ฮารีส จิมัน เยาวชนผู้สร้าง “บอร์ดเกม” ที่สร้างพื้นที่ตรงกลางด้วยกฎกติกาเดียว คือการสนทนาอย่างปลอดภัย
ㅤ
SDGs Youth Panel
ฮารีส-มูฮัมหมัดฮารีส จิมัน คือนิสิตคณะครุศาสตร์ รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวัย 20 ปี ผู้เกิดและเติบโตที่สงขลา ก่อนจะย้ายไปเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนศาสนาแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ดินแดนที่ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมศาสนาอิสลาม ซึ่งฮารีสได้ศึกษาเกี่ยวกับความศรัทธาและกฎหลายประการของชาวมุสลิมอย่างถ่องแท้
กระทั่งมัธยมศึกษาปีที่ 4 ฮารีสมีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่นั่นเองฮารีสได้เรียนรู้ว่าพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นนั้นสำคัญแค่ไหนต่อเยาวชน เพราะไม่เพียงทำให้พวกเขารู้สึกเป็นที่ยอมรับจากคนอื่นเท่านั้น แต่ยังรู้สึกสบายใจและเคารพในการเป็นตัวของตัวเองอีกด้วย
ความมั่นคงทางจิตใจตรงนี้เอง ที่เป็นสะพานต่อยอดสู่การเคารพความหลากหลาย เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ตัดสินผู้อื่นเพียงผิวเผิน และฮารีสต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวให้มีมากขึ้นในสังคมไทย
ความสร้างสรรค์และไม่ธรรมดาของคนรุ่นใหม่อย่างฮารีส คือเขาได้สร้างบอร์ดเกมที่เรียกว่า BIE Card Game หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Believe In Equality Card Game ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิเสรีภาพของเยาวชนชาวมุสลิมในพื้นที่ ด้วยกลไกและกติกาที่คิดมาอย่างดี บอร์ดเกมเกมนี้จะทำให้เพื่อน ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นเพศใด หรือนับถือศาสนาอะไร สามารถมานั่งพูดคุยสนทนาเรื่องราวในประเด็นต่าง ๆ ไปด้วยกันได้ อย่างเคารพและพร้อมที่จะรับฟังกันอย่างเปิดใจ
“เพราะวงสนทนาคือพื้นที่แห่งความเสมอภาคเล็ก ๆ ดังนั้นการเล่น BIE Card Game จึงทำให้เราได้เรียนรู้ความคิดอันหลากหลายของเพื่อน ๆ เมื่อได้ยินความเห็นที่แตกต่าง ทีแรกเราอาจรู้สึก “นอยด์” แต่เมื่อเปิดใจให้กว้างจะพบว่าทุกความแตกต่างคือความหลากหลายที่ดีงาม เพราะมันทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ต่อยอดความรู้ออกไปได้กว้างไกลขึ้นอีกด้วย” ฮารีสเอ่ยขึ้นในช่วงหนึ่งของการสนทนา
เราจะไปคุยกับฮารีส พลังคนรุ่นใหม่ที่ใช้ความทุ่มเทและคิดสร้างสรรค์ผลักดันประเด็นทางสังคมที่ท้าทาย ถึงประสบการณ์ชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างแดนที่หล่อหลอมมุมมองต่อการเคารพผู้อื่น พร้อมทั้งเป็นตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม อะไรทำให้เขาเชื่อมั่นว่าบทสนทนาในพื้นที่ปลอดภัยเปลี่ยนโลกได้ และทำไมต้องเป็น “บอร์ดเกม”
ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ
แม้ในปัจจุบันจะมีพื้นที่เปิดกว้างมากขึ้นในการทำกิจกรรมด้านเสรีภาพสำหรับเยาวชนทุกคนในพื้นที่ แต่ก็มักถูกจัดขึ้นในวงสังคมของผู้ใหญ่หรืออย่างน้อยในระดับมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ อาจด้วยข้อจำกัดทางอายุ เพศ ตลอดจนสถานะในสังคม โดยเฉพาะการมาจากพื้นที่หรือสังคมเล็ก ๆ ทำให้การแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นไม่ถูกให้ความสำคัญ ส่งผลให้ไม่มีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกเท่าที่ควร และยังไม่มีความหลากหลายเชิงความคิดเท่าไหร่นัก
ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ฮารีสได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัว LGBTQ ทำให้ได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากสังคมที่เคยเติบโตมา นอกจากนี้ การใช้ชีวิตในสังคมของโรงเรียนที่สหรัฐฯ ยังทำให้ฮารีสได้เห็นเพื่อนร่วมชั้นที่กล้าตั้งคำถามในเวลาที่เห็นต่างจากครู รวมถึงพบปะวงเพื่อนที่ถกเถียงความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่ แม้จะอยู่กันคนละจุดยืนก็ตาม
ฮารีสเล่าว่าในมุมมองของเขา การที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ภายใต้การเปิดใจกว้างและการเคารพผู้อื่น ทำให้คนเราเข้าใจกันมากขึ้น ทั้งยังต่อยอดความรู้ต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกไปได้กว้างไกลขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือ American High School ความแตกต่างของทั้งสองสังคมนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสีย ทั้งหมดล้วนความต่างที่ชวนให้ตัวเขาเองอยากเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้คนรวมถึงโลกใบนี้ให้มากขึ้น
เมื่อได้ซึมซับสภาพแวดล้อมแห่งความหลากหลายจากโลกตะวันตก เขาจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ที่อยากให้เพื่อน ๆ เยาวชนมุสลิมมีพื้นที่ทางเลือกในการสนทนาและแสดงออก สามารถแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม
สร้างบ้านที่โอบรับทุกความแตกต่าง
“หลังจากกลับมาจากสหรัฐฯ ผมก็เกิดความคิดขึ้นว่า ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งเราน่าจะทำอะไรได้บ้าง” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนักสร้างการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์คนนี้
“ผมอยากสร้างพื้นที่ตรงกลางให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกทางความคิดเห็น เรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงได้ความเคารพจากสังคมโดยรวมด้วย แต่ผมเข้าใจว่าการยอมรับในบางประเด็นอาจจะต้องใช้เวลา พูดง่าย ๆ ว่า ยังไม่ต้องยอมรับกันทุกเรื่องก็ได้แค่เคารพกันก็พอ ผมเข้าใจดีว่าประเด็นบางอย่างนั้นซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อมันข้องเกี่ยวกับกฎบางข้อของศาสนา แต่ถึงอย่างนั้นหัวใจที่สำคัญที่สุดของทุกศาสนา ก็คือการสอนให้ผู้คนเคารพในความแตกต่างของมนุษย์” ฮารีสเล่าด้วยแววตาเปล่งประกาย
เยาวชนแต่ละคนมีเรื่องราว มีความคิดเห็นที่ต้องการแสดงออกแตกต่างกันไป ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยจึงต้องเป็นเสมือนบ้านที่ทุกคนนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างอิสระและเท่าเทียม โดยไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกลงโทษ และไม่ถูกตอบโต้อย่างไร้เหตุผล
ช่วงหลายปีมานี้มีวงเสวนาเล็กๆ เกิดขึ้นในหลายจุดของพื้นที่สามจังหวัด ทั้งวงนักเขียนเยาวชน นิทรรศการ แถมวัยรุ่นเองก็เข้าถึงโซเชียลมีเดียกันอยู่แล้ว ฮารีสมองว่าทั้งหมดนี้คือตัวจุดประกายที่จะช่วยสนับสนุนบ้านแห่งพื้นที่ปลอดภัยในฝันของฮารีสให้เกิดขึ้นได้จริง
เพื่อสร้างบ้านหลังนั้น ฮารีสสร้างสรรค์ BIE Card Game ขึ้นหลังกลับจากสหรัฐฯ โดยตัว BIE ย่อมาจากแนวคิด Believe In Equality โดยเขามองว่าเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันสนใจและสนุกกับการเล่นเกม ดังนั้นเพื่อให้เพื่อนๆ กล้าพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น ทำไมเราไม่ทำมันผ่านการเล่นเกมเสียเลยล่ะ
หน้าตาและวิธีการเล่นของ BIE Card Game นั้นเรียบง่าย คล้ายบอร์ดเกมที่นักเรียนทุกเพศสามารถมานั่งร่วมวงเล่นได้โดยมีคุณครูมาดูแลอย่างใกล้ชิด บนการ์ดแต่ละใบเขียนระบุหัวข้อชวนคิดที่ครอบคลุม 3 ประเด็น นั่นคือเรื่องเพศ เรื่องศาสนา และเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นมิติสังคมทั้งหมด โดยจะมีผู้นำกระบวนการประจำวงทำหน้าที่หยิบสุ่มการ์ดขึ้นมา อ่านโจทย์หัวข้อ แล้วชวนทุกคนแสดงความเห็น
ฮารีสเล่าว่าโจทย์ชวนคุยนั้นมีตั้งแต่เรื่องราวในชีวิตประจำวัน เช่น ตลาดนัดเสื้อผ้ามือสองซื้อที่ไหนดี? ไปจนถึงหัวข้อที่ท้าทายขนบความเชื่อเดิมอย่าง ผู้ชายชอบสีชมพูได้ไหม? คิดว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดจากอะไร? หรือ คิดเห็นอย่างไรกับคำว่าชิงสุกก่อนห่าม? ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ชวนให้ผู้เล่นได้ขบคิดและสะท้อนความคิดเห็นผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ถูกหล่อหลอมผ่านประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา หรือแม้กระทั่งเรื่องราววัยเด็กของตนเอง
พื้นที่ปลอดภัยในวงบอร์ดเกม
“การเล่น BIE Card Game ทำให้เราได้เรียนรู้ความคิดอันหลากหลายของเพื่อนที่มีภูมิหลัง (background) หรือเอกลักษณ์ (identity) ที่แตกต่างกัน” ฮารีสบอกว่า เมื่อได้ยินความเห็นที่แตกต่าง ทีแรกเราอาจรู้สึก “นอยด์” หรือไม่ค่อยสบอารมณ์ แต่เมื่อเปิดใจให้กว้างจะพบว่า แม้ทุกความแตกต่างจะเป็นความท้าทาย แต่มันก็เป็นความหลากหลายที่สวยงาม
“เราชอบการถกกันในวงมากและรู้สึกประทับใจที่ได้ฟังความเห็นของทุกคนขณะเล่นเกม วงสนทนานี้คือพื้นที่แห่งความเสมอภาคเล็กๆ ที่เรามีส่วนสร้างมันขึ้นมา ถ้าพูดในเรื่องของการแสดงความคิดเห็น เราเพียงแค่เปิดใจฟังโดยไม่ตัดสินเพียงผิวเผิน โฟกัสแค่ว่าอีกฝ่ายต้องการที่พูดถึงหรือบ่งบอกอะไร มันสร้างคุณค่ามากน้อยแค่ไหน สิ่งที่จะตามมามันคือการเคารพมนุษย์อีกคน จนเกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน” เด็กหนุ่มอธิบาย
การเล่น BIE Card Game นั้นสนุกไม่ต่างจากบอร์ดเกมหรือเกมกระดาน ที่มีอุปกรณ์ กติกา และกลไกต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะตัว เรียกได้ว่าคิดมาแล้วอย่างดีในทุกกระบวนท่า เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระเสรี ทั้งยังพัฒนาทักษะด้านการพูดและฟังให้ผู้เล่นอีกด้วย
ที่ผ่านมา BIE Card Game ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงานของสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็น UNDP Thailand, UNICEF Thailand, สำนักงานเลขาธิการการศึกษา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสิ่งที่ฮารีสกำลังผลักดันอยู่ในตอนนี้ คือพยายามทำให้ BIE Card Game ไม่ได้อยู่แค่ในกลุ่มเยาวชนมุสลิม แต่กลายเป็นวงสนทนาทั่วไปที่ใคร ๆ ก็เข้ามามีส่วนร่วมได้
เปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มต้นจากบทสนทนา
“ผมอยากทำให้ BIE Card Game เป็นกิจกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อความหลากหลาย (diversity) และโอบรับความแตกต่าง (inclusion) จริง ๆ ไม่แน่ว่าในอนาคตมันอาจขยายจากแค่วงสนทนาไปเป็นค่ายเยาวชน หรือจัดเป็นเวิร์คช็อปที่ใหญ่ขึ้น เราอยากให้ BIE Card เป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันหลากหลายของผู้คนในสังคมด้วย หรือถ้าสมมุติว่าวิชาไหนที่คุณครูต้องการที่จะดูความคิดของนักเรียน ก็สามารถเอาบอร์ดเกมนี้ไปใช้ได้เหมือนกัน”
ฮารีสเล่าพร้อมรอยยิ้มถึงตอนร่วมกับองค์กร Save the Children นำ BIE Card Game ไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ที่อายุน้อยลงมาหน่อย ราว 10-14 ปี ไม่ใช่วัยรุ่นอย่างเคย ปรากฏว่าการเล่มเกมทำให้เด็ก ๆ กล้าพูด น้องหลายคนที่มักเก็บปัญหาเงียบคนเดียวมาตลอด ก็กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในวงสนทนาที่ปลอดภัย ความกระตือรือร้นในการบอกเล่าเรื่องราวของน้อง ๆ ทำให้ฮารีสได้เรียนรู้และเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น ต่อการแก้ไขปัญหาสังคมโดยไม่ลืมเสียงเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ไป
“จนถึงตอนนี้ เราได้เรียนรู้แล้วว่า นิยามของความหลากหลายและความเสมอภาค คือความรู้สึกว่าเรากำลังเคารพอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเคารพในเรื่องของความคิดเห็นแม้เราจะไม่เห็นด้วย เคารพในเรื่องรูปร่างหน้าตา เคารพในจุดยืนและความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่าย ในวง BIE Card Game เราเลยพยายามสร้างบรรยากาศให้ทุกคนได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมจริง ๆ โดยการไม่กีดกันใคร”
ฮารีสเล่าส่งท้ายว่าเขาอยากเห็นคนไทยทุกคนมีความเข้าอกเข้าใจ เเละร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเติบโตไปด้วยกัน ในอนาคตเขาจึงตั้งใจที่จะต่อยอดเครื่องมือแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก ทุกวันนี้ฮารีสกำลังส่งพลังไปสู่เยาวชนรุ่นต่อไปผ่านการทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติ โดย BIE Card Game ได้รับการสนับสนุนและให้ทุนโดย Generation Unlimited 2020 ของ UNICEF Thailand รวมถึง Youth Co: Lab 2020 ของ UNDP Thailand อีกด้วย
จาก BIE Card Game ในวันนี้ พวกเราจะได้เห็นการต่อยอดอันน่าสนุก ที่เข้ากับบริบทอื่น ๆ ในกลุ่มเป้าหมายที่นอกเหนือจากเยาวชนด้วย รวมถึงนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่อย่างตัวฮารีสเองก็จะยังพยายามเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่ทั้งสนุก สร้างสรรค์ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมด้วยความคิดสร้างสรรค์ต่อไป โดยฮารีสกำลังจะไปเป็นตัวแทนเยาวชน ASEAN ที่สปป. ลาว จากความมุ่งมั่นขับเคลื่อนความหลากหลายของเยาวชน ความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยก
“ผมมองพลังเยาวชนมีความสำคัญต่อทั้งการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจเเละสิ่งเเวดล้อม เพราะเยาวชนคือพลังเเห่งความหวังและการเรียนรู้ที่ยั่งยืนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ร่วมเจ้าของโลกใบนี้ เเละเมื่อใดที่เยาวชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เเล้ว พวกเขาจะรู้ถึงคุณค่าเเละทิศทางความต้องการของการเปลี่ยนเเปลง”
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ / นงธัช อมรวิวัฒน์
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030