วันงดสูบบุหรี่โลก พ.ศ. 2566 “เราต้องการอาหาร ไม่ใช่บุหรี่”
ㅤ
วันงดสูบบุหรี่โลกซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ในปี 2566 นี้ประเด็นรณรงค์ คือ “เราต้องการอาหาร ไม่ใช่บุหรี่” การสูบบุหรี่นั้นนอกจากจะเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ในขณะเดียวกันการปลูกใบยาสูบก็ยังส่งผลกระทบในทางลบต่อเกษตรกร ต่อความมั่นคงทางอาหาร และต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ประมาณการว่า ประชากรในประเทศไทย 1 ใน 10 คนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอได้ ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมยังคงถูกใช้เพื่อปลูกใบยาสูบต่อไป ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตใบยาสูบที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียนและเป็นอันดับที่ 16 ในโลก
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหารถึงแม้จะเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่อันดับที่ 13 ของโลก รายงานสถานะความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในปี พ.ศ.2565 ซึ่งตีพิมพ์โดยหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติระบุไว้ว่า ประชากรไทย ร้อยละ 10.5 กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับรุนแรง (กล่าวคือ ไม่มีอาหารรับประทานเป็นเวลาหนึ่งวันหรือมากกว่านั้น) นอกจากนั้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่สอง (SDG 2: ยุติความหิวโหย) เป็นหนึ่งในสองของเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนที่มีการถดถอยลงในประเทศไทย
ผลกระทบของการปลูกใบยาสูบต่อเกษตรกร ครอบครัวและสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบจะมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อความไม่มั่นคงทางอาหารเนื่องจากไม่สามารถบริโภคผลผลิตที่ปลูกเป็นอาหารได้ นอกจากนี้การปลูกใบยาสูบมักจะมีกำไรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เพราะเกษตรกรต้องลงทุนสูงกว่าทั้งในด้านแรงงาน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเชื้อเพลิงสำหรับการบ่มใบยา ข้อมูลจากประเทศฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นว่า รายได้สุทธิต่อพื้นที่ขนาด 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่) สำหรับการปลูกใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย คือ 1,147 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่ารายได้จากการปลูกกระเทียม (1,730 เหรียญสหรัฐ) หรือมะเขือ (2,041 เหรียญสหรัฐ) ในประเทศอินโดนีเซีย เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบต้องทุ่มเทเวลาในการทำงานถึง 1,363 ชั่วโมงต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) ต่อปี ในทางกลับกัน เกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกใบยาสูบจะทำงานเพียง 197 ชั่วโมงต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) ซึ่งทำให้สามารถจัดสรรเวลาเพิ่มขึ้นในการทำกิจกรรมสร้างเสริมรายได้อื่นๆ
นอกจากนั้น เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบและครอบครัวยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ แทนที่จะใช้เงินซึ่งมีจำกัดส่วนนั้นไปซื้ออาหารที่มีประโยชน์
มีงานศึกษาวิจัยเปิดเผยว่า เกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 22.6) ของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในจังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยป่วยเป็นโรคพิษใบยาสูบสด (เกิดจากการดูดซึมนิโคตินที่ละลายอยู่ในน้ำบนใบยาสูบสด
เมื่อเก็บเกี่ยวใบยา) ความชุกของโรคนี้สูงกว่าในเกษตรกรเพศหญิง (ร้อยละ 27.5) เมื่อเทียบกับเพศชาย (ร้อยละ 17.9)
การปลูกใบยาสูบในประเทศไทย นั้นพบได้ใน 20 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอัตราความยากจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ งานวิจัยล่าสุดซึ่งศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบเกือบ 3,000 รายในภาคเหนือพบว่าเกือบ ร้อยละ 60 อยากเลิกปลูกใบยาสูบด้วยเหตุผลหลักด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบมักพบว่ารายได้ของพวกเขาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งนำไปสู่ความเดือดร้อนทางการเงิน หนี้สินที่ไม่จบสิ้นและคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
โดยสรุปแล้วเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบเผชิญกับความเสี่ยงด้านอาหาร สุขภาพและความยากจน
นอกจากนี้ การปลูกใบยาสูบยังทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง การตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สารเคมีจากสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเพาะปลูกสามารถหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ทะเลสาบ แม่น้ำและน้ำดื่มปนเปื้อนได้ นอกจากนั้นยังมีการตัดต้นไม้ และถางพื้นที่ป่าเพื่อทำเป็นไร่ยาสูบ ซึ่งส่วนนี้นำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
การช่วยเหลือให้เปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ
ทั่วโลกมีความพยายามที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้หันไปปลูกพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 รัฐบาลของประเทศมาเลเซียได้สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้ปลูกต้นปอแก้ว ซึ่งใช้ในการผลิตโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษ ผ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพ จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบลดลงอย่างมาก จาก 20,000 รายเป็น 100 รายในปีพ.ศ. 2565 อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกกฏหมายที่กำหนดว่า ส่วนหนึ่งของภาษีบุหรี่จะถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่อาจได้รับผลกระทบในด้านลบจากยอดขายบุหรี่ที่ตกต่ำลง
องค์การอนามัยโลกให้ความช่วยเหลือ และติดตามการดำเนินงานของประเทศไทยตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางกฎหมายในระดับนานาชาติที่ประเทศไทยได้ลงนามไปเมื่อปีพ.ศ. 2547
ประเด็นรณรงค์ของวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปีนี้ สอดคล้องกับ ข้อกำหนดที่ 17 และ 18 ของกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งเน้นว่าประเทศสมาชิกที่ลงนาม ต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ โดยการให้คำแนะนำทางวิชาการเรื่องพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่ยั่งยืน โดยเชื่อมโยงเกษตรกรให้เข้าถึงสิ่งจำเป็นต่างๆ และการตลาด ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
การสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับชุมชนและเสริมสร้างพลังชุมชน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ทำงานโดยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมให้มีการสร้างหรือพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสให้มีการลงทุนในการเกษตรและระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยการทำงานในลักษณะนี้ เราจะสามารถบูรณาการความช่วยเหลือให้เกิดอาชีพทางเลือกและความมั่นคงทางอาหารแก่เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบได้
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ร่วมกันตีพิมพ์เอกสารเรื่อง “เหตุผลสนับสนุนการลงทุนในมาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย” ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอแนะคือ การจัดสรรงบประมาณจากการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บุหรี่เพื่อช่วยเหลืออาชีพทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ
ประเทศไทยมีประวัติที่โดดเด่นในเรื่องการปลูกพืชทดแทน โครงการหลวงซึ่งได้ริเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2512 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้กว่า 40,000 ครัวเรือนที่เคยปลูกฝื่นหันมาปลูกพืชทดแทน เช่น กาแฟ ชา ผลไม้และผักต่าง ๆ ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยระบุว่า รายได้เฉลี่ยของผู้ที่เคยปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ระหว่างปีพ.ศ. 2528 และพ.ศ. 2558 การปลูกฝิ่นลดลงถึง 97% และไม่มีการกลับมาปลูกอีก
มีโครงการมากมายที่ศึกษาและทดลองการปลูกพืชทดแทนใบยาสูบในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ดร. อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทยกล่าวว่า ภายใต้โครงการนี้มี 91 ครัวเรือนและ 16 ชุมชนที่ได้หันมาปลูกพืชผลทางเกษตรอื่นๆทดแทนใบยาสูบอย่างสิ้นเชิงและมีรายได้อย่างเพียงพอ
เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบสมควรที่จะมีรายได้สูงขึ้น อยู่ในสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบาย และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนอาชีพทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบซึ่งจะทำ ให้พวกเขาเปลี่ยนมาปลูกพืชผลทางการเกษตรอื่นๆที่ไม่ใช่ใบยาสูบ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีขึ้นในประเทศไทย