ฑิตยา บุณยรัตพันธุ์ นักเรียนแพทย์ผู้สร้างสรรค์สุขภาวะทางเพศด้วยการสร้างค่านิยมใหม่
ㅤ
SDGs Youth Panel
เมื่อพูดถึงความรุนแรงทางเพศ หลายคนอาจรู้สึกว่ามันช่างไกลตัว... แต่ที่จริงปัญหานี้เป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด การทำร้ายผู้อื่นไม่ได้มีแค่ทางร่างกาย เพราะการด่าทอ ทำร้ายจิตใจกันด้วยคำพูดทั้งต่อหน้าและบนโลกออนไลน์ ล้วนสร้างบาดแผลให้ผู้ถูกกระทำเหมือนกัน
ความรุนแรงทางเพศเป็นเพียงปัญหาหนึ่ง ในอีกหลายประเด็นทางเพศที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอาย หรือหวาดกลัวเกินกว่าที่จะพูดถึง ด้วยค่านิยมเดิม ๆ ที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม และคนที่ส่งเสียงถึงเรื่องนี้มักถูกตีตราตัดสินจากคนรอบข้าง
ปัน-ฑิตยา บุณยรัตพันธุ์ คือนักเรียนแพทย์ชาวไทยที่เคยเป็นผู้ช่วยระดับภูมิภาคของ SCORA Asia Pacific ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาแพทย์ผู้สนใจประเด็นทางเพศและมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดย SCORA เป็นหน่วยย่อยของ IFMSA (International Federation of Medical Students' Associations) องค์กรนักศึกษาแพทย์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด และมีส่วนผลักดันการแก้ปัญหาสาธารณสุขในโครงการต่าง ๆ จากพลังเยาวชนทั่วโลก
การเป็นนักศึกษาแพทย์ ทำให้ปันได้เรียนรู้ว่าปัญหาสุขภาพของผู้คนไม่ได้มีสาเหตุมาจากร่างกายอย่างเดียว แต่ปัจจัยทางสังคมก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพทางเพศ ที่พ่วงมากับมิติทางสังคมเสมอ เช่น การตีตราบาปในเรื่องของการให้บริการทางเพศ เมื่อพูดถึง คนจำนวนมากในสังคมจะมีความรู้สึกลบเป็นอัตโนมัติต่อผู้ให้บริการทางเพศไปแล้ว ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปัญหายังค้างคาอยู่โดยไม่มีใครพูดถึงและพยายามแก้ไข
นอกจากทำงานกับเครือข่ายเยาวชนทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ทุกวันนี้ปันทำงานกับหลากหลายองค์กรที่นำโดยผู้ใหญ่เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางเพศ เธอร่วมทำวิจัยกับมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ในประเด็นการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศ รวมถึงสุขภาพใจของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในทีมเยาวชนที่ปรึกษาของสหประชาชาติประเทศไทย (Youth Panel for Sustainable Development Goals : SDGs Youth Panel) เพื่อส่งเสียงไปถึงผู้ใหญ่ในสังคมที่มีอำนาจตัดสินใจและเป็นผู้สร้างนโยบายพัฒนาประเทศ
โดยในเดือนมีนาคมนี้ ปันจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสภาพสตรี (Commission on the Statues of Women) สมัยที่ 67 ที่นครนิวยอร์ก การประชุมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมความความเสมอภาค ในฐานะตัวแทน IFMSA นักศึกษาแพทย์ชาวไทย
นักศึกษาแพทย์วันนี้ คือกำลังสำคัญของการระบบสาธารณสุขในอนาคต และการรักษาอาการป่วยไข้แล้วจบไป ไม่อาจแก้ปัญหาสุขภาพทางเพศได้อย่างยั่งยืน ปันได้ชวนพูดคุยถึงความซับซ้อนและการผลักดันประเด็นทางเพศ ที่เป็นหนึ่งในหัวใจของการสร้างสุขภาพที่ดีให้ผู้คน ตลอดจนพัฒนาระบบสุขภาพที่แข็งแรง
รักษาในทุกด้านความเป็นมนุษย์
เพราะเป็นวัยรุ่นที่สนใจอะไรหลายอย่าง ทั้งชอบวิทยาศาสตร์และรักในงานสร้างสรรค์ ชีวิตวัยมัธยมของปันจึงผ่านการทำกิจกรรมมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่วาดรูป เขียนเรื่องสั้น ทำธุรกิจจำลอง ไปจนถึงสร้างงานประดิษฐ์วิศวกรรมการแพทย์ แม้ว่าปันจะมีความสนใจหลากหลาย แต่สุดท้ายแล้วเธอก็เลือกเรียนต่อคณะแพทย์ศาสตร์ เพราะวิชาชีพนี้ ทำให้เธอได้ใช้ศักยภาพและความสนใจทั้งหมดร่วมกันได้อย่างดี
“เราไม่ได้เรียนแค่วิธีรักษาคนไข้อย่างเดียว แต่ยังได้เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ในมิติต่าง ๆ ด้วย อย่างการรักษาแบบองค์รวม (Holistic Care) ซึ่งแพทย์ต้องเยียวยาคนไข้ผ่านมุมมองในทุกด้านความเป็นมนุษย์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะโรคที่เป็นหรือแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย”
“ตั้งแต่ปีหนึ่ง เราได้ลงพื้นที่จริงสำรวจงานด้านสาธารณสุข และประสบการณ์เหล่านั้นก็ทำเข้าใจมากขึ้นว่าการป่วยไข้ของผู้คนมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคมไม่มากก็น้อย ปัญหาสุขภาพบางอย่างเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แก้แค่ตัวคนไข้ไม่ได้ แต่ต้องมองในภาพรวมถึงระดับสังคม”
อย่างที่สถานสงเคราะห์เด็กชุมชนคลองเตย ซึ่งปันและเพื่อนนักศึกษาแพทย์เคยไปลงพื้นที่ เยาวชนบางคนไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนมาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งปัญหาทางสังคมเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการท้องไม่พร้อม หรือการติดโรคทางเพศสัมพันธ์
ปันเล่าอย่างกระตือรือร้นว่าชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ ที่แม้จะเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่า เพราะมีบทเรียนมากมายให้เก็บเกี่ยวทั้งในและนอกห้องเรียน เธอจึงไม่ลังเลที่จะทำกิจกรรมอย่างเต็มที โดยเฉพาะกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เธอได้ทำความเข้าใจประเด็นสุขภาพในมิติทางสังคมมากขึ้น
เรื่องเพศที่ซับซ้อนและอ่อนไหว
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ หรือ IFMSA (International Federation of Medical Students' Associations) คือแหล่งรวมตัวอนาคตคุณหมอที่สนใจการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยมีเครือข่ายมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก นับเป็นองค์กรของนักศึกษาแพทย์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก อย่างในไทย IFMSA Thailand ก็มีสมาชิกนักศึกษาแพทย์จาก 19 สถาบันทั่วประเทศ และแน่นอนปันก็เป็นหนึ่งในนั้น
“IFMSA แบ่งการทำงานออกเป็นหลายส่วน แต่ละประเทศจะผลักดันโครงการต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ประเด็นสาธารณสุข สิทธิมนุษยชน จนถึงสุขภาพทางเพศ ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักศึกษาแพทย์แต่ละคน และแม้จะเป็นองค์กรเยาวชน แต่ทุกประเทศก็มีการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้า ทำให้เราได้ศึกษาปัญหาแต่ละประเด็นอย่างจริงจัง”
ปันเล่าว่าเธอสนใจมิติทางสังคมและความเป็นมนุษย์ การลงพื้นที่หลายต่อหลายครั้งทำให้เธอได้เห็นความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพทางเพศ อย่างการตีตราบาป (Stigma) ที่พ่วงมากับประเด็นทางเพศเสมอ ลองคิดตามง่าย ๆ เมื่อพูดถึงการให้บริการทางเพศ หรือการทำแท้ง คนจำนวนไม่น้อยในสังคมยังมีความรู้สึกทางลบ และตีตราผู้ให้บริการทางเพศหรือคนทำแท้งอยู่ดี
เธอจึงย้ายมาทำงานให้หน่วยย่อยของ IFMSA ที่ผลักดันเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ เอชไอวีและเอดส์ อย่าง SCORA (Standing Committee on Sexual & Reproductive Health and Rights Including HIV & AIDS) ซึ่งขอบข่ายการทำงานของหน่วยย่อยนี้ครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก ตลอดจนการยุติความรุนแรงทางเพศด้วยเช่นกัน
นอกจากปันแล้ว ผู้นำเยาวชนในเครือข่าย SDG Youth Panel อีกคนอย่าง เมจิ-ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนักศึกษาแพทย์แห่งนี้เช่นกัน โดยเนื้องานที่เมจิกำลังผลักดันมุ่งเน้นไปที่การกำหนดนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทยในภาพกว้าง ต่างจากปันที่สนใจลงลึกมาที่เรื่องสุขภาพทางเพศ
วิชาชีพที่เป็นมากกว่าแค่อาชีพ
ภัยใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ที่มีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่การด่าว่า ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่มักปิดปากเงียบไม่กล้าไปแจ้งความ หรือแม้แต่จะเล่าให้ใครฟัง
“SCORA Thailand จึงจัดเสวนาออนไลน์ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงประเด็นนี้แก่นักศึกษาแทพย์ โดยหนึ่งในวิทยากรคือพี่เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายที่ก่อตั้ง SHero พื้นที่ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือทางกฎหมายกับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว งานเสวนาไม่เพียงแค่มอบแรงบันดาลใจ แต่เรายังได้เห็นตัวอย่างนักขับเคลื่อนสังคมที่ใช้วิชาชีพของตัวเองสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
“หนึ่งในเคสที่พี่เบสเคยเจอ คือผู้หญิงพม่าที่ย้ายมาอยู่ไทยและโดนสามีต่อยจนฟันหัก แต่ตำรวจที่รับเรื่องกลับหัวเราะที่เธอฟันหลอ กลายเป็นว่าเหยื่อความรุนแรงถูกล้อเลียน แทนที่จะได้รับการช่วยเหลือ ยังไม่นับพฤติกรรมโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ของคนในสังคม ที่มักปรักปรำว่าเรื่องเลวร้ายนั้นต้นเหตุมาจากผู้ถูกกระทำเอง ผู้เสียหายจำนวนมากจึงไม่สามารถออกจากวงจรความรุนแรงไปได้”
อย่างไรก็ตาม แม้เหยื่อบางคนจะหลุดพ้นวังวนความรุนแรงมาได้แล้ว แต่การที่พวกเขายังต้องเล่าความบอบช้ำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตลอดกระบวนการยุติธรรม คือสิ่งที่จะสร้างบาดแผลทางใจ (Trauma) ระยะยาว ที่อาจต้องใช้เวลานับปีหรือชั่วชีวิตในการเยียวยา “ประเด็นทางเพศเป็นเรื่องที่กระทบใจเรา เพราะมันไม่ใช่แค่สุขภาพทางร่างกาย แต่มีอารมณ์และความเป็นมนุษย์ซ่อนอยู่เสมอ”
ปันเล่าว่าหลังงานเสวนาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว SCORA จัดเสวนาออนไลน์อีกหลายครั้ง หนึ่งในนั้นเป็นประเด็นเกี่ยวกับพนักงานบริการทางเพศ ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น SCORA ก็ได้พาน้อง ๆ นักศึกษาแพทย์ไปลงพื้นที่ย่านพัฒน์พงศ์ด้วย เมื่อได้ไปสัมผัสชีวิต ได้พูดคุยกับพี่ ๆ พนักงานบริการ เราก็ได้เห็นความเสี่ยงและความยากลำบากในการทำงานของเขา
“ทั้งหมดนี้เพื่อย้อนกลับมาที่คำถามว่า เราสามารถใช้วิชาชีพของเราในฐานะแพทย์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นได้ยังไงบ้าง โดยเฉพาะประเด็นทางเพศที่ซับซ้อนและอ่อนไหวกว่าที่หลายคนคิด”
สุขภาพคนรุ่นใหม่ที่ต้องถูกดูแล
ความเจ๋งของ IFMSA คือการมีสมาชิกเป็นนักศึกษาแพทย์จากทั่วโลก โดยทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือแพชชั่นในการแก้ไขปัญหาสังคม “ตอนปีสาม เราได้ไปช่วยจัดงานประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การได้ไปพูดคุยกับเพื่อน ๆ ประเทศอื่น มันยิ่งสร้างพลังให้เราอยากกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศตัวเอง เพราะเมื่อระบบสุขภาพระดับท้องถิ่นแข็งแรง มันก็จะสร้างความแข็งแกร่งให้สุขภาพระดับภูมิภาคและระดับโลกไปด้วย”
ปันจึงสมัครเข้าเป็นผู้ช่วยระดับภูมิภาคของ SCORA Asia Pacific ตลอดทั้งปีเธอจึงได้ทำหน้าที่ดูแลและติดตามการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของ SCORA กว่า 20 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทยด้วย โดยวาระการทำงานของปันเพิ่งจบไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
“หลักการของเราคือ Think Globally, Act Locally และมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ การได้ทำงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกับนักศึกษาแพทย์หลากหลายเชื้อชาติ ทำให้เราเรียนรู้ว่าแม้จะเป็นปัญหาสุขภาพเดียวกัน แต่ทุกประเทศก็มีบริบทที่ห่อหุ้มปัญหานั้นๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขในรูปแบบที่แตกต่างกันไปด้วย”
การทำงานในระดับสากล ทำให้ปันได้พบเพื่อนเครือข่ายอื่นอีกมากมายนอกจากกลุ่มนักศึกษาแพทย์ อย่าง Youth Voices Count เครือข่ายเยาวชนที่สนับสนุนอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศที่หลากหลาย ซึ่งเธอได้ไปแจมในแคมเปญ QueerXBodies ซีรีย์สัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวเยาวชนจากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก ที่กำลังผลักดันประเด็นทางเพศในมิติ LGBTQIA+
“เราได้ไปทำวิจัยเรื่องการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศ ร่วมกับให้มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ซึ่ง เกี่ยวเนื่องมาถึงเรื่องสุขภาพใจของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย แม้เราจะกันพูดว่าทุกวันนี้สังคมเปิดกว้างต่อความหลากหลายแล้ว แต่เยาวชน LGTQIA+ จำนวนมากมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล จากการที่ไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนได้อย่างเต็มที่ บางคนถูกบังคับให้เปลี่ยนตัวตนทางเพศ รวมถึงถูกกระทำความรุนแรงจากคนใกล้ตัวและคนแปลกหน้าในสังคม”
การมีส่วนร่วมของเยาวชนที่มีความหมาย
“เพศศึกษาในโรงเรียนเป็นพื้นฐานสำคัญของสุขภาวะทางเพศ เราเคยไปทำงานอาสาสมัครที่สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า ซึ่งสอนเรื่องนี้ให้น้อง ๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ส่วนไหนในร่างกายที่เราไปแตะต้องคนอื่นไม่ได้ และคนอื่นก็ไม่ควรมาแตะของเรา อาจฟังเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วเป็นพื้นฐานที่ทำให้เยาวชนหนักแน่นในสิทธิเหนือเรือนร่างและการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชน หรือความตระหนักเรื่อง LGBTQIA+ ว่าเพศสภาพในโลกใบนี้นั้นมีหลากหลาย ก็ควรปลูกฝังกันตั้งแต่ในโรงเรียนเหมือนกันกัน”
ในอุดมคติ ทุกคนมีสิทธิใช้ชีวิตบนทางที่เลือกอย่างภาคภูมิใจ แต่ในความเป็นจริง สภาพแวดล้อมทางสังคมยังกดทับเด็กและเยาวชนทั่วโลกให้ต้องเดินบนค่านิยมดั้งเดิมของสังคม นำมาสู่ปัญหาต่างๆ อย่างที่คุยกับปันไปทั้งหมด
ในฐานะเยาวชน ปันมองว่าเธอต้องส่งเสียงถึงเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เธอจึงเข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาเยาวชนให้องค์กรที่นำโดยผู้ใหญ่หลายแห่ง รวมถึงเข้าร่วมเครือข่ายผู้นำเยาวชน SDGs Youth Panel โดยองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย เพื่อแสดงความคิดเห็น ให้เสียงจากเยาวชนไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจและสร้างนโยบายอย่างจริงจัง
“ช่วงปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้บอกเล่าจากมุมมองของเยาวชนที่ทำงานเรื่องนี้ในหลายเวที แต่ครั้งที่ตื่นเต้นที่สุด คืองานวันสตรีสากลโดย UNAIDS Asia Pacific หน่วยงานที่ขับเคลื่อนการยุติการติดเชื้อเอชไอวี การเลือกปฏิบัติ และการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เป็นงานที่จุดประกายสุด ๆ เพราะได้พบพี่ ๆ หลายคนจากหลายประเทศที่ทำงานผลักดันเรื่องนี้มายาวนาน
ปันมองว่า หัวใจของการสร้างความเปลี่ยนแปลงคือการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่มีความหมาย (Meaningful Youth Engagement) อย่างนักศึกษาแพทย์ที่ในอนาคตจะกลายเป็นกำลังสำคัญของระบบสาธารณสุข การมีส่วนร่วมของพวกเขาในวันนี้ จะนำไปสู่การสร้างระบบสุขภาพที่ดีและสังคมที่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้ว ความยั่งยืนในทุกมิติล้วนเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งและยั่งยืน มันย่อมเชื่อมต่อให้ประเด็นทางสังคมอื่น ๆ พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วยเช่นกัน
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช, เรียบเรียง รวีกานต์ อมรัชกุล, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030