ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยินดีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

14 มิถุนายน 2024

กรุงเทพมหานคร (13 มิถุนายน 2567) – สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยินดีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ซึ่งมีผลบังคับใช้วันนี้ หลังจากที่ประเทศไทยตกลงเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้หนึ่งปีหลังจากที่บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศไทยมีกฎหมายภายในประเทศที่ทำให้การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา

“การที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับนี้ นับเป็นการเน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามคำมั่นที่ประเทศไทยให้ไว้ในกระบวนการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตามวงรอบครั้งล่าสุด (Universal Periodic Review) และในโอกาสครบรอบ 75 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Human Rights 75) เพื่อปกป้องคนทุกคนจากการกระทำให้สูญหายและขจัดอาชญากรรมอันเลวร้ายนี้ ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษชนหลายประการ และสร้างบาดแผลและความบอบช้ำที่ยาวนานให้กับครอบครัวและชุมชน”ซินเธีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าว

ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2567 ประเทศไทยมีกรณีการกระทำให้สูญหายที่คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจบันทึกไว้ทั้งสิ้น 77 กรณี โดยล้วนยังไม่ได้รับความกระจ่าง

“ครอบครัวและชุมชนของผู้สูญหายถูกปล่อยไว้ให้อยู่กับความคลุมเครืออันเจ็บปวดรวดร้าว และบางครอบครัวต้องอยู่กับความรู้สึกดังกล่าวเป็นเวลาหลายสิบปี พวกเขาพึงได้รับรู้ความจริงและต้องได้รับการเยียวยา” เวลิโก้ กล่าว

ทั้งนี้ บทบัญญัติข้อที่ 24 ของอนุสัญญาฯ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำให้สูญหายมีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริงถึงเหตุอันทำให้เกิดการกระทำให้สูญหาย ความคืบหน้าและผลการสอบสวนชะตากรรมของผู้สูญหาย รวมถึงมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและการชดเชยที่ทันกาล ยุติธรรม และเพียงพอ

“ทุกฝ่ายของอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต่างผูกพันตามพันธะกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้ สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้ความยุติธรรมในการคลี่คลายกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายในอดีต และมีการนำบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ไปปรับใช้กับกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติภายในประเทศอย่างครอบคลุมและทันท่วงที เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบของรัฐ และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์” เวลิโก้ กล่าว

หากต้องการข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: วรรณภร สมุทรอัษฎงค์ wannaporn.samutassadong@un.org

องค์กรของสหประชาชาติที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้

OHCHR
สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ

เป้าหมายที่เราสนับสนุนผ่านโครงการริเริ่มนี้