อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ นักสื่อสารด้าน Climate Change ผู้สร้างโปรเจกต์การเรียนรู้ที่ใช้วิธีแบบพี่สอนน้อง
ㅤ
SDGs Youth Panel
จากเด็กที่ไม่กล้าพูดต่อหน้าผู้คน เอม-อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ กลายเป็นนักโต้วาทีและนักพูดที่อภิปรายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเฉียบคม ตรงประเด็น และมีหมัดฮุกกระตุกความรู้สึกผู้ฟังอย่างจับใจเสมอ โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ “ภาวะโลกร้อน”
การจะเป็นนักพูดที่จับใจผู้ฟังไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการค้นคว้าข้อมูล รวมถึงทำความเข้าใจสังคมและโลกรอบตัวอย่างลึกซึ้ง และนั่นทำให้เอมค้นพบว่า ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เธอจึงชักชวนเพื่อนนักเรียนมัธยมจากทั่วประเทศมาร่วมกันพัฒนากิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับน้อง ๆ ชั้นประถม โดยตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า Youth Mentorship Project หรือ YMP เพื่อสื่อถึงแนวคิดการสอนแบบพี่ชี้แนะน้อง
หลายปีที่ผ่านมา YMP ตระเวนทำกิจกรรมในโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับชุมชนที่มีความเปราะบาง ซึ่งเด็กๆ มักมีข้อจำกัดด้านการเรียนรู้มากกว่าปกติ และเพราะเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน เอมและเพื่อน ๆ อาสาสมัครจึงเข้าใจดีว่าไม่ใช่ทุกคนจะสนุกกับการเรียนในห้องเรียน การเรียนรู้แบบ YMP จึงออกแบบมาให้ทั้งสนุก ได้สาระ เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ และสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเข้าไปด้วย
เอมมองว่า ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานั้นสำคัญ แต่ที่เร่งด่วนไม่แพ้กันคือความรู้ความเข้าใจด้านภูมิอากาศ เพราะหลาย ๆ คนที่เธอและครอบครัวได้พบเจอก็ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างคนทำอาชีพเกษตรกรรม ถึงอย่างนั้น พวกเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะรับมือกับภัยพิบัติซึ่งจะเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นในอนาคตได้อย่างไร ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การพัฒนาการศึกษาด้านภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนคือเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างมาก
เอมเชื่อในพลังงานของการสื่อสาร เธอจึงใช้ทักษะที่มีสร้างการขับเคลื่อนมากมาย ไม่ใช่แค่โปรเจกต์พัฒนาการศึกษาที่เกริ่นมาข้างต้นเท่านั้น แต่เอมยังนำความเข้าใจปัญหาในบริบทของประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนกับเยาวชนจากทั่วโลก ในการประชุม Youth4Climate รวมถึงเป็นตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการอภิปรายบนเวทีระดับประเทศอีกมากมาย
อะไรทำให้วัยรุ่นคนหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำอะไรมากมายกว่าแค่เรื่องของตัวเอง เราจะไปทำความรู้จักนักสร้างการเปลี่ยนแปลงคนนี้ผ่านบทสนทนากับเธอกัน
วัยรุ่นผู้เชื่อในพลังของการสื่อสาร
ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 1 เอมถูกชักชวนเข้าชมรมวาทศิลป์ของโรงเรียน และจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นเองที่จุดประกายให้เธอเดินบนเส้นทางแห่งการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง “การจะกล่าวสุนทรพจน์หรืออภิปรายอะไรได้ดี เราต้องอ่านหนังสือ บทความวิชาการ และหาความรู้รอบตัวเยอะมาก ทำให้สามารถเชื่อมจุดได้ว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม มันสืบย้อนกลับมาที่ปัญหาด้านการศึกษาทั้งนั้นเลย” เอมเริ่มเล่า
ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง เธอจึงไปทดลองเป็นครูอาสากับ Saturday School มูลนิธิด้านการศึกษาที่เปิดสอนวิชานอกห้องเรียนในวันเสาร์ “ครั้งแรกที่ไปเป็นครูอาสา ตอนนั้นเรากำลังจะขึ้นมัธยมปลาย จึงสามารถสอนน้อง ๆ ชั้นประถมได้ สิ่งที่แปลกใจที่สุดคือระดับความรู้ที่แตกต่างกันมากของน้อง ๆ แต่ละคน ทั้งที่อยู่ในระดับชั้นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ด้านวิชาการ แต่รวมถึงหลักความคิดในด้านต่างๆ ด้วย”
สิ่งที่ได้พบเห็น ทำให้เอมเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้าง Youth Mentorship Project หรือ YMP โปรเจกต์พัฒนาการศึกษาของตัวเองขึ้นมา ในฐานะนักเรียนคนหนึ่งที่เชื่อในพลังของการศึกษา โดยเริ่มจากการชักชวนกลุ่มเพื่อนนักเรียนมัธยมมาร่วมกันพัฒนาบทเรียนสนุก ๆ และการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับวัยรุ่นมากขึ้น เพื่อนำไปทำกิจกรรมกับน้อง ๆ วัยประถม ด้วยวิธีแบบพี่สอนน้อง
“จากช่วงแรกที่มีทีมอยู่ไม่กี่คน เป็นเพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องการศึกษาและมีความมุ่งมั่นที่จะสอนเหมือนกัน ต่อมาเราเปิดรับสมัครเพื่อน ๆ จากโรงเรียนอื่นด้วย โดยใช้โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ทีม YMP จึงค่อย ๆ ขยับขยายขึ้น โดยมีสมาชิกครูอาสาที่เป็นเด็กมัธยมจากหลายโรงเรียน”
เอมเล่าต่อว่าโรงเรียนที่ YMP เข้าไปทำกิจกรรมมักเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกับชุมชนที่มีความเปราะบางในด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มไร้สัญชาติ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เด็กๆ จากชุมชนเหล่านี้จึงมีข้อจำกัดด้านการเรียนรู้มากกว่าเด็ก ๆ จากชุมชนทั่วไป
เพราะความรู้มีไว้เพื่อแบ่งปัน
“เราอยากสร้างความรักในการเรียนรู้ให้น้อง ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสนุกกับการเรียนในห้องเรียน เติมพลังบวกให้เขาอยากเรียนต่อ เพื่อพัฒนาความรู้ที่จะนำไปสู่การหางานทำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ใช่จบมัธยมต้นแล้วแค่นั้น น้องบางคนไม่ชอบบางวิชา เราก็พยายามช่วยให้เขารู้สึกดีกับมันมากขึ้น น้อง ๆ จากหลายโรงเรียนที่ไม่ชอบวิชาภาษาอังกฤษสุด ๆ แต่พอได้ทำกิจกรรมกับ YMP เขาก็เริ่มเปลี่ยนความคิดและรู้สึกว่า เฮ้ย! ภาษาอังกฤษก็สนุกได้นี่นา”
เอมอธิบายว่า YMP ไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ด้านวิชาการอย่างเดียว แต่สอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และ 22 เข้าไปในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เพราะมันคือทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมีเพื่อการเติบโตและใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ไปจนถึงจริยธรรม มนุษยธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งหมดคือมิติรอบด้านที่จะนำไปสู่โลกที่ยั่งยืนทั้งในด้านเทคโนโลยีและจิตใจ ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“เราสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ในแทบทุกกิจกรรม ไม่เว้นแม้แต่ตอนกินข้าว” เอมเล่าอย่างกระตือรือร้น “ครั้งนึงเราสั่งพิซซ่ามา ปรากฏว่าน้องบางคนรีบเข้ามารุมหยิบ เราต้องแสดงให้น้อง ๆ เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องว่าใครตัวใหญ่กว่า แรงเยอะกว่าจะหยิบได้มากที่สุด แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรให้ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกัน พิซซ่ามีเพียงพอสำหรับทุกคน แค่ต้องจัดการจัดสรรมัน ทุกอย่างกลายเป็นบทเรียนได้ทั้งนั้น ซึ่งต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเด็ก ยุ่งได้คลุกคลีกับน้อง ๆ ยิ่งเห็นว่าทุกสิ่งรอบตัวล้วนมีอิทธิพลชักจูงน้อง ๆ หมดเลย”
นอกจากการตระเวนไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนต่าง ๆ YMP ยังมีโปรเจกต์ที่ชวนนักเรียนทั่วประเทศมาระดมสมอง (Hackathon) คิดหานวัตกรรมที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เอมบอกอย่างหนักแน่นว่านวัตกรรมไม่ได้มีแค่เรื่องเทคโนโลยีเสมอไป แต่มันสามารถเป็นนวัตกรรมทางสังคมได้เช่นกัน
“ตอนนี้เราได้ผู้ชนะจากการระดมสมองแล้ว และกำลังดำเนินการเพื่อนำแนวคิดนั้นไปใช้จริงที่โรงเรียนนำร่อง โดยจะเป็นการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) กันระหว่างโรงเรียนในตัวเมืองที่สอนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ (Robotic) กับโรงเรียนในชนบทที่มีองค์ความรู้เก่าแก่เกี่ยวกับการเย็บปักถักร้อยของกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าสุดท้ายการทดลองที่สองโรงเรียนนำร่องประสบความสำเร็จ เรามองว่ามันสามารถขยายไปได้อีกหลาย ๆ โรงเรียนเลย เป็นโมเดลที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่ง YMP เองก็ใช้โมเดลแบ่งปันความรู้ระหว่างพี่กับน้อง”
โลกที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน
นอกจากเรื่องการศึกษา การลงพื้นที่ไปแบ่งปันความรู้แบบพี่สอนน้องของเอม ทำให้เธอได้เห็นปัญหาอีกอย่างที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงกัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เราเคยพบน้องคนหนึ่ง ที่ครอบครัวทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่รุนแรงและถี่ขึ้นจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงส่งผลต่อการเพาะปลูก แต่ยังกระทบลึกซึ้งไปถึงการศึกษา เพราะน้องไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าครอบครัวหรือคนในหมู่บ้านของน้องไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ต่อไปพวกเขาก็จะยิ่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยากขึ้นเรื่อย ๆ”
“ในโรงเรียนทุกวันนี้ โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักถูกพูดถึงแค่ในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยอธิบายแค่ที่มาว่ามันเกิดขึ้นจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ ซึ่งเรามองว่าข้อมูลเพียงเท่านี้ ไม่เพียงพออีกต่อไป เทียบกับการเรียนการสอนของหลาย ๆ ประเทศ ที่บรรจุความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศสอดแทรกเข้าไปในหลาย ๆ วิชา เพราะไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังมีมิติของเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายด้านที่ทุกคนต้องรู้”
เอมอธิบายว่าการสอนของ YMP ก็ไม่ได้สอนแยกเป็นรายวิชาเช่นกัน แต่จะหยิบยกประเด็นบางอย่างขึ้นมาก่อน จากนั้นเชื่อมโยงความรู้ในหลากหลายวิชาไปสู่ประเด็นนั้น เพราะเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกของเราเชื่อมโยงกันทั้งหมด ผลจากสิ่งหนึ่ง กระทบต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ไปยังสิ่งอื่น ๆ เสมอ การศึกษาเกี่ยวกับภูมิอากาศจึงต้องทำให้คนเห็นความเชื่อมโยงของผลกระทบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดูไกลตัว จริง ๆ นั้นใกล้ตัวเราทุกคน
มิตรภาพสร้างความเปลี่ยนแปลง
เอมได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม Youth4Climate ร่วมกับเยาวชนทั่วโลกถึง 2 ครั้ง นี่เป็นเวทีที่เยาวชนเกือบ 400 คน จาก 186 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้มาเจอกันเพื่อร่วมระดมความคิดเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
“เยาวชนแต่ละคนต่างมีมุมมองที่น่าสนใจ เพราะแต่ละประเทศก็มีบริบทที่แตกต่างกัน ความคิดเห็นที่ถูกแลกเปลี่ยนจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายและครอบคลุม โดยความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกสรุปเป็นข้อเสนอแนะและส่งต่อให้ผู้นำโลกนำไปพิจารณาเป็นนโยบายอีกที ระหว่างการประชุม เราได้ทำความรู้จักและสนิทกับเพื่อนสองคน คนหนึ่งมาจากประเทศออสเตรเลีย ส่วนอีกคนมาจากประเทศซูดาน เรียกได้ว่าคนละทวีปกันเลย ด้วยความที่เราทั้งสามคนอายุไล่เลี่ยกัน เลยคุยกันถูกคอและสนิทกันเร็วมาก”
“เพื่อนชาวออสเตรเลียเล่าว่า ที่บ้านเกิดของเขามีปัญหาเรื่องโครงการเหมืองแร่ ที่หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงมาก ผู้คนจึงลุกขึ้นมาประท้วงเรื่องนี้กัน ขณะที่เพื่อนชาวซูดานบอกว่า เขาไม่สามารถประท้วงอะไรแบบนี้ได้เลยในประเทศของตัวเอง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เราเห็นโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น และแม้บริบทของสิ่งที่เราขับเคลื่อนจะแตกต่าง แต่มันก็มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการทำให้โลกดีขึ้น”
นอกจากเพื่อนต่างทวีป เอมยังทำโปรเจกต์ร่วมกับเพื่อนๆ เยาวชนอาเซียน โดยสร้างสารดีเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ส่งให้มหาวิทยาลัยสิงคโปร์แห่งสังคมศาสตร์ (Singapore University of Social Science) “พวกเราเลือกประเด็นนี้ เพราะเป็นปัญหาที่ประเทศอาเซียนเผชิญร่วมกัน และเพราะเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย พวกเราเลยต้องทำงานกลุ่มกันแบบออนไลน์ ต่างคนต่างไปเก็บฟุตเทจกันเองในแต่ละประเทศ” เอมเล่าพร้อมรอยยิ้ม
ในการทำสารคดีชิ้นนี้ เอมได้สัมภาษณ์คุณวีโจ้ วากีส (Vijo Varghese) ผู้ก่อตั้ง Our Land พื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าขนาด 26 ไร่ ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเดิมเป็นที่รกร้างที่พื้นดินเสื่อมสภาพ ให้กลับกลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์จนกลายเป็นแหล่งหย่อนใจของช้างป่าที่แวะเวียนกันมาอยู่เสมอ การบุกรุกป่าและเปลี่ยนมันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่เพียงทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของบริเวณนั้น ๆ สูญหายไป แต่ยังเป็นการลดจำนวนต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศอีกด้วย
ประสบการณ์มากมายที่เอมได้ทำร่วมกับเพื่อน ๆ ในอาเซียนและต่างทวีป ทำให้เธอค้นพบว่า นักสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นจะสร้างสรรค์การพัฒนาให้โลกน่าอยู่ขึ้นในทุกวัน ทุกความเปลี่ยนแปลงที่เพื่อน ๆ ร่วมกันสร้างขึ้นในหลากหลายพื้นที่ ท้ายที่สุดแล้วเชื่อมโยงถึงกันเป็นโครงข่ายความยั่งยืนที่จะหยั่งรากลึกและเติบโตอย่างแข็งแรงไปสู่อนาคตของทุกคน
ทุกคนคือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง
เอมเล่าอย่างติดตลกว่า ทุกครั้งที่เธอไปขึ้นเวทีอภิปราย หรือทำกิจกรรมขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรระดับประเทศหรือระดับโลก เพื่อน ๆ มักจะแซวกันว่า ‘เอมไปกู้โลกอีกแล้ว’
“จริงๆ ทุกคนสามารถกู้โลกได้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ทุกวันนี้เยาวชนและวัยรุ่นตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก ทุกคนรับรู้แล้วว่านี่คือวิกฤต ความท้าทายคือต้องเปลี่ยนการรับรู้ให้เป็นการลงมือทำ ลองคิดว่าเราจะใช้ทักษะของตัวเองสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง แค่ทุกคนทำสิ่งเล็ก ๆ ในบริบทของตัวเอง ผลลัพธ์เล็ก ๆ ก็จะรวมกันเป็นผลผลิตที่ใหญ่ขึ้น อย่างเราเอง การเข้าชมรมวาทศิลป์จุดประกายให้รู้ตัวว่าชอบการสื่อสาร เราเลยอยากใช้ทักษะนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการสร้างการเรียนรู้ให้คนอื่น ๆ รวมถึงใช้เสียงของเราบอกเล่าเรื่องราวสำคัญออกไป”
ในอนาคต เอมอยากเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง (Environmental Science) เช่นเดียวกับการต่อยอด YMP ให้เติบโตต่อไปเรื่อย ๆ โดยเธอมองว่าเราต้องส่งเสริมให้มีการศึกษาเกี่ยวกับภูมิอากาศ (Climate Education) มากกว่านี้ ทั้งในและนอกชั้นเรียน เพื่อรับมือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย เอมทิ้งท้ายอย่างมุ่งมั่นว่า การได้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย SDGs Youth Panel แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยคืออีกหนึ่งก้าวสำคัญของเธอ เพราะทุกความคิดเห็นของผู้นำเยาวชนทุกคน จะถูกนำไปประกอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 เพื่อสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และเป้าหมายที่ 13 เพื่อปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในการต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเอมผลักดันทั้งสองเป้าหมายอย่างแข็งขันมาตลอดหลายปีของการเดินทางและการทำงานที่ผ่านมา
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030