เปรมศักดิ์ แสงจันทร์ ผู้ขับเคลื่อนสุขภาวะของเยาวชนกลุ่มเปราะบางผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
ㅤ
SDGs Youth Panel
เปรม-เปรมศักดิ์ แสงจันทร์ กำลังศึกษาอยู่ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และยังเป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนของมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน เพื่อพื้นที่ปลอดภัย เพื่อโอบอุ้มค้ำจุนเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ขาดโอกาสรวมถึงที่พึ่งพิง โดยเฉพาะเยาวชนที่อาศัยอยู่ในมูลนิธิตั้งแต่เด็ก
เด็กที่เติบโตขึ้นมาจากมูลนิธิ แม้พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติเหมือนอย่างคนทั่วไป แต่ในมุมมองของเยาวชนโดยปกตินั้นก็ต้องเผชิญความท้าทายในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่ยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นหากเด็กเหล่านั้นไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับการดูแลของพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พวกเขาจะใช้ชีวิตยากลำบากกว่าแค่ไหน ดังนั้นมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นบ้านที่อุ้มชูและสนับสนุนการใช้ชีวิตแก่น้อง ๆ
นอกจากจะเป็นที่ปรึกษา รับฟัง และให้คำแนะนำการใช้ชีวิตแก่สมาชิกในมูลนิธิ เปรมยังเล็งเห็นความสำคัญของความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ต้องทำงานและยืนด้วยสองขาของตัวเองตั้งแต่อายุน้อย เปรมจึงก่อตั้งโปรเจกต์ให้คำปรึกษาด้านการเงินกับเพื่อน พี่ น้องในมูลนิธิขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีบริหารจัดการเงินอย่างถูกต้อง
เมื่อปีที่ผ่านมา เปรมได้รับการคัดเลือกโดย 21 หน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะที่ปรึกษาเยาวชนแห่งสหประชาชาติ (Youth Panel for Sustainable Development Goals : SDGs Youth Panel) ที่ร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในมุมมองคนรุ่นใหม่ ส่งต่อไปยังผู้นำประเทศ นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (Young People Advisory Board : YPAB) ร่วมกับนักขับเคลื่อนรุ่นใหม่อีกกว่า 60 คน ขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) เพื่อส่งต่อความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนไปสู่การวางแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเสียงของน้อง ๆ กลุ่มเปราะบางและผู้ขาดโอกาส
“การเรียนคณะนิติศาสตร์ ทำให้ผมเข้าใจว่ากฎหมายต้องถูกปรับเปลี่ยนอยู่เสมอให้เท่าทันบริบทและค่านิยมของสังคม เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศ ก่อนหน้านี้เราอาจถูกสอนกันมาว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้บริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว การพัฒนาจะมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเมื่อคนทุกวัยหันหน้ามาคุยกัน และผมดีใจที่เห็นสิ่งนี้กำลังเติบโตขึ้นในประเทศของเรา”
โลกในสองมุมมอง
เปรมเริ่มเล่าว่า “ผมไม่ได้เติบโตมากับความมั่งมี หรือสุขสบายอย่างหลายๆ คน การมีวัยเด็กในมูลนิธิและต่อมาได้รับโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติทำให้ผมได้เห็นโลกในสองมุมมอง คือมุมของคนที่ไม่ได้มีมาก และมุมของคนที่มีพร้อมกว่าในสังคม ซึ่งทั้งสองมุมมองแตกต่างกันมาก เรียกว่าสุดขั้วเลยก็ได้ ชีวิตในโรงเรียนที่มีเพื่อนและครูหลากหลายเชื้อชาติยังหล่อหลอมวิธีคิดและทัศนคติแบบสากลให้ผมด้วย”
เปรมมองว่าระบบการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ที่คุณครูไม่ใช่แค่สอนจากหน้าห้องเพียงอย่างเดียว แต่เน้นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รีบหาคำตอบให้อย่างเต็มใจเมื่อนักเรียนมีคำถามหรือข้อสงสัย รวมถึงทำงานร่วมกับนักเรียนอย่างสนุกสนาน คือบรรยากาศที่กระตุ้นให้เด็ก ๆ กล้าที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนทัศนคติกันอย่างเปิดใจ และนำไปสู่ทักษะคิดวิเคราะห์ที่จะติดตัวเด็กไปจนถึงเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
“ช่วงที่ผมอยู่ชั้นมัธยมปลาย เรื่องความเป็นประชาธิปไตยถูกพูดถึงมากขึ้น มีการประท้วง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่กว้างขวางกว่าแต่ก่อน และประสบการณ์ของผมต่อโลกในสองมุมมอง ทำให้ผมเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าความเป็นอยู่ของผู้คนล้วนเกี่ยวข้องกับนโยบายประเทศ ผมสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่นั้น ยิ่งได้ถกเถียงกับครูที่โรงเรียน ยิ่งรู้สึกอินมาก ผมเลยเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์”
อย่างไรก็ตาม มีเยาวชนอีกหลายคนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือมีโอกาสที่ดีอย่างเปรม “เมื่อเรียนจบก็ต้องออกจากมูลนิธิ ซึ่งเยาวชนหลายคนไม่รู้จักการเข้าสังคม เพราะตลอดชีวิตของเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากเด็กทั่วไปมาก ไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีพ่อแม่ หรืออาจจะมีญาติที่ไม่ได้ไปมาหาสู่กันนัก บางคนไปทำงานข้างนอก แต่ก็ไม่สามารถรับมือเรื่องการเงินได้ อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เพื่อนของผมหลายคนก็ตกงาน เป็นหนี้เป็นสิน เพราะเขายังต้องจ่ายค่าที่พัก ยังต้องกินต้องใช้”
มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนจึงเกิดขึ้น เมื่อหลายปีก่อน จากการรวมตัวกันของพี่ๆ น้องๆ จากมูลนิธิ ที่มองเห็นความยากลำบากของการเริ่มต้นชีวิตในสังคม โดยมูลนิธิเครือข่ายเยาวชนแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งช่วยเหลือเรื่องที่พักพิง อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม แก่เยาวชนหลากหลายกลุ่มที่เปราะบางและไม่ได้รับการช่วยเหลือเพียงพอและกำลังประสบปัญหา เช่น ท้องไม่พร้อม ตกงาน มูลนิธิก็จะช่วยให้การสนับสนุนและดูแลกันไปก่อน ในระหว่างที่ทุกคนกำลังค่อยๆ ยืนหยัดในสังคมอย่างมีคุณภาพ
“ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสทางด้านการศึกษาและได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก อีกทั้งยังได้รู้จักมูลนิธิเครือข่ายเยาวชน ตั้งแต่ก่อตั้งแรก ๆ ดังนั้นเมื่อสองสามปีก่อน ตอนเข้ามหาวิทยาลัย พี่ๆ จึงเห็นว่าผมน่าจะเป็นแกนนำเยาวชนช่วยเหลือน้องๆ ได้ เลยชักชวนมาเป็นทีมแกนนำที่ทำงานด้วยกัน เราอาจไม่มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนแบบมูลนิธิใหญ่อื่น ๆ แต่แน่นแฟ้นแบบครอบครัว”
มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนที่ค้ำจุน
เปรมเล่าว่าเยาวชนหลายคนในมูลนิธิเครือข่ายเยาวชนและรวมไปถึงเยาวชนที่เติบโตจากมูลนิธินั้นพวกเขามีความเปราะบางกว่าเยาวชนที่ขาดโอกาสทั่วไป เพราะนอกจากปัญหาตามประสาวัยรุ่นอย่างการค้นหาตัวเอง การเรียน ความรัก ไปจนถึงเรื่องยาเสพติด หรือท้องวัยเรียนแล้ว พวกเขากลับเป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้รับการดูแลใส่ใจจากครอบครัว ไม่ได้มีคนที่จะให้คำปรึกษาหรือดูแลเขาได้ตลอดเหมือนครอบครัวอื่น ๆ
แม้มูลนิธิจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับการมีครอบครัวคอยให้การโอบอุ้ม มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนจึงทำหน้าที่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มอบที่พักพิงให้กับน้อง ๆ แทน เพื่อแนะนำถึงวิธีเข้าสังคม การรับมือกับ
สถานการณ์ต่างๆ เช่น การจัด workshop ให้กำลังใจ สร้างคุณค่าในตัวสมาชิกให้เขา โดยการทำให้เขานึกถึงสิ่งที่เขาเก่ง ที่เขาทำได้ดีในที่ผ่านมาหรือที่เป็นตัวเขา นอกจากนั้นยังให้เพื่อน ๆ พูดถึงข้อดีของเขา กิจกรรมดังกล่าว ก็จะทำให้เขาเห็นคุณค่าและรักตัวเองมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยลดปัญหาของการตีตราตนเอง (self-stigma) ของน้อง ๆ สมาชิก
การทำงานร่วมกับรุ่นพี่นักขับเคลื่อนหลายคนที่มีประสบการณ์และความรู้ ทำให้เปรมและแกนนำเยาวชนคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ที่จะให้คำปรึกษาอย่างไม่ตัดสินและบีบบังคับ “เราจะไม่เอาประสบการณ์ของตัวเองไปชี้ว่าน้องต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราเพียงบอกเขาว่ามันมีทางอะไรบ้าง แต่ละเส้นทางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจเลือกเส้นทางไหน เราจะอยู่ด้วยตลอดการเดินทาง”
เปรมมองว่า ความเข้าใจทางการเงินเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเติบโตออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ แม้ที่ผ่านมามูลนิธิเครือข่ายเยาวชนมอบเงินช่วยเหลือน้องบางคน แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เปรมจึงก่อตั้งโปรเจกต์ให้คำปรึกษาด้านการเงินกับเพื่อน พี่ น้องในมูลนิธิ เพื่อให้ทุกคนรู้วิธีบริหารจัดการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนและความมั่นคงทางด้านการเงินในระยะยาว
เครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน
เมื่อปีที่ผ่านมา เปรมได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (Young People Advisory Board) หรือ YPAB ร่วมกับคนรุ่นใหม่กว่าอีก 60 คน ที่ล้วนทำงานผลักดันประเด็นทางสังคมอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเสียงของน้องๆ กลุ่มเปราะบางและผู้ขาดโอกาส จะถูกรับฟังและนำไปใช้วางแผนการพัฒนาโดยยูนิเซฟและเครือข่ายพันธมิตร
“จากเดิมผมเห็นโลกของเด็กที่มีพร้อมและเด็กที่ขาดโอกาสในกรุงเทพฯ การเข้ามาเป็น YPAB ทำให้มุมมองของผมเปิดกว้างมากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วยังมีเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย อย่างเพื่อนคนหนึ่งใน YPAB เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ เยาวชนกลุ่มนี้ก็มีปัญหาและความท้าทายในบริบทของตัวเองที่ต่างออกไป เช่น ปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตามความสนใจและภูมิหลังการทำงานของเยาวชนสมาชิก YPAB แต่ละคน อย่างหัวข้อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของคนเจเนอเรชั่นถัดไป หัวข้อรอยต่อของชีวิตวัยรุ่นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย และหัวข้อสุขภาพและสุขภาวะ ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการทำงานของเปรม
“ผมได้มุมมองใหม่ ๆ กลับมาเยอะมากเช่นกัน จากการระดมความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มหัวข้อสุขภาพและสุขภาวะ อย่างประเด็นสุขภาพจิตที่เพื่อนนักเรียนแพทย์ทุกคนให้ความสำคัญอย่างมาก เขาเล่าว่าทุกวันนี้ที่คณะแพทย์ศาสตร์มีจิตแพทย์และนักจิตบำบัดมาประจำการให้คำปรึกษาด้วย หากนักศึกษาเกิดความเครียด ไม่ว่าจะจากการเรียนหรือชีวิตส่วนตัว ก็สามารถเข้าไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้เลย ค่านิยมว่าการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องน่าอายต้องหมดไป และการเข้ารับการบำบัดก็ควรถูกทำให้เข้าถึงได้ง่ายจากทุกคน
เป็นอีกประเด็นที่ผมจะนำกลับไปทำงานต่อกับพี่ๆ น้องๆ ในมูลนิธิเครือข่ายเยาวชนว่าเราจะพัฒนาการดูแลรักษาจิตใจเยาวชนในมูลนิธิได้ยังไงบ้าง”
ปรับเปลี่ยนให้เท่าทันยุคสมัย
นอกจากนี้ เปรมยังได้ร่วมงานประชุมวันเอดส์โลก ในฐานะสมาชิก YPAB ทีม Health and Well-being ที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสุขภาพและสุขภาวะ โดยในงานครั้งนั้น เปรมมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้สื่อสารความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทัศนคติของเยาวชนจริง ๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายมารับฟังภายในงาน
“ผู้ใหญ่ถามว่า เราจะลดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนและคนรุ่นใหม่ลงได้ยังไง ผมมองว่าอย่างแรกคือต้องเข้าใจพฤติกรรมของวัยรุ่นจริงๆ เสียก่อน ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือเรื่องถุงยางอนามัย จริงอยู่ที่ทุกวันนี้มีถุงยางอนามัยแจกฟรีตามสถานพยาบาล แต่ถุงยางอนามัยเหล่านั้นทั้งหนา ทั้งฝืดไม่ค่อยมีสารหล่อลื่น แถมยังตั้งอยู่ในจุดที่เข้าถึงลำบาก อย่าลืมว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาลกันบ่อย ๆ ตั้งแต่มีนโยบายนี้มา เคยทำผลสำรวจอย่างจริงจังไหมว่ามีวัยรุ่นกลุ่มเป้าหมายกี่คนที่กล้าเดินเข้าไปหยิบถุงยางอนามัยตามจุดแจก”
เปรมอธิบายว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ซื้อถุงยางอนามัยตามร้านสะดวก และแต่ละคนก็มีผลิตภัณฑ์ที่ชอบแตกต่างกัน ดังนั้นหากภาครัฐสามารถควบคุมราคาถุงยางอนามัยที่ขายตามร้านสะดวกซื้อให้จับต้องได้ น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมากกว่า
“การเรียนคณะนิติศาสตร์ ทำให้ผมเข้าใจว่ากฎหมายจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ผ่านสามปัจจัย คือยุคสมัย สภาพสังคม และผู้ออกกฎหมาย อธิบายง่าย ๆ คือเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบสังคมก็เปลี่ยนแปลง หากกฎหมายยังอยู่กับที่มันก็จะตกยุคล้าสมัยไป เช่น กฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับเพศในสมัยก่อน มีมาตราที่ว่าด้วยประเด็นการถูกข่มขื่นว่า ‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนถือว่ามีความผิดฐานข่มขืน’ เท่ากับว่าสามีข่มขืนภรรยาตัวเองได้อย่างนั้นหรือ
“อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ความเข้มข้นของสังคมชายเป็นใหญ่เจือจางลงไปมากแล้ว ผู้ออกกฎหมายจึงต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เท่าทันบริบทและค่านิยมของสังคม โดยเปลี่ยนมาตราดังกล่าวเป็น ‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นถือว่ามีความผิด’ เพราะปัจจุบันคือยุคสมัยแห่งความเท่าเทียม ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ก็ไม่มีสิทธิไปข่มขืนบุคคลใดทั้งนั้น”
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเป็นเดือนสุดท้ายก่อนที่เปรมจะพ้นวาระจากการเป็นสมาชิก YPAB ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาเขาได้เห็นความสำคัญของการทำงานบนพื้นฐานของความเข้าใจกันระหว่างคนหลายเจเนอเรชั่น “เพราะเราถูกสอนกันมาว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เท่านั้น เมื่อสังคมกำลังปรับไปในทิศทางที่คนทุกวัยต้องหันหน้ามาคุยกัน การที่ผู้ใหญ่ต้องมารับฟังเสียงของเด็ก ก็อาจทำให้เป็นเรื่องที่ขัดใจผู้ใหญ่บางคน” เปรมพูดยิ้ม ๆ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องช่วงวัย กฎหมาย หรือการร่วมมือกันระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ ผมมองว่าทั้งหมดเชื่อมโยงกันในแง่ของการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามยุคสมัย บริบทของสังคมและผู้คน เพื่อพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ผมดีใจที่ทุกวันนี้หลายหน่วยงานในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีพลัง รวมถึงการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มยอมรับและพยายามที่จะเลิกการตีตราหรือการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคมของเรา”
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030