ความขัดแย้งในยูเครน อาจกระทบความมั่นคงทางอาหารโลกอย่างไรบ้าง
ㅤ
ยูเครนและรัสเซียคือผู้ส่งอาหารรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ธัญพืช ข้าวสาลี น้ำมัน เมล็ดและดอกทานตะวัน รวมถึงข้าวโพด โดยทั้งหมดนั้นล้วนจำเป็นต่อวงจรการผลิตอาหารหลายอย่าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น กระบวนการผลิตทั้งทางเกษตรและการส่งออกต่างๆ ย่อมหยุดชะงัก และนั่นหมายถึงหลายประเทศทั่วโลกที่พึ่งพาการส่งออกจากยูเครนและรัสเซียอาจจะได้รับผลกระทบทางอาหารนี้ไปด้วย
รายงานจากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ World Food Programme (WFP) ระบุว่า ในปี 2020 นั้น จำนวนประชากรที่ขาดสารอาหารในเอเชียมีราว 418 ล้านคน ในแอฟริการาว 282 ล้านคน ในแถบลาตินอเมริกาและคาริเบียนอีกราว 60 ล้านคน ไม่เพียงเท่านั้นประชากรรวม 2.3 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 คนของประชากรทั่วโลก ยังไม่มีกำลังซื้อหรือเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดภาวะโภชนาการขาดแคลน การเติบโตที่ไม่สมวัย ปัญหาการเจริญพันธุ์ และการล้มป่วยหรือเสียชีวิตของประชากรเนื่องจากความหิวโหยที่ไม่มีใครอยากเห็น
โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติยังรายงานต่อไปว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความหิวโหยและปัญหาความบกพร่องทางโภชนาการนั้นมาจากโรคระบาด เช่น โควิด-19 ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเกษตรกรรม รวมถึงสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ยูเครนและรัสเซียคือผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก
สถิติจาก International Trade Centre หรือศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ ภายใต้องค์การการค้าโลก เผยว่า ยูเครน และรัสเซีย คือผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดธัญพืช น้ำมันพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด ที่ล้วนจำเป็นต่อการผลิตอาหารทั่วโลก เช่น ขนมปัง เบียร์ บิสกิต และอาหารสัตว์ รวมไปถึงเมล็ดแฟลกซ์ที่ใช้ผลิตผ้าลินิน
อ้างอิงข้อมูลการส่งออกข้าวสาลีของยูเครนและรัสเซียในปี 2020 จาก International Trade Centre เราจะพบว่าผลผลิตจากทั้งสองประเทศนั้นมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการผลิตอาหารทั่วโลกถึงร้อยละ 26 ซึ่งถือว่ามากกว่า 1 ใน 4 ของสัดส่วนการส่งออกทั่วโลก
Upali Galketi Aratchilage นักเศรษฐศาสตร์จาก Food And Agriculture Organization of the United Nations (FAO) หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวล ต่อสถานการณ์การเพราะปลูกและความสามารถในการส่งออกสินค้าการเกษตรเพื่อรองรับการบริโภคของคนทั่วโลก เนื่องจากราคาปุ๋ย พลังงาน และเมล็ดพันธ์ุพืชที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตใช้ปุ๋ยในการผลิตน้อยลงและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำจนอาจกระทบให้ราคาสินค้าการเกษตรและอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
โดยทั้งหมดนั้นยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่าความต้องการปุ๋ยทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้น และหนึ่งในแร่ธาตุที่มีส่วนสำคัญของการผลิตปุ๋ยก็คือแร่โปแตสที่มีรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายสำคัญของโลก
ใครพึ่งพาการผลิตอาหารจากยูเครนบ้าง
จากข้อมูลของศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ ภายใต้องค์การการค้าโลก ดูเหมือนว่าอียิปต์และตุรกีจะเป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนและรัสเซียมากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ร้อยละ 90 ของการส่งออกข้าวสาลีจากยูเครนยังส่งตรงไปสู่ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ยกตัวอย่างเช่นประเทศอินโดนีเซียและบังกลาเทศที่พึ่งพาการส่งออกข้าวสาลีจากยูเครนในมูลค่ารวมกันถึง 1,246.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Food Price Index หรือดัชนีราคาอาหารที่จัดทำโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ Food and Agriculture Organisation (FAO) ยังพบการเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบศักยภาพทางการเงินในการเข้าถึงอาหารของประชากรหลายคนทั่วโลก แม้จะยังไม่มีการประเมินผลกระทบที่แน่ชัด แต่สถานการณ์ความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนทั่วโลกนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป
ดาร์วิด บีสลีย์ (David Beasley) ผู้อำนวยการบริหารของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) เผยแพร่วิดีโอจากเยเมนพร้อมแสดงความกังวลว่า “เยเมนมีอัตรานำเข้าธัญพืชจากยูเครนและรัสเซียสูงถึงร้อยละ 50 ความขัดแย้งนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อราคาอาหาร ราคาการขนส่ง ราคาน้ำมันและก๊าซพลังงาน นี่ถือเป็นหายนะท่ามกลางหายนะอีกต่อหนึ่ง”
ความหิวโหยของชาวยูเครนระหว่างการอพยพ
ท่ามกลางความขัดแย้งในยูเครนในปัจจุบัน นอกจากความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจเกิดขึ้นต่อประชากรทั่วโลก ประชากรยูเครน ณ ขณะนี้ยังต้องเผชิญกับความหวาดกลัว ความหนาวเย็น และความหิวโหย
เฉพาะในปี 2021 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติยังรายงาน ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชากร 1 ใน 4 ของยูเครนตะวันออกเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยในภูมิภาคยูเครนตะวันออกมีประชากรราว 1.1 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือทางอาหารและการทำเกษตรกรรม ความน่ากังวลก็คือเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ความไม่คงทางอาหารและความหิวโหยของชาวยูเครนเองเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
รายงานจากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ที่ตามติดสถานการณ์การอพยพของชาวยูเครนยังพื้นที่ชายแดนยูเครน-โปแลนด์ พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ที่เดินทางอพยพออกจากพื้นที่ความขัดแย้งนั้นเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยเส้นทางข้ามระหว่างพรมแดนนั้นยาวประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งพวกเขาและเธออาจต้องใช้เวลาเดินทางร่วมกับการรอที่ยาวนานถึง 40 ชั่วโมง ด้วยอุณหภูมิที่ลดต่ำลงจนติดลบ 2 องศาเซลเซียส หลายครอบครัวจึงต้องเผชิญความหวาดกลัวจากการรอและการหนีภัย รวมถึงความหนาวเหน็บและความหิวโหยไปพร้อมกัน โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติยังได้รับการรายงานว่า ประชากรที่ยังปักหลักหรือตกค้างอยู่ในเมืองเคียฟและคาร์คิฟซึ่งเป็นสองเมืองหลักท่ามกลางความขัดแย้งนี้ก็เริ่มประสบความหิวโหยจากปัญหาการขาดแคลนอาหารและเครื่องดื่มแล้วด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติได้เดินทางไปถึงพื้นที่ชายแดนยูเครนและเข้าให้ความช่วยเหลือทางอาหารและเครื่องดื่มอย่างเร่งด่วนต่อผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีแล้ว นอกจากนั้นหลายหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานใหญ่ข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังทางสังคมของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women), หรือโครงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) เองก็ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อสถานการณ์ยูเครนตรงหน้าเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสวัสดิภาพของทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างรอบด้านและเกิดการฟื้นตัวได้ไวที่สุด โดยทุกท่านสามารถติดตามและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานแห่งองค์การสหประชาชาติได้ทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง
The views and/or opinions expressed in the article above are those of the contributing authors and do not reflect in any way the views and/or opinions of the United Nations in Thailand. The use and posting of the article does not provide any legal and/or other endorsement to the contributing organizations vis à vis the United Nations in Thailand.