เรื่องเพศต้องคุยได้ สอง-ยศวดี ดิสสระ แห่งสภาเด็กและเยาวชนกับการพลิกโฉมสุขภาพทางเพศของวัยรุ่นไทย
ㅤ
เมื่อพูดถึง ‘สภา’ นอกจากสภาใหญ่ ๆ อย่างสภาผู้แทนราษฎรและสภาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น สภาวิศวกร สภาทนายความ หรือแพทยสภาแล้ว รู้ไหมว่าประเทศไทยยังมี ‘สภาเด็กและเยาวชน’ เครือข่ายที่รวบรวมคนรุ่นใหม่จากทุกภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการขับเคลื่อนสังคมระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ เพื่อจุดประกายว่าเสียงของทุกคนล้วนมีความหมาย แม้จะเป็นเสียงเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ก็ตาม
สอง-ยศวดี ดิสสระ คือหนึ่งในผู้นำสภาเด็กฯ ซึ่งมีเครือข่ายเยาวชนกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมน้อง ๆ ทุกกลุ่มความหลากหลาย ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด รวมถึงเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ การรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่สร้างแรงกระเพื่อมที่นับวันจะยิ่งทรงพลังขึ้นเรื่อย ๆ
“สภาเด็กฯ ทำให้เรารู้ว่า ไม่จำเป็นต้องรอเป็นผู้ใหญ่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้” ทุกวันนี้สองไม่เพียงเป็นรองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย แต่เธอยังทำหน้าที่เป็นผู้แทนเยาวชนฝ่ายหญิง ในคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นหนึ่งในทีมเยาวชนที่ปรึกษาของสหประชาชาติประเทศไทย (Youth Panel for Sustainable Development Goals : SDGs Youth Panel) โดยเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ผลักดันให้เกิด Line Official Account ในชื่อ Teen Club ซึ่งให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิด และสุขภาพทางเพศกับเยาวชน โดยเฉพาะเพื่อน ๆ ผู้หญิง แบบครบจบในแอปพลิเคชันเดียว
สองมองว่าสุขภาพทางเพศของวัยรุ่นไทยจะ เฮลตี้ กว่านี้ ถ้าสังคมหล่อหลอมให้เยาวชนกล้าพูดและกล้าตั้งคำถามเรื่องเพศ เธอจึงทำงานร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Population Fund : UNFPA Thailand) เผยแพร่ความรู้เรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนไทยผ่าน “ID-Sign: Advocacy Training Manual” ซึ่งเน้นการสอนเรื่องเพศแบบครอบคลุมรอบด้าน ตั้งแต่เพศสภาพ ไปจนถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นทางเพศที่คนรุ่นใหม่ต้องรู้
แม้บทสนทนาจะละเอียดยิบไปด้วยข้อมูล แต่การคุยกับสองนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนานและความบันเทิง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเธอจึงทำงานร่วมกับเครือข่ายที่มีคนหลากหลายได้อย่างลื่นไหล ปีนี้สองเพิ่งเรียบจบจากคณะรัฐศาสตร์ และมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่อในเวทีของผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว โดยหวังว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาในฐานะผู้นำเยาวชน จะช่วยผนึกการสร้างสรรค์สังคมระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ ให้เป็นไปอย่างเข้าถึงและเข้าใจกันยิ่งกว่าเดิม
สภาของคนรุ่นใหม่
ก่อนหน้านี้ สองเป็นรองประธานคณะกรรมการนักเรียนที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาทำงานร่วมกับสภาเด็ก ฯ จากที่ระดมทีมกับแค่กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน ก็ขยายเป็นเพื่อน ๆ จากทั่วประเทศ เช่นเดียวกับสเกลงานที่ขยับมาเป็นประเด็นขนาดใหญ่และจริงจังขึ้น
สภาเด็กฯ เกิดขึ้นเพื่อให้เยาวชนมีพื้นที่ส่งเสียง สื่อสาร และมีส่วนร่วมกับการสร้างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เด็กและเยาวชนไทยทุกคนเป็นสมาชิกของสภาแห่งนี้ตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัยประถมและมัธยมที่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับสภาอย่างจริงจัง
“สิ่งที่เราทำเป็นประจำทุกปีคือ สมัชชาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเวทีรวบรวมความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ของเยาวชนจากทั่วประเทศ มาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากนั้นเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ อย่างเช่นองค์การสหประชาชาติ มารับฟัง เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายรวมถึงการขับเคลื่อนประเทศในประเด็นเกี่ยวกับเยาวชน เกิดขึ้นจากเสียงของพวกเราจริง ๆ ผู้ใหญ่ไม่ได้คิดแทนไปเสียทั้งหมด”
สำหรับทีมทำงานหลักอย่างสอง สภาเด็กฯ ไม่ใช่แค่เวทีเชื่อมความเข้าใจระหว่างคนต่างวัย แต่เป็นคอมมูนิตี้ที่เด็กสายกิจกรรมจากทั่วประเทศได้มารวมตัวกัน และเรียนรู้ว่าพลังของพวกเขาผลักดันไปได้ไกลกว่าเรื่องรอบรั้วโรงเรียน
“ที่นี่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามาเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมได้ ทุกครั้งที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระดมสมองกัน มัน ว้าว มาก เพราะเราได้เข้าใจว่าปัญหานั้น ๆ ในแต่ละพื้นที่เกิดขึ้นบนบริบทที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องการพนันในวัยรุ่น เราค้นพบว่าน้อง ๆ ทางภาคเหนือนิยมตั้งวงเล่นกันในบ้าน ขณะที่ภาคใต้มักเกิดที่งานสังสรรค์รื่นเริงมากกว่า ข้อมูลเชิงลึกแบบนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะในการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยสิ่งที่สภาเด็ก ฯ ยึดมั่นมาตลอดก็คือการทำงานร่วมกันระหว่างคนทุกรุ่นในสังคม”
“อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยปกติเราอาจเข้าใจว่าผู้ใหญ่ต้องดูแลเด็ก แต่สถานการณ์แพร่ระบาดวันนั้นทำให้เราเห็นภาพที่ต่างออกไป เมื่อการเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ คนที่ดูแลสมาชิกในบ้าน คอยติดตามช่องทางช่วยเหลือต่าง ๆ แล้วนำไปสื่อสารกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายกลับเป็นเด็กและเยาวชน”
สองอธิบายว่า นี่เป็นแค่ตัวอย่างสเกลเล็ก ๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว หลายอย่างในปัจจุบันขับเคลื่อนโดยคนหลายรุ่น หลายบทบาท เป็นไปไม่ได้เลยที่สังคมจะเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพหากผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็ก และเด็กไม่ฟังผู้ใหญ่ การทำงานกับสภาเด็กฯ ทำให้เธอเรียนรู้ ปรับตัว และทำงานได้กับคนทุกรูปแบบ
“ไม่ว่าจะมีทัศนคติอย่างไร จุดยืนทางความคิดเป็นแบบไหน สภาเด็กฯ สอนให้เราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และหาทางทำงานร่วมกันให้ได้ สิ่งไหนที่ผู้ใหญ่เข้าใจผิด เราจะลองหาวิธีสื่อสาร แบ่งปันความรู้เพื่อเขาจะได้เข้าใจได้ถูกต้องยิ่งขึ้น แต่สิ่งไหนที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว เราเปิดใจรับฟังเพื่อนำประสบการณ์ล้ำค่าเหล่านั้นมาขยายผลต่อ”
เรื่องเพศที่ทุกคนพูดถึงได้
การเป็นผู้นำเยาวชน ทำให้สองได้พูดคุยกับรุ่นพี่รุ่นน้องหลายคนซึ่งเจอเรื่องทางเพศที่ทำให้เจ็บปวด ทั้งคนท้องไม่พร้อมและถูกเชิญออกจากสถานศึกษา หรือคนที่พกถุงยางอนามัยไปโรงเรียนแล้วโดนสั่งพักการเรียน ทั้งหมดนี้สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง
เพราะเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน สองเข้าใจดีว่าคนรุ่นใหม่อยากให้สังคมเดินหน้าไว ๆ โดยเฉพาะเรื่องทางเพศที่เพื่อนหลายคนอาจรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าไม่ทันใจ อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในกลไกนี้มานานพอสมควร สองมองว่าประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“อย่างประเด็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทุกวันนี้จำนวนคุณแม่วัยรุ่นในประเทศไทยลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามที่น่าแปลกใจคืออัตราการท้องซ้ำสูงขึ้น น้องหลายคนที่เคยตั้งครรภ์ไม่พร้อมและคลอดลูกไปแล้ว กลับตั้งครรภ์ไม่พร้อมซ้ำอีกรอบ นี่จึงเป็นคำถามที่คนทำงานต้องหาคำตอบกันต่อไป ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีรากของปัญหาหรือประเด็นอื่นแอบซ่อนอยู่หรือเปล่า เช่น การเข้าไม่ถึงการคุมกำเนิด หรือการปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจแบบผิด ๆ”
สองอธิบายอย่างตั้งใจว่าปัญหาสังคมทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในขณะที่อัตราการเกิดของคนไทยลดลง เด็กจำนวนมากที่ลืมตาบนโลกก็มาจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมอีก เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะเติบโตมาเป็นปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ ในอนาคต
ปัจจุบันสภาเด็กฯ และเครือข่ายเยาวชนอีกหลายแห่งทั่วประเทศจึงร่วมกันเผยแพร่ชุดคู่มือ ID-Sign ที่ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาแก่เยาวชนในโรงเรียนไทย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างแข็งขัน คู่มือชุดนี้จัดทำโดย UNFPA Thailand และเน้นสอนเรื่องเพศแบบครอบคลุมทุกมิติ ไม่ได้จบแค่เรื่องการสวมถุงยางอนามัยหรือการกินยาคุมกำเนิดเท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น
“เรากำลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศศึกษา เปลี่ยนค่านิยมเคอะเขินไม่กล้าพูดเรื่องเพศ เด็กรุ่นใหม่ต้องรู้วิธีดูแลตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น และเข้าใจว่ากฎหมายคุ้มครองเขาในเรื่องเพศอย่างไร เช่น ถ้าต้องการมีเพศสัมพันธ์ เขาต้องป้องกันตัวเองอย่างไร หรือถ้าไม่พร้อมมีเพศสัมพันธ์ เขาสามารถปฏิเสธด้วยวิธีการใดได้บ้าง ทั้งหมดนี้คือทักษะที่ต้องสอนกันตั้งแต่ในโรงเรียน”
แก้ปัญหาแบบน้อยแต่มาก
สองอธิบายว่า ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามสร้างแอปพลิเคชันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้เยาวชนเข้าไปใช้งาน ซึ่งก็เป็นเจตนาที่ดี แต่ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากมายไว้ในเครื่อง เพราะมันกินพื้นที่ในการจัดเก็บรูปภาพ เพลง หรือเกมส์ที่พวกเขาชื่นชอบ ทีมเยาวชนจึงนำเสนอวิธีที่เรียบง่ายแต่ได้ประสิทธิภาพ นั่นคือการสร้าง Line Official Account ศูนย์ปรึกษาสุขภาพทางเพศครบวงจรของคนรุ่นใหม่ในชื่อทีนคลับ (Teen Club)
“วัยรุ่นทุกคนมีแอปพลิเคชันไลน์อยู่ในเครื่องอยู่แล้ว วัยรุ่นแค่กดเพิ่มทีนคลับเป็นเพื่อนทางไลน์ ข้อมูลทุกอย่างก็จะปรากฏอยู่บนหน้าเมนูที่ทุกคนใช้เป็นกันอยู่แล้ว มีทั้งเมนูประเมินสุขภาพทางจิตและสุขภาพทางเพศ เมนูบันทึกรอบประจำเดือน เมนูค้นหาโลเคชันสถานบริการฝังยาคุมกำเนิดฟรีใกล้บ้าน เมนูที่มัดรวมช่องทางช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกรณีฉุกเฉินไว้ครบถ้วน เช่น สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วนท้องไม่พร้อม สายปรึกษาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คลิกเดียวรู้เรื่อง ไม่ต้องไปพลิกหาในสมุดหน้าเหลือง” สองเล่าพลางเปิดหน้าเมนูสีสันสดใสของทีนคลับให้ดู
สิ่งที่ชวนชุบชูใจไปกว่านั้น คือหลังทีนคลับเปิดตัวไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีเสียงฟีดแบ็กจากเยาวชนผู้ใช้งานตัวจริง ว่าอยากให้เพื่อนทางไลน์คนนี้มีฟังก์ชันให้คำปรึกษาแบบ Real Time ที่สาว ๆ สามารถเข้าไปพูดคุยโต้ตอบกับผู้เชี่ยวชาญได้เลย กรมอนามัยและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund) หรือ ยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) ซึ่งสนับสนุนทีนคลับมาตั้งแต่ต้น และเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่ฟังเสียงเด็กเสมอ จึงช่วยผลักดันจนฟังก์ชันนี้เกิดขึ้นจริง ๆ
“ช่วงสองปีที่ผ่านมา ทีนคลับเติบโตอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เราเริ่มทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแนะนำให้ผู้ปกครองหรือครูในโรงเรียนเพิ่มทีนคลับเป็นเพื่อนทางไลน์ด้วย พวกเขาจะได้รับข้อมูลไปคุยกับวัยรุ่นได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น เรามองว่าทีนคลับเป็นวิธีการที่น้อยแต่มาก ปัญหาทางเพศบางอย่างมันแก้ไขได้ตั้งแต่ต้น แค่เยาวชนได้รับคำตอบในข้อสงสัยของเขา”
ให้ทุกพื้นที่เป็นที่ปลอดภัย
“ทุกครั้งที่ได้ไปประชุม เราจะทำการบ้านและเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไปอย่างดีที่สุด” ความรู้สึกว่าเสียงของเรามีคุณค่า มีความหมาย สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้นั้นแสนทรงพลัง ลองคิดดูว่าถ้าเยาวชนทั่วประเทศรู้สึกแบบนี้ พวกเขาจะทุ่มเทแรงใจให้กับการขับเคลื่อนบ้านเมืองขนาดไหน
“ที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ต มีเวทีให้เด็กและเยาวชนไปมีส่วนร่วมอยู่ตลอด เวลามีประชุมอะไร ก็จะเรียกสภาเด็กฯ เข้าไปมีบทบาทด้วยเสมอ เพราะผู้ใหญ่ในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน แต่ก็ยังมีบางจังหวัดที่สภาเด็กฯ แทบไม่ได้รับข่าวสารหรือชวนไปเข้าไปร่วมกิจกรรมใดเลย ทั้งที่พวกเราคือตัวแทนของเยาวชนทั้งจังหวัดที่จะบอกได้ว่าตอนนี้ปัญหาและความต้องการของคนรุ่นใหม่คืออะไร”
สองเล่าอย่างกระตือรือร้นถึงตอนที่องค์การสหประชาชาติ ส่งผู้แทนมารับฟังการจัดทำข้อเสนอของสมัชชาเด็ก ฯ และตอนที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund) หรือ ยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) เชิญกลุ่มเยาวชนไทยไปให้ข้อเสนอแนะ ว่าเป็นเหมือนการเปิดประตูให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นวิธีทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างที่ควรจะเป็น “ขนาดองค์กรระดับนานาชาติยังให้ความสำคัญกับเสียงของเด็ก ๆ ขนาดนี้ ผู้ใหญ่ที่ทำงานเอี่ยวกับเยาวชนโดยตรง จะทำไปโดยไม่ฟังเสียงพวกเราได้ยังไง
“ทุกวันนี้เราเห็นคนรุ่นใหม่เยอะมากพูดว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย จริง ๆ การฟังเสียงเด็กควรเริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเลยด้วยซ้ำ เพราะเยาวชนมีพื้นที่หลักในชีวิตอยู่แค่สองแห่งคือบ้านและโรงเรียน เมื่อไหร่ที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน และสังคมกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเด็ก ๆ สามารถปรึกษา ตั้งคำถาม ระบายความในใจ และได้รับการปลอบโยน เมื่อนั้นเสียงของเด็กจะค่อย ๆ ดังขึ้นเอง”
อย่างสองเองก็มีประสบการณ์สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านตัวเองเหมือนกัน “ทุกวันนี้ แม่ของเราที่เรียนจบแค่ประถมหก รู้จักแคมเปญ ‘ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน’ หรือ ‘My Body My Right’ ที่ลูกสาวกำลังผลักดันแนวคิดแบบถึงแก่น สามารถอธิบายป้าข้างบ้านได้ว่าทุกคนมีสิทธิในร่างกายตัวเอง และไม่ว่าเราจะแต่งตัวแบบไหน คนอื่นก็ต้องยอมรับและเคารพในสิทธิส่วนบุคคลนั้น แถมยังอ้าแขนคุยเรื่องเพศกับเราอย่างเปิดเผย
“กว่าจะมาถึงจุดนี้ เราและแม่ต่างต้องปรับจูนเข้าหากันทั้งสองฝ่าย เราต้องอธิบายและสร้างความเข้าใจให้แม่ ขณะที่แม่เองก็ต้องเปิดใจรับฟังแนวคิดทางเพศยุคใหม่เหมือนกัน เราจึงอยากบอกหลาย ๆ ครอบครัวว่า คุณจะให้เยาวชนในบ้านก้มหน้าก้มตาเดินตามอย่างเดียวไม่ได้ เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว และหลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนแปลงได้ด้วยคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราก้าวเดินอย่างเปิดใจไปด้วยกัน”
สองทิ้งท้ายโดยย้ำว่า เยาวชนในวันนี้จะเติบโตไปเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมในอนาคต ดังนั้นการรับฟังคนรุ่นใหม่ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน ไปจนถึงระดับบ้านเมือง อย่างที่ตอนนี้หลาย ๆ หน่วยงานในประเทศไทยดึงสภาเด็กฯ และกลุ่มเยาวชนอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นเหมือนการเตรียมพร้อมรองรับสังคมคนรุ่นใหม่เหล่านี้นั่นเอง
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030