วงล้อวีลแชร์ ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ผู้ใช้พลังบวกเชื่อมโยง อาชีพและโอกาสไปยังผู้พิการ ให้ก้าวต่อไปให้ไกลกว่าเดิม
ㅤ
SDGs Youth Panel
ตลอดการสนทนากับ ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ เธอย้ำว่าตัวเองโชคดีหลายครั้ง แม้แต่อุบัติเหตุไม่คาดฝันเมื่อ 14 ปีก่อน ที่ทำให้เธอต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไปตลอดชีวิต ธันย์ก็มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ตัวเองได้เรียนรู้อะไรมากมาย ซึ่งหล่อหลอมให้เธอเป็นเธออย่างทุกวันนี้
จากที่เดินได้อย่างคนทั่วไป ธันย์เรียนรู้การใช้ชีวิตกับวีลแชร์และขาเทียม อวัยวะใหม่ที่พาเธอเดินบนเส้นทางสายใหม่ การมองโลกผ่านเลนส์ Solution-Based ทำให้ธันย์เป็น ‘สาวน้อยคิดบวก’ อย่างที่ใครต่อใครเรียกกัน เธอไม่เพียงแบ่งปันเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้คนมาแล้วมากมาย แต่ยังเป็นนักรณรงค์ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องคนพิการอย่างแข็งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เธอเคยทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติอย่าง Leonard Cheshire เพื่อเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจ้างงานเยาวชนพิการอย่างเป็นธรรม และการสร้างสรรค์พื้นที่ซึ่งโอบรับคนทุกรูปแบบให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน นอกจากนี้ ธันย์ยังเป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้นำเยาวชน SDGs Youth Panel ที่กำลังร่วมกันระดมความคิดเห็นว่า การพัฒนาประเทศไทยควรเดินหน้าไปทางไหนในมุมมองคนรุ่นใหม่ และส่งต่อความคิดเห็นเหล่านั้นไปยังผู้นำรุ่นใหญ่
ธันย์บอกว่าความโชคดีที่สุดในความโชคร้ายที่สุดของเธอ คือการสูญเสียขาไปในยุคที่การรณรงค์เรื่องคนพิการในไทยเริ่มผลิบานขึ้น จากการหว่านเมล็ดโดยรุ่นพี่คนพิการในอดีต
“เราโตมาในยุคที่ห้างสรรพสินค้ามีห้องน้ำและที่จอดรถสำหรับวีลแชร์ สถาปัตยกรรมใหม่ ๆ อยู่ในควบคุมของกฎหมายอาคารที่ระบุว่าต้องมีทางลาด ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) เพื่อให้พื้นที่เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการทุกรูปแบบ ทั้งหมดนี้คือดอกผลจากการผลักดันอย่างเข้มข้นโดยพี่ ๆ รุ่นก่อน”
อ่านถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าธันย์เป็นสายเนิร์ดวิชาการ เพราะจริง ๆ แล้ว เธอใช้ชีวิตเต็มที่กับทุกด้าน บินรอบโลก ดำน้ำ วิ่งมาราธอน และนี่คือเรื่องของธันย์ กับการเดินทางเพื่อความเท่าเทียม เพราะเชื่อว่าชีวิตเราเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค
ชีวิตบทใหม่กับอวัยวะคู่ใหม่
ธันย์เริ่มเล่าถึงตัวเองในวัยเด็ก ว่าเธอเติบโตอย่างเรียบง่ายและอยู่ในเซฟโซนมาตลอดชีวิต จุดเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดของเด็กหญิงวัย 14 จากจังหวัดตรังคนนี้ คือการตัดสินใจไปเรียนพิเศษช่วงปิดเทอมใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถ้าทุกอย่างไปได้ดี ครอบครัวก็มีแผนจะส่งธันย์เรียนมัธยมปลายต่อที่นั่นไปเลยในอนาคต
"ตอนอยู่สิงคโปร์ เราได้เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต ซึ่งก็ใช้เวลาสักพักกว่าเราจะรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ เรารู้ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนอย่างไร ใครมาสิงคโปร์ เราสามารถพาไปเที่ยวได้ ทุกอย่างราบรื่นมาก และอย่างที่รู้กันว่าสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่ปลอดภัย เราเลยไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้น"
"จนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนกลับเมืองไทย ระหว่างที่เรากำลังรอรถไฟ ตอนนั้นคนเบียดเสียดกันในจังหวะที่รถกำลังแล่นเข้าสู่ชานชาลา ด้วยความที่เราตัวเล็ก จึงถูกเบียดตกลงไปบริเวณราง ด้วยความฉุกละหุก รถหยุดไม่ทันและคนก็ลงไปช่วยไม่ทันเช่นกัน สุดท้ายอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เราสูญเสียขาทั้งสองข้างไป"
ธันย์พูดถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นว่า “ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดี เพราะตอนนั้นเราสะพายเป้ที่ทั้งหนาและใหญ่ ทำให้แม้จะตกลงไปหลังกระแทกกับรางเหล็ก แต่ก็ไม่ได้รับบาดเจ็บในส่วนที่กระทบต่อระบบประสาท อุบัติเหตุทำให้เราสูญเสียอวัยวะอย่างเดียว ไม่ได้มีผลแทรกซ้อนด้านสุขภาพที่ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง”
ธันย์เล่าว่าการพักฟื้นอยู่ในห้องปลอดเชื้อนานหลายเดือน ทำให้เธอได้ตกตะกอนความคิดเกี่ยวกับชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลนับจากนี้ แผนต่าง ๆ ที่เคยวาดฝันไว้ต้องพับเก็บไปก่อน สิ่งที่เร่งด่วนกว่าคือการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับอวัยวะคู่ใหม่อย่างขาเทียมและวีลแชร์
“มันส่งผลกระทบกับทุกอย่างในชีวิต ตั้งแต่เรื่องเล็กใกล้ตัวอย่างการเข้าห้องน้ำ ก็ต้องมาหัดทำธุระต่าง ๆ ด้วยรูปแบบใหม่ทั้งหมด ไปจนถึงเรื่องใหญ่และแผนระยะยาวอย่างการเรียนหนังสือ ถ้าเดินไปเข้าชั้นเรียนอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ แม้แต่อาชีพในฝันที่เราอยากเป็น ด้วยข้อจำกัดใหม่ของชีวิต ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย”
เครือข่ายที่เติบโตเหมือนต้นไม้
ธันย์เล่าพร้อมรอยยิ้มว่าเธอมักมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านเลนส์ Solution-Based อธิบายให้เห็นภาพก็คือ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับปัญหา เธอเลือกเอาวิธีแก้ปัญหาเป็นที่ตั้งนั่นเอง “แทนที่จะจดจ่ออยู่กับการตอกย้ำตัวเองว่านับจากนี้ฉันคงไปไหนไม่ได้อีกแล้ว เราเลือกที่จะมองว่า สถานที่ไหนบ้างที่เราจะเข็นวีลแชร์ไปได้ เมื่อได้จุดหมายแล้ว ขั้นต่อไปก็ลุยเลย”
“คนจำนวนไม่น้อยมองว่าคนพิการนั้นไร้ศักยภาพ ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างสิ้นเชิง ความพิการแค่ทำให้ขาดโอกาสรวมถึงช่องทางที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ตามรูปแบบของคนทั่วไปเท่านั้น”
ช่วงที่ธันย์เพิ่งหัดใช้วีลแชร์และยังไม่คล่องแคล่ว เธอคิดอยู่ตลอดว่าถ้าเข็นรถไปเจอบันได ก็ต้องออกปากขอความช่วยเหลือให้คนมาช่วยกันยกรถลงบันได จนกระทั่งเจอเพื่อนคนพิการที่ชำนาญการใช้วีลแชร์คนหนึ่ง “ไม่ต้องให้ใครช่วย ลองทางอื่นก่อน” เขาบอกแบบนั้น ธันย์จึงเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วยังมีเส้นทางอื่นอีกที่ชาววีลแชร์จะสามารถเข็นรถได้โดยไม่ต้องผ่านบันได อาจจะต้องอ้อมไกล หรือใช้เวลานานกว่าสักหน่อย แต่ก็ถึงจุดหมายเหมือนกัน
“ก่อนหน้านี้ เราไม่มีความรู้ความเข้าใจใด ๆ เกี่ยวกับคนพิการเลย เคยเป็นคนปกติที่รู้สึกเห็นใจและมองว่าพวกเขาน่าสงสาร ทำให้ตอนนี้ที่เราเป็นคนพิการเอง เราเข้าใจในมุมมองของคนทั่วไปนะ ว่าที่คิดแบบนั้นอาจเพราะไม่เคยได้ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับคนพิการมาก่อน การอยู่กับความพิการ ทำให้เราสนใจนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ ยิ่งศึกษามาก ก็ยิ่งเปิดโลกให้เราเห็นว่า ทุกวันนี้คนพิการสามารถทำอะไรได้มากมาย”
เมื่ออาการเริ่มทรงตัว ธันย์ก็เริ่มไปศูนย์ฝึกที่รวมคนพิการทุกรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน และที่นั่น เธอได้ทำความรู้จักโลกอีกใบของคนพิการ “เราไม่ได้พุ่งตัวเข้าหาองค์กรเพื่อคนพิการทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ เพราะเราไม่รู้จักใคร องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากหรือผ่านความพิการมายาวนานกว่าสิบปี และที่สำคัญคือเราไม่รู้ช่องทาง เนื่องจากเครือข่ายมักเป็นลักษณะที่บอกกันปากต่อปาก การเข้าร่วมผลักดันเรื่องคนพิการในมิติต่าง ๆ ของเราจึงเหมือนการปลูกต้นไม้ที่ค่อย ๆ เติบโตตามกาลเวลา”
แม้ในชีวิตประจำวัน ธันย์จะเรียนหนังสือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยร่วมกับคนทั่วไป แต่เธอก็เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยองค์กรเพื่อคนพิการเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด จากที่รู้จักพี่ ๆ น้อง ๆ คนพิการแค่กลุ่มเดียว ก็ขยายกลายเป็นเครือข่าย และต่อมา จากที่รู้จักเฉพาะเครือข่ายคนพิการชาวไทย ธันย์ก็เริ่มอยากรู้จักคนพิการชาติอื่น ๆ ด้วย เพราะสงสัยว่าชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิของคนพิการในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไร
แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ธันย์เห็นประกาศรับสมัครเยาวชนไปดูงานเกี่ยวกับคนพิการที่ประเทศเกาหลี เธอไม่รอช้ารีบสมัครเข้าร่วมทันที โดยความท้าทายของการไปต่างแดนครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่การเดินทางด้วยขาเทียมหรือวีลแชร์ แต่อยู่ที่การสื่อสารมากกว่า เพราะเยาวชนจากทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มาจากทวีปเอเชียที่มีภาษาท้องถิ่นของตัวเอง และพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนก็พยายามสื่อสารกันอย่างสนุกสนานเต็มที่
ธันย์เล่าอย่างตื่นเต้นว่า “เป็นเวลาสองอาทิตย์ที่ล้ำค่าและเปิดโลกเกี่ยวกับคนพิการให้เรามาก เพราะได้เห็นสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้งแต่ลิฟต์ ทางลาด ไปจนถึงห้องพักที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังได้ฟังประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิต่าง ๆ ของคนพิการเกาหลี ทำให้เราเห็นที่มาที่ไปว่ากว่าเขาจะมีสิ่งที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตขนาดนี้ ก็ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาไม่น้อยเหมือนกัน”
ยิ่งโตขึ้น การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของธันย์ก็ยิ่งจริงจังขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเธอเข้าร่วมกับองค์กรสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนพิการที่ก่อตั้งในสหราชอาณาจักรและปัจจุบันดำเนินการอยู่ทั่วโลกอย่างเลียวนาร์ด เชสเชียร์ (Leonard Cheshire) โดยประเด็นที่ได้รับการผลักดันมากในไทยคือเรื่องการจ้างงาน ธันย์เป็นหนึ่งในตัวแทนที่ร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชนพิการ รวมถึงข้อปรับปรุงที่บริษัทต่าง ๆ ในไทยควรนำไปพิจารณาปรับเปลี่ยน เพื่อให้เยาวชนพิการเข้าถึงการจ้างงานได้อย่างเป็นธรรม (Access to Decent Work) รวมถึงสามารถทำงานในสถานประกอบการนั้น ๆ ได้อย่างมีความสุข
“แนวคิดเกี่ยวกับคนพิการของเราเริ่มชัดเจนขึ้นช่วงที่ได้ทำงานกับองค์กรนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนหลากหลาย ได้เห็นตัวอย่างการผลักดันที่ประเทศก็มีส่วนที่มุ่งเน้นแตกต่างกันไป ตั้งแต่เกาหลีที่ใส่ใจทุกรายละเอียดของการออกแบบพื้นที่เมือง จนถึงสหราชอาณาจักรที่ผลักดันเรื่องนี้มายาวนานจนไม่ต้องพูดถึงเรื่องทางกายภาพแล้ว แต่เน้นที่การจ้างงาน การพัฒนาต่อยอดให้คนพิการไปได้ไกลยิ่งขึ้น”
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ธันย์เลือกเรียนต่อด้านจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร รวมถึงเลือกทำงานวิจัยเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในไทยเป็นวิทยานิพนธ์
“จากประสบการณ์ของเรา ปัญหาไม่ใช่เรื่องของการขาดโอกาส องค์กรมากมายมีนโยบายรับคนพิการเข้าเป็นพนักงาน มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่ทำไมคนพิการจึงทำงานอยู่ได้ไม่นานเสมอ นี่คือสิ่งที่เราสงสัยมาตลอดจนได้ทำวิจัยและค้นพบว่า จริง ๆ แล้ว เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้คนพิการหรือใครก็ตาม ทำงานได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน”
“ทั้งสภาพแวดล้อม การเดินทาง ไปจนถึงความเอื้ออำนวยของงานต่อบุคลิกภาพและกายภาพของเรา อย่างคนพิการที่นั่งวีลแชร์มักมีปัญหานั่งนานไม่ได้ แต่ทั้งบริษัทกลับเปิดรับคนพิการแค่ตำแหน่งเดียว และยังเป็นตำแหน่งงานที่ต้องนั่งอยู่กับที่ทั้งวันอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากสถิติการย้ายงานของคนพิการจะสูงกว่าปกติ”
ท่องโลกด้วยขาเทียมและวีลแชร์
ธันย์อธิบายต่อว่า อีกปัญหาที่พบคือเรื่องเส้นทางอาชีพ (Career Path) “เพื่อนผู้พิการทางสายตาของเราคนหนึ่งเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาก อย่างไรก็ตาม มีกฏระบุไว้ว่าอัยการหรือผู้พิพากษาต้องมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ นั่นหมายความว่าถ้าคุณเดินขากะเผลก หูไม่ค่อยได้ยิน หรือมีความบกพร่องอะไรบางอย่าง แม้จะเรียนจบนิติศาสตร์มาแล้ว ทำงานเก่งกาจแค่ไหน เส้นทางแห่งวิชาชีพอนุญาตให้คุณมาได้ไกลเท่านี้ ซึ่งนี่เป็นแค่หนึ่งในอีกหลาย ๆ อาชีพที่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างปิดกั้นคนพิการอยู่”
วิทยานิพนธ์ของธันย์จึงรวบรวมประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนพิการ นำมาวิเคราะห์และพัฒนาเป็นโมเดลแก้ปัญหา ซึ่งเธอหมายมั่นว่าในอนาคตจะต่อยอดมันออกไป เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง
เรื่องราวของธันย์ที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงที่เขียนบอกเล่าในเพจเฟซบุ๊ก ‘น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก’ ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนพิการมากมายเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ยังเพิ่มความรู้ให้คนทั่วไปเรื่องความสามารถของคนพิการ รวมถึงสิทธิที่สมาชิกทุกคนในสังคมพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ธันย์ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่าย SDGs Youth Panel ที่ประกอบไปด้วยเยาวชนนักขับเคลื่อนที่รวมตัวกันระดมความคิดเห็นส่งไปยังผู้นำประเทศ ว่าคนรุ่นใหม่อยากเห็นเมืองไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืนอย่างไร
โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ธันย์ตั้งใจผลักดันเป็นพิเศษคือข้อ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ และข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะทั้งสองมิติคือรากฐานที่จะทำให้เยาวชนพิการสามารถใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจ มีโอกาสได้เรียนในสิ่งที่ชอบ และทำงานในด้านที่ตัวเองรัก
“คนพิการในเมืองไทยส่วนใหญ่เลือกเรียนจบแค่ชั้นมัธยมต้น เพราะถึงแม้ภาครัฐจะให้เรียนฟรีถึงปริญญาตรี แต่ปัญหาคือสนับสนุนเฉพาะค่าเรียน ไม่มีค่าหอพักหรือค่าเดินทางให้ คนที่ครอบครัวไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ จึงไม่สามารถเรียนต่อชั้นสูง ๆ ได้ พอการศึกษาจำกัด มันก็เหมือนตัดโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตคนพิการคนนั้นไปเลยทันที ทั้งเรื่องการหางานไปจนถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม ยังไม่นับว่ามีความย้อนแย้งเรื่องเส้นทางอาชีพของคนพิการที่อธิบายไปข้างต้นอีก”
ธันย์ย้ำทิ้งท้ายว่า “จะให้คนพิการมีความยั่งยืนในชีวิต ต้องเริ่มที่การศึกษา เมื่อคนพิการสามารถต่อยอดความรู้ความสามารถของตัวเองได้ ก็จะมีงานทำ ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้ แต่ยังบ่มเพาะความภาคภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมีอวัยวะครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม”
นับตั้งแต่วันที่สูญเสียขาทั้งสองข้าง สิบกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยขาเทียมและวีลแชร์ ธันย์บอกว่ายังไม่เหนื่อยกับการเดินทางเลย ความฝันของเธอคือการได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั่วโลก คนพิการประเทศอื่น ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร องค์กรใดกำลังผลักดันเรื่องอะไรอยู่ และทุกวันนี้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ อะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง และในท้ายที่สุดเธออยากนำสิ่งที่พบเห็นเหล่านั้นกลับมาสู่เมืองไทยของเรา
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030