หวนเยือนสามชุก ‘ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา’
ㅤ
หัวใจของชุมชนคือศูนย์รวมประวัติศาสตร์และความใฝ่ฝันที่ชุมชนนั้นหวงแหน และในชุมชนที่มีสีสันอย่างตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี หัวใจที่ยังคงเต้นให้จังหวะอยู่ก็คือ บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ บ้าน 3 ชั้นที่ทำจากไม้และคอนกรีตนี้มีอายุมากกว่า 100 ปี (สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459) แต่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของนายอากรประจำเขต ในปี พ.ศ. 2547 บ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะและดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งการบูรณะครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ (พ.ศ. 2542–2549) ที่ริเริ่มโดยมูลนิธิชุมชนไท โดยมีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับสมาชิกชุมชน สามปีหลังจากที่โครงการนี้แล้วเสร็จ ความสำเร็จที่เด่นชัดในการฟื้นฟู ‘แบบองค์รวม’ ของ ‘ศูนย์กลางการค้าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์’ แห่งนี้ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกด้วย Award of Merit จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2552
ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ยังคงปลูกฝังความซาบซึ้งในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประเทืองความภาคภูมิใจให้กับชุมชนตลาดสามชุก นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นใจกลางของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้าขายที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย เมื่อก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ สิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจทันทีก็คือ แบบจำลองย่านตลาดเก่านี้ ซึ่งเผยผังของตลาดได้อย่างชัดเจน มีร้านค้าห้องแถวไม้ 2 ชั้นกว่า 150 คูหา ตั้งเรียงรายทั้ง 2 ฝั่งของซอยหลัก 4 ซอยที่พาไปสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นทางสัญจรทางน้ำที่ให้กำเนิดการตั้งถิ่นฐานเชิงพาณิชย์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้
สำหรับผู้ที่เดินชมและดื่มด่ำอยู่กับความคึกคักของตลาด อาจไม่ง่ายที่จะเข้าใจตรรกะของผังนี้โดยทันที เนื่องจากอาหารเลิศรส (เช่น เป็ดย่าง ข้าวห่อใบบัว และขนมสาลี่) งานหัตถกรรมของที่ระลึก และสินค้านานาประเภท ต่างแข่งกันเรียกร้องความสนใจ แต่ในความเงียบสงบของพิพิธภัณฑ์ขุนจำนงจีนารักษ์ ความวิจิตรลึกซึ้งระดับจุลภาคของแบบจำลอง ประกอบกับการจัดแสดงที่ให้ข้อมูลได้เป็นอย่างดี สื่อได้อย่างแรงกล้าว่า ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน วิวัฒนาการของชุมชนนี้ได้สะท้อนปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่หล่อหลอมทั้งอำเภอสามชุกและที่อื่น ๆ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย
ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำท่าจีนเชื้อเชิญให้มนุษย์มาปักหลักอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามวิถีความเป็นมาของที่ราบภาคกลางของประเทศไทย ผืนนายังคงพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่นี้ หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า บริเวณที่ปัจจุบันนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘อำเภอสามชุก’ ได้มีประชากรอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาแบบมหายานจากพุทธศตวรรษที่ 18 ได้ถูกค้นพบที่เนินทางพระ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในอำเภอนี้
ประชากรของอำเภอสามชุกเพิ่มขึ้นอย่างมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325-2394) ซึ่งการเติบโตนี้ขับเคลื่อนโดยการค้าข้าวและถ่านเป็นหลัก ในยุคที่สายน้ำคือเส้นโลหิตของการพาณิชย์ ตลาดสามชุกเฟื่องฟูในฐานะศูนย์กลางทางการค้าที่ผสมผสานผู้คนและวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน
ในนิราศสุพรรณ ผลงานกวีนิพนธ์แบบโคลงประพันธ์โดยสุนทรภู่ (พ.ศ. 2329-2398) ซึ่งเล่าถึงการเดินทางไปสุพรรณบุรีในปี พ.ศ. 2385 (เพื่อค้นหาแร่ปรอทสำหรับการเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นทองคำ) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้พรรณนานาม ‘สามชุก’ ไว้ว่า ทำให้นึกถึงเรือค้าที่ ‘รายจอดทอดท่าน้ำ’ และการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างคึกคัก
ตลาดสามชุกเข้าสู่ยุคทองในช่วงทศวรรษแรก ๆ ของศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีตลาดอื่น ๆ ที่ทันสมัยกว่าเกิดขึ้น และรูปแบบการคมนาคมที่เปลี่ยนจากการสัญจรทางน้ำไปสู่ถนนคอนกรีต (โดยเฉพาะถนนมาลัยแมน หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 ที่เชื่อมต่อจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดนครปฐม) ทำให้ตลาดสามชุกเริ่มเงียบเหงาซบเซาลงเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2549 กรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินส่วนใหญ่ในสามชุก ได้ร่างแผนปรับปรุงพื้นที่ตลาดทั้งหมดให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะต้องเวนคืนที่อยู่อาศัยและรื้อถอนร้านค้าห้องแถวโบราณที่ตั้งอยู่ นี่จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ชุมชนรวมตัวกันประท้วง เมื่อเล็งเห็นความพยายามของชุมชน กรมศิลปากรจึงกำหนดให้พื้นที่ตลาดสามชุกเป็น ‘ย่านประวัติศาสตร์’ ในปี พ.ศ. 2550 เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูตลาดสามชุกจากระดับรากหญ้า ในที่สุด กรมธนารักษ์หันมาร่วมมือกับสมาชิกชุมชนเพื่อทำให้การฟื้นฟูของตลาดสามชุกมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และยั่งยืนกว่าที่ใคร ๆ ได้คาดคิดไว้ในตอนแรก
คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบ Award of Merit ให้กับ ‘ชุมชนสามชุกและย่านตลาดเก่า’ ในปี พ.ศ. 2552 เน้นย้ำว่า ‘ชุมชนเป็นแรงผลักดันหลักสำหรับโครงการ[อนุรักษ์]ในทุกระดับ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงการสร้างแนวทางการออกแบบชุมชนเมือง’ ในแง่ของตัวอย่างความสำเร็จด้านเทคนิค ต้องย้อนกลับไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ที่นี่ ทีมงานจากโครงการอนุรักษ์ได้บันทึกรายละเอียดการก่อสร้างอย่างถี่ถ้วนสำหรับอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น รวมถึงรายละเอียดการตกแต่งที่ประณีต (เช่น กระเบื้องเซรามิกปูพื้นที่ตกแต่งด้วยการพิมพ์ซิลค์สกรีน) และวิธีการก่อสร้างโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็กและโครงไม้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่าการบูรณะจะเคารพจิตวิญญาณของสถานที่ ทั้งในแง่ของวัสดุที่ใช้และคุณสมบัติด้านสุนทรียภาพ
คุณมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ‘ในทางตรงกันข้ามกับแหล่งมรดกโลก ซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล การประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมุ่งที่จะยกย่องความพยายามในการอนุรักษ์แบบล่างขึ้นบน ซึ่งริเริ่มโดยภาคเอกชนหรือผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน’ ดังที่ชุมชนตลาดสามชุกได้แสดงให้เห็น ความพยายามดังกล่าวไม่เพียงรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้มีความหมายและมีจุดมุ่งหมายในบริบทปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย