เมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างนโยบายสุขภาพ ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ นักเรียนแพทย์ผู้ฝันอยากเป็นนักขับเคลื่อน
ㅤ
SDGs Youth Panel
อะไรทำให้เด็กโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่กำลังจะเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์อย่าง เมจิ-ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ ลงแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ทั้งที่เพื่อนคนอื่น ๆ ในโรงเรียนต่างหมายมั่นที่จะเป็นผู้แทนประเทศ ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาที่เราคุ้นหูกันอย่างคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา… คำตอบคือ “เพราะภูมิศาสตร์คือพื้นฐานของทุกอย่างบนโลกใบนี้”
ประสบการณ์ระดับนานาชาติครั้งนั้นเปิดประตูให้เธอค้นพบว่า ตัวเองไม่ได้อยากเป็น ‘หมอ’ ที่แค่เยียวยาอาการป่วยไข้ของผู้คน แต่เธออยากเป็น ‘นักขับเคลื่อน’ ที่ทำงานด้านสังคมระดับประเทศและนานาชาติด้วย ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเปิดเทอมแรกในฐานะนักเรียนแพทย์ เมจิก็เข้าร่วมสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ หรือ IFMSA-Thailand ทันที
IFMSA คือองค์กรของนักศึกษาแพทย์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่าง ๆ อย่างในประเทศไทย IFMSA-Thailand ก็ประกอบไปด้วยนักศึกษาแพทย์จากทั่วประเทศกว่า 23 สถาบัน ในปีที่ผ่านมาเมจิเป็นรองประธานฝ่ายกิจการนอก ที่พยายามผลักดันให้เยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสุขภาพของประเทศไทย
นอกจากนี้ เมจิยังเป็นนักศึกษาแพทย์ไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก หรือ World Health Assembly ในฐานะตัวแทนของ IFMSA ทำให้มุมมองของเธอที่มีต่อประเด็นสาธารณสุขกว้างขึ้น จากที่ขับเคลื่อนสุขภาพคนในประเทศมาสู่การผลักดันสุขภาพของผู้คนในบริบทโลก เพราะโรคภัยนั้นแพร่กระจายถึงกันได้หมดไม่จำกัดแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง
ชีวิตของเมจิเป็นเหมือนชิ้นจิ๊กซอว์ที่ต้องนำมาต่อกัน จึงจะเห็นความเชื่อมโยงของความแพชชั่นด้านต่าง ๆ ที่หลอมรวมเป็นตัวเธอภาพใหญ่ โดยจิ๊กซอว์ชีวิตชิ้นล่าสุดของเมจิคือการเข้าร่วมในทีมเยาวชนที่ปรึกษาของสหประชาชาติประเทศไทย SDGs Youth Panel เพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยผ่านความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่
“ภูมิศาสตร์คือพื้นฐานของทุกอย่างบนโลก เช่นเดียวกับสุขภาพที่เป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นรากฐานของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ” ถ้าคุณอยากรู้ว่าเมจิผสมผสานความสนใจด้านภูมิศาสตร์ในวัยมัธยม เข้ากับทักษะด้านสุขภาพในฐานะนักศึกษาแพทย์ ให้กลายเป็นแพชชั่นในการพัฒนาสังคมและระบบสาธารณสุขได้อย่างไร เราชวนคุณหาคำตอบผ่านเรื่องราวของเยาวชนนักขับเคลื่อนคนนี้ไปพร้อมกัน
เด็กวิทย์ผู้หลงรักภูมิศาสตร์
เมจิเล่าอย่างตื่นเต้นถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กสายวิทย์อย่างเธอหลงใหลในภูมิศาสตร์ว่า “ภูมิศาสตร์คือพื้นฐานของทุกอย่างบนโลกใบนี้ ตั้งแต่วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงการใช้ชีวิตของผู้คน มันเป็นศาสตร์ที่ ว้าว มาก เราอยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้รู้ว่ามันลึกซึ้งกว่าแค่ชื่อเทือกเขา เอาแค่การทอดไข่ ออมเล็ทแบบตะวันตกเป็นแบบหนึ่ง ในขณะที่บ้านเราก็มีไข่เจียวแบบไทย ๆ อาหารจานนี้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางกายภาพของภูมิภาคเอาไว้ พื้นที่นี้ร้อนหนาวแค่ไหน เพาะปลูกอะไรได้บ้าง ทั้งหมดหลอมรวมเป็นสังคมที่กลายเป็นประเทศ ๆ หนึ่ง”
ในขณะที่เพื่อนรอบตัวทยอยเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสายวิทย์-คณิต เมจิไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ซึ่งเธอบอกเราว่าประสบการณ์แข่งขันระดับนานาชาติในครั้งนั้น เปิดประตูให้เธอเห็นโลกกว้างในมุมมองที่เปลี่ยนไป
“หลายคนเข้าใจว่าการแข่งขันจะฟาดฟันกันสุดฤทธิ์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย สิ่งที่ผู้แทนแต่ละประเทศมีเหมือนกันคือความใคร่รู้และความขี้สงสัย ทุกคนเลยเดินเข้าหากันตลอดเวลา เพราะบางเรื่องอ่านในหนังสือมานาน เราอยากรู้ว่าวัฒนธรรมประเทศคุณเป็นแบบนี้จริงไหม ก็เข้าไปชวนคุยเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือเหมือนได้ออกจากขวดน้ำไปสู่ท้องทะเลที่ใหญ่มาก ๆ เราค้นพบว่าตัวเองชอบความนานาชาติ อินกับความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรม”
การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกยังทำให้เมจิได้ทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่าสหประชาชาติจำลอง หรือ Model UN ซึ่งเยาวชนจะได้ฝึกการแสดงความคิดเห็นและเจรจาผ่านการสวมบทบาทเป็นผู้ร่วมประชุมสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ นักการทูต หรือตัวแทนหน่วยงาน ที่สนุกคือใครได้รับบทบาทไหน ก็ต้องทำการรีเสิร์ชข้อมูลให้แน่นที่สุด เพื่อแสดงทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมนั้น ๆ ได้อย่างสมจริงที่สุดนั่นเอง
“สมมติเราจำลองการหารือเรื่องสิทธิสตรี คนที่รับบทผู้นำแต่ละประเทศก็ต้องไปหาข้อมูลมาว่าประเทศนั้น ๆ มี การดำเนินการและนโยบายเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร ถ้าต้องพูดบนเวทีโลก จะต้องแสดงท่าทีไปในทิศทางไหน โอ้โฮ ประทับใจมาก พอกลับมาถึงเมืองไทย เราไม่รอช้าตั้งชมรม Model UN กับเพื่อนเลย ซึ่งก็น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนไทย ปกติจะมีแค่ในโรงเรียนนานาชาติ”
เมื่อแพทย์เป็นนักขับเคลื่อนสังคม
แม้เมจิจะสนใจภูมิศาสตร์ และมีโอกาสได้ทุนศึกษาต่อด้านนี้จากการเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ แต่ท้ายที่สุด หลังจบชั้นมัธยมปลาย เธอก็เลือกเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ ตามความฝันและความตั้งใจเดิมที่อยากจะเป็นแพทย์
อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางภูมิศาสตร์ที่เปิดประตูให้เมจิเข้าใจโลกมากขึ้น ทำให้เธอไม่ได้อยากเป็นแค่ ‘หมอ’ อีกต่อไป แต่อยากทำงานเชิงสังคมด้วย “เราไม่อยากเข้าคณะแพทย์มาเพื่อเรียนหมออย่างเดียว ดังนั้นเราจึงเริ่มหาช่องทางทำงานด้านสังคมทันทีที่เปิดภาคเรียน และสิ่งแรกที่เจอก็คือสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาแพทย์เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ตั้งแต่สาธารณสุขไปจนถึงสิทธิมนุษยชน”
สมาพันธ์นี้เรียกกันสั้น ๆ ว่า IFMSA (International Federation of Medical Students’ Associations) ถือเป็นองค์กรของนักศึกษาแพทย์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอยู่มากกว่า 100 ประเทศ และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เมจิอธิบายต่อว่า IFMSA-Thailand ประกอบไปด้วยเพื่อน ๆ นักศึกษาแพทย์จาก 23 สถาบันทั่วประเทศ
“การได้เจอเพื่อน ๆ จากหลายสถาบัน ทำให้ค้นพบว่าเราไม่ใช่อินเรื่องนี้อยู่คนเดียว ยังมีนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่อีกมากมายที่สนใจการพัฒนาสังคมเหมือนกัน เราได้เห็นพลังของความหลากหลาย เมื่อมีเครือข่ายคนจากทั่วประเทศ การขับเคลื่อนบางอย่างทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมมาก เพราะแต่ละสถาบันก็มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้”
เมจิอธิบายว่า IFMSA-Thailand เพิ่มโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกับองค์กรขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพในไทย เช่นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ องค์กรหลักที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของไทยมาตลอด โดยโปรเจกต์ที่เธอภูมิใจเป็นพิเศษคือการผลักดันให้เกิด Thailand Youth Policy Initiativeการแข่งขัน Hackathon ระดมความคิดและสร้างนโยบายสาธารณะจากมุมมองเยาวชน เพื่อส่งเสียงและนวัตกรรมไอเดียของคนรุ่นใหม่ไปสู่ภาครัฐ
“จริง ๆ วัยรุ่นไทยมีไอเดียน่าสนใจเยอะมาก แต่ที่ผ่านมาเราขาดสะพานเชื่อมไอเดียเหล่านั้นไปยังผู้กำหนดนโยบายสำหรับใช้งานจริง Hackathon ปีแรกเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่วนปีนี้เป็นหัวข้อสังคมผู้สูงวัย ซึ่งไอเดียของแต่ละทีมที่ส่งเข้ามาก็เจ๋ง ๆ ทั้งนั้น เราจึงหวังว่าภาครัฐรวมถึงผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่าง ๆ จะเห็นความสามารถและความตั้งใจจริงของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ
เมจิอธิบายอย่างกระตือรือร้นถึงนโยบาย Med for All ของทีมชนะเลิศปีนี้ ที่เสนอให้มีการหมุนเวียนเครื่องมือแพทย์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอุปกรณ์รุ่นใหม่ทันสมัยได้ ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในสถานพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ ในขณะที่ทีมรองชนะเลิศเสนอแอปพลิเคชัน ‘มีดี’ เพื่อส่งเสริมนโยบายสร้างคุณค่าให้ผู้สูงอายุ เพราะอุปสรรคของผู้สูงวัยไม่ใช่แค่ความแก่ชราด้านร่างกาย แต่ยังมีด้านจิตใจที่พวกท่านอาจรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเองซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังได้
เมจิบอกว่าหมุดหมายที่ทีม IFMSA-Thailand จะพยายามเดินหน้าต่อไป คือการติดตามความคืบหน้าของไอเดียนโยบายต่าง ๆ จากการแข่งขัน Thailand Youth Policy Initiative ที่หน่วยงานภาครัฐรับปากว่าจะนำไปพิจารณาต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าแนวคิดดี ๆ เหล่านั้นจะถูกนำไปประยุกต์ใช้จริงไม่มากก็น้อย
ร่มคันใหญ่ที่ครอบคลุมโลกทั้งใบ
“อย่างที่เล่าถึง Model UN ซึ่งเป็นการจำลองการประชุมสหประชาชาติ พอเข้ามาร่วม IFMSA-Thailandเราก็ยังจัดกิจกรรมนี้อยู่ แต่จำลองให้เป็นการประชุมขององค์กรอนามัยโลก (WHO) แทน เพื่อเน้นน้ำหนักไปที่เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ อย่างครั้งหนึ่งเรายกประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ลี้ภัยขึ้นมาเป็นหัวข้อ”
ในฐานะกระบวนกรที่ชื่นชอบกิจกรรมนี้ถึงขั้นตั้งชมรมสมัยมัธยมปลาย เมจิคิดเสมอว่าอยากไปเห็นการหารือของจริงที่มีตัวแทนจากหลากหลายประเทศมาเข้าร่วม ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมา เธอจึงสมัครเข้าเป็นเครือข่ายของ IFMSA ระดับนานาชาติ และเป็นนักศึกษาแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก หรือ World Health Assembly หนึ่งในวาระแห่งปีที่สำคัญที่สุดของคนในแวดวงสาธารณสุข
“การได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ของประชุมสมัชชาอนามัยโลกเปิดมุมมองของเราที่มีต่อสุขภาพโลกหรือ Global Health ซึ่งหมายถึงสุขภาพของผู้คนในบริบทโลก เพราะปัญหาสุขภาพทุกวันนี้เชื่อมโยงข้ามพรมแดนกันอย่างซับซ้อน เราจึงต้องมองปัญหานั้น ๆ ในมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง”
โดยปีแรกเมจิเป็นหนึ่งใน 50 ผู้แทนเยาวชนจากทั่วโลก และปีต่อมาได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาของคณะผู้แทนจากทวีปเอเชีย ซึ่งกว่าจะฝ่าด่านการสัมภาษณ์สุดโหดไปเป็น 1 ใน 7 ตัวจริงได้ ก็นับว่าหินไม่น้อย เมจิเล่าต่อว่าตลอดงานสองสัปดาห์ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เธอได้เจอกับฮีโร่ด้านสุภาพที่ชื่นชม ได้เห็นการขับเคลื่อนงานขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำให้มั่นใจว่าเธอชอบการทำงานขับเคลื่อนสาธารณสุขในมิตินานาชาติที่มองสุขภาพข้ามเขตแดนระหว่างประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประสบการณ์ต่างๆ ที่เธอเก็บเกี่ยว จะสามารถนำมาใช้พัฒนานโยบายต่าง ๆ ในประเทศไทยได้
เมื่อทุกนโยบาย ต้องห่วงใยสุขภาพ
ภูมิศาสตร์คือพื้นฐานของทุกอย่างบนโลก เช่นเดียวกับสุขภาพที่เป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดีหรือWell-Being ทุกวันนี้นักขับเคลื่อนสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies ซึ่งเป็นกรอบการทำงานที่ส่งเสริมให้การพัฒนาสังคมทุกด้านวางเป้าหมายด้านสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนไม่ได้เลย หากปัจจัยพื้นฐานอย่างสุขภาวะของผู้คนในประเทศยังไม่มั่นคง
“แนวคิดนี้อาจยังไม่คุ้นหูคนทั่วไปนัก แต่ในประเทศไทย พี่ ๆ กระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง อย่างการจัดสมัชชากรุงเทพฯ เวทีพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่พยายามบูรณาการให้ภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งโจทย์ในการสร้างเมืองสุขภาวะไม่เฉพาะกับผู้อยู่อาศัยในเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวและทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย”
เมจิเคยเป็นอาสาสมัครจัดงาน TEDx ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอได้พบเจอและพูดคุยกับคนจากหลากหลายที่มาซึ่งสนใจปัญหาสังคมเหมือนกัน ส่งผลให้มุมมองของเธอต่อปัญหามิติอื่น ๆ ถูกขยายกว้างขึ้น นอกจากนี้มันยังช่วยต่อจิ๊กซอว์ความเข้าใจเรื่อง Health in All Policies ว่าทุกปัญหาล้วนโยงกลับมาสู่พื้นฐานด้านสุขภาพจริง ๆ
“ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเช่นข้าวโพด เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในขณะเดียวกันทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซากข้าวโพดมหาศาลจะถูกเผาทิ้ง และนั่นคือสาเหตุของ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพ หรือถ้าจะมองในด้านความเท่าเทียม (Equality) และความเสมอภาค (Equity) ของคนในสังคม จริงๆ PM2.5 อาจไม่ได้กระทบสุขภาพคนรวยเท่าคนจน เพราะคนรวยสามารถซื้อเครื่องกรองอากาศหรืออุปกรณ์ราคาแพงๆ ได้ แต่กับคนยากจน แค่จะซื้อหน้ากากมาใส่ก็นับว่ายากลำบากแล้ว”
ระบบดี เริ่มต้นที่การวางรากฐาน
เมจิกำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 6 ปีสุดท้ายซึ่งนับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเหล่านักศึกษาแพทย์ “เราทำงานกับ IFMSA Thailand มาตั้งแต่เข้าปีหนึ่ง จนวันนี้เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันกำลังเตรียมส่งต่องานให้น้องรุ่นต่อไป แม้จะเป็นแค่องค์กรเยาวชน แต่พวกเราก็พยายามอย่างมากที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างราบรื่น เพื่อให้โปรเจกต์ต่าง ๆ สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด
“ทำให้ย้อนกลับมาคิดว่า แล้วสังคมของเรามีการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนหรือยังนะ เพราะในท้ายที่สุดเยาวชนวันนี้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่บริหารและพัฒนาประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบบที่มีประสิทธิภาพไม่ได้เกิดขึ้นในปีสองปี แต่เราเชื่อว่ามันต้องใช้เวลาวางรากฐานกันเป็นเจเนอเรชั่น คนรุ่นเราได้รับโอกาสเพื่อเตรียมพร้อมแค่ไหนที่จะก้าวไปสู่จุดนั้นในอนาคต”
เมจิเล่าว่าการมีเพื่อนนักขับเคลื่อนจากทั่วโลก ทำให้เธอได้เห็นว่าบางประเทศนั้นรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนอย่างเคารพและให้คุณค่าจริง ๆ ไม่เฉพาะแค่ในหน้าแถลงข่าว และเธอได้เห็นแล้วว่าความร่วมมือของคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ในสังคมกำลังปรากฏชัดขึ้นทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นของบ้านเรา อย่างการเกิดขึ้นของเครือข่าย SDGs Youth Panel ที่เมจิและทีมเยาวชนที่ปรึกษาสหประชาชาติประเทศไทยหลายคนได้มารวมตัวกันเพื่อส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับระโยบายด้านความยั่งยืนไปให้ผู้นำประเทศใช้พิจารณาจริง ๆ
แม้ทุกวันนี้ เมจิจะต่อจิ๊กซอว์ชิ้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าแพชชั่นของเธอคืออะไร แต่ภาพ ๆ นี้สามารถขยายออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับการทำงานขับเคลื่อนให้เยาวชนยิ่งมีส่วนร่วมในการออกสิทธิ์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมพลังบวกและความเชื่อมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมกับคนทุกรุ่นในสังคม
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030