เรื่องกินเรื่องใหญ่ เมื่อโลกร้อนจะทำให้อาหารขาดแคลนและราคาแพงยิ่งกว่านี้ เราจึงต้องปฏิรูประบบผลิต บริโภค และกำจัดอาหาร!
ㅤ
ระบบอาหารเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคนในทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม วันนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบอาหาร (Food System) ในทุกด้าน ตั้งแต่การเพาะปลูกพืชพรรณและเลี้ยงปศุสัตว์ มาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคอย่างเราได้ซื้อหามารับประทาน ไปจนถึงการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น
สิ่งที่โลกของเรากำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศที่ผันผวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล อุณหภูมิเพิ่มสูง ดินเสื่อมสภาพ น้ำจืดขาดแคลน การระบาดของวัชพืช โรค และแมลงศัตรูพืช พืชหลายชนิดอ่อนแอลงหรือแม้กระทั่งปลูกแล้วไม่เติบโต ผู้คนจะเพาะปลูกและผลิตอาหารที่มีสารอาหารที่เพียงพอได้ยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ผลผลิตทางการเกษตรอาจลดลง ไม่ก็ล้มเหลวไปเลย ทำให้อาหารที่เก็บไว้เสียหายและขนส่งไม่ได้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมอาหารจะมีราคาแพงขึ้น ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ผู้ที่มีความเปราะบางที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความหิวโหยก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก
ทุกวันนี้ระบบอาหารของเราตกอยู่ในความเสี่ยงบนโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส ผู้คนมากกว่า 189 ล้านคน จะต้องเข้านอนด้วยความหิวโหย แต่หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียสแล้วล่ะก็ จำนวนผู้ที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านคน
วิกฤตอาหารโลก โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะมีประชากรมากถึง 8 พันล้านคน คำถามคือเราจะผลิตอาหารให้เพียงพอได้อย่างไรโดยไม่ทำร้ายโลกเราไปมากกว่านี้ และช่วยค้ำจุนสังคมกับสิ่งแวดล้อมไปด้วย แต่หากขาดความร่วมมือ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือความไม่มั่นคงด้านอาหารและความหิวโหยในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
วันอาหารโลก (World Food Day) 16 ตุลาคมทุกปี จัดขึ้นส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงอาหารและโภชนาการที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวาระสำคัญของธีมในปีนี้ “เพียงพอสำหรับทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นั่นหมายถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางให้พร้อมมือกับวิกฤตสภาพอากาศด้วย
ระบบอาหารที่ยั่งยืนสร้างได้แต่จะต้องพัฒนาทุก ๆ ส่วนของห่วงโซ่อาหารพร้อมกัน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป ขนส่ง จัดจำหน่าย การบริโภคและจัดการของเสียที่เป็นขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
วัฏจักรของปัญหา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบอาหาร ซึ่งในขณะเดียวกันระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนก็เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วย
ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหารเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ 50 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ผลิตเนื้อสัตว์มากกว่าเดิม 6 เท่าตัว ผืนป่ามากมายกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์ ไม่เพียงป่าที่เดิมเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกทำลายไป แต่ปฏิกิริยาเคมีจากการใช้กรดไนตริกเพื่อจัดการมูลสัตว์ (ทุก ๆ วัน สัตว์แต่ละตัวปล่อยของเสียในปริมาณมาก) ยังทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 265 เท่า ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดอย่างก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเคี้ยวเอื้องของวัวอีกด้วย ความจริงก็คืออุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่ายานพาหนะทุกประเภทในโลกรวมกันเสียอีก
อีกปัญหาใหญ่ในปัจจุบันคือ การสูญเสียอาหาร (Food Loss) ในขณะที่การผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาย แต่อาหารที่ผลิตขึ้นบางส่วนไม่มีผู้บริโภค บางส่วนกลายเป็นขยะอาหาร (Food Waste) ซึ่งสัดส่วนไม่น้อยถูกคัดออกไประหว่างทางแค่เพียงเพราะรูปลักษณ์ของมันไม่น่าถูกใจ ทั้งที่มีคุณค่าทางโภชนาการคล้ายกัน ส่วนปัญหาขยะอาหารมาจากการบริโภคอย่างไม่รู้คุณค่า ในแต่ละปีมีอาหารมากกว่า 900 ล้านตันที่ถูกทิ้งขว้าง กองขยะอาหารที่เน่าสลายนั้นสร้างแก๊สมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 20 เท่า
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานของระบบอาหาร อื่นๆ ก็มีมากไม่แพ้กัน เช่น ยานพาหนะบรรทุกขนส่งอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ระบบขนส่งอาหารทางไกลที่ใช้การแช่แข็ง ไปจนถึงตู้แช่เย็นในซุปเปอร์มาร์เก็ต
ธรรมชาติที่นำมาซึ่งผลิตผล
แหล่งอาหารของเราเชื่อมโยงกับสภาพอากาศ เช่น พืชและสัตว์ต้องการน้ำ แสงแดด ดิน และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต ดังนั้นเมื่อเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดความหิวโหยจากการขาดแคลนอาหารจึงเพิ่มขึ้น
ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์อาหารขั้นรุนแรง และเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ที่น่าตกใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์การขาดแคลนอาหารมีแนวโน้มที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในพื้นที่ผู้คนทำเกษตรหาเลี้ยงชีพ รวมถึงในประเทศที่มีระบบเกษตรไวต่อปริมาณน้ำฝนและความแปรปรวนของอุณหภูมิ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้ว ตลอดจนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนอาหารยิ่งเลวร้ายลง จำนวนผู้หิวโหยทั่วโลกเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยคนเหล่านั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศที่เสี่ยงภัยและมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างมาก
ปัญหานี้ไม่ได้กระทบเฉพาะอาหาร แต่น้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคก็เป็นอีกหนึ่งวิกฤติ เห็นได้จากทะเลทรายซาฮาราทางตอนใต้ที่กำลังแล้งหนัก อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำในทะเลสาบถึงร้อยละ 90หายไป หญิงแอฟริกันพื้นเมืองจึงต้องเพิ่มระยะทางในการเดินไปตักน้ำมาหุงหาอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเสื่อมโทรมที่เกิดจากมนุษย์ส่งผลกระทบต่อร้อยละ 34 ของพื้นที่เกษตรกรรม และในทศวรรษหน้า ผลผลิตทางการเกษตรของโลกจะลดลงถึงร้อยละ 30 จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนเกิน 9 พันล้านคนภายในปี 2050 ซึ่งนั่นหมายถึงการผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้นต้องหล่อเลี้ยงทุกคนให้ได้
ภารกิจสร้างระบบอาหารยั่งยืน
แม้โลกเราจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากเช่นกันที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผู้คนนับล้านไม่สามารถซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารและการขาดแคลนอาหาร ขณะที่คนยากจนทั่วโลกกว่าร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและพึ่งพาการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภัยพิบัติ รวมทั้งภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น การกีดกันจากสถานะทางเพศและชาติพันธุ์ยิ่งทำให้เข้าไม่ถึงความรู้ ความช่วยเหลือ เงินทุน และนวัตกรรมต่าง ๆ นี่เป็นสาเหตุที่องค์การสหประชาชาติเร่งช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางสามารถรู้รับ ปรับตัว ฟื้นคืนจากวิกฤต และกลับมาดำรงชีวิตได้ เมื่อระบบการผลิตอาหารดีขึ้น โภชนาการดีขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น ชีวิตก็จะดีขึ้น และจะสามารถปฏิรูประบบอาหารเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ฮีโร่เพื่อความอิ่มท้องของทุกคน
การเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน และภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วม ก็จะทำให้เกิดความหิวโหยและขาดแคลนอาหาร
ยกตัวอย่างเหตุการณ์พายุเฮอริเคนเอตาพัดถล่มประเทศกัวเตมาลาในปีค.ศ. 2020 เขตเทศบาลซานกริสโตบัลได้รับผลกระทบหนักที่สุด ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้ทั้งหมู่บ้านและฟาร์มจมอยู่ใต้น้ำ ถนนถูกตัดขาด บ้านเรือน ที่ดิน และเสบียงอาหารถูกทำลายไปจนหมด และนั่นเป็นช่วงที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Programme - WFP) เดินทางเข้าไปในพื้นที่ โดยใช้ทรัพยากรภายในระบุตำแหน่งอาหารและระดมทีมเพื่อเข้าถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุที่เปราะบางที่สุด
โดย Miguel Barreto ผู้อำนวยการภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกล่าวว่า พายุเฮอริเคนเอตามาถึงในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ทำให้ชีวิตผู้คนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนอย่างยาวนานหลายปียิ่งย่ำแย่เมื่อประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 ที่เกิดขึ้น
WFP ถือเป็นหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งต่อสู้กับความหิวโหย ซึ่งภารกิจเกือบครึ่งหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้คนในการตอบสนอง ฟื้นฟู และเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ปัจจุบัน WFP จัดหาและส่งมอบอาหารให้แก่ประชากรโลกเฉลี่ย 90 ล้านคนต่อปี โดย 58 ล้านคนในจำนวนนี้คือเด็กและเยาวชน
สำหรับ World Food Day กำหนดขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization - FAO) ประสานความร่วมมือกับ 150 ประเทศทั่วโลก สร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งเร่งขจัดความหิวโหย ความอดอยาก และภาวะทุพโภชนา ให้หมดไป ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 2
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช
เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล
Tags: #WorldFoodDay #EndHunger #FoodWaste #FoodSecurity #Conversation
ข้อมูลอ้างอิง
1 เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2°C ผู้คนอีก 189 ล้านจะต้องเข้านอนอย่างหิวโหย https://www.wfp.org/campaign/climate-and-hunger?fbclid=IwAR0EE1XxnqYC9287OE18bt1tE6lhb9oEEbDTEPe6ShjL7GojAXUVc6iI_-Y
2 World Food Day https://www.fao.org/world-food-day/about/en
3 The state of food security and nutrition in the world 2021 สถานะของความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลกในปี 2021 https://www.fao.org/3/cb4474en/online/cb4474en.html#chapter-1-introduction
4 14 Facts Linking Climate, Disasters & Hunger https://www.wfpusa.org/articles/14-facts-climate-disasters-hunger/
5 How climate extreme are driving hunger https://www.wfpusa.org/articles/code-red-climate-warning-reality-for-many/
6 This Is How Climate Change Causes Hunger in 6 Steps https://www.wfpusa.org/articles/this-is-how-climate-change-causes-hunger-in-6-steps/