ภารกิจเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน UN หญิงไทยในซูดานใต้ ประเทศใหม่ที่สุดในโลก
ㅤ
วันที่ 9 กรกฎาคม 2011 ชาวโลกได้รู้จัก ‘ซูดานใต้’ ประเทศใหม่ที่สุดของโลก ซึ่งเกิดขึ้นหลังไฟสงครามอันยืดเยื้อในแอฟริกาตะวันออก
ช่วงเวลาเดียวกัน ณ อีกซีกโลก วิภาณี ชำนาญไพสณฑ์ นักศึกษาด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดตามข่าวจากทวีปแอฟริกาด้วยความสนใจ เธอติดตามเรื่องราวการสร้างประเทศใหม่ท่ามกลางความขัดแย้ง ยิ่งได้ข่าวว่าองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีภารกิจทำงานที่นั่น เธอยิ่งสนใจอยากจะทำงานในองค์การระหว่างประเทศแห่งนี้มากขึ้น
สิบปีผ่านไป ความฝันของเธอกลายเป็นจริง เมื่อได้รับตำแหน่งนักสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Officer หญิงไทยหนึ่งเดียวในซูดานใต้ ผ่านโครงการอาสาสมัครขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Volunteers : UNV) ซึ่งคอยทำงานสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนให้กับ United Nations Mission in South Sudan หรือ UNMISS
เส้นทางความฝันที่ไม่เหมือนใครของเปิ้ล-วิภาณี เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร ซูดานใต้เป็นประเทศแบบไหน และทำไมคนไทยควรทำความรู้จักเรื่องราวสิทธิมนุษยชนในแอฟริกา ทีมสหประชาชาติในประเทศไทยต่อสายไปซูดานใต้ เพื่อหาคำตอบทุกประเด็นอย่างเต็มอิ่ม
ประตูบานใหม่ของนักกฎหมาย
“แต่ก่อนความคิดเรื่องอาชีพของนักศึกษานิติศาสตร์มีแค่ผู้พิพากษา อัยการ และทนาย เพราะเราไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่น ๆ เช่น ไปทำงานสายสิทธิมนุษยชน หรือเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชน แต่พอได้อ่านข่าวเกี่ยวกับยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) เราก็รู้ว่ามันมีสายงานด้านนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเรียนต่อด้าน Human Rights และตัดสินใจเดินทางสายนี้”
ก่อนเรียนปริญญาโท เปิ้ลเล่าว่าเคยฝึกงานช่วงสั้น ๆ ในสำนักงานอัยการสูงสุด จึงรู้ตัวว่าตนเองไม่เหมาะกับระบบราชการ แต่สนใจงานภาคประชาสังคมที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ได้คิดนอกกรอบมากกว่า จึงหันมาทำงานด้าน NGO ต่าง ๆ และเมื่อทางสหประชาชาติเปิดรับ Peacekeeping Mission หรือปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ผ่านกระบวนการสรรหาโดยโครงการอาสาสมัครขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Volunteers : UNV) เธอจึงสมัครด้วยความสนใจในด้านสิทธิมนุษยชน จนได้รับเลือกไปร่วมงานกับ UNMISS Human Rights ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้
ตอนนี้เปิ้ลเป็นคนไทยคนเดียวในแผนกสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางเพื่อนร่วมงานจากหลายประเทศ ทั้งชาวเอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่สหประชาชาติพยายามผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติในระบบสหประชาชาติ นอกจากนี้การผลักดันด้านความเท่าเทียมทางเพศก็ทำให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น หลังจากช่วงแรก ๆ ที่มีแต่เจ้าหน้าที่ชายและส่วนมากมาจากแอฟริกา ทั้งหมดร่วมทำภารกิจด้วยกันในประเทศเกิดใหม่ที่เพิ่งอายุครบรอบสิบปีไปไม่นาน และความขัดแย้งยังเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ
การเรียนรู้ในประเทศใหม่ที่สุดในโลก
“ตื่นเต้นเหนือความคาดหมายทุกอย่าง ชีวิตการทำงานเปิ้ลไม่เหมือนกันสักวันเลย”
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติชาวไทยสรุปชีวิตการทำงานในเมืองจูบา เมืองหลวงของซูดานใต้ ซึ่งไม่ได้กันดารตามภาพจำในสื่อที่เธอเคยเห็น มีความสะดวกสบายและปลอดภัยกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ออกไปไหนก็ยังต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล และมีเคอร์ฟิวเข้มงวด หลังหนึ่งทุ่มต้องกลับมาอยู่ในสำนักงานของสหประชาชาติเท่านั้น
งานหลักของ UNMISS คือปกป้องประชาชนและสิทธิมนุษยชน มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทั้งทหาร ตำรวจ ที่ดูแลความปลอดภัย ป้องกันและระงับความรุนแรง ส่วนด้านสิทธิมนุษยชน แบ่งย่อยได้เป็นฝ่าย Capacity Building, Reporting และ Crisis Response เปิ้ลอยู่ทีม Capacity Building ทำหน้าที่แบ่งปันความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ฝ่ายต่าง ๆ ในท้องที่ ทั้งภาครัฐ ทหาร ตำรวจ และองค์กรเพื่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการเทรนนิ่ง
“สิทธิมนุษยชนถูกมองว่าเป็นคอนเซ็ปต์ของประเทศโลกที่หนึ่ง ของฝรั่งผิวขาว ซึ่งไม่ใช่คอนเซ็ปต์ของเอเชียและแอฟริกา คนที่นี่คิดว่าเรามาจากประเทศโลกที่หนึ่ง มาพูดจาสวยหรู ไม่เข้าใจบริบทประเทศเขาหรอก แต่เปิ้ลก็พยายามอธิบายว่าฉันมาจากประเทศไทย แม้เราไม่ได้มีความขัดแย้งทุกอณู แต่คนก็มีสิทธิ์ในการคิดต่างเหมือนกัน จริง ๆ แล้วสิทธิมนุษยชนสำคัญสำหรับทุกคน
“คนทั่วไปอาจมองว่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในโลกอุดมคติเกินไป ไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริง ทุกวันนี้ปากท้องยังสำคัญมากกว่าอีก แต่จริง ๆ สิทธิมนุษยชนก็พูดเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจสังคม ถ้าคนเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร เขาจะไม่ได้คิดว่าเราโลกสวย”
ประเด็นใหญ่แบบนี้ขับเคลื่อนไม่ง่าย ในประเทศที่ผู้คนรู้สึกว่าแค่เอาชีวิตให้รอดในแต่ละวันก็ยากแล้ว เดี๋ยวข้างบ้านก็โดนระเบิดลง เดี๋ยวคนใกล้ตัวก็โดนยิงโดนฆ่า ชีวิตคนเปราะบาง จนวัวที่นี่มีค่าสูงมาก กรณีวิวาทฆ่ากันตายเพราะวัวตัวเดียวก็มี เมื่อเทียบกับประสบการณ์ทำงานในอาเซียนด้านการจัดการสิทธิดิจิทัลหรือความเป็นส่วนตัว เปิ้ลได้กลับมาผลักดันสิทธิพื้นฐาน อย่างสิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาด อาหาร หรือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงสิทธิของผู้หญิงและเด็ก
“บริบทของที่นี่คือหญิงชายไม่เท่าเทียมกัน ที่นี่ประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ ผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดสิทธิเยอะ ผู้หญิงถือเป็นสมบัติของผู้ชาย พ่อหรือสามีขายลูกสาวหรือภรรยาให้แต่งงานหรือค้าบริการทางเพศได้ เคยถามทหารหญิงซูดานใต้ว่าทำไมเขาเลือกมาเป็นทหาร เขาบอกว่าถ้าไม่เป็นทหารหรือตำรวจจะถูกขาย เขาทำงานนี้ดีกว่า เพราะเลือกทางเดินชีวิตเขาเองได้
“เปิ้ลได้เรียนรู้จากเขาเยอะมาก ไม่ใช่แค่เราสอนเขา แต่เราได้แลกเปลี่ยนกัน ทหารหญิงเข้าใจเรื่องนี้ดีมาก เพื่อนหญิงพลังหญิง จบเทรนนิ่งก็ร้องเพลงให้ฟัง ซัปพอร์ตเรามาก ยิ่งทำให้เราอยากผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศให้มากขึ้น”
เดินหน้าเพื่อสิทธิมนุษยชน
“ธรรมชาติของคนเอเชียเราขี้สงสาร แต่ในมุมของสิทธิมนุษยชน ไม่อยากให้ใช้คำว่า Sympathy แต่เป็น Respect ทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องการเคารพทั้งตัวเราเองและเพื่อนรอบข้างเรา เราใช้คำว่า Respect เยอะมากในการเทรนนิ่ง เคารพผู้อื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ต้องมองสีผิว เพศสภาพ หรือทัศนคติ และเคารพตัวเอง ถ้าเราเคารพตัวเอง ก็เคารพคนข้าง ๆ ด้วย ถ้าไปละเมิดสิทธิคนอื่น คุณก็ไม่ได้เคารพตัวเอง”
เปิ้ลอธิบายใจความหลักของสิ่งที่เธอสื่อสารทุกวัน พร้อมยกตัวอย่างผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาซึ่งเคยเป็นประเด็นใหญ่ในเมืองไทย แทนที่จะมองคนเหล่านี้ด้วยความสงสาร แต่ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าหากเราอยู่ในประเทศที่รัฐบาลไม่เคารพประชาชน สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงไม่แน่ไม่นอน ก็อาจเจอสถานการณ์แบบเดียวกันได้ เมื่อลองสวมหมวกเป็นฝ่ายที่ถูกละเมิดสิทธิ เราจะเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ด้วยเนื้อหางานที่เห็นความโหดร้ายและความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ทำให้คนทำงานภาคสังคมเครียดและหมดไฟเอาได้ง่าย ๆ เปิ้ลบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เพื่อนร่วมงานสายเดียวกันต้องประคับประคองกันและกัน โชคดีที่ชาวซูดานใต้เติมเต็มกำลังใจเธอให้เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ
“การทำงานกับภาคประชาสังคมที่นี่ ได้เรียนรู้ ได้ชุบชูหัวใจมาก เราทำงานภาคประชาสังคมที่เมืองไทยมาเยอะ ก็รู้สึกว่าเรายังสู้ไม่ได้เท่าที่นี่ อย่างกลุ่มผู้มีความพิการที่นี่ เขาสู้ทั้งตัวและหัวใจ ด้วยทั้งสภาพความเป็นอยู่เขาเองในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรง และสู้เพื่อสิทธิของคนอื่น ๆ ไม่ได้ทำงานแค่เพื่อตัวเขาเอง”
“สิ่งที่เปิ้ลและกลุ่มคนพิการร่วมมือกัน คือพยายามผลักดันให้รัฐบาลประกาศรับรองสิทธิ์ของผู้มีความพิการ ตอนนี้รัฐบาลก็รับปากแล้วว่าจะลงนามเซ็นสัญญา เรามองเห็นทางสว่าง เขาบอกว่าเขาสู้มาหลายปีแล้ว ยังไม่ขยับไปไหนเลย แต่ช่วงปีที่เรามาทำงานก็ได้ช่วยดึงเรื่องนี้กลับมา พยายามผลักดันและเรียกตัวแทนของภาครัฐมาคุยกับภาคประชาสังคมมากขึ้น จนได้จัดงาน Public Consultation ตัวภาครัฐและประชาสังคมจะได้จับมือกันแล้วไปให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิผู้มีความพิการนี้สักที เพราะซูดานใต้เป็นประเทศเดียวในแอฟริกาที่ยังไม่ให้สัตยาบันการคุ้มครองสิทธิของผู้มีความพิการ เรื่องนี้เลยเป็นเรื่องที่มีความหมายกับเรามาก"
นอกจากการเทรนนิ่งเรื่องสิทธิมนุษยชน การร่วมมือกับภาคประชาสังคมท้องถิ่น งานของ Human Rights Officer ยังมีประเด็นอื่น ๆ อย่างการทำ Mobile Court หรือ ‘ศาลเคลื่อนที่’ พาผู้พิพากษาจากเมืองจูบาไปจังหวัดอื่น ๆ เพื่อดำเนินคดีกับคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แสดงให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมีผลลัพธ์ตามมา ไม่ว่ามียศตำแหน่งสูงขนาดไหน เมื่อทำผิดก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำลงไป
งานของฝ่ายสิทธิมนุษยชนยังมีโปรเจกต์ด้านศิลปวัฒนธรรม Human Rights Film Festival ให้คนซูดานใต้ถ่ายสารคดีชีวิตประจำวัน โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แล้วฉายทั่วจูบา ซึ่งเปิ้ลบอกว่าจัดต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว เปิดโอกาสให้คนซูดานใต้ที่สนใจการถ่ายทำภาพยนตร์ได้แสดงฝีมือ และทำให้คนเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวมากแค่ไหน
ในอนาคต วิภาณีหวังว่าจะได้ลงพื้นที่ในเมืองอื่น ๆ นอกเมืองหลวงจูบา และทำงานด้าน Human Rights Investigation หรือการสอบสวนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะทำให้เธอเข้าใกล้ปมปัญหาด้านสิทธิไปอีกก้าว
ฟันเฟืองเล็ก ๆ เพื่อวันพรุ่งนี้
“การทำงานสายสิทธิมนุษยชน เราถูกสอนมาว่ามันไม่ได้แก้ไขได้ในปีสองปีหรือในช่วงอายุเรา แต่การลุกขึ้นมาทำบางอย่าง ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ตอนเริ่มงานสายนี้ใหม่ ๆ ก็ท้อเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทันที เปิ้ลทำงานสายนี้เข้าปีที่เจ็ดแล้ว ทั้งรุ่นพี่หรือเจ้านายต่างบอกว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในชั่วดีดนิ้วไม่ได้ แต่ก็ยังดีกว่าเราถอดใจตั้งแต่ตอนนี้ เราสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย ไม่ได้เห็น End Game ตั้งแต่ตอนต้น แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำ”
มองย้อนกลับมาที่เมืองไทย นักสิทธิมนุษยชนในไทยทำงานหนักต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ทั้งการต่อสู้จนได้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือสิทธิการลาคลอดที่ทำให้หญิงไทยในปัจจุบันมีสิทธิลาคลอดนานถึง 98 วัน
“ถ้าไม่ได้หญิงแกร่งในยุคนั้น เราก็คงไม่ได้เส้นทางขนาดนี้ อย่างน้อยถ้าตัวเราไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตอนนี้ แต่อยากให้คนรุ่นหลังเห็นว่าป้าเปิ้ล หรือ ย่าเปิ้ล ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง เราเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่อาจจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง” วิภาณีเอ่ยด้วยความมุ่งมั่น
“แค่ปีเดียวที่นี่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้มากกว่าทำงานเดิมมา 5-6 ปี โลกนี้มันกว้างมาก มาที่นี่ได้เรียนรู้ ได้คิดนอกกรอบ ได้เจอเพื่อนหลากหลายพื้นเพมากขึ้น เปิ้ลได้ย้อนกลับมาเข้าใจตัวเองว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เราอยากทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่นี่ยังอยู่ในช่วงการสร้างประเทศ ตั้งแต่สิบปีที่แล้วถึงปัจจุบันก็ยังสู้กันเองหนักมาก จนเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกผู้ลี้ภัยอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เขาก็ยังพยายามสร้างประเทศขึ้นมา เขาสร้างแรงขับเคลื่อน แรงบันดาลใจให้ตัวเปิ้ล เป็นพลังให้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพให้เขา”
โครงการอาสาสมัครขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Volunteers : UNV) เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาผ่านอาสาสมัครทั่วโลก UNV ทำงานอยู่ใน 140 ประเทศทั่วโลกในโครงการพัฒนาต่างๆขององค์การสหประชาชาติ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNV และดูตำแหน่งที่เปิดรับสมัครได้ที่ https://app.unv.org
เรื่อง ภัทรียา พัวพงศกรภาพ, เรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช, ศิริณัฐ จรัสโชติสุนทร
Tags: #IWD2023 #UNVolunteers #GlobalGoals