พัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย เมื่อการสื่อสารเรื่อง Climate Change ที่ทรงพลัง เปลี่ยนความคิดคนและโลกได้
ㅤ
SDGs Youth Panel
น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำท่วมโลก หมีขั้วโลกไม่มีที่อยู่ นี่คือภาพที่คนมักจะนึกถึงเวลาพูดถึงภาวะโลกร้อน แต่เกรซ-พัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย มองไปไกลกว่านั้น ปัญหาโลกร้อนมันใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
ภัยแล้ง ไฟป่า ปัญหามลพิษทางอากาศ การที่หลายคนต้องเจอกับปัญหาระบบทางเดินหายใจ ไอเป็นเลือด เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด จนเราต้องใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 กันอยู่ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติที่ทุกคนควรชิน
ภาวะฉุกเฉินของมนุษยชาติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวเลขอุณหภูมิโลกช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ทุกมุมโลก แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราตั้งคำถามซ้ำ ๆ กับวิธีแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นเพราะการสื่อสารที่ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์และลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยกันทันที จนหลายครั้งต้องมีคนบางกลุ่มถูกทิ้งให้เผชิญกับวิกฤติโลกร้อนลำพัง” คือมุมคิดที่นักเคลื่อนไหวชาวไทยวัย 16 ปีคนนี้ ย้ำระหว่างการสัมภาษณ์ โดยเธอกล่าวเพิ่มด้วยว่า “ถ้าจะแก้ปัญหาโลกร้อน เราต้องกลับมาปรับการสื่อสารให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และเข้าใจได้ง่ายกว่านี้
โลกใบนี้จะรอดหรือไม่ คนจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนอยู่ในวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เราจะแก้ด้วยวิธีไหน บทบาทของเกรซหลายปีที่ผ่านมาคือการสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมต้องหยุดและหันกลับมามองและขยี้ประเด็นใกล้ตัวเหล่านี้ ซึ่งเป็นความจริงที่ทุกคนควรจะได้รับรู้อยู่แล้ว
ตอนสุดท้ายของซีรียส์บทความ SDGs Youth Panel ครั้งนี้ ชวนคุณมาอ่านเรื่องที่คุณ (อาจจะ) ไม่เคยรู้เกี่ยวกับบทบาทตัวแทนประเทศไทยที่ใช้ “การสื่อสาร” ส่งต่อความคิดสู่ข้อเสนอนโยบายถึงผู้นำระดับโลกในเวทีสำคัญ อย่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อการประชุม Conference of Parties (COP) และทำไมเสียงของคนรุ่นใหม่กว่า 599 ล้านคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศคือทางรอดของโลกอนาคต
จุดประกายสู่การ take action
เกรซเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอได้ยินเรื่องโลกร้อนมาบ้าง แต่เพราะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างช่วยบรรเทา จึงไม่เคยรู้ว่าผลกระทบของมันสะเทือนเป็นวงกว้างขนาดไหน จนกระทั่งได้เข้าร่วมค่ายผู้นำเยาวชนพลเมืองคาร์บอนต่ำ
“จากที่ไม่ได้อินเรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น การเข้าค่ายทำให้เราเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าหากัน และได้เห็นว่าทุกอย่างมันส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ อย่างเรื่อง PM 2.5 รู้ไหมว่าโลกร้อนทำให้พื้นที่ยิ่งแห้งแล้งและทำให้ไฟป่าในแต่ละปีรุนแรงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดขึ้นของฝุ่นพิษ
“จุดเปลี่ยนที่สร้างแรงผลักดันให้เราอยาก take action อะไรบางอย่าง คือการค้นพบว่าคนกลุ่มเปราะบางในสังคมจะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากกว่าคนอื่น ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่คนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเลยด้วยซ้ำ อย่างคนหาเช้ากินค่ำในสังคมที่ปกติพวกเขาก็ใช้ชีวิตยากลำบากกันอยู่แล้ว น้ำท่วม ไฟป่า ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ผลพวงจากโลกร้อนเหล่านี้ จะยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลงไปอีก
“เราเริ่มติดตามข่าวระดับโลกและได้รู้จักกับเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunburg) เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่จุดประกายให้คนมากมายหันมาสนใจเรื่องโลกร้อน ทำให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ฟังดูซับซ้อนกลายเป็นเทรนด์ที่พลเมืองโลกเข้าใจลึกซึ้ง และที่สำคัญ Climate Action ของเกรตาทำให้เราเห็นว่าทุกคนในสังคม แม้จะเป็นเด็กหรือเยาวชนก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น แสดงเจตจำนง และเรียกร้องต่อข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเรา”
เสียงของทุกคนมีความหมาย
เมื่อสหประชาชาติประกาศรับสมัครตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปเข้าประชุม Youth4Climate ซึ่งจัดใกล้ๆกับการประชุม COP ครั้งที่ 26 ร่วมกับเยาวชนทั่วโลกอีกกว่า 400 คน จาก 187 ประเทศ เกรซจึงไม่ลังเลที่จะเขียนเรียงความบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองส่งไป เพราะเธอเชื่อมั่นว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
เกรซเล่าว่าเธอตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะทำ vlog เก็บภาพบรรยากาศและสัมภาษณ์เพื่อนใหม่จากทั่วโลก ที่ได้เจอในเวทีประชุม Youth4Climate ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี “หนึ่งในกลุ่มคนที่เราได้สัมภาษณ์คือนักการเมืองหญิงสีเขียว (green politician) จากประเทศเอสโตเนีย เธอทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ส่วนอีกคนคือผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่เพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่แก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มต้นที่ประเทศสวีเดนก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก”
เกรซเล่าว่า “มันน่าทึ่งมากที่ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวกับหลาย ๆ คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน อย่างพี่ๆ จากประเทศเอสโตเนียที่มอบแรงบันดาลใจและมุมมองใหม่ๆ ให้เรา ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เป็นเรื่องพลังและความเป็นผู้นำของผู้หญิงด้วย แค่เห็นสายตา คำพูด การกระทำของทั้งคู่ เราก็รับรู้ได้ถึงแพชชันของพวกเขาที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ”
“จุดมุ่งหมายของ Youth4Climate คือการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ร่วมกันระดมความคิดและร่างข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จากการประชุมครั้งนั้น พวกเราได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายสร้างพื้นที่และเสริมสร้างพลังให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสภาพอากาศจริงๆ และยังได้เรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกให้คำมั่นว่าจะยกระดับ เคารพ และปฏิบัติตามเสียงของชนพื้นเมือง ผู้หญิง และผู้เปราะบาง”
หลังกลับจากการประชุม เกรซได้รับการติดต่อจากหลายหน่วยงานให้ไปร่วมการพูดคุย กล่าวเสวนา และประชุมกับผู้นำและคนสำคัญของประเทศเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในฐานะตัวแทนเยาวชน
“ตอนนั้นเรายังใหม่มากกับเส้นทางนี้ แต่เมื่อได้รับโอกาสมาแล้ว ก็อยากทำให้มันคุ้มค่าโดยเรามองว่าการส่งผ่านแนวคิดของคนรุ่นใหม่จำเป็นมากเพราะพวกเราไม่ได้เป็นเพียงคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยรัฐบาลในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอีกด้วย ตอนนั้นเราเริ่มต้นจากการเข้าไปพูดคุยกับนักกิจกรรมและเยาวชนหลายเครือข่ายที่มุ่งมั่นทำงานด้านนี้มายาวนานหลายสิบปี จากนั้นก็มารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อไปเสนอต่อผู้มีอำนาจอย่างตรงประเด็นและเป็นประโยชน์ที่สุด”
กระบอกเสียงที่สร้างความยุติธรรม
เมื่อมีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในเวลานั้น เกรซได้นำเสนอปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่คนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนยากจน ไปจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต้องพบเจอ
“ผู้เปราะบางมักได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงแต่ถูกละเลย ในวันที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพจึงสำคัญอย่างมากต่อการบรรเทาผลกระทบทางลบที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ อธิบายง่ายๆ ก็คือ คนไทยทุกคนต้องสามารถฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสิ่งที่คุกคามสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของพวกเขาได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส แม้คู่กรณีจะเป็นผู้มีอิทธิพลก็ตาม”
เกรซยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนอย่างมากและ กินเวลายาวนานในชั้นศาลกว่าชาวบ้านจะได้รับความยุติธรรมรวมถึงเงินเยียวยาสุขภาพและโอกาสที่เสียไป โดยเหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆ กันนี้ มีอยู่ในหลายพื้นที่
“การได้เป็นตัวแทนเขียนข้อเสนอ และนำข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ไปพูดต่อหน้าผู้มีอำนาจตัดสินใจถือเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ หาประสบการณ์ เพื่อให้การเป็นกระบอกเสียงของเรามีประสิทธิภาพ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นดีขึ้นจริง"
ความทรงพลังของการสื่อสาร
การสื่อสารคือเครื่องมือที่ทรงพลัง Speeches that Changed the World หรือชื่อไทยว่า สุนทรพจน์ก้องโลก คือหนังสือเล่มโปรดของเกรซ
นี่คือหนังสือรวบรวมถ้อยคำเปลี่ยนโลกของผู้นำประเทศหรือนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทรงพลังพอที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้คนมากมาย เกรซเชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ความเกลียดชัง และไม่มีอคติ ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ วันสตรีสากลปีที่แล้ว เมื่อเกรซมีโอกาสขึ้นพูดสุนทรพจน์บนเวทีของสหประชาชาติ เธอจึงเลือกพูดในหัวข้อ Change the mind, change the climate
“เรื่องบันดาลใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนบนเส้นทางนี้สอนให้รู้ว่า เราไม่สามารถทำให้ทุกคนตระหนักถึงความร้ายแรงของวิกฤติโลกร้อนได้ด้วยข้อมูลเพียงชุดเดียว ภัยพิบัติจะยิ่งรุนแรง สิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์ ไม่ใช่ทุกคนจะอินกับข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ในฐานะผู้สื่อสาร เราต้องรู้ก่อนว่าคนที่พยายามสื่อสารด้วยเป็นใคร จากนั้นจึงบอกเล่าด้วยประเด็นและมุมมองที่กระทบใจและเชื่อมโยงกับตัวเขา
“บางคนให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม เราก็ต้องเล่าให้เขาตระหนักผ่านมุมมองด้านนี้ เช่นความจริงที่ว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่ของโลก ผู้หญิงยังต้องเก็บเกี่ยวพืชผล เก็บฟืน ตักน้ำ และเลี้ยงดูลูกโดยไม่มีรายได้ใดๆ พวกเธอไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ไร้สิทธิไร้เสียง ไร้บทบาทในการวางแผนนโยบายต่างๆ พวกเธอจึงเป็นคนเปราะบางกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เกรซอธิบาย
สภาพอากาศของโลกที่แปรปรวนบั่นทอนสุขภาพ ความปลอดภัย และการดำรงชีวิตของคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากันดังนั้นเราต้องเปิดพื้นที่ให้ทั้งผู้หญิง ผู้สูงอายุ เด็กหรือกลุ่มเปราะบางอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและออกสิทธิออกเสียง ไม่เฉพาะการวางแผนนโยบายเพื่อรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศ จริงๆ แล้ว การจะแก้ปัญหาใดก็ตาม จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมนี้
ทำไมต้องฟังเสียงเยาวชน?
เมื่อปีที่ผ่านมา เกรซได้เป็น 1 ใน 10 ตัวแทนเยาวชนของเครือข่ายทีมเยาวชนที่ปรึกษาของสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Youth Panel for Sustainable Development Goals : SDGs Youth Panel) ซึ่งมารวมตัวกันนำเสนอความคิดเห็น ร่างเป็นข้อเสนอของเยาวชนที่มีต่อทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย เพื่อนำไปส่งต่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับประเทศ
“เราประทับใจการทำงานครั้งนี้มาก เพื่อนๆ ตัวแทนเยาวชนทุกคนสื่อสารกันด้วยความเคารพ ผู้ใหญ่ที่มารับฟังข้อเสนอก็รับฟังอย่างเปิดใจ ไม่แปะป้ายว่าเราเป็นเพียงเด็กที่ไร้ประสบการณ์ ยังไม่เข้าใจสังคมมากพอ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นมาตลอด การพบกันครึ่งทาง คนทุกฝ่ายแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเพื่อนำไปสู่การลงมือทำจริงๆ
“โดยพวกเราได้เสนอให้เยาวชนต้องมีส่วนร่วมกับ Climate Action ผ่านการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เพราะเยาวชนคือคนกลุ่มต่อไปที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ดังนั้นควรมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เรียนรู้วิธีปรับตัวและแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ SDGs Youth Panel คือตัวอย่างที่จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยเห็นความสำคัญของการมีเยาวชนอยู่ในกระบวนวางแผน ดำเนินงาน และตัดสินใจ”
เกรซบอกทิ้งท้ายว่าการได้เข้าร่วม SDGs Youth Panel ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่ทำให้เธอมั่นใจว่าตัวเองอยากไปต่อด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
โดยตอนนี้เกรซกำลังจะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัย Stanford ที่สหรัฐอเมริกา ในด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเรียนวิชารัฐศาสตร์เป็นวิชาโท (Bachelor of Arts: Economics) ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมถึงการทำงานของภาครัฐและตัวบทกฎหมายต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการขับเคลื่อนการสื่อสารของเธอในอนาคต จะสามารถจุดประกายให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ จนนำไปสู่การลงมือแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนยิ่งกว่าเดิม
เรื่อง นฤปนาท เหรัญญะ, มิ่งขวัญ รัตนคช, ทัตพร นาคการะสิน, ภาพ นิรุตติ จารุไพศาลกิจ
Tags: #SDGsYouthPanel #GlobalGoals #Youth2030 #Phatteeya #Yongsanguanchai #PhatteeyaYongsanguanchai