ระบาดหนัก! ยูเอ็นจับมือชายแดนเมียนมา-ลาว-ไทยเร่งปราบอาชญากรรมข้ามชาติสามเหลี่ยมทองคำ
ㅤ
เชียงราย (12 พฤษภาคม 2566) -- สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) จับมือกับทางการเมียนมา ลาว และไทยสกัดการลักลอบค้ายาเสพติด สารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยาเสพติด สัตว์ป่า ไม้เถื่อน การค้ามนุษย์ และสินค้าผิดกฎหมายชนิดอื่น ๆ ของกลุ่มอาชญากรข้ามชาติในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ หนึ่งในพื้นที่ค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยปฏิบัติการเรือจู่โจมกองทัพเรือไทยสกัดกั้น และรวบยาบ้ากลางแม่น้ำโขงได้กว่า 6,400,000 เม็ด บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ หมู่บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งคาดว่าลำเลียงผ่านแม่น้ำรวกฝั่งเมียนมาลงมาฟากแม่น้ำโขง
“การเข้าจับกุมคนร้ายพร้อมของกลางกลางลำน้ำไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปกติแล้วยาเสพติดจำนวนมากขนาดนี้เราจะไปดักจับได้ตอนอยู่บนบก ผมเลยภูมิใจในทีมของเรามาก ที่สามารถปกป้องประเทศและประโยชน์ของชาติไว้ได้” นาวาเอกภากร มาเนียม หัวหน้าฝ่ายยุทธการและการข่าวหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขงกองทัพเรือไทย เล่าให้ทีมงานสหประชาชาติฟัง
ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรตามแม่นำ้โขงที่ “ห้วยทราย” เมืองเล็ก ๆ ในประเทศลาว เจ้าหน้าที่ชายแดนลาวก็เพิ่งรวบแก๊งค้ายาได้สำเร็จ โดยยึดของกลางเป็นยาไอซ์ได้กว่า 500 กิโลกรัม และในเดือนก่อนชุดปฏิบัติการเดียวกันก็เพิ่งยึดยาบ้าได้กว่า 7.1 ล้านเม็ด
ยาเสพติดทั้งที่พบในลาวและไทยสืบพบว่ามีแหล่งผลิตโดยโรงงานเถื่อนของกลุ่มติดอาวุธและอาชญากรในป่าบนภูเขาห่างไกลทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมาโดยยาเสพติดเหล่านี้ไม่เพียงถูกขนผ่านลาวและไทยเข้ามายังกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังถูกส่งไปขายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
ช่องทางการลักลอบค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่ง
ข้อมูลจาก UNODC พบมียาเสพติดที่ผลิตในย่านสามเหลี่ยมทองคำเพิ่มขึ้น “อย่างเป็นประวัติการณ์” จึงมีการประสานความร่วมมือระหว่างทางการลาว ไทย และสำนักงาน UNODC สร้างเครือข่ายพัฒนาข่าวกรองระดับภูมิภาคเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งการลอบนำเข้าสารเคมีตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ที่ลักลอบค้าไม้ซุง อาวุธ สัตว์ป่า หรือแม้แต่มนุษย์ด้วย
นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เล่าถึงความท้าทายในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำว่า “ปัญหาด้านธรรมาภิบาลที่ซับซ้อนในพื้นที่และในเมียนมาจากกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ทำให้การปราบปรามยาเสพติดเป็นไปอย่างยากลำบาก กลุ่มอิทธิพลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายอื่น ๆ ด้วย”
“การจะแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย โดยแต่ละประเทศจะต้องมีมาตรการรับมือกับปัญหาที่รวดเร็วและทันท่วงทีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ชายแดน หรือตามช่องทางธรรมชาติที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ” นายเจเรมีกล่าว
ปัจจุบันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเครือข่ายของสำนักงานประสานงานและปราบปรามยาเสพติดบริเวณชายแดน หรือ BLO ภายใต้โครงการบริหารจัดการชายแดนระดับภูมิภาคกระจายตัวอยู่กว่า 120 แห่ง ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ อาทิเมียนมาร์ จีน อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นผลให้หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมของทั้งสองประเทศลาว-ไทยสามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ที่สำนักงาน BLO มีการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและทักษะใหม่ ๆ ให้เจ้าหน้าที่ประจำชายแดนแต่ละประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล
เจ้าหน้าที่ ก (นามสมมติ) ซึ่งประจำอยู่ที่ห้วยทรายกับกับสำนำงาน BLO ทางการฝั่งลาว กล่าวว่าการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ชายแดนไทย ไม่ว่าจะผ่านการโทรประสานงาน การประชุม หรือการหารือร่วมกันช่วยให้ทั้งสองประเทศปราบปรามการลักลอบค้าสิ่งผิดกฏหมายกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ความร่วมมือข้ามพรมแดนและการแบ่งปันข้อมูล ยังทำให้เราสามารถยับยั้งการลักลอบค้ายาเสพติด รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย”
พันตำรวจโท อมรรัตน์ วัฒนโฆสิต ครูฝึกภาคปฏิบัติที่ฝึกสอนการตรวจค้นยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าผิดกฎหมาย ทำงานใกล้ชิดกับสำนักงาน BLO ที่ชายแดนไทย-เมียนมา เล่าว่า “เจ้าหน้าที่ของเรานำความรู้จากการฝึกอบรมของ UNODC มาใช้เวลาซักถามคนขับรถที่ด่านตรวจ ตอนนี้เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น และสามารถจับทางพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยได้แล้วว่าคนขับรายใดอาจจะซ่อนยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายเอาไว้”
ปัจจุบันเครือข่าย BLO ทำงานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและชุมชนในพื้นที่ชายแดน และยังสนับสนุนบทบาทและความเป็นผู้นำของผู้หญิงในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย อย่าง พ.ต.ท. อมรรัตน์ ซึ่งย้ำระหว่างการสมภาษณ์ว่าหน้าที่ในการกำจัดยาเสพติด "สำคัญมากต่อความมั่นคงของประเทศชาติ” นอกจากนั้น ในบางพื้นที่ BLO จะมีบทบาทในการจัดการการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้าย ตลอดจนสาธารณสุขและโรคระบาดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ด้วย
Fact Box
- การผลิตยาบ้านั้นต่างจากการผลิตเฮโรอีน เพราะในขณะที่เฮโรอีนผลิตจากฝิ่นซึ่งต้องปลูกตามวงจรการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ แต่ “ยาบ้า”สามารถผลิตได้ตามต้องการตราบใดที่ยังมีสารเคมีตั้งต้นที่นำมาสังเคราะห์ได้อยู่
- แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่ายาเสพติดที่ยึดได้เป็นเพียงส่วนน้อยของยาเสพติดทั้งหมดที่ลักลอบขายและขนย้ายในภูมิภาค แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของสำนักงาน UNODCนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสกัดกั้นการไหลเวียนของยาเสพติดในภูมิภาค
- UNODC เป็น 1 ใน 21 หน่วยงานของทีม UN ในไทย ที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในโลก ผ่านการแก้ไขปัญหายาเสพติด เครือข่ายอาชญากรรม ทุจริตคอร์รัปชัน และการก่อการร้าย
เรื่อง แดเนียล ดิกคินสัน
แปล/เรียบเรียง ทัตพร นาคการะสิน นฤปนาท เหรัญญะ และภัคพล ผาทอง
ภาพ รูน่า อา