สหประชาชาติ ประเทศไทย สนับสนุนรัฐบาลและประชาชนไทยในการแก้ไขวิกฤตนี้อย่างครอบคลุมด้วยการรับมือแบบทั่วทั้งองค์กรรัฐบาลและทั่วทั้งสังคม
โควิด 19 เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทีมงานของสหประชาชาติกำลังให้การสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนในประเทศไทยในการแก้ไขวิกฤตนี้อย่างครอบคลุมด้วยการรับมือแบบทั่วทั้งองค์กรรัฐบาลและทั่วทั้งสังคม และเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด 19 และหยุดการระบาดใหญ่ การรับมือด้านสาธารณสุขจำเป็นต้องบูรณาการเข้ากับมาตรการทางสังคมและเศรษฐกิจ และต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง เช่น ผู้หญิง ผู้สูงอายุและเยาวชน แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนชายขอบ เช่น ผู้พิการ กลุ่ม LGBTI ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนไร้สัญชาติ ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และคนไร้บ้าน
เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะมีการรับมือเชิงนโยบายแบบบูรณาการ ทีมงานสหประชาชาติประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือใน 4 ด้านกว้าง ๆ ตามกรอบของสหประชาชาติ อันจะก่อให้เกิดความคืบหน้าของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อรักษาประโยชน์และความก้าวหน้าจากพัฒนาการซึ่งมิใช่ได้มาอย่างง่าย ๆ ไม่ให้สูญเปล่า เราต้องพุ่งเป้าไปยังการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 จัดการกับผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น สนับสนุนการรับมือเชิงนโยบายเพื่อการฟื้นฟูอย่างรอบด้านในระยะยาว และสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เลขาธิการสหประชาชาติเน้นย้ำว่าประชาคมโลกจะต้อง ‘รับผิดชอบร่วมกันเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลก’ เพื่อให้สามารถรับมือต่อวิกฤตโควิด 19 อย่างมีประสิทธิผล และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การรับมือดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนแนวทางที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและคำนึงถึงมิติทางเพศสภาพ
1. สนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล และเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือโควิด 19
สหประชาชาติใช้ความเชี่ยวชาญที่มีทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในการสนับสนุนรัฐบาลด้วยกลยุทธ์ด้านสุขภาพที่ครอบคลุมเพื่อ
- ส่งเสริมการตัดสินใจบนพื้นฐานการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของการระบาดใหญ่ และให้คำแนะนำทางวิชาการที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของการรับมือการแพร่ระบาด
- ขยายและเสริมสร้างขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อและการเฝ้าระวัง
- สนับสนุนการขยายและการเตรียมความพร้อมของสถานบริการสุขภาพในทุกระดับเพื่อบริหารจัดการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19
- อำนวยความสะดวกในการวิจัยด้านการบำบัดรักษาและการพัฒนาวัคซีน
- ให้ความสำคัญกับการสื่อสารความเสี่ยง และข้อความในการสื่อสาร
- สนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในบริการสาธารณสุขที่จำเป็นไปพร้อม ๆ กับการจัดการความเสี่ยงในการติดเชื้อ
2. สนับสนุนการขยายมาตรการคุ้มครองทางสังคมของรัฐบาลเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับความทุกข์ยาก และปกป้องชีวิตของประชาชน ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ
เนื่องจากสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจึงได้ให้คำแนะนำเชิงนโยบายอย่างครอบคลุมเพื่อจัดการกับผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจากวิกฤต กลยุทธ์ดังกล่าว ได้แก่
- ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ รวมถึงการสนับสนุนด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย และนำไปสู่การขยายการคุ้มครองทางสังคม ให้ครอบคลุมทั้งผลประโยชน์แบบร่วมจ่ายและไม่ได้ร่วมจ่าย ไปจนถึงกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด และกลุ่มชายขอบ
- สำรวจทางเลือกในการให้ความคุ้มครองทางสังคมระยะกลางที่เหมาะสมร่วมกับรัฐบาล เพื่อแก้ไขผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และภาคส่วนที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด รวมถึงแรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ
- ลงทุนในการสร้างความตระหนัก การช่วยเหลือทางจิตวิทยาสังคม ผ่านหน่วยงานในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาสังคมในระดับชุมชนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุด
3. แนะแนวทางสำหรับนโยบายและโครงการของรัฐบาลไทยเพื่อสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สหประชาชาติร่วมกับคณะทำงานระดับมันสมองด้านนโยบาย กำลังศึกษาหาหลักฐานเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโควิด 19 ในประเทศไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การวิเคราะห์เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องไม่ให้ความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศต้องสูญเปล่า และสนับสนุนเส้นทางสู่การฟื้นตัวอย่างรอบด้านและยั่งยืน ซึ่งรักษาการจ้างงาน ค้ำจุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เปราะบางที่สุด กลยุทธ์ดังกล่าว ได้แก่
- ดำเนินการสำรวจประเมินผลอย่างรวดเร็วเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานและภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ ได้แก่ แรงงานรับใช้ในบ้าน แรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงเยาวชน และผู้สูงอายุ
- ตรวจสอบมาตรการกระตุ้นทางการคลังของรัฐบาลเพื่อติดตามผลกระทบ และชี้แนะแนวทางสำหรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างครอบคลุม และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- วิเคราะห์ผลกระทบ โดยเน้นไปที่ปัญหาความยากจน ระบบอาหาร การศึกษา สุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และการป้องกันความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบ และการละเมิด
- ร่วมมือกับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบการปกครองท้องถิ่นและตัวแสดงอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมการนำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจมาใช้ในหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น
- ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของวิกฤตโควิด 19 และการรับมือของชุมชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ (รวมถึงคนไร้สัญชาติ) กลุ่ม LGBTI คนหนุ่มสาว และผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้พิการ
- ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อทำให้การป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของแผนรับมือระดับชาติต่อโรคโควิด 19 รวมถึงเพิ่มการลงทุนในบริการสายด่วน และสร้างช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในการขอความช่วยเหลือ
- วิเคราะห์และนำเสนอทางเลือกและมาตรการด้านนโยบายที่คำนึงถึงมิติทางเพศสภาพ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมและยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ผลักดันเพื่อให้แน่ใจว่าวาระการพัฒนาและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพกว้างจะไม่ได้รับความเสียหายจากมาตรการรับมือวิกฤต โดยให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวอย่างมีความยืดหยุ่น
4. ขยายการสื่อสารของสหประชาชาติไปยังประชากรกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อรับมือวิกฤตโควิด 19
การสื่อสารและการสนับสนุนในมิติด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และจิตใจในระหว่างที่เกิดการระบาดนี้ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดและเข้าถึงได้ยากที่สุด เช่น ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความสามัคคีในสังคม สหประชาชาติกำลังติดตามแนวโน้มและอารมณ์ของประชาชนในประเทศผ่านโครงการด้านการสื่อสารและข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ Big Data กลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย
- สื่อสารและขยายขอบเขตของการสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับโควิด 19 สำหรับกลุ่มประชากรเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงในประเทศไทย โดยใช้แนวทางและการสื่อสารที่มีนวัตกรรมและมุ่งเน้นชุมชน เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความรู้ในการปกป้องตนเองและผู้อื่น
- ขยายขอบเขตของการสื่อสารในมิติทางสังคมและจิตวิทยาเกี่ยวกับการเว้นระยะทางสังคม และการหยุดยั้งแนวโน้มของความรุนแรงทางเพศ และการตีตรา ผ่านการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์
- ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงภาคประชาสังคม ชุมชน และธุรกิจต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และก่อให้เกิดการสนับสนุนที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือวิกฤตโควิด 19