ฮีโร่ที่ไม่ได้อยู่ในนิยาย
ประสบการณ์อันยาวนานของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดและภัยภิบัติทางธรรมชาติเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขและนักระบาดวิทยามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
เรื่อง: มี่มี๊ กระจ่างเนตร์
แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ: สุวิมล สงวนสัตย์
เมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยคุกคามทางสุขภาพ นักระบาดวิทยามักเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคโดยทันที บางครั้งเราเรียกนักระบาดวิทยาว่า “นักสอบสวนโรค” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเหล่านี้ประกอบไปด้วย แพทย์ สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พวกเขาได้ผ่านการอบรมพิเศษเพื่อค้นหาต้นตอของการเกิดโรค ระบุกลุ่มเสี่ยงและกำหนดมาตรการควบคุมและยับยั้งการระบาดของโรค นักระบาดวิทยาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด
“สิ่งที่พิเศษของการฝึกอบรมนี้คือการที่เราได้เรียนรู้จากภาคสนาม” นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ ของหลักสูตรอบรมระบาดวิทยาภาคสนามกล่าว “ทักษะเหล่านี้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้จากมหาวิทยาลัย หลักสูตรนี้สอนให้เราแกร่งเหมือนลูกหิน หากจะเปรียบแล้ว ลูกแก้วมีความสวยงามและใช้ประดับ แต่เราจะเอาลูกแก้วไปสู้ในสนามรบคงไม่ได้ เหมือนเดวิดที่พิชิตยักษ์โกไลแอทก็ต้องใช้ลูกหิน” นายแพทย์คำนวณอ้างอิงถึงเรื่องตอนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิ้ลเพื่อให้จินตนาการตามได้
ทีมนักระบาดวิทยาต้องทำงานได้หลากหลาย ตั้งแต่เยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาลและเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาไปจนถึงทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อมต่างๆ ในชุมชนเพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์หาทางออกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ การทำงานต้องมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและสหวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการสอบสวนโรคเป็นงานครอบคลุมหลากหลายมิติและเป็นตัวจักรสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย
หลักสูตรอบรมระบาดวิทยาภาคสนามของประเทศไทยมีรากฐานมาจากงานภายใต้กองระบาดวิทยาในปีพ.ศ. 2513 เมื่อทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ริเริ่มการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์เพื่อการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญของวิธีการนี้และได้ส่งบุคลากรไปอบรมในต่างประเทศในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและทักษะเฉพาะทางยังคงเป็นประเด็นปัญหา จึงได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (USCDC) ให้ริเริ่มหลักสูตรอบรมระบาดวิทยาภาคสนามขึ้นในปีพ.ศ. 2523 หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างศักยภาพของบุคลากรในประเทศก็ได้เริ่มมีการขยายการอบรมให้แก่บุคลากรในภูมิภาคในปีพ.ศ.2532 หลังจากนั้น หลักสูตรนี้จึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกในปีพ.ศ.2544 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีผู้ผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้ 250 คน ซึ่ง 178 คนในนั้นยังคงทำงานด้านป้องกันและควบคุมโรคอยู่ในกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศและในหลายภาคส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“หลักสูตรนี้มีตั้งแต่ระยะสั้นหนึ่งหรือสองสัปดาห์ไปจนถึงสองปี ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ทักษะหลากหลายที่จะสอบสวนโรคตลอดจนวิเคราะห์สถานการณ์ และนำเสนอมาตรการป้องกันแก้ไข” นายแพทย์ปณิธี ธัมมวิจยะ ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม กล่าว “เคยมีคนเปรียบหลักสูตรของเรากับการฝึกทหาร ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงจะจริง เราเน้นเรื่องผลลัพธ์ ดังนั้นเราจึงฝึกกันเข้มข้นมากและเราต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีชีวการแพทย์ วิธีการของเราเน้นเรื่องการป้องกันโรคและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของสหวิชาชีพ เราทำการสอบสวนโดยนำปัจจัยทางสังคมเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้น เราจึงทำงานเหมือนเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง”
จากหลายทศวรรษที่มีหลักสูตรอบรมระบาดวิทยาภาคสนามในประเทศไทย มีบุคลากรทางสาธารณสุขจำนวนมากที่ผ่านการอบรมและพร้อมจะถูกส่งไปลงพื้นที่ทั่วประเทศ เมื่อมีการรายงานผู้ป่วยยืนยันรายแรกในการระบาดระลอกใหม่นี้ในจังหวัดสมุทรสาคร (เดือนธันวาคม พ.ศ.2563) มีการระดมทีมนักระบาดวิทยาเพื่อลงพื้นที่ในทันที่เพื่อวางแผนการ “สู้รบ”กับศึกครั้งใหม่ดังเช่นที่เคยได้รับมือกับโรคระบาดในอดีตมาแล้ว อาทิ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนกและโรคเมอร์ส การประสานงานกันในปฏิบัติการระหว่างทีมระบาดวิทยาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดในระลอกแรกได้และยับยั้งการแพร่กระจายเป็นวงกว้างของการระบาดในระลอกสอง
งานระบาดวิทยาภาคสนามเป็นงานเบื้องหลังที่น้อยคนนักจะกล่าวสรรเสริญ แต่ความภาคภูมิใจของนักระบาดวิทยาคือทุก “สนามรบ” ที่พวกเขาได้ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นงานป้องกันควบคุมโรคที่รวมถึงโครงการให้วัคซีนโรคหัด โรคตับอักเสบชนิดบี และโรคหัดเยอรมัน นอกจากนี้ ยังมีงานด้านเอชไอวี การเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งช่วยเสริมสร้างให้ระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งและเป็นความภาคภูมิใจของชาติ
“เรามีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง” นายแพทย์คำนวณกล่าว “เป็นระบบที่มีการจัดการเป็นระเบียบมาก ซึ่งรวมถึงสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลไปจนถึงโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) ระบบนี้และประสบการณ์ยาวนานของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างเป็นระบบ”
ขณะที่กราฟตัวเลขผู้ป่วยโควิด 19 เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่มีการฉลองความสำเร็จใดใดที่กองระบาดวิทยา เจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงทำงานตามปกติ เนื่องจากเมื่อสถานการณ์อยู่ในภาวะสงบ “ค่ายทหาร” แห่งนี้ก็ต้องจัดทัพเตรียมความพร้อมที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญออกรบในศึกครั้งต่อๆ ไปเพื่อสู้กับ “ยักษ์โกไลแอท”
“หากคุณหมอคำนวณเปรียบนักระบาดวิทยาเป็นลูกหิน ส่วนตัวผมขอมองว่าเราเหมือนน้ำ เพราะนักระบาดวิทยาที่ดีต้องหล่อหลอมตัวเองให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ เหมือนเวลาเราเทน้ำลงใส่ภาชนะอะไร น้ำก็จะปรับเข้ากับภาชนะนั้นๆ นอกจากนี้ น้ำยังมีคุณสมบัติเย็น เราต้องมีความเย็นเมื่อสู้กับเรื่องร้อนๆ อย่างโรคระบาด และเช่นเดียวกับน้ำ เมื่อโรคระบาดหมดไป นักระบาดวิทยาก็จะระเหยหลายเป็นไอและหายลับไปกับตา ไม่ต้องมีการกล่าวขานถึงพวกเรา เพราะเราได้ทำหน้าที่ของเราเสร็จสมบูรณ์แล้ว” นายแพทย์ปณิธีกล่าว
Original article published on WHO Thailand.