โรค NCDs ฆาตกรเงียบที่คุกคามอนาคตประเทศไทย
โรค NCDs คร่าชีวิตคนไทย 4 แสนคนต่อปี และส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจจถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 ของจีดีพี
วันที่ 20 มกราคม 2565 สหประชาชาติ ประเทศไทย เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับ “ฆาตกรเงียบที่คุกคามอนาคตของประเทศไทย” โดยนายแพทย์จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (World Health Organization: WHO Thailand) และนายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นของระลอกที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมาโรคนี้ได้คร่าชีวิตคนไทยไปแล้วกว่า 21,000 คน
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพของไทยรุนแรงขึ้นไปอีกคือ การรับมือกับโรคไม่ติดต่อ หรือ noncommunicable diseases (NCDs) ที่คร่าชีวิตประชาชนกว่า 1,000 คนต่อวัน หรือ 4 แสนคนต่อปี โดย NCDs ประกอบด้วย 4 โรคหลัก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยกว่าครึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจาก NCDs เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี)
ไทยรับมือกับ NCDs ดีพอหรือไม่?
การรับมือกับโรคโควิด-19 ของไทยสะท้อนให้เห็นแล้วว่า การให้ความสำคัญกับภาวะวิกฤตทางสาธารณสุข เช่น การที่รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นหน่วยบัญชาการระดับประเทศโดยผู้บริหารระดับสูง และมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ สามารถรักษาชีวิตประชาชนได้
จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับการจัดการโรค NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 3 ใน 4 คนต่อปี ทั้ง ๆ ที่ NCDs เป็นโรคที่มีมาอยู่ก่อน และคร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่าโควิด-19 แต่ความสนใจต่อโรค NCDs นั้นมีค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ โรค NCDs นั้นสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโลกาภิวัตน์ และลัทธิบริโภคนิยม เช่น แคมเปญการตลาดที่ดุดันของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การไม่มีกิจกรรมทางกาย มลพิษทางอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยเป็นประเทศมีความเสี่ยงของโรค NCDs มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด (คิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเซียใต้และตะวันออก)
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค
อัตราการบริโภคโซเดียม และน้ำตาลของประชากรไทยสูงเป็น 2 เท่า และ 4 เท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วยอันดับต้น ๆ ของคนไทยด้วย รวมถึงเยาวชนไทย 9 ใน 10 คนยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (อย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์) และคนไทยร้อยละ 42 มีภาวะน้ำหนักเกินซึ่งสูงเป็นลำดับ 2 ของประเทศในเอเซีย
ยังมีความเสี่ยงทางพฤติกรรมอีกหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค NCDs เช่น การบริโภคอาหารจานด่วน การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มขึ้น และบริการสร้างเสริมสุขภาพที่ต้องหยุดชะงัก เพราะมาตราการควบคุมการระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรุนแรงของประเทศไทยจะยิ่งเร่งอัตราการเกิด NCDs ให้สูงขึ้นไปอีก โดยภายในปี 2583 ประชากร 1 ใน 4 คนของไทยจะมีอายุมากกว่า 65 ปี (เมื่อเทียบกับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1 ใน 8 คน)
การสูญเสียทางเศรษฐกิจ
การลดภาระที่เกิดจาก NCDs เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชน และอนาคตของประเทศไทย เพราะความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก NCDs นั้นมีมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
นอกจากนั้น ความสูญเสียจาก NCDs ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังคุกคามความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งปัจจุบันงบประมาณกว่าครึ่งหมดไปกับการรักษา NCDs และโรคนี้ยังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากในแต่ละวันประชากรไทยกว่า 74,000 คนไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากเจ็บป่วยจาก NCDs
ที่สำคัญ NCDs ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโควิด-19 เพราะร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทยมีโรคประจำตัวซึ่งส่วนใหญ่คือ NCDs
ความพยายามของไทย
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะจัดการกับปัญหา NCDs โดยดำเนินการหลากหลายมาตรการ เช่น แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 2560-2565 และแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 2561-2573
นอกจากนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังเป็นแกนหลักในการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งดำเนินการโดยงบสนับสนุนจากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้อยละ 2 ตั้งแต่ปี 2544 และไทยยังประกาศบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบและแสดงภาพคำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่ รวมทั้งในปี 2560 รัฐบาลไทยได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม และขณะนี้กำลังพิจารณาการเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมสูงเกินไปเพิ่มเติม
เนื่องจาก NCDs นั้นมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีโซเดียม น้ำตาล และไขมันมากเกินไป และการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการค้าและสังคม
ดังนั้น เพื่อจะให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และจะต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมเข้าถึงง่าย
บูรณาการ รัฐ-ธุรกิจ-ประชาชน
การดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับ NCDs ที่หลากหลายและจริงจังมีความจำเป็นมาก ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด การออกนโยบายที่ส่งเสริมการออกกำลังกาย และบริโภคอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม และการออกมาตรการต่าง ๆ ที่คำนึงถึงสุขภาพประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ
นอกจากนั้น มาตรการทางภาษีและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ควบคุมการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคโซเดียมและน้ำตาลเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นมาก และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรอง และการให้บริการป้องกันและควบคุม NCDs ที่หน่วยบริการสาธารณสุขในชุมชน และในอนาคตข้างหน้า ซึ่งภาคธุรกิจจะมีบทบาทที่สำคัญในการร่วมต่อสู้กับ NCDs และร่วมสร้างวิถีชิวิตที่ดีต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มมากขึ้น
ความเจ็บป่วยที่มีต้นเหตุมาจากปัจจัยทางการค้าและสังคม และรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้นจะยังคงอยู่ต่อไป แต่เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฟินแลนด์หลังจากที่มีการออกนโยบายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การคัดกรองและการรักษา NCDs การเสียชีวิตของประชากรก็ลดลงอย่างชัดเจน
การระบาดของโรคโควิด-19 นั้นแสดงให้เห็นว่า การลดผลกระทบจากปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญนั้นจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากประชาชน การบูรณาการจากทั้งภาครัฐและทุกภาคส่วนในสังคม และความเด็ดเดี่ยวของผู้นำทางการเมือง หากประเทศไทยสามารถจัดการและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ก็จะสามารถจัดการกับ NCDs ได้เช่นกัน
สามารถเข้าถึงรายงานเหตุผลสนับสนุนเพื่อการลงทุนในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ได้ที่ [https://thailand.un.org/en/159788-prevention-and-control-noncommunicable-diseases-thailand-case-investment]
อ่านต้นฉบับจากประชาชาติธุรกิจ