มหาวิทยาลัยมหิดลและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย
![](/sites/default/files/styles/hero_header_2xl_1x/public/2025-02/IMG_9242_0.jpeg?itok=0zR1ED8r)
ข้อตกลงเพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือระดับภูมิภาค การพัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
กรุงเทพฯ ประเทศไทย (ข่าวไอแอลโอ) – องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MoU) เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นในความร่วมมือ การแบ่งปันความรู้และการพัฒนาศักยภาพทางด้านการคุ้มครองสุขภาพและสังคมที่ครอบคลุมในภูมิภาค ณ งานประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบรรลุความยุติธรรมทางสังคมผ่านการคุ้มครองสุขภาพทางสังคมที่ครอบคลุม” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันยุติธรรมทางสังคมโลก ปี 2025
ความเชี่ยวชาญทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลและความเป็นผู้นำด้านนโยบายของ ILO ความร่วมมือนี้จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขช่องว่างการคุ้มครองทางสังคมและส่งเสริมแนวทางในการจัดการด้านการเงินเพื่อการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญในมิติต่างๆ ที่รวมถึงการสนับสนุนเครือข่าย CONNECT ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคเพื่อการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ และการพัฒนาหลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐาน มหาบัณฑิต (Master of Primary Health Care Management- MPHM) เพิ่มเติม โดยให้มีหลักสูตรพิเศษที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ
บันทึกความเข้าใจ (MoU) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไตรภาคีและประเทศในภูมิภาคใต้-ใต้ (South-South and Triangular Cooperation) สนับสนุนการแบ่งปันความรู้และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ผ่านเครือข่าย CONNECT โดยมหาวิทยาลัยมหิดลและ ILO สนับสนุนความร่วมมือนี้ผ่านโครงการวิจัยร่วมกัน โปรแกรมการฝึกอบรม และการหารือเชิงนโยบาย ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ให้ประเทศต่างๆ แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและกลยุทธ์ทางนวัตกรรมที่ดีที่สุดเพื่อเสริมสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม
![](/sites/default/files/styles/featured_image/public/2025-02/IMG_9243.jpeg?itok=XT7eg4E0)
“วันนี้ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ยืนยันความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลอีกครั้ง เป็นพลังความร่วมมือทางวิชาการในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า” คาโอริ นากามูระ-โอซากะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าว “ความร่วมมือนี้แสดงถึงความสำคัญของการฝึกอบรมระยะยาวและความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ด้านการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้ที่จะส่งเสริมหลักการสากลเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม”
“พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ILO กับมหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นศักขีพยานแห่งความสำเร็จระหว่างองค์กรทั้งสองที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล (The ASEAN Institute for Health Development - AIHD) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนในด้านสุขภาพระดับโลกและแนวทางสหวิทยาการจะส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย รัฐบาล และองค์กรระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก
CONNECT เป็นเครือข่ายที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2562 โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล และพันธมิตรซึ่งรวมถึงสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของเวียดนาม สถาบันสุขภาพและกิจการสังคมแห่งเกาหลี และมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล โดยเป็นเครือข่ายผู้ร่วมบุกเบิกจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ทำงานร่วมกันเพื่อปิดช่องว่างของการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ
หลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐาน มหาบัณฑิต (MPHM) เปิดตัวในปี 2563 โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจาก ILO เป็นหลักสูตรปริญญาโทที่ใช้ระยะเวลาในการเรียน 1 ปี ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพในภูมิภาค จนถึงปัจจุบันนี้ มีนักศึกษาจำนวน 21 คนจาก 7 ประเทศ ที่ได้รับทุนการศึกษาระดับมหาบัณฑิต
การคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพมีความสำคัญ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่ในแต่ละปีมีผู้คนหลายล้านคนต้องตกอยู่ในความยากจนเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ต้องจ่ายเอง การเสริมสร้างกรอบความคุ้มครองทางสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญในการลดความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากความเจ็บป่วย ความพิการ และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
![](/sites/default/files/styles/featured_image/public/2025-02/IMG_9244_0.jpeg?itok=idB7Mqim)