ข่าวประชาสัมพันธ์

เครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานเปิดตัวรายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยประจำปี 2567

16 ธันวาคม 2024

‎ 

ภาพ: © IOM

ดาวน์โหลดรายงานการย้ายถิ่นฐานของไทยประจำปี 2567 ได้ที่นี่

13 ธันวาคม 2567, กรุงเทพฯ – รายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทย (Thailand Migration Report) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่วันนี้โดยเครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย (United Nations Network on Migration in Thailand) ชี้ให้เห็นว่า การโยกย้ายถิ่นฐานยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เปิดโอกาสและศักยภาพอย่างมหาศาลเมื่อมีการบริหารจัดการที่ดีและการคุ้มครองสิทธิของผู้ย้ายถิ่นที่เหมาะสม

รายงานฉบับล่าสุดนี้เป็นฉบับที่ 6 โดยมีการเผยแพร่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562 จัดทำขึ้นร่วมกันโดยหน่วยงานสมาชิกของเครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย รายงานรวบรวมบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุมสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน นโยบาย และสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย

ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างภูมิภาคและเป็นประเทศจุดหมายหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยอาศัยอยู่อย่างน้อย 5.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยในปี 2562 ที่มากถึง 4.9 ล้านคน ตามการสำรวจของรายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยฉบับที่ผ่านมา ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นประเทศต้นทางของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในและนอกภูมิภาค

ตลอดทั้ง 11 บทของรายงานเจาะลึกสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานผ่าน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สภาพการทำงานของผู้ย้ายถิ่น สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรม และการขยายความคุ้มครองทางสังคมและสุขภาพ ในแต่ละบทที่จัดทำขึ้นร่วมกันโดยหน่วยงานของสหประชาชาติ 9 หน่วยงาน นำเสนอความคืบหน้าของนโยบายและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐาน สถานการณ์ปัจจุบันของผู้ย้ายถิ่น อีกทั้ง ข้อเสนอแนะผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อนโยบายและการปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความคุ้มครองแก่ผู้ย้ายถิ่นทุกคน

“รายงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจอย่างรอบด้านเกี่ยวกับโอกาสที่ผู้ย้ายถิ่นนำมาและความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าใจบทบาทที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นประเทศต้นแบบ (Champion country) สำหรับการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM)” มิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ (Michaela Friberg-Storey) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าว

การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมา ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นและโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนแรงงานข้ามชาติแบบปกติกว่า 2.3 ล้านคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการลงทะเบียนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติหลายคนยังคงเผชิญความท้าทายอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างที่ต่ำ สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมที่จำกัด รายงานเผยให้เห็นว่า ผู้ย้ายถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ย้ายถิ่นในสถานการณ์ไม่ปกติ มีความเสี่ยงสูงต่อสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง และเรียกร้องให้มีการมอบความคุ้มครองทางกฎหมายและสังคมที่ดียิ่งขึ้น

“ด้วยความขัดแย้งในเมียนมาที่ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนมายังประเทศไทยมากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมความต้องการเฉพาะและความเปราะบางของผู้ย้ายถิ่นไม่เคยมีความเร่งด่วนเท่านี้มาก่อน” เจรัลดีน อองซาร์ค (Geraldine Ansart) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทยและผู้ประสานงานเครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย กล่าว

“การขยายเส้นทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปกติเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ย้ายถิ่นทุกคนสามารถลงทะเบียน ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี และเข้าถึงบริการพื้นฐานจนกว่าที่พวกเขาจะกลับบ้าน นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการยืนยันถึงความเคารพในคำมั่นของประเทศไทยที่จะมอบความคุ้มครองแก่ผู้ย้ายถิ่น และยังเป็นกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนหลักสำหรับประเทศอีกด้วย”

รายงานยังได้กล่าวถึงผลกระทบอย่างกว้างขวางของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านต่อพลวัตและรูปแบบการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ในระหว่างที่พรมแดนถูกปิด เศรษฐกิจถดถอยลง และการเคลื่อนย้ายที่เป็นไปอย่างจำกัดได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาตินับล้านคน ความไม่มั่นคงทางการเมืองได้นำไปสู่การหลั่งไหลของผู้ย้ายถิ่นผ่านช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ ซึ่งทำให้ปัญหาด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการในรายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยประจำปี 2562 จำนวนผู้ย้ายถิ่นชาวเมียนมาในสถานการณ์ไม่ปกติได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวอยู่ที่ 1.8 ล้านคน ตัวเลขนี้อาจประเมินต่ำกว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแท้จริง เนื่องด้วยลักษณะที่ซ่อนเร้นของช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติและความยากลำบากในการประเมินจำนวนผู้ย้ายถิ่นจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากเมียนมา

“เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะแสดงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่มีมาอย่างยาวนานและความท้าทายใหม่ ๆ ของการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมไปถึงโอกาสที่นำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” เจรัลดีน กล่าวเสริม

ด้วยเวลาที่เหลืออีกเพียงครึ่งทศวรรษก่อนที่จะถึงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องใช้ประโยชน์จากการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความหวังที่จะใช้ประโยชน์จากการโยกย้ายถิ่นฐานนั้นจะสามารถเป็นจริงอย่างเต็มที่ได้ต่อเมื่อมีการเสริมสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนคำมั่นสัญญาในนโยบายไปสู่กรอบการทำงานและระบบต่าง ๆ ที่เสริมสร้างธรรมาภิบาลการโยกย้ายถิ่นฐานที่อิงสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ย้ายถิ่นและสังคมโดยรวม

รายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยประจำปี 2567 เป็นสิ่งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นร่วมกันโดยหน่วยงานสมาชิกของเครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย :

  • องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM)
  • องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO)
  • สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights – OHCHR)
  • โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP)
  • กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund – UNFPA)
  • กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund – UNICEF)
  • องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women)
  • องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO)

ขอขอบคุณ Sally Barber และ ดร. Rosalia Sciortino สำหรับการประสานงานและเรียบเรียงรายงานฉบับนี้

องค์กรของสหประชาชาติที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้

IOM
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
ยูเอ็น
สหประชาชาติ

เป้าหมายที่เราสนับสนุนผ่านโครงการริเริ่มนี้