ไอโอเอ็มและกระทรวงการต่างประเทศผนึกกําลังผลักดันวาทกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานและการรายงานข่าวเชิงประจักษ์ในประเทศไทย
01 กันยายน 2023
ㅤㅤ
กรุงเทพฯ (1 กันยายน 2566) – ประเทศไทยเป็นแหล่งของการโยกย้ายถิ่นฐานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนผู้ย้ายถิ่นที่ลงทะเบียนอาศัยอยู่ในประเทศกว่าสามล้านคน แม้รัฐบาลไทยจะพยายามผลักดันความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานข้ามชาติ แต่แรงงานเหล่านี้ก็ยังตกเป็นเป้าของการตีตรา ที่บางครั้งก็มาพร้อมอคติและความหวาดกลัว
โดยตระหนักว่าสื่อมีบทบาทในการทัดทานทัศนคติเหมารวมเชิงลบต่อผู้ย้ายถิ่น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จึงได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการระยะเวลาสองปีให้กับนักข่าว นักเรียนวารสาร และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานสาขาการสื่อสาร เพื่อผลักดันวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานและการรายงานข่าวเชิงประจักษ์ในประเทศไทย
“การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นประเด็นสำคัญทั้งในข่าวสารระดับประเทศและการถกเถียงในเวทีโลก ข้อมูลบิดเบือนและคำอธิบายที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงสามารถแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความเข้าใจที่ผู้คนมีต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน และยังกระทบต่อผู้ย้ายถิ่นฐานและครอบครัวด้วย แม้แต่ผู้สื่อข่าวมืออาชีพก็อาจมีแนวโน้มที่จะนำเสนอหรือรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้คลาดเคลื่อนได้ หากไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม” เจรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงานไอโอเอ็มประจำประเทศไทย กล่าว
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อทั้งแบบดั้งเดิมและยุคใหม่ผ่านการใช้สื่อการเรียนรู้และการเข้าฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรายงานประเด็นข่าวการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างมีคุณภาพ และขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการโยกย้ายถิ่นฐานเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
การฝึกอบรมนี้ต่อยอดมาจากประสบการณ์อันกว้างขวางของไอโอเอ็มในการทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อทั่วโลก โดยเฉพาะความร่วมมือผ่านเครือข่าย Global Migration Media Academy (GMMA) ซึ่งเป็นเครือข่ายฝึกอบรมสื่อบนแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่เปิดให้เข้าถึงได้อย่างเสรี โดยมุ่งเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่แบ่งแยกและมีจริยธรรม ปัจจุบัน ไอโอเอ็มเป็นภาคีร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในหกประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์กอลเวย์ (NUIG) ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดการเรียนการสอนภาคฤดูร้อนของเครือข่าย GMMA เมื่อเดือนมิถุนายน 2565
“การฝึกอบรมเหล่านี้จะเป็นพื้นที่ให้สื่อไทยได้มีส่วนร่วมกับนักข่าวและนักวิชาการจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการรายงานข่าวการโยกย้ายถิ่นฐาน” อองซาร์คเสริม
ไอโอเอ็มจะร่วมมือกับองค์กรสื่อ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสาขาวารสารศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้จากงานวิจัยและการศึกษาเดิมที่มีอยู่แล้วในบริบทประเทศไทย ซึ่งจะครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่การโยกย้ายถิ่นฐานตามสภาพแวดล้อม ไปจนถึงการรายงานข่าวที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศสภาพ และไอโอเอ็มจะสนับสนุนการฝึกอบรม จัดโดยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยมหิดลในเดือนกันยายนและตุลาคม 2566 รวมทั้งงานสัมมนา เรื่อง ความรับรู้ของสาธารณชนต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนธันวาคม 2566
“ในยุคดิจิทัลแห่งปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของข่าวสารบิดเบือน ผู้กำหนดนโยบายจึงให้ความสำคัญกับสื่อในฐานะแหล่งข้อมูลข่าวสารที่มีอิทธิพล ดังนั้น ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวโดยคำนึงถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และมีมาตรฐานทางจริยธรรม จะทรงพลังในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่เพียงแต่จะกำหนดวาทกรรมสาธารณะ แต่ยังมีอิทธิพลต่อวาทกรรมระดับนโยบายด้วย” นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
“ด้วยความร่วมมืออย่างเข้มข้นกับไอโอเอ็ม เราหวังที่จะเสริมสร้างความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อในการจัดทำรายงานข่าวที่คำนึงถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเคารพสิทธิของผู้ย้ายถิ่น รวมทั้งส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนชาวไทยและชุมชนผู้ย้ายถิ่นไปพร้อมกัน”
ในภาพรวม โครงการนี้มุ่งหวังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทย ในฐานะประเทศ Champion Country ของ ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบ และเป็นปกติ (GCM) ที่จะขับเคลื่อนหนึ่งในสี่คำมั่นสัญญาเพื่อ “ส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเชิงบวกของผู้ย้ายถิ่น และยุติการเลือกปฏิบัติและการตีตราต่อผู้คนกลุ่มนี้”
โครงการร่วมนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
สอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
อนุชมา เชรสธา
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)