ยูเอ็นครบรอบ 75 ปี จับมือคนรุ่นใหม่หนุนธุรกิจเพื่อสังคม มุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สหประชาชาติชี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่คือบ่อเกิดของนวัตกรรมและพลวัตทางเศรษฐกิจ เดินหน้าร่วมมือเร่งผลักดันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สหประชาชาติชี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่คือบ่อเกิดของนวัตกรรมและพลวัตทางเศรษฐกิจ เดินหน้าร่วมมือเร่งผลักดันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“กีต้า ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และ “ดร.อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา” รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) กล่าวถึงความสำคัญของการที่ยูเอ็นต้องทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาว เพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาของประเทศไทยและของโลก เนื่องในวันครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ในปีนี้ องค์การสหประชาชาติจะมีอายุครบ 75 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสามารถสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่อายุของสหประชาชาตินั้นเกือบจะเทียบเท่ากับอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นของประชากรโลก แต่อนาคตของทุกคนย่อมอยู่ในมือของผู้ที่เพิ่งมาใหม่และนั่นก็คือเยาวชนคนหนุ่มสาวของพวกเรา
ในขณะที่คนหนุ่มสาวกำลังถางทางสายใหม่ด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของยุคสมัย เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี และความเหลื่อมล้ำ แรงสนับสนุนที่เรามอบให้พวกเขาจะเป็นอีกกำลังหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุความยั่งยืน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่คือบ่อเกิดของนวัตกรรมและพลวัตทางเศรษฐกิจ
“ธุรกิจของพวกเขาสร้างงานและหนทางในการหาเลี้ยงชีพให้กับคนนับล้านและเพื่อที่จะบรรลุและขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเสียงของคนรุ่นใหม่ในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาต่อความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่จำเป็นถูกกระตุ้นเตือน เพราะการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้เกิดขึ้นแล้วในเอเชียและแปซิฟิกเพื่อรับมือต่อปัญหาเร่งด่วนต่างๆ รวมถึงโควิด 19”
หัวหอกของผู้ประกอบการเพื่อสังคมคือประชากรหนุ่มสาวในภูมิภาคที่เปี่ยมไปด้วยสำนึกอันแรงกล้าต่อความยุติธรรมทางสังคม พวกเขากำลังนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่อิงกลไกตลาดอย่างมีนวัตกรรม ซึ่งแตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมที่เน้นเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่นี่ในประเทศไทย
โครงการ COVID Relief Bangkokได้นำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประชากรมาใช้เพื่อระบุชุมชนที่เปราะบาง ประสานการช่วยเหลือ รวมถึงการบริจาค การสนับสนุนทางจิตสังคม และชุดสิ่งของช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ แต่เราต้องทำมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่สามารถบรรลุศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมของพวกเขาได้อย่างแท้จริง
ประการที่ 1 เราต้องแน่ใจว่าผู้นำทางธุรกิจรุ่นใหม่นั้นคำนึงถึงจุดประสงค์ทางสังคมควบคู่ไปกับผลกำไร การศึกษาคือหัวใจสำคัญการบรรลุเป้าหมายนี้ และรัฐบาลก็ต้องสวมบทบาทหลัก ดังเช่นการจัดตั้งศูนย์ผู้ประกอบการของรัฐบาลปากีสถาน ซึ่งมีภารกิจเพื่อสนับสนุนนักศึกษาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการหาวิธีแก้ปัญหาทางธุรกิจ ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประการที่ 2 เราต้องขยายผลการใช้แนวทางแก้ปัญหาทางการเงินที่มีนวัตกรรม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นรัฐบาลนำเอาการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกมาเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการจัดหาเงินทุนที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ รัฐบาลไทยได้ผ่านพระราชกฤษฎีกาการยกเว้นรัษฎากรเพื่อมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมและผู้ลงทุนในกิจการเพื่อสังคม
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแค็ป) และกองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) ซึ่งเป็นหุ้นส่วน ยังให้การสนับสนุนองค์กรต่างๆ เช่น iFarmer ในประเทศบังกลาเทศ
ความพยายามร่วมของพันธมิตรทั้ง 2 นี้ได้ช่วยให้ iFarmerสามารถสร้างแอปพลิเคชันดิจิทัลเพื่อวางระบบการจัดสรรผลกำไรระหว่างนักลงทุนในเมือง และสตรีผู้ประกอบการทางเกษตรกรรมในชนบทในการซื้อและการจัดการปศุสัตว์
หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดการปศุสัตว์ (การเลี้ยงและการจำหน่ายโคกระบือ) นักลงทุนและผู้ประกอบการสตรีจะแบ่งปันผลกำไร ในขณะที่ iFarmerจะได้รับส่วนแบ่งในรูปของค่าธรรมเนียมการจัดการการปิดเมืองระหว่างการระบาดของโควิด 19 ในบังกลาเทศ ทำให้ iFarmerจำต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้รูปแบบธุรกิจของพวกเขาอยู่รอด ในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์ iFarmerสามารถปรับรูปแบบธุรกิจและเปิดการเจรจาเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับการขายผัก ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาหลายเดือน
ประการที่ 3 ในขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4ผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีอนาคตที่สดใสรออยู่ แม้ว่าเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
จะนำมาซึ่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับงานและอนาคตของการทำงาน
แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีศักยภาพในการกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการจำนวนมากและวิธีการทำธุรกิจใหม่ๆ เอสแค็ปกำลังสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพประเภทเทคโนโลยีการเงิน หรือFinTech เช่น Aeloi Technologiesเพื่อให้พัฒนาการเงินดิจิทัลและแนวทางแก้ปัญหาสีเขียวสำหรับผู้ประกอบการสตรี
เป้าหมายของ Aeloiคือการระดมทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้ประกอบการสตรีรายย่อย เพื่อให้แหล่งทุนมีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบและเข้าถึงได้โดยใช้โทเคนดิจิทัล (digital token) และเพื่อสร้างการเชื่อมโยงแบบดิจิทัลระหว่างผู้ให้ทุนและผู้ขายคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะกับกลุ่มรถมินิบัสไฟฟ้าในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
ระบบของพวกเขาช่วยให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนทุกๆ 1ดอลลาร์จะถูกนำไปใช้สร้างระบบขนส่งที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
ผ่านการให้ข้อมูลการติดตามสภาพอากาศและผลกระทบทางสังคมตามเวลาจริง
“อย่างที่เราทราบกันดีว่าผู้ประกอบการสตรีต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าผู้ประกอบการชายอย่างมากในการเริ่มต้นและขยายธุรกิจของพวกเขา ผู้ประกอบการสตรีทั่วทั้งภูมิภาคมักต้องเผชิญกับกรอบกฎหมายที่ปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำกัด การขาดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถ และบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เลือกปฏิบัติ”
“เราต้องการแนวทางแก้ปัญหาที่เน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาเครื่องมือและสร้างระบบนิเวศที่จำเป็นในการเอื้อให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ด้วยประเด็นเหล่านี้ เอสแค็ปจึงได้เปิดตัวโครงการ “Catalyzing Women’s
Entreprenurship” จนถึงปัจจุบันโครงการได้ช่วยให้ผู้ประกอบการสตรีมากกว่า 1,000ราย ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรม การเข้าถึงแหล่งทุน การจ้างงาน และโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ”
วันครบรอบ 75 ปีของสหประชาชาติ ประจวบเหมาะกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทศวรรษใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการฟื้นตัวจากวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ณ วินาทีนี้ เราต่างเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการแก้ปัญหาอย่างมีนวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเยาวชน คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ งานฉลองครบรอบของครอบครัวสหประชาชาติในเอเชียและแปซิฟิกที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นการรวบรวมนวัตกรเพื่อสังคมและผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากทั่วภูมิภาค ผู้สร้างผลกระทบเชิงบวกด้วยแนวคิด แพลตฟอร์ม และธุรกิจของพวกเขา นวัตกรเหล่านี้จะได้หารือร่วมกันว่าจะสามารถขยายผลการใช้เทคโนโลยีและแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีนวัตกรรมในปัจจุบันได้อย่างไร เพื่อให้เราสามารถสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม นำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เราพร้อมที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่เหล่านี้และแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมของพวกเขา ในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเปิดกว้าง การเสริมพลังทางเศรษฐกิจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง และก้าวไปสู่การลดคาร์บอนและจัดการมลพิษทางอากาศ พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญผู้ชูคบเพลิงเพื่อมุ่งสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030”
โดย ดร. อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) และ กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ ผู้จัดการ ออนไลน์