เกี่ยวกับสหประชาชาติในประเทศไทย
สหประชาชาติทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยมากว่า 75 ปี เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุม และยั่งยืนอันสอดคล้องกับวาระสำคัญของประเทศและแผนพัฒนาของชาติ ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยประกอบด้วยหน่วยงานของสหประชาชาติ 21 หน่วยงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหุ้นส่วนความร่วมมืออันทรงคุณค่าของรัฐบาลไทย กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายบริหารระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน นักลงทุนและผู้บริจาค สื่อ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมถึงเยาวชนและประชากรกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ เรายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (เอสแคป) อีกด้วย
เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
แก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) สามารถสรุปได้ด้วยวลีสั้น ๆ ว่า “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในทุกภาระกิจของสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2565 ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระปี พ.ศ. 2565-2569 (UNSDCF) กับรัฐบาลไทย กรอบความร่วมมือฯ นี้แจกแจงการสนับสนุนด้านการพัฒนาที่ระบบสหประชาชาติมอบให้กับประเทศไทยเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายอันสูงส่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030 และก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง มีการพัฒนาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤต กรอบความร่วมมือฯ ได้รับการออกแบบโดยอิงหลักการของสหประชาชาติที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคทางเพศ หลักความยั่งยืน และหลักภูมิคุ้มกันต่อวิกฤต จึงมีความสอดคล้องในระดับสูงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
