ใบเตย-รัชชุกร ใจกล้า UN Peacekeeper หญิงไทย จากนักเทคนิคการแพทย์ กองทัพเรือ สู่ภารกิจเพื่อสันติภาพในแคชเมียร์
UN Peacekeeper: When She Stands For Peace
อะไรจุดประกายให้อยากเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ?
หลังเรียนจบสาขาเทคนิคการแพทย์ เราเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ และต่อมาได้เป็นหัวหน้าแผนกที่กองทัพเรือ จนเมื่อเตรียมความพร้อมให้ที่ทำงานเรียบร้อย น้องในทีมสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มศักยภาพ และลูกทั้งสองคนก็โตพอจะดูแลตัวเองได้แล้ว เราจึงไปเรียนตามหลักสูตรนายทหารชั้นต้น (ชั้นนายร้อย) ทำให้ได้รู้จักอาชีพเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ
ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าตัวเองได้รับอะไรจากสังคมเยอะ ตั้งแต่เด็ก ๆ เราสมัครสอบชิงทุน ก็ได้รับรางวัลจากโครงการต่าง ๆ เวลาเจ็บป่วยเราได้รับการรักษาพยาบาลฟรีจากโรงพยาบาลของรัฐ เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการ ตอนทำงานก็ได้รับทุนจากยูเอ็นให้เข้ารับการศึกษาอบรมที่ประเทศเนปาล และประเทศมาเลเซีย ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากหลายประเทศ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวไทย รวมถึงประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงินทอง จึงอยากส่งมอบบางอย่างคืนสังคมและคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสเท่าเรา
ภารกิจในแต่ละวันที่แคชเมียร์เป็นอย่างไร?
ภารกิจของเราชื่อ United Nations Military Observer Group in India and Pakistan ในหนึ่งอาทิตย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามอย่างน้อย 4 วัน โดยออกไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่เส้นแบ่งเขตหยุดยิง (Line of Control) เพื่อสังเกตการณ์ว่ามีความขัดแย้งใหม่ ๆ เกิดขึ้นบ้างไหม กองกำลังฝ่ายตรงข้ามละเมิดข้อตกลงหยุดยิงหรือมีการสะสมกำลังเพิ่มหรือเปล่า และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เราเลยจำเป็นต้องไปพูดคุยกับคนในพื้นที่
ก่อนหน้านี้ ในบริเวณดังกล่าวมีความขัดแย้งและการปะทะกันจริงๆ ไปหมู่บ้านไหนๆ ชาวบ้านต่างมาเปิดแผลให้เราดู ซึ่งส่วนใหญ่เวลาเห็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของยูเอ็นที่ออกไปปฏิบัติงาน พวกเขาจะเข้ามาขอบคุณที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย คนส่วนใหญ่ที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ถ้าไม่มีสนธิสัญญาหยุดยิง เราไม่เข้าไป ชาวบ้านก็ไม่สามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุขเลย เพราะพวกเขากลัวที่จะออกจากบ้าน เด็ก ๆ ก็ไปโรงเรียนไม่ได้
การมีสนธิสัญญาหยุดยิงตามแนวเขตหยุดยิง ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ หรือ UN Peacekeeper ทำให้คนในพื้นที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
พื้นฐานความรู้เดิมช่วยในการปฏิบัติภารกิจบ้างไหม?
อย่างแรกเลยคือความรู้ด้านสุขอนามัยพื้นฐาน ในแถบแคชเมียร์ โรคท้องร่วงท้องเสียเป็นเหมือนโรคประจำถิ่นเพราะชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ คนบางหมู่บ้านตักน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาก็ใช้ดื่มกินกันเลยไม่มีการต้มก่อน หมู่บ้านเหล่านี้อยู่ตามแนวชายแดน ไม่มีคุณหมอและโรงพยาบาลในหมู่บ้านเลย มีเพียงร้านขายยาเล็ก ๆ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง เพราะคนในพื้นที่ขาดความรู้เรื่องสุขอนามัยพื้นฐาน ด้วยความที่เราทำงานในโรงพยาบาลทหาร เราจึงนำความรู้ที่มีไปแบ่งปันกับชาวบ้านในพื้นที่
ต่อมาคือพื้นฐานความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิต ในการปฏิบัติภารกิจ บางทีเราต้องเดินข้ามภูเขาเป็นลูก ๆ เดินเป็นชั่วโมงเพื่อไปยังหมู่บ้านที่ห่างไกล เพราะไม่มีถนนที่สามารถนำรถยนต์เข้าไปถึงได้ ต้องใช้การเดินเท้าเข้าพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เพื่อนเจ้าหน้าที่ประเทศอื่นในทีมลื่นล้มข้อเท้าแพลง เราก็ไปช่วยดามเบื้องต้นให้ ก่อนจะไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในค่ายทหาร ณ สถานีที่ประจำการอยู่ หรือบางครั้งเพื่อนเจ้าหน้าที่ในทีมโดนหนามเกี่ยวเลือดออกขณะเดินเท้าเข้าพื้นที่ เราก็ไปช่วยทำแผลให้
เราได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่แต่ละคนในทีมมีพื้นฐานดั้งเดิมที่แตกต่างกันไป และแต่ละคนก็สามารถนำทักษะหรือความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดใช้ได้ในหลายสถานการณ์หน้างาน ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนจบด้านไหน สาขาอะไรก็สามารถมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพได้
ยากไหม? กว่าจะได้มาประจำการอยู่ที่แคชเมียร์
ไม่ยากเกินความตั้งใจค่ะถ้าเตรียมตัวมาพร้อม แต่ก็ท้าทายไม่น้อย เพราะศูนย์รักษาสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทยซึ่งดูแลการคัดเลือกเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจะจัดการทดสอบขึ้น ซึ่งมีหลายขั้นตอนมาก และจะคัดผู้สมัครออกทีละรอบ ตั้งแต่ทักษะภาษาอังกฤษ สมรรถภาพทางร่างกาย ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพ จนถึงการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ เลือกพื้นที่ไม่ได้ ทางศูนย์สันติภาพไทยจะเลือกให้ ของไทยมี 3 ภารกิจที่ส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพเข้าร่วมในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องเป็นทหารชั้นนายร้อยก่อน จึงจะสมัครสอบได้
ทักษะภาษาอังกฤษสำคัญมากสำหรับการเป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ในการเตรียมตัวสอบคัดเลือก เราไม่ได้ไปลงเรียนหลักสูตรแพงๆ แค่ซื้อหนังสือไวยากรณ์มาศึกษาหนึ่งเล่ม ฝึกฟังภาษาอังกฤษจากการดูภาพยนตร์ โดยเริ่มจากการฟังซาวน์แทร็กและเปิดซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษก่อน หลังจากนั้นก็ปิดซับไตเติ้ลและฝึกฟังให้ชินหู ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการพัฒนาภาษาอังกฤษแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสมรรถภาพร่างกายที่สำคัญมากสำหรับการไปปฏิบัติภารกิจ เพราะเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ภารกิจ UNMOGIP ภูมิประเทศมีตั้งแต่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 300 ถึง 3500 เมตร อุณหภูมิตั้งแต่ติดลบ -50 องศาเซลเซียส ถนนหนทางคดเคี้ยวขรุขระ
ถ้าผ่านการทดสอบทุกรอบ จะต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ถึงหนึ่งปีเต็ม ดังนั้นตั้งแต่ก่อนสมัครเข้าทดสอบ เราได้ปรึกษาลูก ๆ ตั้งแต่ต้นว่า ถ้าคุณแม่ขอเวลาหนึ่งปีไปทำงานช่วยเหลือคนทุกข์ยาก ลูกๆ อนุญาตให้คุณแม่ไปไหม ซึ่งลูก ๆ ก็อนุญาต หลังจากนั้นเราจึงไปปรึกษาสามีและครอบครัว และทุกคนก็สนับสนุนให้เราได้ทำตามความฝันและความตั้งใจเต็มที่
ตัวเราเองทำงานประจำตั้งแต่หกโมงเช้า ถึงสี่โมงเย็น หลังเลิกงานต้องดูแลลูกๆ และทำงานบ้าน เราก็อาศัยช่วงเวลาหลังจากลูกทำการบ้านเสร็จ ชวนเด็กๆ ไปออกกำลังกายด้วยกันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ได้ทั้งสุขภาพ ได้ทั้งสานสัมพันธ์ในครอบครัว หลังจากลูกหลับก็เป็นเวลาดูหนังฝึกภาษาอังกฤษของคุณแม่ ทุกคนมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบมากมายในชีวิต เราขอเป็นกำลังใจสำหรับการพัฒนาตนเองให้ทุกคนนะคะ
เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงมีบทบาทสำคัญในภารกิจใด?
เพื่อป้องกันการเกิดอคติในการรับข้อมูลจากชาวบ้าน ในการทำงาน แต่ละทีมจึงต้องประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่หลากหลายเชื้อชาติที่เดินทางมาจากทั่วโลก แม้ในทีมจะมีเราเป็นเจ้าหน้าที่หญิงคนเดียว แต่ก็เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการทำภารกิจในพื้นที่อย่างแคชเมียร์ ด้วยข้อปฏิบัติทางศาสนาของคนในพื้นที่ การพูดคุยเพื่อขอข้อมูลจากผู้หญิงหรือเด็ก จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่หญิงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ชายจะคุยได้แค่กับผู้ชายด้วยกัน
พื้นที่แถบนี้ผู้ชายออกไปทำงาน บางทีพวกเขาก็ไม่ได้เห็นความผิดปกติอะไร ต่างจากผู้หญิงที่ต้องตักน้ำหาฟืนสำหรับนำมาใช้ในบ้าน ซึ่งพื้นที่เก็บฟืนมักเป็นส่วนใกล้ตะเข็บชายแดน ทำให้ข้อมูลที่ได้จากผู้หญิงเป็นข้อมูลที่สำคัญมากไม่แพ้กัน อีกอย่างคือด้วยความที่เราเป็นคนเอเชียหน้าเด็ก และขยันแจกยิ้มสยามให้ทุกคน ชาวบ้านเลยรู้สึกว่าเราเป็นมิตร เด็กๆ เข้ามาเล่นด้วย ผู้หญิงก็อยากเข้ามาพูดด้วย และกล้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรามากขึ้น
มุมมองคนท้องถิ่นต่อเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงเป็นยังไง?
สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล ยิ่งถ้าเป็นหมู่บ้านชายแดน เขาไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่ได้รับรู้เรื่องราวจากภายนอกมากมายนัก การได้เห็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพเหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้หลาย ๆ คน ยิ่งเราเป็นผู้หญิงแถมยังเป็นทหารอีก บางทีเขาก็เข้ามาถามว่า ผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้ด้วยเหรอ เพราะในมุมมองของเขา ผู้หญิงมีหน้าที่ทำกับข้าวเลี้ยงลูก หรืออย่างเด็ก ๆ หลายครั้งเราได้ยินเขาบอกว่าจะพยายามผลักดันตัวเองไปหาความรู้และโอกาสใหม่ ๆ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น และมองเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพหญิงเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจ ซึ่งฟังแล้วอิ่มใจมาก
บทเรียนล้ำค่าจากประสบการณ์ที่แคชเมียร์
ทุกวันของการทำงาน เราได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น บางวันเหนื่อยมาก ออกภาคสนามตั้งแต่ตีห้า กลับมาก็ค่ำมืดแล้ว บางครั้งต้องตั้งจุดสังเกตการณ์ตลอดทั้งคืน เรียกว่านอนกลางดินกินกลางทรายได้เลย เคยมีครั้งหนึ่งเราพบเหตุการณ์หินถล่ม มีหินก้อนใหญ่เท่ารถกระบะตกเฉียดรถที่เราและเจ้าหน้าที่คนอื่นนั่งอยู่ไปแค่เสี้ยววินาที
แม้จะเหนื่อยและอันตราย แต่ยิ่งได้เห็นว่าการเข้าร่วมภารกิจของเราในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่นี้ให้มีความสงบสุขได้ยังไง การลาดตระเวน สังเกตการณ์ต่างๆ ของพวกเราช่วยควบคุมความขัดแย้งและการปะทะ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัย มันก็จะย้อนกลับไปย้ำความรู้สึกว่านี่แหละ คือจุดประสงค์ที่เราอยากมาที่นี่
ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอที่นี่ นับว่าเหนือความคาดหมายทั้งหมด เราไม่คิดว่าจะมีพื้นที่ที่ทุรกันดารได้ถึงขนาดนี้ มีครั้งหนึ่งที่เราถามชาวบ้านว่าทำไมหมู่บ้านนี้ผู้หญิงน้อยจัง คำตอบที่ได้ทำให้จุกในอก เพราะเขาบอกว่าถ้าเกิดผู้หญิงตั้งท้อง แล้วถึงกำหนดคลอดในช่วงที่หิมะตกขึ้นมา อาจจะต้องปล่อยให้เด็กเสียชีวิต เพราะนอกจากหมู่บ้านละแวกนี้ไม่มีหมอและโรงพยาบาลแล้ว เส้นทางคมนาคมยังถูกตัดขาดด้วยหิมะ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลในเมืองได้
แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ประทับใจไม่ลืม วันนั้นเราได้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่หมู่บ้านหนึ่ง มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ มาขอถ่ายรูป มองเราด้วยแววตาชื่นชม หลังจากนั้นอีกประมาณ 4 เดือน เราได้กลับไปที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง คุณพ่อของน้องผู้หญิงคนเดิมเชิญเราไปเยี่ยมที่บ้าน และบอกกับเราว่าเขาเดินทางไป-กลับเกือบ 100 กิโลเมตรเพื่อไปอัดรูปที่ถ่ายกับเราในวันนั้นใส่กรอบ โดยน้องผู้หญิงได้เขียนข้อความไว้บนรูปว่า “โตขึ้นหนูจะทำงานกับยูเอ็นเหมือนพี่”
เรายิ้มได้ทุกวัน อิ่มใจทุกวันที่ผู้หญิงธรรมดาอย่างเรา สามารถเป็นผู้ให้และมาทำงานที่ยิ่งใหญ่เพื่อสังคมได้
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช / เรียบเรียง นฤปนาท เหรัญญะ, รมย์รวินท์ พันธรักษ์, รัชชานนท์ ครื้นจิตต์, ลภิศรา ไกรวีระเดชาชัย / ภาพ ภูเบศ สง่ารักษ์
TAG: #UNPeaceKeeper #WomanInPeaceKeeping #PKDay #ServingForPeace #Goal16