ภาวะโลกร้อน บีบให้ผู้หญิงเผชิญความไม่มั่นคงและความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ㅤ
เมื่อคราวนโยบาย work from home หรือการทำงานจากที่บ้านเพื่อรักษาระยะห่างและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มเป็นที่แพร่หลาย รถบนท้องถนนก็กลายเป็นติดขัดน้อยลงหรือบางถนนก็แทบไม่มีรถวิ่ง ดูผ่านๆ แล้วเหมือนจะดีเพราะนั่นหมายถึงการปล่อยมลพิษบนท้องถนนซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้นก็น้อยลงไปด้วย
แต่รายงานจาก World Meteorological Organization (WMO) หรือองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติด้านอุตุนิยมวิทยา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการจัดการทรัพยากรน้ำ กลับชี้ให้เห็นว่าเมื่อแทบทุกคนอยู่บ้าน อัตราการใช้พลังงานต่อครัวเรือนก็สูงขึ้นตามไป ซึ่งนั่นทำให้ภาวะโลกร้อนที่ดูเหมือนเคยถูกพอสไว้ชั่วคราวกลับเข้าสู่ช่วง back to normal ที่มลพิษเริ่มเด้งเพิ่มสูงขึ้นมาและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้โลกร้อนขึ้นก็ยังคงเดินหน้าไปเหมือนเดิม หรือเผลอๆ อาจจะมากกว่าเดิม ขณะที่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องรับมือและเยียวยาจากสถานการณ์โรคระบาดไปพร้อมกัน
สำหรับผู้หญิงหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในสังคมที่มีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาเกษตรกรรม โควิด-19 พ่วงเข้ากับภาวะโลกร้อนยังบีบให้ผู้หญิงเหล่านี้เผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครอยากเห็นก็คือความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เร่งตัวสูงขึ้นไปด้วย
โควิดไม่ได้หยุดโลกร้อน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังเป็นภัยร้ายแรงสูงสุดต่อโลกและมนุษย์
การศึกษาของ WMO พบว่า แม้ช่วงราวเดือนเมษายน 2020 ที่หลายคนกักตัวอยู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่อาจจะทำให้เกิดการเผาไหม้และการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลในอากาศลดลงถึงร้อยละ 17 แต่เมื่อผู้คนเริ่มออกจากบ้านและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็กลับพบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มกลับมาเกือบเท่ากับระดับของปี 2562 แล้ว
นอกจากนั้น รายงานโดย UN Environment Programme (UNEP) ร่วมกับ UN Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women (UN Women) รวมทั้งรายงานพิเศษว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) COP26 ในปี 2021 ยังพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นถือเป็นปัจจัยร้ายแรงสูงสุดที่มีผลกระทบต่อโลกของเราทั้งใบ หมายความว่าท่ามกลางปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อโลกได้นั้น เราไม่อาจจะหยุดพักการทำงานเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกให้เย็นลงได้เลย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ยากนั้นก็เนื่องจากอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงพึ่งพาพลังงานถ่านหินในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง รายงานช่องว่างการผลิต (Production Gap Report) ปี 2021 จาก UNEP ชี้ว่า รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ 15 ประเทศ ยังคงวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อีกมากกว่า 2 เท่าภายในทศวรรษหน้าหรือปี 2030 ซึ่งสวนทางแผนดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับข้อมูลจาก Global Energy Monitor พบกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินจากทั่วโลกในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 เทราวัตต์ โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะพุ่งสูงสุดในปี 2030
อุณหภูมิโลกที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องประกอบกับการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงขึ้นไม่แพ้กันนั้นไม่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อใคร และอาจจะทำให้ความพยายามลดความเสียหายทางธรรมชาติจากการรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งรัฐภาคีได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้แล้ว อาจจะเป็นจริงได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลกเองก็หันมาให้ความจริงจังกับการบอกลาพลังงานถ่านหิน โดยในการประชุม Assembly of the International Renewable Energy Agency (IRENA) อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดให้ได้ภายในปี 2040 และนั่นเป็นภารกิจที่เราต้องร่วมกันผลักดันเพื่อโลกของพวกเราเอง
ผู้หญิงเสี่ยงความไม่มั่นคงและความรุนแรงอย่างไรในโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน
การศึกษาร่วมกันระหว่าง UNEP, UN Women, UN Development Programme (UNDP), และ UN Department of Political and Peacebuilding Affairs (UNDPPA) ย้ำให้เห็นว่า วิกฤติสภาพอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแค่ประเด็นทางภูมิอากาศเท่านั้น แต่มันยังสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงอีกด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นจากรายงานล่าสุดโดย UN Women ที่ศึกษาเรื่องภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในเนปาลและพบว่า การความผันผวนของสภาพอากาศ ภัยแร้งและน้ำท่วม รวมถึงฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ผู้หญิงในเนปาลไม่สามารถหารายได้ที่มั่นคงจากภาคการเกษตรได้เหมือนเดิม และเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป พวกเธอจึงจำเป็นต้องยอมขายผลิตผลการเกษตรคุณภาพดีที่สำรองไว้ใช้สอยในครัวเรือนออกไปในราคาสูง เพื่อที่จะได้นำเงินนั้นไปซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคในราคาถูกและมีคุณภาพต่ำตามลงไป ในเงื่อนไขว่าคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยก็อาจจะต่ำลงด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อพยายามรักษาอัตราการผลิตทางการเกษตรให้คงที่ให้มากที่สุด เกษตรกรหลายรายจำเป็นต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อกระตุ้นการผลิต ซึ่งนั่นไม่เพียงทำให้หลายครัวเรือนติดอยู่ในกำดักหนี้มหาศาลเท่านั้น แต่การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงของผู้หญิง โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่สารเคมีนั้นอาจทำลายลูกน้อยได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเนปาลเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่เราอาจคาดไม่ถึง ในหลายพื้นที่นั้นภาวะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นยังอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย การผลัดถิ่น รวมไปถึงความมั่นคงทางอาหารได้อีกด้วย
Equality Today for a Sustainable Tomorrow ความยั่งยืนเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้
เมื่อผลกระทบปรากฏชัด ไม่ใช่เพียงการหาทางออกและการวางแผนเตรียมรับมือที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการลงมือสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนให้แก่ทุกคนในวันต่อๆ ไป
ด้วยความแตกต่างทางกายภาพ สังคม ค่านิยมทางวัฒนธรรม โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีที่ไม่เสมอภาค รวมถึงการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจทางนโยบาย ทำให้ผู้หญิงในหลายพื้นที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้นไปอีก
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล UN Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) จึงร่วมกับ UN Women จัดงาน Asia-Pacific Regional Commemoration of International Women’s Day 2022 (#IWD2022) ภายใต้แนวคิด Equality Today for a Sustainable Tomorrow เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีผู้หญิงร่วมเป็นส่วนกลางในการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อร่วมถกทางออกและปฏิบัติการรับมือกับภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนั้นยังถือเป็นเวทีเพื่อระดมความเห็นเพื่อการทำงานจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเพื่อร่วมงานแบบออนไลน์ได้ที่นี้
The views and/or opinions expressed in the article above are those of the contributing authors and do not reflect in any way the views and/or opinions of the United Nations in Thailand. The use and posting of the article does not provide any legal and/or other endorsement to the contributing organizations vis à vis the United Nations in Thailand.