อุ้ย-ศิริลักษณ์ จักรเพชร UN Peacekeeper หญิงไทย กับเส้นทางสู่ภารกิจเพื่อสันติภาพของวิศวกรโยธาในแคชเมียร์
UN Peacekeeper: When She Stands For Peace
แรงบันดาลใจสู่การเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ?
‘เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเอง ครอบครัว หรือชาติของเราเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งหมดด้วย’ คือคำพูดของดาไลลามะบนธงมนตราเล็กๆ ที่เราซื้อกลับมาจากทริปท่องเที่ยวภูมิภาคลาดักห์ (Ladakh) ประเทศอินเดียเมื่อ 7 ปีก่อน
ถ้อยคำนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราสมัครเป็นทหารในกองทัพไทยเพื่อทำงานรับใช้บ้านเมือง จนหลายปีต่อมาเรามีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหรือ UN Peacekeeper หญิงชาวไทยเกี่ยวกับหน้าที่และความสำคัญของการรักษาสันติภาพ โดยกองทัพไทยสนับสนุนทหารหญิงให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจพิเศษในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งซึ่งผู้หญิงและเด็กจำนวนมากตกเป็นเป้าหมาย หรือตกเป็นหยื่อแห่งความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มเจ้านวนเจ้าหน้าที่หญิงในพื้นที่
การฟังบรรยายวันนั้นจุดประกายให้เราอยากเข้าร่วมทำภารกิจด้วย เพื่อเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ตามคำพูดของดาไลลามะที่ยังแปะอยู่บนผนังจากทริปครั้งนั้น เราจึงสมัครเข้าทดสอบเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ เมื่อสอบผ่านจึงถูกส่งมาประจำการในภารกิจ United Nations Military Observer Group In India and Pakistan ซึ่งเหมือนเป็นโชคชะตาเลยค่ะ เพราะพื้นที่แคชเมียร์นับว่าอยู่ในโซนเดียวกับลาดักห์ ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นความคิดที่อยากจะทำงานเพื่อคนอื่นของเรา
เล่าชีวิตการทำงานของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพให้ฟังหน่อย?
เนื้องานหลักๆ จะเป็นการสังเกตการณ์ทางทหาร ประเมินสถานการณ์โดยทั่วไป และรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ของภารกิจ ในสถานีที่เราประจำการอยู่จะมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจากประเทศอื่น ๆ ด้วย 4-5 คน โดยเราจะเวียนตำแหน่งงานกัน ทุกคนจะได้สลับกันเป็นหัวหน้าทีมออกลาดตระเวนและหัวหน้าสถานีที่ต้องรับผิดชอบงานเอกสารต่าง ๆ
วันที่ออกลาดตระเวน เราจะไปพูดคุยกับคนในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลความเป็นไปของสถานการณ์ต่างๆ สอบถามชาวบ้านว่าเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม บางวันออกไปสังเกตการณ์บริเวณชายแดนว่ามีความเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารระหว่างอินเดียและปากีสถานไหม บางวันออกไปตรวจเยี่ยมทหารในพื้นที่ คุยกับเพื่อนในทีม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เมื่อกลับมาถึงสถานี เราก็จะเขียนสรุปรายงานและส่งไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงอิสลามาบัด (Islamabad) และสำนักงานใหญ่ยูเอ็นที่นิวยอร์ก
ทุกวันนี้วันที่ออกลาดตระเวนจริง ๆ ค่อนข้างสงบนะ เพราะทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีความแน่นอน ต้องคอยระวัง อุปสรรคซึ่งจะเป็นเรื่องสภาพอากาศมากกว่า
บริเวณชายแดนตรงนี้เป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน ถนนบางส่วนลาดยาง บางส่วนเป็นหินลูกรัง ถ้าฝนตกหรือมีหิมะตกก็ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถนนจะลื่นมาก หรืออาจจะมีหินถล่มลงมาได้ง่าย และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าก้อนหินเล็ก ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่บางทีหล่นมาใหญ่ขนาดเท่ารถบัสทั้งคัน ทั้งเราและคนขับต้องคอยสังเกตให้ดี คอยเตือนกัน
เคยมีครั้งนึงถนนมีหิมะปกคลุมมาก ประมาณเมตรนึง รถผ่านไปไม่ได้ จึงต้องเดินขึ้นเขาไป แต่ไปไม่ถึงก็ต้องกลับ เพราะเราเป็นคนพื้นที่ราบ เดินบนหิมะไม่เป็น ทั้งลื่นทั้งล้ม สุดท้ายต้องกลับ ทำให้เรารู้เลยว่าคนที่นี่เขาลำบากขนาดไหน หิมะตกขนาดนี้ เขาอยู่กันบนเขา ลงมาไม่ได้แน่นอน น้ำไฟก็ไม่มี เขาจะใช้ชีวิตกันยังไง คิดถึงตรงนี้เราก็อยากให้สถานการณ์ดีขึ้นอีก อยากให้พื้นที่ตรงนี้สงบสุขและมีความเจริญเข้ามาถึง
มุมมองคนท้องถิ่นต่อเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงเป็นยังไง?
เราสังเกตว่าปฏิกิริยาของคนท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่หญิงจะต่างจากเจ้าหน้าที่ชายพอสมควร เวลาเรานั่งคุยกับกลุ่มแม่บ้านและเด็ก ๆ พวกเราจะจับมือกัน บางทีก็โอบกอดกัน มันจึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่า สำหรับชาวบ้านผู้ชายและเจ้าหน้าที่ชาย แม้จะพูดคุยอย่างเป็นมิตรเหมือนกัน แต่ทางกายภาพจะไม่ใกล้ชิดเท่าเจ้าหน้าที่หญิง
ครั้งนึงระหว่างปฏิบัติภารกิจ คุณยายท่านหนึ่งซึ่งดูมีอายุมาก ท่านคุยกับเราแล้วอยู่ ๆ จับมือเรายกขึ้นจูบที่หลังมือ ซึ่งมารู้ทีหลังว่าการกระทำแบบนี้แสดงถึงความเคารพ โดยคนแถบนี้จะปฏิบัติแค่กับครูอาจารย์ พ่อแม่และคนที่แก่กว่าเท่านั้น จากเหตุการณ์นั้นเลยทำให้เรารู้ว่าคนท้องถิ่นมีมุมมองที่ดีมากต่อเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ การยกมือเจ้าหน้าที่หญิงอย่างเราขึ้นจูบไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งต่อมาเราก็เรียนรู้ที่จะจูบมือพวกเขาตอบด้วยเพื่อแสดงความเคารพเช่นกัน
แล้วเด็กๆ ในท้องถิ่นล่ะ มองเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงแบบไหน?
จากประสบการณ์เราคิดว่าเด็ก ๆ มองเจ้าหน้าที่เป็นไอดอลเลย ทั้งเจ้าหน้าที่หญิงและชาย เพราะเขามองว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่อคุ้มครอง ช่วยให้เขาปลอดภัยเขานะ แทบทุกที่ที่ไปจะมีคนมาขอถ่ายรูปด้วยตลอด
มีเหตุการณ์ประทับใจอีกครั้งหนึ่ง คือที่หน้าสถานีของเราจะมีโรงเรียนประถม-มัธยมศึกษาตั้งอยู่ วันนั้นเรากำลังเดินกลับจากตลาด อยู่ ๆ ครูใหญ่ของโรงเรียนก็มาชวนให้ไปเข้าร่วมพิธีจบภาคการศึกษาและยังให้เราเป็นคนขึ้นไปมอบเหรียญรางวัลกับเด็ก ๆ ที่เรียนดีด้วย ซึ่งเด็ก ๆ ก็ฮือฮากันมาก อย่างน้องผู้หญิงซึ่งเป็นที่หนึ่งของชั้นปี พอมอบเหรียญรางวัลเสร็จ เราก็ให้ปากกาน้องเป็นของขวัญด้วย และบอกให้ใช้ปากกานี้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในการเรียนหนังสือ ซึ่งน้องก็ตื้นตันจนทำอะไรไม่ถูกเลย
พื้นฐานความรู้เดิมช่วยในการปฏิบัติภารกิจบ้างไหม?
เราเป็นวิศวกรโยธา พื้นฐานความรู้เดิมช่วยสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเหมือนกัน สถานีของเราถูกสร้างมายาวนานกว่า 75 ปีแล้วเพื่อภารกิจนี้ ซึ่งแน่นอนอาคารมันก็ต้องเสื่อมโทรมเป็นธรรมดา เราก็นำประสบการณ์เดิมของเรามาใช้ในการคุยกับช่างและทีมงานในพื้นที่เพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ล่าสุดเราทำรายงานส่งไปที่สำนักงานใหญ่ อธิบายว่าเรามีความรู้พื้นฐานด้านนี้และขอแนะนำการปรับปรุงสถานีในเชิงโครงสร้าง
การเป็นวิศวกร ช่วยในเรื่องการทำงานเป็นตรรกะ การประสานงานทำงานกับคนในองค์กร เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว มีคนที่อยู่เหนือเรา คนที่ทำงานในระดับเดียวกับเรา และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย พื้นฐานด้านตรรกะช่วยแยกแยะหน้าที่ของแต่ละคน รวมถึงประเมินว่าเขามีความสามารถในการทำงานแค่ไหน ไม่ต่างจากการทำงานในโครงการก่อสร้างที่ประกอบไปด้วยเจ้าของ ผู้จัดการ วิศวกร หัวหน้าคนงาน และคนงาน งานจะประสบความสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
เอาจริง ๆ ไม่ว่าเราจะเรียนจบสายไหนก็มาปฏิบัติหน้าที่ผู้รักษาสันติภาพได้ ถ้ามีความตั้งใจจะช่วยเหลือผู้อื่น และในมุมเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพอย่างเรา งานด้านนี้เป็นงานที่ยิ่งทำ-ยิ่งรัก เพราะแม้จะตึงเครียดบ้างแต่ก็ได้พบเรื่องราวที่อิ่มเอมใจอยู่เสมอ
เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ชายยังไงบ้าง?
เจ้าหน้าที่หญิงและชายมีอำนาจหน้าที่เท่าเทียมและหมุนเวียนตำแหน่งกัน แต่สไตล์การทำงานขึ้นอยู่กับบุคคลเลย เช่น เกิดพายุฝนและโคลนถล่มขึ้น เราจะยังออกไปสังเกตการณ์ไหม สิทธิ์ขาดในการตัดสินใจเป็นของหัวหน้าทีมในวันนั้น แต่สไตล์การทำงานของเราจะเป็นแบบถามลูกทีมก่อนเสมอ ดังนั้นเวลาเราเป็นหัวหน้าชุดลาดตระเวน (Patrol Leader) และเกิดอะไรขึ้น ทุกคนในทีมก็จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
หลายเดือนของการปฏิบัติหน้าที่ เราได้เห็นการทำงานแบบที่เจ้าหน้าที่หญิงและชายมีอำนาจหน้าที่เท่าเทียมกัน และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ข้อดีของสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งแบบเราที่เน้นการประนีประนอม หรือแบบทางการทหารที่หัวหน้ามีสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจไปเลย
เรายังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคนหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมาจากต่างบริบทกัน ย่อมต้องมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่เพราะเราทุกคนมาที่นี่ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือเราอยากให้พื้นที่นี้สงบสุข สุดท้ายงานจึงผ่านไปได้ด้วยดีเพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
บทเรียนล้ำค่าจากประสบการณ์ที่แคชเมียร์
อยากจะบอกทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ทุกสถานการณ์ในชีวิตสร้างการเรียนรู้และเติบโต อย่างการมาปฏิบัติภารกิจที่แคชเมียร์ครั้งนี้ หลาย ๆ เหตุการณ์สอนให้เราสู้เพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่น รวมถึงสอนให้เราบ่มเพาะคุณค่าในตัวเอง ทุกครั้งที่เราเห็นตัวเองในแววตาของคนที่นี่ ทำให้ตระหนักว่าเขามองเรามีคุณค่าแค่ไหนแม้เราจะเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่เมืองไทยก็ตาม ทุกวันที่ออกลาดตระเวน เราไม่เคยสงสัยเลยว่ามันคุ้มไหมที่เลือกละความสะดวกสะบายที่เมืองไทยมาทำภารกิจที่นี่ เพราะมันคุ้มค่ามาก
แค่เราใส่หมวกสีฟ้าออกไป ปรากฏตัวให้คนท้องถิ่นเห็น ให้เขารู้ว่าเราอยู่ที่นี่นะ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะทิ้งคุณ การที่ชาวบ้านแถวชายแดนเดินมาจับมือแล้วบอกเราว่าขอบคุณที่ยังอยู่ที่นี่ ขอบคุณมาก เขากลัวมาก เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เหตุการณ์มีความรุนแรงขึ้น ชีวิตของเขาและครอบครัวจนถึงทั้งชุมชนจะยากลำบากมาก
ในอีกไม่กี่เดือน การปฏิบัติหน้าที่ของเราจะจบลงแล้ว แต่สิ่งต่าง ๆ จะยังอยู่ในความทรงจำเสมอ ถ้ามีโอกาส อยากให้ลองดู มาเป็นครอบครัว UN Peacekeepers ด้วยกัน ไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นใคร เรียนจบด้านไหน มีความสามารถอะไร ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช / เรียบเรียง นฤปนาท เหรัญญะ, รมย์รวินท์ พันธรักษ์, รัชชานนท์ ครื้นจิตต์, ลภิศรา ไกรวีระเดชาชัย / ภาพ ภูเบศ สง่ารักษ์
TAG: #UNPeaceKeeper #WomanInPeaceKeeping #PKDay #ServingForPeace #Goal16