UN ร่วมผนึกกำลัง 'Change for Good' มท.-ทส. ส่งเสริมผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ริเริ่มวัดค่าคาร์บอนด้วยมาตรฐาน UNFCCC
20 กุมภาพันธ์ 2023
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นางกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมเป็นประธานเพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนาม
นางกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการริเริ่มทดสอบการวัดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตผ้าไทย โดยใช้มาตรฐานสากลที่กำหนดโดยกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)
“ภาคส่วนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นสัดส่วน 6 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก การประเมินรอยเท้าคาร์บอนในกระบวนการผลิตสิ่งทอระดับท้องถิ่น จึงนับเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษอย่างครบวงจร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่สู่การผลิตผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป นอกจากนี้ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ สตรีไทยผู้ทอผ้าเกือบ 2,000,000 คน ที่ทำงานผ่านกลุ่มทอผ้ากว่า 100,000 กลุ่มที่ผลิตผ้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนี้เช่นกัน”
นางกีต้ายังกล่าวถึงพระประสงค์อันแรงกล้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อความยั่งยืน พระองค์ไม่เพียงทรงริเริ่มการนำสีย้อมธรรมชาติมาสู่ชาวไทย แต่ยังทรงสนับสนุนการยกระดับฝีมือแรงงานหัตถกรรม โดยการนำนักออกแบบแฟชั่นระดับชั้นนำมาทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีทอผ้า ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในเชิงเศรษฐกิจและการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “วันนี้เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่” ของความพยายามที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในวิถีการผลิตผ้าไทย ซึ่งนับตั้งแต่เราพยายามพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ การใช้สารเคมี-สีเคมี ก็ฝังอยู่ในจิตสำนึกของวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน
โดยนายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวขอบคุณทีมงานทุกคน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 7 ภาคีเครือข่าย รวมถึง UN ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ช่วยกัน Change for Good ลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาให้โลกใบนี้อยู่คู่กับลูกหลานของเราไปอีกยาวนาน โดยการการดำเนินงานนี้นับเป็นโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกับนานาชาติ
ขณะที่ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือในวันนี้นับเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 จากนี้ไปนอกจากผ้าไทยจะช่วยเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน มีคุณค่าต่อชุมชนและสังคมแล้ว ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพิ่มโอกาสการแข่งขันด้านการตลาดกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรที่มีความยั่งยืน”
และในช่วงท้าย นางกีต้า ได้กล่าวสรุปว่า “ทั้งนี้ สหประชาชาติและกระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมมือเป็น Partnership กันเพื่อสร้างประโยชน์และการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนในระยะยาวและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ ในขณะเดียวกันก็จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนทางสังคมให้กับผู้คนหลายล้านคนในอีกหลายปีข้างหน้า”