พัฒนาต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม
วัดประยูรฯ ได้รับการกล่าวขานในระดับสากลด้านการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะดีจีน
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนาน และการเทิดทูนที่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของชุมชน วัดประยุรวงศาวาส (หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า ‘วัดประยูรฯ’) ตระการตาด้วยความยิ่งใหญ่ของพระบรมธาตุมหาเจดีย์อันสูงตระหง่าน ความงดงามของสัดส่วนรูปทรงระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ก้องกังวานในเจดีย์บริวาร 18 องค์ที่ประดับระเบียงแบบผังกลม
พระพรหมบัณฑิต ท่านเจ้าอาวาสวัดประยูรฯ กล่าวว่า ‘เจดีย์นี้เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย’ ขณะที่ท่านนั่งในพระอุโบสถ โดยมีฉากหลังเป็นพระพุทธรูปที่ยังคงความเหลืองอร่ามด้วยการปิดทองอย่างวิจิตรบรรจงเมื่อเกือบ 2 ศตวรรษที่แล้ว
จุดเด่นของเจดีย์นี้คือสามารถเข้าไปข้างในได้ ภายในเจดีย์ เราจะตื่นตาเมื่อได้เห็นเสาแกนกลางขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20 เมตร และหนัก 144 ตัน เมื่อเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2371 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โครงสร้างของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ถือว่าผิดสมัย เนื่องจากเจดีย์กลวงที่มีเสาแกนกลางสะท้อนถึงเทคนิคการสร้างในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310) พระพรหมบัณฑิตเสริมว่า ‘แล้วในสมัยอยุธยาก็ไม่มีใหญ่ขนาดนี้เลย’
ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดมุ่งเป้าที่สะพานพุทธ ซึ่งมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในฐานะสะพานเดียวที่ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคนั้น แต่กลับพลาดเป้าและระเบิดใกล้ทางเข้าวัดประยูรฯ พระวิหารจึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่พระพุทธรูปองค์ใหญ่แบบศิลปะสุโขทัยที่ประดิษฐานอยู่ภายในกลับยืนหยัดโดยไม่ถูกสะกิดเลย
หลังคาพระอุโบสถเปิดบางส่วน ทำให้น้ำฝนรั่วเข้ามาชะล้างจิตรกรรมฝาผนังดั้งเดิมออกจากกำแพงถึง 3 ด้าน
หากสังเกตจากภายนอก ดูเหมือนพระบรมธาตุมหาเจดีย์จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ อย่างไรก็ตาม พระพรหมบัณฑิตสันนิษฐานว่า แรงกระแทกจากระเบิดทำให้เสาแกนกลางหักในแนวขวางประมาณ 2 เมตรเหนือฐานเสา และโน้มน้ำหนักมหาศาลไปพิงผนังด้านในของเจดีย์
ในการสำรวจโครงสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2549 วิศวกรจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พบว่าเจดีย์ทั้งองค์เอียงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 1.2 เมตร ด้วยเกรงว่าเจดีย์จะเอียงลงเรื่อย ๆ และอาจพังทลายในที่สุด ท่านเจ้าอาวาสวัดประยูรฯ จึงริเริ่มโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ โดยปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับ สจล. และกรมศิลปากร
เนื่องจากจำเป็นต้องดำรงรักษาเสาแกนกลางที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ไว้ ความพยายามในการบูรณปฏิสังขรณ์จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอันล้ำเลิศ โดยต้องใช้เวลานาน 6 เดือนในการจัดทำแผนงาน ซึ่งที่สุดแล้วหมายรวมถึงการสร้างนั่งร้านเหล็กล้อมเสาแกนกลางเพื่อเป็นมาตรการป้องกัน เสริมเหล็กห่อหุ้มโครงสร้างแกนกลางเพื่อความมั่นคงแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต และค่อย ๆ ยกเสาแกนกลางเข้าสู่ตำแหน่งเดิมด้วยการใช้แม่แรงไฮดรอลิคในพื้นที่แคบ
ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ (พ.ศ. 2549–2553) มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และพระเครื่องจำนวนมากบนเจดีย์องค์ใหญ่ในกรุลับ 2 กรุ ดังที่สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2497 ซึ่งทิ้งไว้โดยผู้ที่พยายามโจรกรรมศาสนวัตถุโบราณแต่ไม่สำเร็จ มูลค่าของวัตถุโบราณเหล่านี้ดึงดูดความสนใจที่ไม่พึงประสงค์มาเนิ่นนานแล้ว
ศาสนวัตถุโบราณที่ค้นพบจำนวนมาก (ตลอดจนหนังสือพิมพ์ดังกล่าว) ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาไว้ในพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ซึ่งเป็นศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเคยเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย หลังจากที่ไม่ได้ใช้งานและทรุดโทรมมาหลายปี ศาลานี้ได้รับการบูรณะพร้อมกับเจดีย์และดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก
โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาที่วัดประยูรฯ ได้รับ Award of Excellence จากยูเนสโกในการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation) ประจำปี พ.ศ. 2556 การประกวดรางวัลดังกล่าวได้เชิดชูความสำเร็จในการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบรางวัลดังกล่าวไม่เพียงชมเชย ‘ความเข้าใจที่ซับซ้อนเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์จากสมัยต้นรัตนโกสินทร์’ แต่ยังเน้นย้ำถึง ‘ผลกระทบทางสังคมที่กว้างขวางของโครงการในย่านกะดีจีน ซึ่งมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์และพหุวัฒนธรรม’
พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า การที่ได้รับคำยกย่องจากยูเนสโกทำให้วัดประยูรฯ มีความน่าเชื่อถือในการเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนพหุวัฒนธรรมแห่งกะดีจีนในเวลาต่อมา โดยทางวัดมีส่วนร่วมในการหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐและในการขับเคลื่อนโครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน อาทิ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ซึ่งออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์และเปิดให้บริการแก่สาธารณชนในปี พ.ศ. 2563) และทางเดินริมแม่น้ำที่ก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ (โดยเริ่มจากวัดประยูรฯ สิ้นสุดที่วัดกัลยาณมิตร และกว้างพอที่จะรองรับทั้งคนเดินเท้าและนักท่องเที่ยวที่ปั่นจักรยาน)
ปัจจุบัน พระพรหมบัณฑิตเปรียบวัดประยูรฯ เสมือน ‘รีเซฟชัน’ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครของชุมชนกะดีจีน แท้จริงแล้ว การผสมผสานที่น่าทึ่งระหว่างองค์ประกอบทางตะวันออกและตะวันตกที่เขามอของวัดประยูรฯ (ซึ่งเป็นภูเขาที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์และมีขนาดใหญ่ที่สุดนอกพระบรมมหาราชวัง) ตอกย้ำถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่อย่างกลมกลืน ซึ่งท่านเจ้าอาวาสมองว่านี่คือจุดแข็งของชุมชนแห่งนี้
เดินจากวัดประยูรฯ ไปไม่ไกลก็จะถึงโบสถ์ซางตาครู้ส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตั้งรกรากของชาวโปรตุเกสในพื้นที่นี้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325)
และไม่ไกลจากโบสถ์ซางตาครู้ส เราจะพบศาลเจ้าจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นั่นคือศาลเจ้าเกียนอันเกง ซึ่งมีเจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานเป็นองค์ประธาน
เมื่อเดินลึกเข้าไปในชุมชนกะดีจีน เราจะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบของย่านที่อยู่อาศัยแห่งนี้ มีซอยแคบ ๆ ที่ดูสะอาดตา และบ้านเรือนที่สร้างติดกันอย่างหนาแน่น ในยามบ่ายที่ผ่อนคลาย กลิ่นหอมกรุ่นของอาหารที่คนในชุมชนปรุงเองลอยมาตามสายลม เป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งห่างไกลจากห้างสรรพสินค้าที่หรูหรา และร้านสะดวกซื้อที่ให้บริการตามมาตรฐานในแนวเดียวกันหมด คนในพื้นที่บางคนได้แปลงบ้านของตนให้เป็นร้านค้าและภัตตาคารที่หลากสีสันด้วยอาหารคาวหวานซึ่งสะท้อนถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในย่านเก่าแก่แห่งนี้
ย้อนกลับไปที่วัดประยูรฯ พระพรหมบัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อไม่นานมานี้ การถ่ายทอดเรื่องราวของวัดผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงภาพยนตร์ไทยยอดนิยม เช่น บุพเพสันนิวาส 2 ได้ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของวัดประยูรฯ นอกจากนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีม่วงใต้จะทำให้วัดประยูรฯ และย่านกะดีจีนโดยรวมเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่อยากมาเยือน เมื่อคาดการณ์ถึงการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งท่านเจ้าอาวาสมองว่าเป็น ‘ดาบสองคม’ ท่านเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามแผนแม่บทที่มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมและการเน้นการค้าขายอย่างไร้ขอบเขต
สำหรับท่านเจ้าอาวาส ความคืบหน้าที่น่ายินดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากวัดประยูรฯ) คือการขยายขอบเขตเกาะรัตนโกสินทร์ให้ครอบคลุมริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดประยูรฯ ถึงวัดอรุณ การกำหนดเช่นนี้ถือเป็นคำสั่งห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารสูงซึ่งจะบดบังสถานที่สำคัญที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า ‘เราสืบสาน รักษา และพัฒนาต่อยอด วิถีชีวิตของคนที่นี่โดยมีศาสนาเป็นหลักยังคงอยู่ ตอนนี้เป็นที่รับรู้กันแล้วว่าถ้าเป็นเรื่องการรักษาทางวัฒนธรรม การอยู่กันอย่างน่ารัก ต้องย่านกะดีจีน’
ต่อคำถามที่ว่าท่านมองภาพอนาคตของวัดประยูรฯ เช่นไร พระพรหมบัณฑิตแสดงออกถึงวิสัยทัศน์เชิงบวกซึ่งกลั่นกรองมานานหลายทศวรรษด้วยปัญญาเชิงปฏิบัติว่า ‘วัดจะสวยงามกว่านี้’
บทความนี้เป็นฉบับแปลภาษาไทยของต้นฉบับภาษาอังกฤษซึ่งได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากบทความที่ออกเผยแพร่ครั้งแรกที่บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566.
#CultureForSustainableDevelopment