บทสรุปงาน Sustainable Thailand 2022 จากความมุ่งมั่นสู่การลงมือทำ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย ร่วมอภิปรายคับคั่ง ผลักดันระบบการเงินยั่งยืน
30 พฤศจิกายน 2022
กรุงเทพฯ -- เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมงาน ‘Sustainable Thailand 2022: Moving from Ambition to Action towards a Greener Financial System’ โดยความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการเงินอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมหารือกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบการเงิน การธนาคารตลอดจนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
งาน ‘Sustainable Thailand 2022’ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จ ความท้าทาย รวมถึงบทเรียนที่หลายหน่วยงานและองค์กรได้เรียนรู้ระหว่างการดำเนินงาน ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้เพื่อขยับขยายและเพิ่มขีดความสามารถของระบบการเงิน การธนาคารและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศ และเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของธนาคารและนักลงทุนตามที่ได้ร่วมลงนามเมื่อปีก่อน ในคำแถลงความมุ่งมั่นต่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบ การดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และข้อตกลงด้านสภาพอากาศปารีส (Paris Agreement on Climate Change) ของ 43 สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ตลอดจนธนาคารต่าง ๆ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่งาน Sustainable Thailand 2021
คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานทั้งในศูนย์ประชุมฯ และช่องทางออนไลน์พร้อมมุมมองว่าช่วงปีที่ผ่านมาการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญในการหารือระหว่างสถาบันการเงิน ภาคการธนาคาร นักลงทุน และผู้บริหารสินทรัพย์ ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังเตรียมพร้อมรองรับ โดยข้อมูลการวิเคราะห์ชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของประเทศไทยจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากเกณฑ์สำหรับการให้กู้ยืมและการลงทุนสีเขียวกำหนดไว้เพียงแค่ที่ 6.3%
“โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ยากลำบาก ภาครัฐใช้จ่ายอย่างจำกัด การจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมผ่านตลาดการเงินในประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเร่งการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
จากนั้น คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวขอบคุณภาคส่วนต่าง ๆ ในตลาดเงินและตลาดทุนที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์การรายงานข้อมูลประจำปีของบริษัทจดทะเบียน หรือแบบ 56-1 One Report โดยมีผลใช้บังคับเมื่อต้นปี 2565 ซึ่งให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) รวมถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน
“ก.ล.ต. กำหนดให้ประเด็นด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเรือธงยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 4 (ปี 2566-2570) และที่สำคัญคือสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ซึ่งเชื่อมโยงกับธีมของการประชุม APEC ในปีนี้ ในส่วนของการสร้างสมดุลในการเติบโตของธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเฉพาะเรื่องของผลกำไร ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังทำงานร่วมกับสหประชาชาติ เช่น โครงการ SDGs Investor Map Thailand หรือ แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบนเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน นับตั้งแต่ข้อมูลโอกาสทางการตลาด ความเสี่ยง ผลตอบแทนจากการลงทุน ไปจนถึงผลประโยชน์ด้านความยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้น”
คุณรื่นวดีได้เน้นย้ำว่า การจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืนเป็นการดำเนินการร่วมกันของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนวาระนี้ไปข้างหน้า ซึ่งการจัดงาน Sustainable Thailand 2022 ในวันนี้นับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญของการผลักดันความร่วมมือไปสู่ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศโดยรวม
ด้าน ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้แสดงความตระหนักของกบข. ต่อภารกิจของหน่วยงานว่า “เราไม่เพียงบริหารเงินออมเพื่อการเกษียณให้กับสมาชิกที่เป็นข้าราชการเท่านั้น แต่เรามองว่าการดำเนินการลงทุนของสำนักงานเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้น เราจึงประกาศเจตนารมณ์ในการเป็น Leader in ESG Investment & Initiatives หรือผู้นำการลงทุนในบริบทที่สอดคล้องกับหลักการ ESG และเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรม ESG ในประเทศไทย”
กบข. เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ไปลงนามใน Principles for Responsible Investment (PRI) เครือข่ายได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก ที่เห็นความสำคัญและนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน นอกจากนี้ กบข. ดำเนินการความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ หรือ ESG Collaborative Engagement เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการลงทุนให้เกิดความยั่งยืนนั้น เราไม่สามารถทำได้ตามลำพังได้ แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกัน” ดร. ศรีกัญญากล่าว
ในช่วงเปิดงานมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เน้นย้ำว่า แม้ประเทศไทยจะได้ขับเคลื่อนเรื่องระบบการเงินเพื่อความยั่งยืนมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังเป็นความท้าทายของมนุษชาติต่อไปอีกยาวนาน ดังนั้นการระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะยังเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องผลักดันกันต่อไป “มันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงกระทรวงการคลังด้วยเช่นกัน ที่จะทำให้อุปสงค์และอุปทานของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนได้มาเจอกัน
“ผมยินดีที่ปัจจุบันสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งได้ออกตราสารหนี้เพื่อสังคมและตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่มีการจัดพอร์ตส่วนหนึ่งไว้ลงทุนในธุรกิจสีเขียวโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผมคิดว่าเราต้องคุยและดำเนินการกันมากขึ้นอีกเกี่ยวกับการพัฒนาตัวโครงการเพื่อความยั่งยืน”
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังระบุถึงการสร้างระบบนิเวศของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการใช้สิ่งจูงใจทางด้านภาษี เช่น การลดอัตราอากรให้โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อทดแทนยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิส เครื่องมือทางภาษีเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยต่อเติมให้เกิดระบบนิเวศดังกล่าวขึ้น”
ส่วนช่วงการเสวนามีผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนร่วมแบ่งปันความรู้และข้อมูลเชิงลึกในหลายประเด็น ในการอภิปรายหัวข้อ ‘การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ของไทย’ โดยคุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายว่า “หลักการสำคัญที่ผมอยากตอกย้ำในวันนี้คือ การคำนึงถึงจังหวะเวลา ความเร็ว ที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เราต้องสร้างสมดุลระหว่างการเดินไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ ระหว่างนี้ ดังนั้นการดำเนินการจะต้องไม่ช้าเกินไป แต่ก็ไม่ควรจะเร็วเกินกว่าที่ระบบเศรษฐกิจของเราจะปรับตัวได้ทัน และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยและกลต. ได้ร่วมกันจัดตั้ง Thailand Taxonomy มาตรฐานกลางที่ช่วยกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดคล้องกับบริบทของไทย โดยเฉพาะการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม
ต่อมาในการอภิปรายหัวข้อ “จุดประสงค์และแนวทางปฏิบัติ: บริการทางการเงินสามารถทำให้เกิดการระดมทุนเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ Net Zero ได้อย่างไร” คุณจอร์โจ กัมบา (Giorgio Gamba) ผู้บริหารสูงสุด ธนาคาร HSBC ประเทศไทย ได้เผยว่า “ความท้าทายของการหาแหล่งทุนสีเขียวในปัจจุบัน คือการที่นักลงทุนเข้าใจถึงปัญหาการฟองเขียวหรือ Green Washing ดังนั้นเราต้องมีการวัดผลอย่างชัดเจนว่าโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดแล้วสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ทุกการสร้างเป้าหมายเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจริง ๆ
“สำหรับ HSBC ประเทศไทย หลายครั้งที่เราประจักษ์ว่าลูกค้าของเราไม่ได้ทำตามมาตรฐานนานาชาติที่เหมาะสม เราจึงโน้มน้าวและจูงใจให้เขาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง ในฐานะธนาคาร เราต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ่งถึงห่วงโซ่อุปทานของลูกค้า และเรียนรู้ว่าธุรกิจของพวกเขาต้องทำงานอย่างไร จึงจะสามารถสร้างผลกำไรไปพร้อมกับสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้”
ด้าน คุณนิกร นิกรพันธุ์ สมาชิกคณะทำงานการธนาคารเพื่อความยั่งยืน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “ปัจจุบัน เราทุกคนเห็นภาพกันแล้วว่าบริษัทขนาดใหญ่ล้วนมีวิธีการและแนวทางดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของตัวเอง ดังนั้นโจทย์ต่อมาคือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ต้องทำอย่างไร SMEs จะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น สมาคมฯ มองว่า กุญแจคือสิ่งที่ส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการรายย่อย อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่นโยบายเข้มข้นเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ทุกส่วนในห่วงโซ่อุปทานนี้ขยับตัวกันอย่างรวดเร็ว”
ขณะที่การอภิปรายหัวข้อ ‘จุดประสงค์และแนวทางปฏิบัติ: ธุรกิจการเงินและนักลงทุนในสถาบันสามารถขับเคลื่อนวาระ ESG ในประเทศไทยได้อย่างไร’ ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้ถ่ายทอดมุมมองว่า ESG เปรียบเสมือนน้ำขึ้น กล่าวคือหากเกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน น้ำหนุนนี้ก็จะยกระดับเรือทุกลำขึ้นมา แต่หากทุกคนนิ่งเฉย มันก็สามารถล่มเรือทุกลำได้ด้วยเช่นกัน “กบข. กำลังเดินหน้าศึกษาและทำความเข้าใจว่า สถาบันควรลงทุนกับธุรกิจแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุดต่อการขับเคลื่อนการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะเมื่อต้องคำนึงถึงการจัดอันดับองค์กรเพื่อสะท้อนเป้าหมายความยั่งยืนหรือ ESG Rating ซึ่งปัจจุบันการวัดผลยังมีหลากหลายเกณฑ์ด้วยกัน”
ส่วน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจองค์กรตลาดทุนไทย ได้เล่าถึงการดำเนินการล่าสุดอย่าง Collective Action for Collective Impact “ที่ผ่านมา โครงการเพื่อสังคมหรือ CSR ของแต่ละบริษัทต่างก็มีเป้าหมายและการดำเนินการของตัวเอง ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่หลอมรวมกันเป็นภาพใหญ่ที่ต่อเนื่อง ตอนนี้หลายหน่วยงานจึงมาร่วมมือกันสร้างโครงการ CSR ที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน และผมมั่นใจว่านี่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
“ร้อยละ 80 ของขยะมหาสมุทรมาจากแม่น้ำทั้งหมด ดังนั้นเราจึงเชิญชวนบริษัทต่าง ๆ มาจัดการปัญหาขยะที่ปากแม่น้ำ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปเลยว่าบริษัทใดดูแลแม่น้ำเจ้าพระยา บริษัทใดดูแลแม่น้ำบ่างปะกง ท่าจีน แม่กลอง ซึ่งต่อไปเราจะขยายไปสู่การดูแลลำคลองสายเล็กต่าง ๆ อย่างทั่วถึงด้วย”
การอภิปรายหัวข้อ “การเงินและการลงทุนของภาคเอกชนสามารถเร่งการเติบโตสีเขียวในประเทศไทยได้อย่างไร” คุณอนุจ เมห์ตา (Anouj Mehta) ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย (Asian Development Bank : ADB) ได้ให้แนวคิดว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุดในโลก ดังนั้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก และการจะทำให้ภูมิภาคนี้มีโครงการสีเขียวมากขึ้น เราต้องการเงินทุนถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี อย่างไรก็ตาม ความท้าทายคือปัจจุบันยังไม่มีเงินทุนจากภาคเอกชนไหลเวียนเข้ามามากพอ ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นจำเป็นต้องผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่น่าสนใจต่อภาคเอกชน เพื่อดึงดูดเงินทุนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภค การเดินทางในเมือง การประปาไฟฟ้า”
ในขณะที่ตัวแทนจากภาคเอกชน คุณณัฐวุฒิ อินทรโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ได้แบ่งปันแนวคิดว่าปัจจุบัน ESG ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่มันคือทางรอดที่ทุกธุรกิจต้องทำ “เราได้พัฒนาฉลาก SCG Green Choice ขึ้น เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าสินค้าชั้นนั้น ๆ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว อย่างบ้านที่ก่อสร้างและใช้วัสดุของ SCG ตั้งแต่หลังคาจรดพื้นล้วนได้รับการรับรองฉลากนี้
“ในการประชุม COP27 ที่ผ่านมา เราได้ประกาศเป้าหมายในการพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำNet Zero Concrete and Cement Roadmap เป็นแห่งแรกของโลก โดยได้รับการรับรองจาก European Cement Research Academy ซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีความร่วมมือของสมาคมต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปีหน้า เราได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดปริมาณคาร์บอนหนึ่งล้านตันออกจากอุตสาหกรรมให้ได้ นอกจากนี้เรายังร่วมขับเคลื่อนสระบุรีแซนบ็อก ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย”
และช่วงสุดท้ายของงาน คือเวทีอภิปรายหัวข้อ 'ก้าวต่อไป – วิธีส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างภาคเอกชนและตลาดการเงินในประเทศไทย เพื่อขยายการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน ให้ธุรกิจสามารถรับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม’
คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แสดงวิสัยทัศน์ว่า “ธนาคารออมสินวางบทบาทตัวเองเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือชุมชนและผู้คน รวมถึงแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้าง โดยกลยุทธ์ของเราคือ การนำผลกำไรจากรกิจเชิงพาณิชย์ ไปอุดหนุนธุรกิจเชิงสังคม”
คุณวิทัยยกตัวอย่างโครงการที่ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ลงทุนในโครงการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดมาเป็นกาแฟ ซึ่งไม่เพียงเป็นพืชรักษาป่าแต่ยังมีราคาที่สูงกว่าด้วย
ด้าน คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวถ้อยแถลงว่า “วิสัยทัศน์ของกสิกรไทยคือการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ความท้าทายของเรื่องนี้คือเราจะแปลงวิสัยทัศน์ต่าง ๆ ออกมาเป็นตัวเลขที่สัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร นับจากวันนี้ไปจนถึงปี 2030 เราให้คำมั่นว่าจะลงทุนในสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 1-2 แสนล้านบาท นอกจากนี้เราได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Net Zero ในปี 2030 และตัวอย่างการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง สโคปที่ 1 และ 2 ของเรา คือการเปลี่ยนรถทำงานของธนาคารที่มีอยู่กว่า 2,000 คันทั่วประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาธนาคารกว่า 200 สาขา”
ขณะที่ คุณอุทัยวรรณ อนุชิตานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารความเป็นเลิศและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ได้บอกเล่าถึงการดำเนินงานว่า “ในแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการพื้นที่ของมากกว่า 1 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน พักผ่อน หรือการใช้บริการอื่น ๆ การที่เราเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของผู้คนนับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนมิติต่าง ๆ ไปสู่ผู้บริโภค ในการพัฒนาพื้นที่ เราเข้มงวดกับการตรวจสอบให้อสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตอบโจทย์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด นอกจากนี้ หนึ่งในความท้าทายของการมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ คือการบริหารจัดการของเสียและขยะ โดยเรามีเป้าหมายที่จะลดของเราไปยังหลุมฝังให้ได้ถึงร้อยละ 70”
คุณจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิทยากรคนสุดท้ายของงานในวันนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการขับเคลื่อนระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่วิทยากรทุกท่านต่างพูดตรงกันคือเรื่องของความร่วมมือ เราไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้เพียงลำพังได้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ กลต. สามารถทำได้ในวันนี้คือการสร้างความเข้มแข็งให้คณะผู้ขับเคลื่อนหลักหรือ Key Driver ซึ่งก็คือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามางาน Sustainable Thailand ในวันนี้ เพื่อขยายขีดความสามารถและทำให้ระบบนิเวศการเงิน การธนาคารและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยเติบโตต่อไป”