ภารกิจส่งมอบวัคซีนโควิด-19 สู่ประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุด
ㅤ
รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ต่อสู้การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดของไทย ผ่านการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนอย่างปลอดภัย
การยกระดับการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ในพื้นที่ห่างไกลของไทยเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำเป็นต้องอาศัยการทำงานที่ร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการใช้กล่องจัดเก็บอุณหภูมิ และการขนส่งวัคซีนที่จะช่วยชีวิตประชากรให้ปลอดภัยจากโรคระบาด
แม้ประชากรกว่าร้อยละ 70 ของไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว แต่ยังมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบางซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ยังคงเข้าไม่ถึงวัคซีน ด้วยข้อห้ามเรื่องการเดินทาง ข้อจำกัดด้านการคมนาคม รวมถึงการเดินทางไปยังสถานพยาบาล ส่งผลให้หลายครอบครัวที่มีเด็กและผู้สูงอายุตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ จนถึงสิ้นปี 2564 มีประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่ถึงร้อยละ 50 เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก
“ในช่วงแรกๆ เราฉีดวัคซีนเพียงแค่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น เพราะกังวลถึงความเสี่ยงที่วัคซีนจะด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันโรค หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องนำวัคซีนออกไปฉีดนอกพื้นที่ แต่เมื่อเราได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จึงได้มีการนำวัคซีนออกไปฉีดให้กับประชาชน” นายแพทย์สุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นับตั้งแต่วันแรกที่มีการผลิตวัคซีนออกมา วัคซีนจะต้องถูกจัดเก็บในอุณหภูมิต่ำตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่จะฉีดให้กับประชาชน ไม่เช่นนั้นวัคซีนจะสูญเสียประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการ Last One Mile Support ยูนิเซฟได้จัดซื้อและส่งมอบกล่องเก็บความเย็น 1,720 กล่อง และกล่องขนส่งวัคซีนอีก 1,000 กล่องให้กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะเข้าถึงวัคซีนซึ่งจะช่วยปกป้องพวกเขาจากโควิด-19 และเด็กๆ จะได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐานครบตามกำหนด
#Vaccines show we care for the next generation. This #WorldImmunizationWeek, we thank everyone supporting children’s routine immunization for a #LongLifeForAll. https://t.co/WbscEMnblv
— Kyungsun Kim (@Kim_UNICEF) April 25, 2022
เพียงสองชั่วโมงจากอำเภอขุนยวม การเลี้ยวออกจากทางหลวงเส้นหลักหมายถึงการขับรถไปบนถนนลูกรังอันยาวไกล ข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อจะเดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ตามหุบเขา แต่นั่นไม่ได้หยุดยั้งความทุ่มเทของพยาบาลจากอำเภอขุนยวมที่เต็มใจที่จะออกเดินทางบนเส้นทางอันยาวไกลและยากลำบาก เพื่อไปหาประชาชนที่รอรับวัคซีนโควิด-19
หนึ่งในกลุ่มพยาบาลที่เข้าไปเป็นคนแรกๆ คือ ศุภชัย เอื้อมณี พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแม่กิ๊ ศุภชัยทำงานร่วมกับพยาบาลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอื่นๆ ในอำเภอขุนยวมอีก 10 แห่ง เพื่อออกมาช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชากรในพื้นที่ทุรกันดาร โดยแต่ละครั้ง ศุภชัยและทีมพยาบาลจะออกเดินทางไปพร้อมกับรถพยาบาลของโรงพยาบาลขุนยวม 1 คัน และแพทย์อีกหนึ่งคนเพื่อคอยรับมือหากมีคนไข้ป่วยจากผลข้างเคียงของวัคซีน พร้อมด้วยเภสัชกรอีกหนึ่งคนเพื่อคอยดูแลการขนส่งวัคซีนให้เป็นไปอย่างปลอดภัย
ศุภชัยเผยว่า ในช่วงแรกๆ นั้น ประชาชนไม่อยากฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะคิดว่าพวกเขาจะไม่ติดเชื้อ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ต่อมามีการพบไวรัสโควิด-19 ในผู้ป่วยหลายรายที่เป็นลูกหลานซึ่งเข้าไปทำงานในเมืองและนำเชื้อกลับมา จึงทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงที่ใกล้ตัวนี้
“ตอนเราไปถึงหมู่บ้านต่างๆ เพื่อไปฉีดเชิงรุก ชาวบ้านต่างพากันออกมาต่อแถวเพื่อรอรับวัคซีนจำนวนมาก วัคซีนที่เราเตรียมไปถึงกับไม่พอต่อความต้องการในตอนนั้นเลยทีเดียว” ศุภชัยกล่าว
ในส่วนของการจัดเตรียมวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของผู้คนที่ลงทะเบียนไว้กับศูนย์ฉีดวัคซีนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่อยู่รายรอบ เป็นหน้าที่ของ กมลรัตน์ ทองรักษ์ เภสัชกรหญิงประจำโรงพยาบาลขุนยวม ซึ่งคอยดูแลด้านการจัดเตรียมวัคซีน จัดเก็บ และขนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ในอำเภอขุนยวม
“แรกเริ่มเราต้องทราบกำหนดการและจำนวนผู้ลงทะเบียนขอฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลต่างๆ ก่อน เราถึงจะส่งคำขอวัคซีนล่วงหน้า 1 สัปดาห์ไปยังโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอขุนยวมออกไปหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ที่นั้นมีตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำพิเศษสำหรับจัดเก็บวัคซีน จากนั้น วัคซีนจะถูกนำออกมาละลายเพื่อให้เหมาะสมกับการขนส่งในกล่องเก็บความเย็น และนำไปจัดเก็บต่อที่ตู้เย็นอุณหภูมิปกติของโรงพยาบาลขุนยวม” กมลรัตน์อธิบายถึงขั้นตอนการขนส่งวัคซีน ซึ่งตัวเภสัชกรเองต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆ ที่แม้รัศมีห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 10-30 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานถึง 2-3 ชั่วโมง
“กล่องเก็บความเย็นจะช่วยเก็บวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส วัคซีนจำเป็นต้องได้รับการจัดเก็บในสภาวะที่ดีทั้งตอนจัดเก็บและตอนขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่นสะเทือนซึ่งอาจทำให้วัคซีนเป็นฟองหรือตกตะกอน ส่งผลให้ศักยภาพของวัคซีนลดลง” กมลรัตน์กล่าว ทุกครั้งที่ออกไปฉีดวัคซีนเชิงรุก เธอต้องจัดเตรียมวัคซีนให้มากกว่ารายชื่อที่แจ้งไว้เผื่อกรณีที่วัคซีนอาจจะสูญเสียประสิทธิภาพระหว่างเดินทาง หรือมีคนมาฉีดมากกว่าที่คาดไว้
“เตรียมให้มากไว้ก่อนดีกว่า เพราะมีชาวบ้านหลายคนที่อยากจะฉีดวัคซีน การได้รับกล่องเก็บความเย็นกับกล่องขนส่งวัคซีนมาใช้มากขึ้นก็ทำให้ขนส่งวัคซีนไปให้ชาวบ้านได้มากขึ้น” เภสัชกรหญิงของโรงพยาบาลขุนยวมอธิบาย
จากความพยายามอันยอดเยี่ยมของเจ้าหน้าที่ ทำให้พื้นที่อำเภอขุนยวมเป็นพื้นที่ที่มีประชากรฉีดวัคซีนมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีประชากรกว่าร้อยละ 90 ได้รับวัคซีนเข็มแรก และอีกกว่าร้อยละ 50 ได้รับวัคซีนเข็มสองแล้ว
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ยังมาจากการทำงานอย่างหนักของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อย่างพัชรินทร์ บัวคำ จากบ้านแม่มะหินหลวง ที่ช่วยพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้กับคนในหมู่บ้าน
“ในตอนแรกไม่มีใครอยากฉีดวัคซีนเลย มีเพียงแค่กลุ่ม อสม. และผู้นำหมู่บ้านเพียง 7-8 คนที่เดินทางไปเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาล แต่เมื่อชาวบ้านเห็นว่าพวกเราสบายดี พวกเขาก็เริ่มอยากฉีดวัคซีนด้วย แต่ว่าชาวบ้านไม่มีรถยนต์ หรือไม่มีคนในครอบครัวที่พาไปโรงพยาบาลได้ ฉะนั้นการนำวัคซีนมาฉีดให้ถึงในพื้นที่เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านเป็นอย่างมาก” พัชรินทร์กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ ครอบครัวที่มีทั้งเด็ก และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางออกจากหมู่บ้านได้ จัดเป็นประชากรกลุ่มสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน
หนึ่งในนั้นคือ พะเนกา บำรุงเกียรติสกุล คุณยายวัย 77 ปี ที่ตาบอดบางส่วนและพิการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ซึ่งทำให้ อืออือ ชมชอบดี ลูกสาววัย 59 ปี ของเธอไม่สามารถเดินทางไปรับวัคซีนได้ เนื่องจากต้องดูแลคุณแม่พะเนกา และหลานๆ อยู่ที่บ้าน
การได้รับกล่องเก็บความเย็นและกล่องขนส่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ตลอดจนความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลอย่างอืออือ เข้ารับวัคซีนครบโดสโดยไม่ต้องเดินทางออกจากหมู่บ้าน และยังช่วยให้ กรรณิการ์ ชมพู ว่าที่คุณแม่ที่กำลังท้องแก่ 8 เดือน ไม่ต้องเดินทางผ่านถนนลูกรังร่วม 3 ชั่วโมงเพื่อไปให้ถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอเพื่อเข้ารับวัคซีน
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอขุนยวมตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้แก่ประชาชนให้ทันก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงที่ครอบครัวจะกลับมารวมตัวกันพร้อมหน้า โรงพยาบาลต่าง ๆ จึงจะใช้ประโยชน์จากกล่องเก็บความเย็นและกล่องขนส่งวัคซีนอย่างเต็มที่เพื่อจะเดินทางไปหาชาวบ้านและประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ห่างไกลให้ได้มากที่สุด
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนประเทศไทยในการรับมือกับไวรัสนี้ผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการส่งมอบกล่องเก็บความเย็นและกล่องขนส่งวัคซีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีนผ่านหน่วยงานสาธารณสุขกว่า 970 แห่งใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
อ่านต้นฉบับจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)
Tags: #โรคโควิด19 #วัคซีน #ไทย