รู้จัก ‘คาร์บอนเครดิต’ แต้มสะสมเพื่อกู้วิกฤตโลกเดือด
จะตื่นนอนหรือนั่งรถไปทำงาน
ตอนกินข้าวร้านโปรดช่วงมื้อเที่ยง
ตอนได้ชิมซุปรสเผ็ดจนลิ้นชา
…หรือแม้แต่ตอนนี้ที่คุณกำลังอ่านประโยคนี้อยู่ คุณกำลังทำอะไรไปด้วย?
“Take a deep breath” (หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกช้า ๆ) เทคนิคที่ช่วยให้ผ่อนคลายด้วยสิ่งที่เราทำวนเวียนอยู่ตลอดเวลาอย่างการหายใจ คือกระบวนการเผาผลาญของร่างกายเพื่อความอยู่รอด เราหายใจเข้าเพื่อรับออกซิเจนเข้าไป และจบลงทุกครั้งที่การขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
ใต้น้ำ ผืนดิน ในอากาศ หรือแม้แต่ร่างกายเราเอง คาร์บอนไดออกไซด์มีอยู่ทุกที่ และสำคัญต่อทุกชีวิตชนิดที่ว่า “ขาดเธอไปโลกคงพัง” แต่อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่ดี คาร์บอนปริมาณมหาศาลจากการเผาป่า การเผาผลาญเชื้อเพลิงในบ้าน ยานพาหนะ หรือโรงงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ล้วนเป็นตัวการก่อมลพิษทางอากาศมาหลายยุคสมัย ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกผันผวนรุนแรง หนาวจัด ร้อนแล้งสุดขั้วจนเข้าขั้น “ภาวะโลกเดือด”
ข่าวดีคือท่ามกลางวิกฤตตรงหน้า ทั่วโลกก็ได้เห็นพ้องกันในมาตรการ “เปลี่ยนโลก” ปลุกกระแสหยุดโลกร้อน ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมตั้งเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อีกทั้งจุดประกายความหวังขึ้นมาอีกครั้งด้วยแนวคิดที่ว่า “ถ้าโลกมีคาร์บอนมากเกินไป เราก็ต้องเปลี่ยนคาร์บอนส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ให้ได้”
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ตัวช่วยกู้อากาศสะอาด
ได้ยินชื่อแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจผิด เพราะคาร์บอนเครดิตไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี แต่เป็นหน่วยของปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เราสามารถสะสมเป็น “แต้ม” แล้วนำมาแลกเปลี่ยนได้ ในโลกที่เต็มไปด้วยอากาศเป็นพิษและภูมิอากาศที่แปรปรวน คาร์บอนเครดิตถือเป็นหน่วยกู้ภัยที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โรงงาน หรือแม้แต่อีเวนต์ที่เราคุ้นเคยกันสุด ๆ อย่างคอนเสิร์ตก็ต่างต้องการแต้มนี้เพื่อนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง
ยิ่งมีผู้สะสมแต้มคาร์บอนเครดิตไว้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้มากเท่านั้น ลองนึกภาพตามว่าทุกองค์กรเริ่มต้นจากศูนย์เท่ากัน องค์กรหรือชุมชนที่เป็นนักสะสมแต้มตัวยงจะสามารถเอาแต้มที่สะสมไว้จากการลดการปล่อยคาร์บอนภายในองค์กรไปขายให้กับองค์กรอื่นที่ผลิตคาร์บอนเกินจนแต้มติดลบ โดยแต้มที่ว่าสามารถนำไปใช้ซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต และจะถูกแปลงมูลค่าเป็นเงินต่อไป โดยมีหน่วยการซื้อขายเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) การเอาแต้มมาแลกเปลี่ยนชดเชยการปล่อยก๊าซแบบนี้ เรียกได้ว่าทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยังใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ไปในตัว
เราเองก็เป็นนักสะสมแต้มได้
ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ ๆ แต่ใคร ๆ ก็เป็นนักสะสมแต้มได้! ‘โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน’ จากกระทรวงมหาดไทยกำลังช่วยให้ประชาชนกว่า 14 ล้านคนได้กลายเป็นนักสะสมแต้มคาร์บอนเครดิต ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ทำได้ตั้งแต่ในรั้วบ้าน อย่างการแยกขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกัน รวมถึงส่งเสริมการทำถังขยะเปียกในบ้านเพื่อให้การย่อยสลายขยะอาหารเป็นไปอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงมานั้นก็สามารถนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้เช่นกัน
ณวิช อุ่นวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในปีที่ผ่านมา ผลจากโครงการนี้คิดเป็นคาร์บอนเครดิตถึง 88,443 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และมีภาคเอกชนรับซื้อไปแล้วด้วย แถมเงินที่ได้จากการขายนั้นองค์กรส่วนท้องถิ่นก็ได้นำไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนต่อไป ดีต่อโลก ดีต่อใจ มีแต่ได้กับได้! ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยยังมีแผนการรับรองในทั้ง 76 จังหวัดและคาดว่าจะได้คาร์บอนเครดิตกว่า 250,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ในไทย บริษัททั้งหลายทำการสะสมแต้มคาร์บอนโดยต้องผ่านการรับรองจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก และทำภายใต้โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) แต่พวกเราในฐานะคนตัวเล็ก ๆ ก็สามารถเข้าร่วมการสะสมแต้มคาร์บอนเครดิตได้เหมือนกัน แถมยังทำได้เลยผ่านกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การคัดแยกขยะ การปลูกต้นไม้ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีอีกหลากหลายวิธีช่วยรักษ์โลกที่เราควรทำตั้งแต่ตอนนี้
กระแสคาร์บอนเครดิตช่วยปลุกพลังด้านความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ รวมถึงโมเดลธุรกิจสมดุลยั่งยืน เห็นได้จากการที่หลายธุรกิจเริ่มหันมาเรียนรู้วิธีการเก็บสะสมแต้มคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์น้ำมัน การหมุนเวียนทรัพยากรใช้อย่างคุ้มค่า รวมถึงวิธีอื่น ๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เป้าหมายสูงสุดคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเป็นภารกิจสุดหินที่ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี เงินลงทุนและเวลา ถึงอย่างนั้นมันก็คุ้มค่าที่จะร่วมมือกันทำให้สำเร็จ
สะสมแต้มเพื่อโลกที่เป็นของเราทุกคน
แน่นอนว่าปัญหามลพิษในอากาศและโลกเดือดไม่ใช่เรื่องใหม่ และมันมีผลต่อชีวิตของเราในทุกด้านเหมือนกับโดมิโน่ที่ล้มเรียงต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบก่อน มันจึงไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ
สุดท้ายการเกิดระบบคาร์บอนเครดิตก็เป็นไปเพื่อเราทุกคน เมื่อวิกฤตโลกยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบ หรือปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น “เดอะแบก” แต่เราในฐานะประชากรโลกก็สามารถลุกขึ้นมาร่วมรณรงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หรือจะลองสะสมแต้มคาร์บอนก็ยังเป็นไปได้ ทั้งหมดนี้จะช่วยยับยั้งวิกฤตและรักษาโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคนเอาไว้
เรื่อง พิมชนก โรจนันท์ และมิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูล ณวิช อุ่นวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย