ไทยเตรียมสถานพยาบาลให้พร้อมรับโควิด 19 หากมีการระบาดในอนาคต
ประเทศไทยได้เปิดตัวแผนเตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อให้ภาคบริการสุขภาพทั้งหมดเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้นได้
ประเทศไทยได้เปิดตัวแผนเตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อให้ภาคบริการสุขภาพทั้งหมดเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ ตลอดจนเตรียมรับภาวะฉุกเฉินจากโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
แผนประคองกิจการ (business continuity plan หรือ BCP) และคู่มือฝึกอบรมได้ถูกพัฒนาโดยมูลนิธิกรมการแพทย์ร่วมกับกรมการแพทย์เพื่อเป็นแนวทางให้สถานพยาบาลได้พัฒนาและทดสอบแผนประคองกิจการของตนเอง โครงการนำร่องภายใต้แผนนี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงในโรงพยาบาลสามแห่งและจะมีการขยายผลไปสถานพยาบาลอีก 31 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์และในระดับภูมิภาคและจังหวัดทั่วประเทศในเร็วๆ นี้
เมื่อไม่นานนี้ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะเพื่อพิจารณาว่า แผนประคองกิจการจะมีประสิทธิภาพหรือไม่หากต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด 19 ในอนาคตในประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักของการฝึกนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยงานทางการแพทย์ในสังกัดกรมการแพทย์ และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ฝึกการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาล ทรัพยากรบุคคล สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภาวะวิกฤต การจำลองสถานการณ์นี้เป็นการยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่จำเป็นได้ระหว่างที่เกิดการระบาดและเพื่อให้แน่ใจว่าทุกระดับได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมและมีความพร้อมด้านทรัพยากร
นายแพทย์สมศักดิ์ อัครศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า “หากเรามีการระบาดระลอกสองของโควิดในประเทศไทย เราหวังว่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดต้องไม่สะดุด เราต้องพิจารณาใช้โครงการต่างๆ เช่น การแพทย์ทางไกล เพื่อให้มีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย เมื่อมีแผนประคองกิจการนี้ เรามีโอกาสที่จะพัฒนาบริการทางการแพทย์ของเราภายใต้แนวคิด ‘การแพทย์วิถีใหม่’ นี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะเตรียมตัว เหมือนที่ผมกล่าวเสมอว่า เราต้องก้าวนำอยู่ข้างหน้า”
แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และผู้บริหารจากกรมการแพทย์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี และโรงพยาบาลราชวิถีได้รับเชิญให้มาร่วมฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับโจทย์สถานการณ์จำลองซึ่งซับซ้อนและต้องตอบโจทย์ว่าจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร ผู้ร่วมอบรมได้แสดงให้เห็นว่าจะบริหารจัดการผู้ป่วย เตียงผู้ป่วย การผ่าตัด โลจิสติกส์ การเงิน ระบบส่งต่อและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างไรในภาวะวิกฤต ตัวอย่างเช่น ผู้ร่วมอบรมใช้บัตรภาพหรือบัตรคำแสดงถึงบทบาทต่างๆ ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและทรัพยากรที่มีอยู่ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ จำนวนเตียงว่าง จำนวนชุดตรวจ และรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อจำลองสถานการณ์ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้กล่าวต่อผู้ร่วมอบรมว่า “การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะนี้เป็นการฝึกปฏิบัติที่สำคัญเพื่อเผชิญเหตุการณ์ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง”
คณ Anita Sharma, นายแพทย์ Daniel A. Kertesz, นายแพทย์ Richard Brown, ดอกเตอร์ Mark Simmerman และ คุณเพียงใจ บุญสุข เอื้อเฟื้อข้อมูล
แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดย คุณ สุวิมล สงวนสัตย์
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย