พระราชวังที่ถูกลืม
ดุจอัญมณีอันล้ำค่าที่เก็บรักษาไว้อย่างมิดชิดในเขตธนบุรี โบราณสถานในพระราชวังเดิมสะท้อนถึงความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่มีวิวัฒนาการมายาวนานกว่า 2 ศตวรรษ
จากมุมมองในพุทธศตวรรษที่ 26 สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325) ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย ดูเหมือนจะถูกบดบังด้วยทั้งความงดงามของเมืองอยุธยาโบราณที่สูญสิ้นไป และความอลังการแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังคงเป็นที่ประจักษ์อยู่ทุกวันนี้ด้วยความยิ่งใหญ่ของพระบรมมหาราชวังที่ตระการตาผู้เยี่ยมชมหลายล้านคนทุกปี อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 15 ปีระหว่างการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาและการสถาปนาราชวงศ์จักรีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปูทางสู่ความเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
ห่างจากพระบรมมหาราชวัง (ซึ่งยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างคึกคักไม่ขาดสาย) และปิดล้อมอยู่ภายในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพเรือที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งมรดกแห่งพระราชวังเดิมได้รับการทะนุบำรุงอย่างพิถีพิถัน ด้วยความพยายามอันน่ายกย่องในการทำให้บทสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยบทนี้มีความหมายและก้องกังวาลในบริบทปัจจุบัน
เมื่อมองจากแม่น้ำเจ้าพระยา โครงสร้างที่โดดเด่นที่สุดของพระราชวังเดิมคือป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องเส้นทางคมนาคมทางน้ำไปยังราชธานีกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 23
ในปี พ.ศ. 2310 เนื่องด้วยกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมจากสงครามจนเกินกว่าจะฟื้นฟูได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2277-2325) จึงทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ของอาณาจักรที่ครอบคลุมระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2311 โดยอาศัยที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของป้อมวิไชยประสิทธิ์
หลังจากมีการก่อรัฐประหาร สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกประหาร ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปี พ.ศ. 2325 ตั้งแต่นั้นมาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ประทับที่พระราชวังเดิมจนกระทั่งปี พ.ศ. 2443 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระราชวังเดิมให้กับกองทัพเรือเพื่อให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ครึ่งศตวรรษต่อมา กองทัพเรือดัดแปลงสถานที่ดังกล่าวให้เป็นกองบัญชาการ ปัจจุบันด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 300 ปี ป้อมวิไชยประสิทธิ์เป็นสถานที่จัดยิงสลุต โดยมีฉากหลังอันสง่างามของธงกองทัพเรือและธงผู้บัญชาการทหารเรือบนเสาธงที่มีลักษณะเหมือนเสากระโดงเรือ
สิ่งที่ยังสถิตอยู่ในใจกลางพระราชวังเดิมคือ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายของท้องพระโรง ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งเดียวจากรัชสมัยพระเจ้าตากสินที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลังที่ต่อกันเป็นรูปตัว ‘T’ เนื่องจากท้องพระโรงไม่เคยถูกทิ้งร้างตลอดความเป็นมาอันยาวนาน จึงสังเกตได้ว่าลักษณะบางประการของพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เช่น พื้นหินอ่อนและเสาคอนกรีต บ่งบอกถึงการปรับปรุงโครงสร้างในอดีตที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความแท้ทางวัสดุเสมอไป อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าผังของท้องพระโรงโดยรวมและหลังคาทรงไทยที่มีหน้าจั่ว 3 ด้าน สะท้อนถึงแนวออกแบบดั้งเดิมจากสมัยกรุงธนบุรี ที่น่าสังเกตคือ การออกแบบให้พระที่นั่งองค์ทิศเหนือเปิดโล่งเป็นลักษณะที่แตกต่างอย่างน่าสนใจจากโครงสร้างแบบปิดของท้องพระโรงอื่น ๆ ในประเทศไทย
ด้านหนึ่งของพระที่นั่งองค์ทิศเหนือมี ‘มุขเด็จ’ หรือ ‘มุขเสด็จ’ ที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับเวลาออกว่าราชการ อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ดึงดูดความสนใจคือระฆัง ซึ่งน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากจีน โดยเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม (ตั้งตามชื่อนายหง เศรษฐีชาวจีนผู้สร้างวัดนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) มอบให้กับกองทัพเรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แม้เหตุผลสำหรับการมอบของขวัญชิ้นนี้ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่มีตำนานเล่าขานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน (ซึ่งพระบิดาของพระองค์เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว) เสด็จมาสรงน้ำในบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของวัดเพื่อเป็นพิธีกรรมก่อนเสด็จออกราชการสงคราม ปัจจุบันพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารเรือและพิธีประดับเครื่องหมายยศจะจัดขึ้นที่พระที่นั่งองค์ทิศเหนือของท้องพระโรง
ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ (หรือที่เรียกว่า ‘พระที่นั่งขวาง’) น่าจะเป็นที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินใช้ว่าราชการส่วนพระองค์ ปัจจุบันกองทัพเรือใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งคราวในการต้อนรับแขกพิเศษและจัดการประชุมท่ามกลางเรือพระราชพิธีจำลองอันวิจิตรงดงาม โดยเรือแต่ละลำมีการออกแบบและมีชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะลำ
ทางด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงมีตำหนักเก๋งจีน 2 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมทีตำหนักทั้ง 2 หลังเป็นที่ประทับของ ‘เจ้านายชั้นสูง’ ต่อมาใช้เป็นสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์ฝึกซ้อมและตำราเรียนของโรงเรียนนายเรือ ปัจจุบันตำหนักทั้ง 2 หลังนี้ใช้สำหรับเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินผ่านจิตรกรรมที่สั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษและการจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ รวมถึงอาวุธในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเพิ่มสีสันให้กับธีมการรบของนิทรรศการภายในตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก
โบราณวัตถุที่น่าทึ่งอีกชิ้นหนึ่งคือ สำเนาแผนที่สมัยกรุงธนบุรีที่วาดขึ้นโดยสายลับพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินในการสร้างคูน้ำและกำแพงเมืองเพื่อปกป้องราชธานีแห่งใหม่ของพระองค์
ในฐานะผู้นำยามสงครามผู้ทรงรื้อฟื้นประเพณีกษัตริย์นักรบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นที่กล่าวขานในปัจจุบันในด้านพระราชกรณียกิจการสงคราม แต่ที่น่าทึ่งก็คือ พระองค์ทรงสละเวลาสำหรับพระราชกรณียกิจในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์จำนวน 5 ตอน ทั้งนี้ มีการนำ 1 ตอน (‘ท้าวมาลีวราชพิพากษาความ’) มาถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวาผ่านตุ๊กตาที่ทำขึ้นด้วยมือและจัดแสดงในตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่
ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของท้องพระโรง สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิมในปี พ.ศ. 2351 เนื่องด้วยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรกระหว่าง พ.ศ. 2394 ถึง พ.ศ. 2408 จึงทรงได้รับการยกย่องในฐานะผู้วางรากฐานให้กับราชนาวีไทย อาคารหลังนี้ถือได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ปัจจุบัน นอกเหนือจากการจัดแสดงนิทรรศการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯแล้ว ชั้นบนของตำหนักยังจัดแสดงเครื่องเบญจรงค์อันล้ำค่า (ซึ่งในอดีตเครื่องถ้วยชามดังกล่าวสั่งทำเป็นพิเศษจากจีน) ส่วนชั้นล่างได้รับการดัดแปลงให้เป็นสำนักงานขนาดกะทัดรัดของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อทำหน้าที่ระดมทุนและบูรณะมรดกสิ่งปลูกสร้างในพระราชวังเดิม
โครงการบูรณะพระราชวังเดิมได้รับ Award of Merit จากยูเนสโกในการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2547 โดยการประกวดรางวัลดังกล่าวได้เชิดชูความสำเร็จในการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบรางวัลดังกล่าวยกย่อง ‘โครงการที่ทะเยอทะยานและครอบคลุมหลากหลายแง่มุม’ ในด้าน ‘การประยุกต์ใช้วิธีการและงานฝีมือแบบดั้งเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์ตัวอย่างที่สำคัญของวิจิตรศิลป์หลวง’
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้มิได้ทำให้คุณหญิงนงนุช ศิริเดช นิ่งนอนใจ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ คุณหญิงนงนุช ผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวว่า ‘งานบูรณะโบราณสถานเป็นงานที่ต้องทำตลอด’ เช่นเดียวกับแหล่งมรดกริมแม่น้ำแห่งอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น ปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความอ่อนตัวของดินริมแม่น้ำ ความชื้น และปลวก คือภัยที่คุกคามอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างอาคารได้ หากไม่ได้รับการดูแลและบำรุงรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอภายใต้การบริหารจัดการของมูลนิธิ คุณหญิงนงนุชกล่าวว่า ‘อาคารเหล่านี้คงจะราบไปหมดแล้ว’
ที่สุดแล้ว คุณหญิงนงนุชหวังว่าการอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมจะช่วยทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวา จับต้องได้ และเข้าถึงคนรุ่นต่อไปเพราะถ้าประวัติศาสตร์สามารถให้บทเรียนกับเราได้ บทเรียนจากประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีที่น่าจะเป็นกำลังใจสำหรับเรา โดยเฉพาะในโลกยุคหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็คือ จิตวิญญาณของมนุษย์มีความแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่ไม่คาดฝัน ด้วยความกล้าหาญและความไม่ย่อท้อที่จะดำรงอยู่และเจริญเฟื่องฟูต่อไป มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว หล่อหลอมชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตน และปลูกฝังการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ชีวิตมีความหมายแม้ในช่วงเวลาที่คับขันที่สุด