ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยินดีที่ประเทศไทยประกาศใช้ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

31 ตุลาคม 2022

กรุงเทพมหานคร (31 ตุลาคม 2565) – สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ยินดีที่ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

การประกาศใช้กฎหมายนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการปราบปรามการทรมาน การทารุณกรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย ซึ่งมีบทบัญญัติในการเอาผิดผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา และมีเนื้อหาครอบคลุมหลักการที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมานเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (non-derogation) และหลักการไม่ส่งใครกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ขับไล่ เนรเทศ หรือส่งบุคคลใดไปยังอีกประเทศหนึ่งที่เขาอาจเผชิญความเสี่ยงต่อการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (cruel, inhuman or degrading treatment) หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่การประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

“การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นี้นับเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามคำมั่นของประเทศไทยเพื่อขจัดการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายให้หมดสิ้น และเป็นการให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว

พระราชบัญญัตินี้จะทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจและญาติ มีกรอบทางกฎหมายในการเรียกร้องการเยียวยาทางกฎหมาย รวมถึงการเอาผิดผู้กระทำผิดจากอาชญากรรมอันเลวร้ายนี้

ประเทศไทยมีกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ (The United Nations Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) บันทึกว่ายังไม่ได้รับความกระจ่างชัดทั้งสิ้น 76 กรณี

ผู้แทนประจำภูมิภาคฯ เน้นย้ำว่า ยังมีบทบัญญัติในกฎหมายสามประการที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้พระราชบัญญัติฯ เป็นไปตามกฎหมายและหลักการระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ได้แก่ การอภัยโทษในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมานในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญา และการกำหนดอายุความของคดีการกระทำให้บุคคลสูญหาย

“สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขอชื่นชมประเทศไทยที่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการทบทวนสิทธิมนุษยชนครั้งล่าสุดตามกระบวนการ Universal Periodic Review หรือ UPR ทั้งนี้ หลังจากที่มีกรอบกฎหมายบังคับใช้ในประเทศแล้ว ประเทศไทยสามารถดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ในลำดับถัดไป” ซินเทีย เวลิโก้ กล่าว “สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามที่มีความจำเป็น”

จบ

หากต้องการข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: วรรณภร สมุทรอัษฎงค์ (065 986 0810 / wannaporn.samutassadong@un.org) ประจำสำนักงานฯ ที่กรุงเทพมหานคร

แท็กและแชร์  Twitter: @OHCHRAsiaFacebook: @OHCHRAsia และ Instagram @ohchr_asia

 

องค์กรของสหประชาชาติที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้

OHCHR
สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ
ยูเอ็น
สหประชาชาติ

เป้าหมายที่เราสนับสนุนผ่านโครงการริเริ่มนี้