นรวัฒน์ ตะเวที มองเห็นอะไรใน 'โลกสองใบ' ของคนพิการทางสายตา
ㅤ
ในอดีตโลกของคนพิการและคนทั่วไปแยกขาดจากกันแทบจะสิ้นเชิง คนพิการไม่เคยรู้ว่าสังคมทั่วไปเป็นยังไง และคนทั่วไปก็ไม่รู้จักโลกของคนพิการ เบส-นรวัฒน์ ตะเวที เข้าใจโลกทั้งสองใบนี้เป็นอย่างดี เพราะเขาเคยมองเห็นได้ปกติ แต่โรคทางพันธุกรรมทำให้เขาสูญเสียการมองเห็นและกลายเป็นคนพิการทางสายตาประเภทเลือนรางตอนอายุ 14 ปี
เบสใช้เวลาไม่นานก็สามารถปรับตัวเข้ากับ ความปกติใหม่ ได้ โดยนอกจากการเรียนในห้องเรียนและมหาวิทยาลัย เบสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชมรมเยาวชนตาบอดไทย ที่เขาได้เรียนรู้และส่งต่อทักษะในการใช้ชีวิตให้เพื่อนๆ และพี่น้องคนพิการทางสายตาคนอื่น จากความเข้าใจทั้งมุมมองของคนปกติ และความท้าท้ายของคนพิการ
ทุกวันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นช่วยทลายข้อจำกัดและสร้างบานประตูแห่งโอกาสให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนพิการมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากมาย ทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิต เราอยู่ในยุคที่คนปกติและคนพิการสามารถสื่อสาร เชื่อมต่อ และเรียนรู้กันได้ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เบสจึงมองว่าโลกทั้งสองใบนี้ ควรถูกหลอมรวมเป็นโลกใบเดียวกันของทุกคน
ในฐานะรองประธานชมรมเยาวชนตาบอดไทยที่ทำงานขับเคลื่อนและรณรงค์มานานกว่า 10 ปี เบสได้เข้าเป็นเครือข่ายผู้นำเยาวชน SDGs Youth Panel ที่รวบรวมความคิดเห็นของรุ่นใหม่ส่งต่อให้ผู้นำรุ่นใหญ่ ว่าการพัฒนาประเทศไทยควรเดินหน้าไปทางไหน นอกจากนี้เขายังเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในการระดมความคิดเห็นจัดทำกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเป็นตัวแทนของเยาวชนกลุ่มเฉพาะที่มีสิทธิและเสียงเทียบเท่าทุกคนในสังคมไทย และยังได้ทำงานร่วมกับ UNDP Thailand และ UNFPA Thailand ในช่วงเวลาสำคัญเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนพิการอีกด้วย
ทุกวันนี้ เบสทำงานด้านทรัพยากรบุคคลและฝันอยากเห็นคนพิการมีตำแหน่งงานมากขึ้น ซึ่งความฝันของเขาจะเป็นจริงได้ ต้องเกิดจากการพบกันครึ่งทาง คือคนพิการต้องมีทักษะการทำงานที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องเปิดใจกว้างยอมรับว่าคนพิการอาจจะทำสิ่งต่างๆช้ากว่าคนปกติไปบ้างด้วยข้อจำกัดด้านร่างกาย แต่ในเชิงศักยภาพและความมุ่งมั่นตั้งใจแล้วไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใครๆ เลย
โลกสองใบของเบส
“ผมเคยเป็นคนที่มองเห็นปกติมาก่อน จนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ผมเริ่มมองไม่ชัด อ่านตัวหนังสือไม่เห็น ตอนแรกคิดว่าตัวเองสายตาสั้น เลยไปร้านตัดแว่น ลองใช้เลนส์หมดทุกประเภทแล้วก็ไม่ดีขึ้น จนการมองเห็นกระทบต่อชีวิตประจำวันหนักเข้า ครอบครัวเลยพาไปพบจักษุแพทย์ ได้เจาะเลือดส่งห้องแล็บและพบว่า สิ่งที่ผมเป็นอยู่คือโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเลือนราง ซึ่งไม่ปรากฏในญาติพี่น้องคนไหนเลยในรุ่นที่ผมเกิดทัน”
เบสเล่าว่าจุดเปลี่ยนของชีวิตอย่างสิ้นเชิงคือนาทีที่แพทย์โทรศัพท์มาแจ้งว่า อาการของเขาจะไม่มีวันรักษาหาย และนับจากนี้เขาจะกลายเป็นคนพิการทางสายตา “มันไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพ การที่ผมสูญเสียการมองเห็น เท่ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบเป็นตัวตนของผมก็สูญหายไปด้วย จากที่ชอบออกกำลังกาย ชอบเตะฟุตบอล ชอบเล่นเกมส์ ก็ทำไม่ได้อีกต่อไป ผมรู้สึกแปลกแยกจากสังคมที่เป็นอยู่ และเพราะอาการที่เป็นไม่ใช่ตาบอดสนิท มันจึงยากมากที่จะอธิบายว่าผมมองไม่เห็นยังไง บางคนหาว่าผมโกหกบางคนกลั่นแกล้งก็มี”
เมื่อเบสเริ่มปรับตัวให้เข้ากับความพิการที่เกิดขึ้นได้ พร้อมกำลังใจจากคนรอบตัวที่ช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้น เขาก็ตัดสินใจย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่มีโครงการเรียนร่วมระหว่างคนมีความพิการและเด็กทั่วไป จากนั้นเบสก็สอบคิดโควตาคนพิการเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการเรียนทั้งยากและท้าทายขึ้น
“เมื่อก่อนผมค่อนข้างเกเร จนเมื่อเกิดความผิดปกติทางสายตา พ่อผมบอกว่ามันสำคัญมากที่ผมจะต้องมีวิชาชีพติดตัวเพื่อเป็นเครื่องมือหางานในอนาคต พ่อผมเสียชีวิตหลังผมพิการแค่สองปี จุดเปลี่ยนทั้งหมดทำให้ผมคิดได้ ตั้งใจเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น”
เยาวชนกับบทบาทนักขับเคลื่อน
เบสบอกว่าเขามีโลกสองใบ เพราะเคยมองเห็นมาก่อน เลยเข้าใจมุมมองของคนปกติ ขณะเดียวกันก็เข้าใจมุมของคนพิการด้วย อย่างในการใช้ชีวิตหรือเรียนหนังสือ คนในสังคมอาจลืมไปว่าคนพิการจะทำสิ่งต่างๆ ได้ช้ากว่าคนทั่วไปอยู่แล้วด้วยข้อจำกัดด้านร่างกาย”
“ทุกครั้งที่เปิดภาคเรียนใหม่ ผมจะเข้าหาอาจารย์ก่อนเลย แจ้งให้ทราบว่าผมมีความพิการทางสายตานะ ถ้ามีเอกสารอะไร ขอเป็นไฟล์ดิจิทัลเพราะผมต้องซูมอ่าน หรือถ้ามีงานต้องทำในคลาสเรียน ผมขอนำกลับไปทำที่บ้านเพราะต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำ การเรียนในปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ มีส่วนช่วยอย่างมาก รวมถึงน้ำใจของอาสาสมัครหลายคนที่มาอ่านหนังสืออัดเป็นไฟล์เสียงให้ ทำให้เห็นว่าจริงๆ คนพิการมีศักยภาพ ไม่ใช่ว่าเราทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ แค่เส้นทางอาจจะอ้อมกว่า เลยสำเร็จช้ากว่าหน่อย” เบสอธิบาย
ตอนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 เบสถูกชักชวนเข้าเป็นคณะทำงานของชมรมเยาวชนตาบอดไทย โดยหนึ่งในภารกิจของทีมคือการจัดเวิร์คชอปและเทรนนิ่งเพิ่มศักยภาพด้านอื่นนอกเหนือจากการเรียนให้เยาวชนที่พิการทางสายตา พร้อมเดินหน้าสู่การใช้ชีวิตในสังคม “ทุกครั้งที่จัดค่ายพัฒนาศักยภาพ เราเห็นพัฒนาการของน้องๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเข้าสังคม หรือทักษะการใช้ชีวิตประจำวันอื่นๆ โดยในค่ายจะมีทั้งน้องที่สายตาเลือนราง ไปจนถึงที่ตาบอดสนิท”
ทุกวันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ และความเข้าใจของสังคม ช่วยทลายข้อจำกัดหลายอย่างที่คนพิการทางสายตาเคยเผชิญ เบสบอกว่าสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือภาพยนตร์ คนตาบอดเข้าไม่ถึงและรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก หรือแม้แต่เรื่องการแต่งตัว บางคนมีอคติว่าคนพิการทางสายตามักจะแต่งตัวไม่เรียบร้อย ดูไม่ตามเทรนด์ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มาจากที่เขามองไม่เห็น ไม่รู้ว่าจะต้องแต่งตัวทำผมยังไงให้เหมือนคนอื่น
“โปรแกรมสั่งงานด้วยเสียง อ่านหน้าจอ แปลงไฟล์จากรูปภาพเป็นตัวอักษร อ่านซับไตเติ้ล และเครื่องมือทันสมัยอีกหลายอย่างเปลี่ยนชีวิตคนตาบอดไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้เราสามารถเข้าถึงการใช้งานสมาร์ทโฟน เช็กอีเมล เล่นโซเชียลมีเดีย เลือกดูหนังฟังเพลงด้วยตัวเองได้อย่างคนทั่วไป เหมือนเราเริ่มคุยด้วยภาษาเดียวกัน ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการเดินหน้าของสังคม ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
โลกการทำงานของคนพิการรุ่นใหม่
นอกจากนี้เบสยังได้เข้าร่วมกับ ‘สภาเด็กและเยาวชน’ เครือข่ายที่เป็นเสมือนพื้นที่กลางในการขับเคลื่อนสังคมระหว่างคนต่างวัย ซึ่งรวบรวมเด็กและเยาวชนจากทุกกลุ่มความหลากหลายและทุกภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน โดยในแต่ละปีจะมีการจัด ‘สมัชชาเด็กและเยาวชน’ เวทีรวบรวมความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ต่อประเด็นต่างๆ ขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายรวมถึงการขับเคลื่อนประเทศในประเด็นที่เกี่ยวกับเยาวชน จะเกิดขึ้นจากเสียงของเยาวชนจริงๆ
“การได้ทำงานร่วมกับสภาเด็กฯ นั้นจุดประกายมาก ทุกคนมาจากหลายแหล่งที่มา นอกจากพวกเราที่เป็นเยาวชนพิการแล้ว ยังมีเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจากภาคเหนือ จากสามจังหวัดชายแดนใต้ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เรียกได้ว่ามาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ทุกครั้งที่ได้ไปทำกิจกรรมกับสภาเด็กฯ ผมรู้สึกได้ถึงความเปิดกว้าง เคารพ และยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน
“เวลาเราระดมความคิดเห็นกัน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการศึกษา สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องเพศ เด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่มต่างมีข้อคิดเห็นของตัวเองที่โฟกัสไปคนละจุด เช่น เพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์อยากให้มีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น ในขณะที่คนพิการอยากให้แต่ละมหาวิทยาลัย เพิ่มความหลากหลายของวิชาชีพที่เยาวชนพิการสามารถเรียนได้ เสียงของทุกคนมีความหมายและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง”
หลังจบการศึกษา เบสเข้าทำงานที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และได้ร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานกระแสหลักของบัณฑิตเยาวชนพิการ (Inclusive Workplace หรือ IW) ซึ่งช่วยฝึกทักษะ เตรียมความพร้อมให้บัณฑิตจบใหม่สามารถทำงานในสังคมที่เป็นกระแสหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคนพิการทางการมองเห็นซึ่งข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าได้รับการจ้างงานน้อยกว่าคนพิการประเภทอื่นๆ
เบสเล่าอย่างกระตือรือร้นว่า “ทักษะที่จำเป็นในการทำงานมีทั้ง Hard Skill เช่น การสื่อสารภาษาอังกฤษ การใช้เครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ Soft Skill หรือทักษะทางสังคม อย่างการปรับตัวเข้ากับองค์กร ความรับผิดชอบ การจัดสรรเวลา ไปจนถึงความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โครงการ IW คือ Working Center ที่เราได้พัฒนาตัวเองรอบด้าน ได้ลองผิดลองถูกในการทำงาน ซึ่งช่วยสร้างจุดแข็งและความมั่นใจให้บัณฑิตพิการก่อนออกไปสู่ตลาดแรงงานของจริงได้ดีมาก”
ปลดล็อกศักยภาพคนพิการ
ทุกวันนี้เบสทำงานด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource หรือ HR) ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับ 'ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์' เยาวชนพิการทางการเคลื่อนไหวอีกคนที่อยู่ในเครือข่าย SDGs Youth Panel การเป็นผู้จัดหาพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กรทำให้เบสยิ่งเข้าใจว่าทำไมคนพิการจำนวนมากจึงไม่ได้รับการว่าจ้าง เพราะตลาดแรงงานจริงนั้นมีอัตราการแข่งขันสูง
“ความสามารถของบัณฑิตพิการบางคนไม่ได้ด้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นเลย แต่เมื่อไม่มีทักษะการพูดและการประชาสัมพันธ์ตัวเอง จึงยากที่ผู้สัมภาษณ์ซึ่งเจอเราไม่กี่นาทีจะรับรู้ได้ถึงทัศนคติและความมุ่งมั่นตั้งใจ นี่เป็นมุมที่คนพิการจะต้องพัฒนากันต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน ในมุมของนายจ้างก็ต้องเปิดใจด้วยว่าคนพิการอาจจะทำสิ่งต่างๆ ได้ช้ากว่าคนทั่วไปด้วยข้อจำกัดด้านร่างกาย บางคนมองไม่เห็น บางคนไม่ได้ยิน บางคนนั่งวีลแชร์”
ประเทศไทยมี พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ระบุไว้ว่า บริษัทใดก็ตามต้องจ้างงานโดยมีสัดส่วนพนักงานคนพิการ 1 คน ต่อลูกจ้างทุก 100 คน โดยหากไม่ต้องการจ้างคนพิการ ก็ต้องจ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประมาณ 1 แสนบาทต่อคนแทน
เบสอธิบายว่า พรบ. นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้คนพิการมีงานทำ การหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่มันหมายถึงความภาคภูมิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้พิการด้วย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง บริษัทจำนวนไม่น้อยยอมที่จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ มากกว่าจ้างคนพิการเข้ามาทำงานจริงๆ ซึ่งอาจจะมาจากข้อจำกัดของตำแหน่งงาน สถานที่ปฏิบัติการ ไปจนถึงความเชื่อมั่นที่นายจ้างมีต่อศักยภาพคนพิการ
“ความฝันของผมในฐานะ HR ที่ทำงานด้านนี้ คือการเห็นคนพิการมีตำแหน่งงานมากขึ้น ทำยังไงให้บริษัทยินดีจ้างงานมากกว่ายอมจ่ายเงินชดเชย ทักษะแบบไหนที่คนพิการมีแล้วจะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน สามารถต่อรองเงินเดือน และสื่อสารกับนายจ้างเกี่ยวกับ Job Description รวมถึงการจัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนพิการแต่ละคนได้” เบสพูดอย่างหนักแน่น
โลกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในอดีตคนพิการและคนทั่วไปใช้ชีวิตแยกขาดจากกันแทบจะสิ้นเชิง คนพิการเข้าไม่ถึง ไม่เคยรู้ว่าสังคมทั่วไปเป็นยังไง เช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคมที่ไม่รู้จักโลกของคนพิการ แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีทุกอย่างเอื้อต่อการเปิดใจและเรียนรู้กันที่สุดเท่าที่เคยมีมา โลกทั้งสองใบของเบสควรถูกหลอมรวมกันเป็นโลกใบเดียวใบนี้ของทุกคน
“พอไม่เคยสัมผัสก็มักจะเหมารวมจากประสบการณ์ในอดีต บางคนที่เคยเจอคนพิการนิสัยแย่ ก็อย่าเหมารวมว่าคนพิการทุกคนจะเป็นแบบนั้น เช่นเดียวกัน เราปลูกฝังน้องๆ เยาวชนพิการเสมอว่าถ้าเจอคนปกติทำตัวไม่ดีใส่ ก็อย่าไปเหมารวมว่าคนอื่นในสังคมเป็นแบบนั้น” เบสเอ่ยขึ้น
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนพิการคือหนึ่งในกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกีดกันจากโอกาสในการใช้ชีวิตที่เท่าเทียม มีความยากลำบากในการใช้ชีวิต และถูกสังคมกดทับมาเป็นเวลานาน ถ้าเราลองสวมหมวกของคนพิการ มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใจเขาใจเรา อาจจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมคนพิการบางคนจึงเป็นแบบนั้น
เบสพูดทิ้งท้ายว่า “ความฝันอีกอย่างของผมคือการนั่งรถไฟท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไปประเทศอังกฤษ บางคนได้ยินแล้วถามกลับว่าจะไปทำไม ถึงไปก็มองไม่เห็นอยู่ดี คุณต้องลืมมายาคติเดิมๆ ไปก่อนว่าคนพิการต้องอยู่บ้าน ออกไปไหนมาไหนด้วยตัวเองไม่ได้ และมองย้อนมาถึงรากของปัญหา ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีทางเท้าที่เป็นมิตร คนพิการทุกประเภทไม่ว่าจะหูหนวก ตาบอด ใช้ไม้เท้าหรือนั่งวีลแชร์ จะสามารถเดินทางไปไหนได้อย่างคนทั่วไป
“เราทุกคนเกิดมามีชีวิตเดียวเหมือนกัน คนพิการก็มีแพชชันที่อยากไปให้ถึง มีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายไม่ต่างจากคนอื่นๆ และแน่นอนว่าในการเดินทางท่องเที่ยว มันไม่ได้มีวิวเพียงอย่างเดียว ในแต่ละสถานที่มีผู้คน กลิ่น เสียง บรรยากาศ ที่คนพิการทางสายตาสัมผัสและเก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ชีวิตได้ไม่ต่างกัน”
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง ศิริณัฐ จรัสโชติสุนทร / นฤปนาท เหรัญญะ, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030