'โตมายังไง?' 4 ประเทศกับนโยบายที่ดี
ㅤ
รีวิวเบ้าหลอมทางสังคมจาก 4 ประเทศที่พัฒนาได้เพราะมีนโยบายดี
เยาวชนคืออนาคตของชาติ แต่ปัจจุบันยังมีเยาวชนไทยที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาถึง 1.1 ล้านคน มีเยาวชนเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยวันละ 2 คน และยังมีเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางมากถึง 7.3 ล้านคน
อัตราเด็กแรกเกิดช่วงปีที่ผ่านมาลดลงมากจนแตะจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคนรุ่นใหม่น้อย และคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งอาจเอาตัวรอดได้ยากขึ้น เพราะโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถ่างกว้างขึ้นทุกวัน
แต่เชื่อไหมว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ด้วยนโยบายที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง…
ถ้าน้องเอสเกิดในประเทศเอสโตเนีย – ระบบ e-government ของรัฐบาลจะคำนวณให้เลยว่าเมื่อน้องเอสถึงวัยต้องเข้าโรงเรียน โรงเรียนไหนจะใกล้บ้านที่สุด และระบบจะให้กำหนดให้เข้าเรียนที่โรงเรียนนั้นแบบอัตโนมัติ สถานศึกษาที่ประเทศเอสโตเนียทุกแห่งให้ความสำคัญตั้งแต่ในวัยอนุบาล สิ่งที่เด็กเอสโตเนียทุกคนจะได้ฝึกฝนตั้งแต่เล็กเลยก็คือ การเข้าสังคม ความกล้าหาญในการแสดงออก และความมั่นใจในการยกมือถามเมื่อเกิดความสงสัย โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่มีครูเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย
ถ้าน้องไลอ้อนเกิดในประเทศสิงคโปร์ – จะได้อยู่ในครอบครัวที่มีเวลาสำหรับสร้างเสริมพัฒนาการอย่างเต็มที่ เพราะนอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ดีแล้ว หน่วยงาน Innovation Lab ที่ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐยังได้สร้างแอปพลิเคชั่น Moments of Life ขึ้นมาเอาไว้อำนวยความสะดวกผู้ปกครอง ทำได้ตั้งแต่การแจ้งเกิด ดูสิทธิพิเศษที่จะได้รับจากรัฐบาล ค้นหาศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือแม้กระทั่งเอาไว้เช็คว่าลูกๆ ได้รับวัคซีนครบแล้วหรือยัง แอปพลิเคชันนี้จะช่วยลดความเครียดของพ่อแม่ที่มักเกิดมาจากความวุ่นวายในชีวิตที่ต้องจัดการกับเอกสารหลายอย่าง Innovation Lab ยังได้ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 15 แห่งให้มาอยู่ในแอปฯ เพื่อคอยบริการแบบที่เดียวครบ ที่ทำแบบนี้ได้เพราะวางเป้าไว้ตั้งแต่แล้วว่า “ต้องเข้าใจว่าผู้ใช้งานต้องการอะไร”
ถ้าน้องอิ๊งเกิดในสหราชอาณาจักร – จะได้อยู่ในระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย และคุ้มครองทั้งเด็กนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนที่ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ล่าสุดเพิ่งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแคมเปญ Keeping Children Safe in Education โดยพลเมืองในประเทศมีสิทธิเข้าไปอ่านร่างการแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษา หรือให้คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง สะท้อนให้เห็นได้ชัดเลยว่าเสียงและความต้องการของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หรือตำแหน่งทางราชการซึ่งแท้จริงแล้วควรเป็นคนทำงานเพื่อสร้างงานบริการที่ดีในนามของรัฐ
ถ้าน้องเคเกิดในประเทศเกาหลีใต้ – พ่อกับแม่ของน้องจะได้รับค่าเลี้ยงดูทันทีจากรัฐบาลประมาณ 8,000 บาทเป็นระยะเวลา 1 ปี และจะเพิ่มเป็น 13,500 ในปี ค.ศ. 2025 พร้อมโบนัสเสริมสำหรับค่าใช้จ่ายในการคลอดอีก 54,000 บาท พ่อแม่มือใหม่ยังสามารถใช้สิทธิการลาคลอดพร้อมรับค่าเลี้ยงดูเพิ่มได้อีกประมาณ 80,000 บาท เพื่อให้มั่นใจว่าพ่อแม่จะมีเวลาเลี้ยงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ น้องเคยังได้อยู่ในระบบ “การจัดการศึกษาและการดูแลเด็กเล็ก” ที่รัฐบาลเพิ่มเงินลงทุนในระบบนี้ถึง 10 เท่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดยจัดให้เพิ่มพื้นที่สำหรับการเรียนรู้โดยใช้การเล่น กีฬา และศิลปะ เข้ามาช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านอารมณ์ สร้างความมั่นใจในตัวเอง และสร้างสังคมแห่งความสุขให้กับเด็กๆ ซึ่งควรทำตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อพัฒนาการที่ดีเมื่อเติบใหญ่
ทั้งหมดนี้เพื่อต้องการให้สะท้อนเห็นภาพ และถอดบทเรียนจากประเทศอื่นว่า หากเยาวชนคนหนึ่งเติบโตมาในประเทศไทย เราควรจะมีนโยบายอะไรบ้างที่เอื้อต่อการเติบโตของพวกเขา
อ่านต้นฉบับจาก Thailand Policy Lab (ห้องปฏิบัติการนโยบาย ก่อตั้งโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน)
Tags: #education #policy #population #youth