ปลัด มท. มอบนโยบายผู้ว่าฯ 14 จังหวัดภาคใต้ เน้นย้ำการทำงานแบบ Partnership ส่งเสริมกลไก “กรมการอำเภอ” และ “หย่อมบ้าน” ร่วมพัฒนาไทยสู่ความยั่งยืนกับสหประชาชาติ
ㅤ
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย อาคารบริหารและสำนักงานกลาง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีของประชาชนในจังหวัดพัทลุง และ 14 จังหวัดภาคใต้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดป้ายสนามกีฬาสิริวัณณวรี และเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ด้วยพระราชปณิธานในการอนุรักษ์และต่อยอดผ้าไทยตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นำมาขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงงานด้านภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์อย่างต่อเนื่อง ทรงส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้กับช่างและผู้ประกอบการผ้าไทย ทั้งยังพระราชทานแนวทางการนำพืชท้องถิ่นมาใช้เป็นสีธรรมชาติแทนสีเคมี และทรงสนับสนุนการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม โดยพื้นที่ที่ไม่เอื้อให้ปลูก กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำการจับคู่เกษตรกรแต่ละภูมิภาคให้มาแลกเปลี่ยนวัสดุกัน เช่น ตลาดผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยปัจจุบันหลายกลุ่มได้เริ่มจับคู่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนแล้ว
นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวถึงการร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ด้วยแนวคิด Change for Good “โลกนี้เพื่อเรา” ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดของไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ว่ากระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ตั้งเจตจำนง “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทย”
และได้มอบปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 ซึ่งมุ่งยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือของหลายภาคส่วนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานแบบ Partnership และสนับสนุนให้รื้อฟื้นกลไก “กรมการอำเภอ” โดยกลไกดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสร้างระบบ “หย่อมบ้าน” หรือ “คุ้ม” ให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่ประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ให้การสนับสนุนจังหวัดภูเก็ตในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand ปี พ.ศ. 2571 ภายใต้ธีมงาน Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity ชีวิตแห่งอนาคต-แบ่งปันความรุ่งเรือง เพื่อแสดงศักยภาพให้ทั่วโลกเห็นถึงผลลัพธ์แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุกภาคส่วนของไทย ของจังหวัดภูเก็ต
จากนั้น นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารจังหวัดทุกท่าน ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้สังคมและชุมชนเดินหน้าพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันทีมงานสหประชาชาติทั้ง 21 หน่วยในประเทศไทย ได้ทำงานสอดประสานเป็นแนวทางเดียวกับทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ข้อ อย่างเป็นองคาพยพ และการลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ก็นับเป็นการประสานความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นขององค์การสหประชาชาติและทุกจังหวัด นับจากนี้การบริหารจัดการในหลายมิติจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชนสู่ทักษะแห่งอนาคตอย่างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) ตลอดจนอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ การคิด และการเขียน