ทำความรู้จักปฏิบัติการพิทักษ์สันติภาพแห่งองค์การสหประชาชาติแบบย่อ ๆ ผ่าน 5 คำถาม
ㅤ
วันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปี คือวันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ มาทำความรู้จักหน่วยงานดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละกว่า 90,000 คน ผ่าน 5 คำถามนี้
▶ ตัวอย่างภารกิจรักษาสันติภาพ?
▶ บทบาทของประเทศไทยใน UN Peacekeeping Mission?
ㅤ
พวกเขาคือใคร?
กองกำลังพิทักษ์สันติภาพแห่งองค์การสหประชาชาติคือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยรักษาความสงบ ปกป้องพลเรือน พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจ สนับสนุนการสร้างรัฐที่มั่นคงในระยะยาว หรือกล่าวโดยย่อคือปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (peacekeeping) คือการสังเกตการณ์ ช่วยเหลือ และลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง หรือดินแดนที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเกิดซ้ำรอยและป้องกันการใช้กำลังเข้าแทรกแซงอันจะคุกคามต่อสันติภาพโลก
ดูแลแค่เรื่องความขัดแย้ง?
ถึงแม้หน้าที่หลักของปฏิบัติการรักษาสันติภาพจะควบคุมและลดระดับการขัดแย้ง ทว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์สันติภาพที่ปฏิบัติหน้าที่ในหลายภารกิจนั้นล้วนมาจากภูมิหลังที่หลากหลาย ปฏิบัติหน้าที่ต่างกันไป อาทิ วิศวกร แพทย์ พยาบาล ทหาร และตำรวจ เป็นต้น พวกเขาไม่ได้เพียงแค่พิทักษ์สันติภาพแต่ยังเป็นแนวหน้าในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนจัดการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด หรือช่วยร่างกฎหมายในประเทศ ฯลฯ อีกด้วย ดังนั้นปฏิบัติการรักษาสันติภาพจึงไม่ได้ดูแลแค่เฉพาะประเด็นความขัดแย้ง แต่มีส่วนร่วมในการพัฒนารัฐที่มั่นคงและยั่งยืนแบบองค์รวม
ตัวอย่างภารกิจรักษาสันติภาพ?
ภารกิจรักษาสันติภาพหรือ UN Peacekeeping Mission นั้นมีมากกว่า 70 โครงการตั้งแต่การริเริ่มเมื่อปี 1948 โดยในปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ภารกิจที่กำลังดำเนินอยู่ในสามภูมิภาค คือแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย เช่น ภารกิจสนับสนุนความยุติธรรมในการร่างกฎหมายให้ประเทศเฮติ หรือภารกิจสร้างความมั่นคงในประเทศมาลี ซี่งแต่ละภารกิจที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือสนับสนุนทรัพยากรบุคคลจากกว่า 120 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์สันติภาพปฏิบัติงานอยู่กว่า 90,000 คน ซึ่งจำนวนมากเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิง และภารกิจในตะวันออกกลางและประเทศคองโกก็ยังนำโดยหัวหน้าทีมหญิงอีกด้วย
บทบาทของประเทศไทยใน UN Peacekeeping Mission?
ประเทศไทยได้ช่วยสมทบกองกำลังทหาร วิศวกรทหาร และเจ้าหน้าที่พลเรือนจำนวนกว่า 281 คนเพื่อช่วยในภารกิจฟื้นฟูพัฒนาประเทศซูดานใต้ของสหประชาชาติ หรือ UNMISS (United Nations Mission in South Sudan) ทั้งในด้านการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการรักษาความสงบเรียบร้อย และสนับสนุนการรับมือกับโรคระบาดโควิด 19 และยังมีเจ้าหน้าที่ชาวไทยอีก 5 คนในภารกิจสังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติในประเทศอินเดียและปากีสถาน หรือ UNMOGIP (United Nations Military Observer Group in India and Pakistan)
คุณกาญจนาวดี อมรานนท์ เจ้าหน้าที่หญิงจากประเทศไทยผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมภาคสนาม UNMISS ได้กล่าวไว้ว่า “ความร่วมมือของทุกฝ่ายช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และนำไปสู่หนทางการแก้ไขปัญหา”
นอกจากนี้เหล่าเจ้าหน้าที่จากประเทศไทยยังได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยให้ภารกิจดำเนินไปอย่างลุล่วง และในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะมีการมอบเหรียญตราเพื่อเชิดชูเกียรติและแสดงความขอบคุณแก่เหล่าบุคลากรผู้กล้าหาญที่สละชีพเพื่อสันติภาพ หนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่ชาวไทย จ่าสิบเอก เกียรติศักดิ์ ประพันธ์อนุรักษ์
ความสำเร็จของ UN เท่านั้น?
ไม่ใช่เลย ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติแต่ความสำเร็จของภารกิจในประเทศต่าง ๆ นั้นล้วนเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และที่สำคัญคือประชาชนในท้องถิ่น ทุกคนร่วมใจกันเพื่อสันติภาพ และนี่เองคือที่มาของธีม “พลังแห่งความร่วมมือ” (People Peace Progress: The Power of Partnerships) ของวันผู้พิทักษ์สันติภาพสากลในปีนี้ เพราะสันติภาพอันยั่งยืนจะขาดใครไปไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว
แปลและเรียบเรียงโดย นงธัช อมรวิวัฒน์
Tags: #peoplepeaceprogress #pkday #UNpeacekeeping #ForPeopleForPlanet