เมื่อเดือนมกราคม ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่ยืนยันการพบผู้ป่วยโควิด-19 และนับแต่นั้นมาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเผชิญวิกฤตและการฟื้นตัวในระดับสูง ที่สะท้อนออกมาผ่านการทำงานของรัฐบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน และตั้งแต่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่ไม่มีรายงานการแพร่เชื้อระหว่างประชากรในประเทศ
ด้วยภาพรวมของการตั้งรับและความสามารถในการควบคุมการติดเชื้อของประเทศไทย องค์การอนามัยโลกได้ยกให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการรับมือกับการระบาดใหญ่ เคียงคู่กับประเทศนิวซีแลนด์ แน่นอนว่าความสำเร็จนี้มีพื้นฐานมาจากการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง การใช้มาตรการแบบทั่วทั้งสังคม และการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดระลอกสองเมื่อมีการเปิดพรมแดน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 8.1 ในปี 2563 ผลสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้เผยว่า ร้อยละ 65 ของประชาชนในประเทศไทยมีรายได้แทบจะไม่พอหรือไม่พอเลยเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสภาวะการระบาดใหญ่ ประชาชนจำนวนเท่ากันระบุว่าได้รับผลกระทบทางการเงิน
ซึ่งดิฉัน (กีต้า ซับบระวาล) ในฐานะผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เพิ่งเริ่มทำงานในประเทศไทยได้เพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการล็อกดาวน์ ดังนั้นมุมมองของดิฉันที่มีต่อประเทศไทยก็จะเน้นหนักไปที่สถานการณ์โควิด-19 เพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนสัมผัสได้ถึงผลกระทบในหลายมิติ และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติจำนวนมากในประเทศไทยก็ไม่ได้พบหน้าครอบครัวมาหลายเดือนเพราะข้อจำกัดในการเดินทาง
ดิฉันได้วางแผนที่จะไปพบครอบครัวตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็ต้องเลื่อนออกไป และหวังว่าจะได้พบกับสามีในเดือนหน้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด ในขณะเดียวกันเราต่างก็ตระหนักดีว่าวิกฤตครั้งนี้กำลังกระหน่ำซ้ำเติมชุมชนที่เปราะบาง และนั้นทำให้การช่วยเหลือและการทำงานของเราและพันธมิตรสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ในฐานะผู้ประสานงานประจำประเทศ หน้าที่หลักของดิฉันคือการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศ เพื่อพัฒนากลยุทธ์การรับมือของสหประชาชาติต่อการระบาดใหญ่ให้ครบวงจร มีความทันสมัย มองการณ์ไกล และสามารถเป็นเครื่องชี้แนะทางความคิด เพื่อช่วยรักษาให้ผลลัพธ์ที่เกิดจากการพัฒนาต่าง ๆ คงอยู่อย่างยั่งยืน และเพื่อให้เราสามารถสร้างใหม่ได้ดีกว่าเดิม
ผลกระทบของวิกฤตนี้และความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกำลังปรากฏมากขึ้น และเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเกษตรและครัวเรือนในภาคเกษตร และผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว ก็เป็นสิ่งที่เราเพิ่งจะมาเข้าใจตอนนี้นี่เอง
ด้านนายอันโตนิอู กูแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กำหนดแนวทางให้กับการดำเนินงานของสหประชาชาติในถ้อยแถลงที่ว่า “รับผิดชอบร่วมกันเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลก” และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของแผนการรับมือแบบทั่วทั้งสังคมและองค์กรรัฐบาล การที่รัฐบาลไทยได้สมทบทุนในกองทุนโควิด-19 ของสหประชาชาติคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการรับผิดชอบร่วมกัน และในทำนองเดียวกันอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวน 1 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นผู้หญิง ที่มีบทบาทสำคัญในการสืบหาผู้สัมผัสก็แสดงให้เห็นถึงแนวทางแบบทั่วทั้งสังคม
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศนั้นมีความครอบคลุม รวดเร็ว และจัดลำดับมาเป็นอย่างดี เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจล่าสุดกล่าวว่าได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล นอกจากนี้การประเมินด้วยแบบจำลองก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายภาครัฐคือวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรองรับการเติบโตและการจ้างงาน
ในขณะเดียวกันการแจกเงินสดและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำก็เป็นมาตรการที่ดีที่สุดรองลงมา สหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ จะติดตามผลกระทบของมาตรการกระตุ้นทางการเงินเหล่านี้ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่น ผลการศึกษาที่ได้จะช่วยเป็นแนวทางให้กับรัฐบาล
รัฐบาลจะต้องจับตาดูผลกระทบในระดับครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 และ 4 อย่างใกล้ชิด ปรับเปลี่ยนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในแง่ของความเปราะบาง การประเมินผลกระทบชี้ให้เห็นว่าความเสียหายจะเกิดกับเยาวชนมากที่สุดเนื่องจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น เยาวชนเกือบครึ่งล้านคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในยามที่งานหายาก หากมองในแง่เพศสภาพ จริงอยู่ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็ได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบนั้นต่างกัน ซึ่งทำให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ช้าขึ้น
กลยุทธ์ของสหประชาชาติประจำประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในการสร้างหุ้นส่วนด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ประเทศสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม ในขณะที่ยังคงสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง แผนดังกล่าวเป็นการผสมผสานการรับมือด้านสุขภาพโดยตรง ตามหลักของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เข้ากับการลงทุนในนโยบายที่มองการณ์ไกลเพื่อรักษางาน พยุงเศรษฐกิจ และเสริมสร้างต้นทุนทางสังคม
การรับมือด้านสุขภาพอย่างทันทีของเราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนรัฐบาลในการเสริมสร้างความสามารถของห้องปฏิบัติการและการเฝ้าระวัง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนในการวิจัยวัคซีน และนำร่องบริการสุขภาพในยุค “ความปรกติใหม่” ผ่านการแพทย์ทางไกล และช่วยให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจะสามารถเข้าถึงชุด PPE และบริการด้านสุขภาพได้
เพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สหประชาชาติได้จัดลำดับความสำคัญของมาตรการคุ้มครองทางสังคม รวมถึงผลักดันให้เพิ่มเบี้ยช่วยเหลือผู้สูงอายุ เด็ก และผู้พิการ เราได้หารือกับรัฐบาลไทยเพื่อให้มีการติดตามความรุนแรงบนฐานเพศสภาพและความรุนแรงต่อเด็กอย่างเป็นปัจจุบัน พร้อมพัฒนาระบบการป้องกันและการรับมือให้ดีขึ้น สหประชาชาติยังจัดทำแผนที่โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทราบถึงพื้นที่และชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และสนับสนุนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับโรงเรียน
เพื่อสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม สหประชาชาติได้ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อยกระดับรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับตลาดเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้เครือข่ายการจัดการอาหารชุมชน รวมถึงการทำงานกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียว และกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ทางสหประชาชาติสนับสนุนการหารือกับเยาวชนทั่วประเทศเกี่ยวกับนวัตกรรมที่สร้างงานให้คนชายขอบเพื่อรับมือต่อวิกฤติ หลักฐานทั้งหมดชี้ว่าการระบาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ตราบใดที่มีเรามีการจัดลำดับความสำคัญ และมีการขยายการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีกลยุทธ์ การฟื้นตัวที่ยืดหยุ่นต้องอาศัยการสนับสนุนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง วิสัยทัศน์ และนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม เพื่อปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่นและนำไปสู่การฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของประชาชนในประเทศไทยได้ร่วมบริจาคเงินสด อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงการระบาดใหญ่ การบริจาคส่วนใหญ่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 บาท (ประมาณ 160 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับดิฉัน นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงต้นทุนทางสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นเหมือนกาวที่ยึดโยงสังคมเข้าด้วยกันในหลาย ๆ ด้าน ดิฉันยังได้ยินมาอีกว่าในภูมิภาคที่ค่อนข้างห่างไกล เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระดับการบริจาคนั้นสูงกว่านี้อีก
เราได้ประจักษ์แล้ว ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ว่าโมงยามแห่งวิกฤตการณ์นั้นสามารถเผยให้เห็นด้านที่งดงามที่สุดของผู้คนได้ โควิด-19 คือความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม สหประชาชาติประจำประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากการระบาดใหญ่ และเพื่อสร้างสังคมที่มีความเที่ยงธรรม เป็นธรรม และยืดหยุ่น
เผยแพร่ครั้งแรกที่ Workpoint Today