือกองพิธีการทูต กรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
เกือบ 4 ปีที่แล้ว ตอนช่วงการระบาดของโควิด 19 เรามีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Child Protection Course) กับศูนย์สันติภาพไทย เลยได้รู้จักอาชีพเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพซึ่งผู้หญิงก็สมัครได้ แถมบางตำแหน่งระบุเลยด้วยว่าต้องการเจ้าหน้าที่หญิงโดยเฉพาะ เรามองว่านี่เป็นอีกเส้นทางสู่การทำตามฝันด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังเป็นงานที่มีประโยชน์ได้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เมื่อยศถึงร้อยเอกตามข้อกำหนดจึงไปเข้าสอบและผ่านการคัดเลือกค่ะ
ทำไมจึงได้มาประจำการอยู่ที่ซูดานใต้?
ภารกิจที่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพชาวไทยเข้าร่วมได้มี 3 แห่ง ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพไม่สามารถเลือกได้ว่าจะถูกส่งไปประจำการที่ไหน อาจเป็น United Nations Interim Security Force for Abyei (UNISFA) ชายแดนระหว่างซูดานและซูดานใต้ The United Nations Military Observer Group in India and Pakistan (UNMOGIP) บริเวณแคชเมียร์ หรือ The United Nations Mission in South Sudan (UNMISS) ที่ซูดานใต้
การสอบมีหลายรอบทั้งความรู้เกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติและการปฏิบัติงานด้านสันติภาพ ความรู้ภาษาอังกฤษ และสมรรถภาพร่างกาย ซึ่งต้องทดสอบวิดพื้น ลุกนั่ง และวิ่ง โดยต้องผ่านเกณฑ์ 50 เปอร์เซนต์ของอายุเราด้วย ไม่อย่างนั้นไม่ผ่าน การเตรียมตัวก็มีไปฝึกวิ่งค่ะ ทำให้เป็นนิสัย ร่างกายจะได้ชิน และการสอบรอบที่สำคัญมาก ๆ เลยคือรอบภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากการประเมินที่เมืองไทย เมื่อมาถึงพื้นที่ปฏิบัติงานจะมีการทดสอบภาษาอังกฤษอีกรอบ ถ้าใครไม่ผ่านอาจจะถูกส่งกลับได้เลย ตอนแรกเรารู้สึกว่าภาษาอังกฤษของตัวเองคล่องพอสมควรแล้ว แต่เมื่อมาที่นี่กลับเหมือนอยู่อีกโลกนึงเลย เพราะได้สื่อสารกับคนหลากหลายสำเนียงมาก ๆ ต้องปรับตัวให้ทัน
ก่อนออกประจำการเรายังได้เข้าฝึกอบรมคอร์ส The United Nations Staff Officer Course (UNSOC) และอบรมคอร์ส The United Nations Military Observer Course (UNMOC) พร้อมเพื่อนเจ้าหน้าที่จากชาติอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้การเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของสหประชาชาติ จากนั้นได้ฝึกสังเกตการณ์ ฝึกลาดตระเวน ฝึกสัมภาษณ์เก็บข้อมูล และสถานการณ์สมมติในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงฝึกเดินป่า แบกเป้เป็นสิบกิโลกรัม นับว่าหินพอสมควรค่ะกว่าจะผ่านทั้งหมด
ภารกิจที่ซูดานใต้ในแต่ละวันเป็นยังไงบ้าง?
กรณีของเราต่างจากเจ้าหน้าที่คนอื่นสักหน่อย เพราะมีการเปลี่ยนหน้าที่ระหว่างปฏิบัติภารกิจด้วย 3 เดือนแรก ตำแหน่งงานแรกของเราคือผู้สังเกตการณ์ทางทหาร หรือ The United Nations Military Observer (UNMO) ที่เมืองรุมเบค (Rumbek) หน้าที่หลักคือการลาดตระเวน เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปในพื้นที่กับคนท้องถิ่น การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจะช่วยให้ชาวบ้านอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยว่ามีคนดูแล เมื่อกลับมาถึงสถานีก็เขียนรายงานข้อมูลที่ได้รับ
ต่อมาเราได้รับเลือกจากรองผู้บัญชาการทหารสังเกตการณ์ (Deputy Chief Military Observers หรือ DCMO) ให้เข้ามาทำงานที่สำนักงานใหญ่ในกรุงจูบา (Juba) ตำแหน่งงานคือเจ้าหน้าที่ประสานงานบูรณาการของศูนย์ปฏิบัติการร่วม (Joint Operations Center-Integrated Liaison Officer หรือ JOC-ILO) โดยเราจะเป็นผู้ประสานงานเรื่องการนำเข้าและส่งออกสิ่งของที่ต้องส่งมอบไปยังทีมไซต์ต่าง ๆ (Import and Export Consignment) ช่วยให้การหมุนเวียนกองกำลังจากประเทศสนับสนุนเป็นไปอย่างราบรื่น (Troop Contributing Countries หรือ TCC) รวมถึงทำเรื่องเอกสารขอวีซ่าในกรณีที่จะมีคณะเข้ามาตรวจเยี่ยมในภารกิจ โดยเราปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นอยู่ประมาณ 6 เดือน
ข้อดีของการได้ปฏิบัติงานทั้งสองตำแหน่งคืออะไร?
ทั้งสองตำแหน่งมีความท้าทาย ตอนเป็น UNMO เราได้ทำงานในพื้นที่จริง ๆ ได้สัมผัสเรื่องราวของคนท้องถิ่นด้วยตัวเอง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับนั้นมีความอ่อนไหว ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ถ่ายรูปยากมาก แค่ยกกล้องขึ้นมาก็มีสิทธิ์ทำผิดกฎหมายท้องถิ่นเลย
แต่ละวันต้องลุ้นว่าจะสามารถเข้าพื้นที่ได้มั้ย แม้ว่าก่อนลาดตระเวนจะมีการสำรวจพื้นที่จากกองกำลังป้องกัน (Force Protection) แล้วว่าไปได้ แต่พอถึงเวลาจริงอาจเกิดฝนตก สภาพอากาศไม่ดี ด้วยความที่ถนนไม่ได้ราบเรียบอาจทำให้รถติดหล่ม ต้องไปเข็นรถจากหลุมบ่อโคลนก็เคยมาแล้ว กลับมาแรก ๆ เหนื่อยและเพลียมาก แต่ก็ท้าทายค่ะ ไหนจะต้องขับรถระวังไม่ให้ไปชนสัตว์ที่ขวางทางรถอีก เพราะถ้าชนทีเป็นเรื่องแน่ ๆ กฏหมายที่นี่แรงและค่าปรับก็สูงมาก
เมื่อได้ย้ายมาที่สำนักงานใหญ่ในเมืองหลวง จากในไซต์เล็ก ๆ ของตัวเอง เราต้องเรียนรู้เนื้องานทั้งหมดของทั้ง 10 ทีมไซต์ ได้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของภารกิจ ความท้าทายเป็นอีกแบบ
เราต้องประสานงานเรื่องเอกสารต่าง ๆ คุยกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในท้องถิ่น เพื่อให้การลาดตระเวนรวมถึงการปฏิบัติงานต่าง ๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เอกสารได้รับการอนุมัติไวที่สุด ตั้งแต่เอกสารเรื่องไฟลท์บินจนถึงเรื่องส่งคนเจ็บระหว่างรัฐ เอกสารพวกนี้ไม่สามารถล่าช้าได้ เพราะถ้าล่าช้า ทุกคนจะเดือดร้อนไปหมด เช่น กองร้อยที่หมดภารกิจแล้วกลับบ้านไม่ได้ ผลัดต่อมาที่จะมาเปลี่ยนก็มาต่อไม่ได้ กดดันไม่น้อยเลยค่ะ เพราะการปฏิบัติงานของเราสามารถส่งกระทบได้ต่อทั้งภารกิจ
จริง ๆ เราเพิ่งได้รับแจ้งจากรองผู้บัญชาการทหารสังเกตการณ์ว่ากำลังจะย้ายเราไปตำแหน่งงานใหม่อีกครั้ง น่าจะเป็นตำแหน่งสุดท้ายเพราะเราเหลือเวลาปฏิบัติภารกิจอีกแค่ไม่กี่เดือนก็จะครบหนึ่งปีตามข้อกำหนด ครั้งนี้เราจะทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนและประเมิน UNMO รุ่นใหม่จากประเทศต่าง ๆ ในการเข้ามาภารกิจ UNMISS ค่ะ
ปฏิบัติหน้าที่มาหลากหลาย คุณคิดว่าเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงสำคัญยังไงต่อภารกิจ?
หลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าผู้หญิงทำอะไรได้มากมายจริง ๆ และไม่ใช่แค่ได้ทำนะ แต่ทำได้ดีด้วย อย่างหัวหน้า UN Police (UNPOL) ในภารกิจ UNMISS ที่เราปฏิบัติงานอยู่ก็เป็นผู้หญิงชาวนอร์เวย์ชื่อคุณคริสติน ฟอสเซน (Ms. Christine Fossen) โดยเธอดูแลตำรวจในภารกิจทั้งหมดไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคน เก่งมาก ๆ
ในมุมของการเป็นเจ้าหน้าที่หญิง บางพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง การมีเจ้าหน้าที่หญิงลงไปปฏิบัติงานช่วยให้สถานการณ์ตึงเครียดน้อยลง อย่างตอนที่ทีมของเราพยายามไปสัมภาษณ์ทหารชาวซูดานใต้ บางทีเขาไม่ยอมตอบคำถามหรือไม่ให้ถ่ายรูป แต่พอเป็นเจ้าหน้าที่หญิง เขาก็อ่อนลงและหลายครั้งก็ยินดีให้ข้อมูล หรือกับเยาวชนในพื้นที่ การได้เห็นเจ้าหน้าที่หญิงในชุดปฏิบัติการเดินไปเดินมา เขามองว่าเราเท่จังและมีแรงบันดาลใจในการเรียนหนังสือและพัฒนาตัวเอง
ส่วนในมุมของการเป็นเจ้าที่ชาวไทย เราภูมิใจมากค่ะ เพราะคนไทยมักได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะในตำแหน่งใดก็ตามว่าทำงานเก่ง มีความตั้งใจ ซึ่งจริง ๆ เราก็ทำงานตามมาตรฐานปกติที่เมืองไทยนั่นแหละ แต่มันเป็นมาตรฐานที่ดีจึงได้รับคำชื่นชม เพื่อนร่วมงานก็ชื่นชมเหมือนกันเพราะคนไทยเป็นมิตร มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นตลอด
บทเรียนที่ได้รับและการเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงตอบโจทย์ความฝันคุณยังไงบ้าง
สิ่งที่ได้เรียนรู้เหมือนจะทั่วไปแต่ก็สำคัญ คือการยอมรับความแตกต่าง เจ้าหน้าที่ที่เราทำงานด้วยมาจากหลายประเทศทั่วโลก ทุกอย่างเปิดกว้างและหลากหลายมาก ดังนั้นเราต้องรับความแตกต่างได้ เช่น เรื่องศาสนา ซึ่งนอกจากศาสนาหลัก ๆ อย่างพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็ยังมีรูปแบบความศรัทธาอื่น ๆ อีก เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น เปิดใจถึงเหตุผลเบื้องหลังการกระทำของเขา และประนีประนอมเพื่อหาจุดร่วมตรงกลางให้ได้
เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ภารกิจ UNMISS มอบโอกาสให้ได้เติมเต็มความฝันที่ตั้งใจไว้จริง ๆ เราได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลและสัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง และยังได้ทำงานในสำนักงานใหญ่ประจำกรุงจูบาเพื่อประสานงานให้ฝ่ายต่าง ๆ ปฏิบัติงานอย่างราบรื่น เราได้เรียนรู้ว่าในแต่ละภารกิจประกอบไปด้วยส่วนงานต่าง ๆ มากมาย หลายองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ การทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตลอดจนด้านสันติภาพจึงมีหลายเส้นทางอาชีพให้เลือกเดิน ในอนาคตถ้ามีโอกาส เราจะสอบเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพอีกแน่นอนค่ะ
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช / เรียบเรียง นฤปนาท เหรัญญะ, รมย์รวินท์ พันธรักษ์, รัชชานนท์ ครื้นจิตต์, ลภิศรา ไกรวีระเดชาชัย / ภาพ ภูเบศ สง่ารักษ์
TAG: #UNPeaceKeeper #WomanInPeaceKeeping #PKDay #ServingForPeace #Goal16