ความหวังของมนุษยชาติ
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลกกำลังพยายามปราบปรามโรคโควิด 19 ให้อยู่หมัด บทบาทหน้าที่ของทุกคนในฐานะที่เป็นประชาชนทั่วไปนั้นง่ายและชัดเจนมาก คือ การไปฉีดวัคซีน
เรื่อง: มี่มี๊ กระจ่างเนตร์
แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ: สุวิมล สงวนสัตย์
ในปี ค.ศ. 1918 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่เรียกกันว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ได้คร่าชีวิตคนราว 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งนับเป็น 2.7% ของประชากรทั้งหมดในขณะนั้น ไข้หวัดใหญ่สเปนต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นตรงที่ผู้ติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มวัย 20-40 ปี และมีอาการรุนแรงคือปอดติดเชื้อซึ่งทำให้น้ำท่วมปอดและผู้ป่วยหายใจลำบากในที่สุด
หนึ่งศตวรรษต่อมา โลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดใหญ่อีกครั้ง นั่นก็คือโรคโควิด 19 แต่ครั้งนี้ต่างกันตรงที่นักวิทยาศาสตร์กำลังรับมือกับจำนวนประชากรโลกถึง 7.5 พันล้านและไม่ใช่ต่อสู้กับโรคร้ายเพียงอย่างเดียว ในยุคที่มีการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลายที่ไม่ได้รับการตรวจสอบในช่องทางออนไลน์นี้ เรากำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของข้อมูลด้วย
หลังจากมีการพบโรคโควิด 19 เมื่อต้นปีค.ศ. 2020 โรคนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับล้าน ทั้งตัวเลขผู้ป่วยยืนยันและตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีความหวังว่าวัคซีนจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การระบาดได้ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 20 เมษายน ได้มีการฉีดวัคซีนกว่า 712,610 โดสในประเทศไทย ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 70 ล้านคน ประเทศไทยยังคงมีหนทางอีกยาวไกลกว่าจะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากร 50-70% แต่โดยความช่วยเหลือของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร ทางเจ้าหน้าที่ให้ความเชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้
พระราชพิพัฒน์โกศล เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อยเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นในปีพ.ศ. 2539 ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทั่วไป อีกทั้งมีพันธกิจที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดีโดยมีบุคลากรทางการแพทย์และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ นายเติม และนางจ่าง พรมจีนจึงได้บริจาคที่ดินส่วนตัวเป็นพื้นที่ 7 ไร่ในเขตบางแคเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับการแพร่ระบาดโดยการให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการฉีดวัคซีน เมื่อมีการพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่เขตบางแคในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ทางโรงพยาบาลได้ทำการตรวจหาเชื้อไปทั้งสิ้น 3,500 รายในหนึ่งสัปดาห์ และถือว่าโชคดีที่พบผู้ติดเชื้อเพียง 5-6 รายเท่านั้น นอกอาคารของโรงพยาบาล แรงงานต่างด้าวจำนวนมากมาเข้าแถวรอรับการตรวจที่หน่วยบริการเคลื่อนที่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมด้วยการสวมชุดป้องกันตนเองเต็มรูปแบบ “เราตรวจสุขภาพให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร” นางสาวพนิดา บุญนาโชติ พยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์กล่าว “เราตรวจโควิดให้แรงงานต่างด้าวตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราจะได้ทำงานเชิงรุกเพื่อกำจัดปัญหาตั้งแต่ต้นตอ”
การให้บริการฉีดวัคซีน
ในอาคารหลักของโรงพยาบาลมีการกำหนดให้บริเวณหนึ่งเป็นจุดให้บริการ ชายรูปร่างบอบบางคนหนึ่งสวมหน้ากากอนามัยและยืนอยู่ใกล้ชายอีกคนหนึ่งซึ่งสะพายกระเป๋ารูปตุ๊กตาบาร์บี้สีชมพู ทั้งสองคนอาจไม่รู้ตัวว่า การมารับวัคซีนเป็นการแสดงออกเชิงสังคมที่ชัดเจน “ผมไม่กลัวเลย” ชายคนหนึ่งกล่าวพลางยิ้มอย่างสบายใจ “ผมอยากมาฉีดวัคซีนเพื่อให้ทุกคนสบายใจ”
ผู้คนทยอยกันเข้ามาที่โรงพยาบาลเพื่อรับวัคซีนโควิดเข็มแรกหรือเข็มที่สอง คนเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค ขั้นตอนนั้นเรียบง่าย ใครที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตนี้ มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลและเข้าเกณฑ์เสี่ยงสูงจะมีสิทธิได้รับวัคซีนและรายชื่อจะปรากฏใน “ไวท์ลิสต์” ผู้รับวัคซีนต้องกรอกแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงและต้องผ่านเกณฑ์ทางสุขภาพของโรงพยาบาลก่อนที่เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ฉีดวัคซีนได้
สำหรับนางเฉลา อมาตยกุล วัย 86 ปี ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่นแม้จะมาเพียงคนเดียว “ทุกอย่างเรียบร้อยดีมาก” เฉลาเล่าว่า ได้ขึ้นแท็กซี่มาคนเดียวเพื่อตรวจร่างกายตามนัด ก่อนที่จะตัดสินใจว่าเมื่อมาแล้วก็น่าจะฉีดวัคซีนเสียเลย “ก็เดินเข้ามา ตรวจร่างกายและได้ฉีดวัคซีน มันง่ายมากเลยค่ะ”
สำหรับคนที่อาจจะไม่มั่นใจนัก เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็เต็มใจและพร้อมจะให้การช่วยเหลือในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาหรือช่วยโหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยดำเนินการขั้นตอนต่างๆให้รวดเร็วขึ้น
แอปพลิเคชันหมอพร้อม
ในยุคที่ทุกสิ่งมาในรูปแบบดิจิทัล ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด การนำแอปพลิเคชันหมอพร้อมมาใช้เพื่อสนับสนุนการให้วัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย จะช่วยให้มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบระเบียบมากขึ้นและช่วยลดเวลาในการกรอกเอกสาร อีกทั้งทำให้การบริหารจัดการและการให้บริการวัคซีนรวดเร็วขึ้น
“ผมหวังว่าทุกคนจะได้ใช้เวลาศึกษาแอปพลิเคชันนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน” นพ. ภูริทัต แสงทองพานิชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์กล่าว
“ก่อนหน้านี้เราต้องบันทึกข้อมูลผู้ป่วยด้วยการคีย์ข้อมูลหรือเขียนด้วยมือ แต่เมื่อมีหมอพร้อม ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น ทุกอย่างถูกเก็บไว้โดยอัตโนมัติในแอปพลิเคชันนี้ วันที่รับวัคซีน ชื่อวัคซีน เลขลำดับวัคซีน เลขล็อตวัคซีน และข้อมูลที่ระบุว่าเป็นเข็มแรกหรือเข็มที่สอง แอปพลิเคชันยังมีการแจ้งเตือนให้ผู้รับวัคซีนบันทึกเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนด้วย ซึ่งทุกอย่างถือว่าสะดวกมาก”
เมื่อมีความจำเป็นต้องให้วัคซีนแก่ประชากรโลกถึง 70% ใน 75,000 ล้านคน ภารกิจครั้งนี้เป็นการแข่งขันกับเวลาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราไม่เคยมีโครงการให้วัคซีนในระดับโลกที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน (ซึ่งขณะนี้ได้ฉีดไปแล้วราว 843 ล้านโดส, ข้อมูลจาก WHO Coronavirus (COVID-19) Dashboard เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564) แต่หากเราไม่เร่งรัดการฉีดวัคซีนในขณะนี้ จะกลายเป็นการเปิดช่องว่างให้มีการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลก เรายังคงหยุดยั้งโรคระบาดนี้ได้ด้วยการทำตามมาตรการทางสาธารณสุขต่อไปจนกว่าประชากรโลกจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ และเมื่อถึงวันนั้น โรคโควิด 19 ก็จะเป็นเพียงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่สเปนและโรคระบาดอื่นๆ
ดังเช่นที่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ได้กล่าวไว้ว่า “เรายังไม่ปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”
คลิก ที่นี่ เพื่อดูภาพเพิ่มเติม
Original article published on WHO Thailand.