ไทยเปิดตัวระบบสุขภาพรับ “ความปรกติใหม่” เพื่อสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิมหลังวิกฤตโควิด 19
ประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการ “สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานพยาบาลและบุคลากรอย่างครบวงจรเพื่อรับมือโควิด 19
ประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการเพื่อช่วยให้สถานพยาบาลและบุคลากรเสริมสร้างการรับมือต่อโควิด 19 และปรับปรุงระบบสุขภาพอย่างครบวงจร สู่การ “สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” หลังจากการระบาดสงบลง
สถานพยาบาลทุกแห่งในกรุงเทพมหานครและสำนักงานสาธารณสุขภูมิภาค 12 แห่งทั่วประเทศ จะเข้าร่วมโครงการนี้เป็นระยะเวลา 10 เดือน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลญี่ปุ่น ได้พัฒนารูปแบบบริการทางสุขภาพใน “ความปรกติใหม่” เพื่อเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพ และสนับสนุนบุคลากรด้านสุขภาพในช่วงการระบาดของโควิด 19 และในอนาคต
จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทยและมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย กำลังนำร่องระบบสุขภาพใน “ความปรกติใหม่” นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในจังหวัดทั้งสิ้น 91 ราย โดยทั้งหมดตรวจพบจากระบบคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทย การติดตามหาผู้สัมผัสของผู้ป่วยที่ได้รับการระบุตัวตนแล้ว รวมถึงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน
การให้บริการทางการแพทย์ในความ “ปรกติใหม่” หรือ “ปัตตานีโมเดล” เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นหลังจากการตื่นตัวต่อวิกฤติโควิด 19 รูปแบบการให้บริการนี้จะจำแนกผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มตาม ‘สัญญาณไฟจราจร’ ได้แก่ สีเขียว สีแดง และสีเหลือง โดยพิจารณาจากความจำเป็นของผู้ป่วยในการได้รับการดูแลทางการแพทย์โดยตรง และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาที่สถานพยาบาลจะได้รับการดูแลโดยการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทางไกล และอาสาสมัครในหมู่บ้านจะทำหน้าที่เป็นหลักในการนำเวชภัณฑ์ไปส่งให้ผู้ป่วยถึงมือ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมารับการรักษา ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวปฎิบัติโดยคำนึงการเดินทางของผู้ป่วยและความจำเป็นในการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สำหรับผู้ป่วยหนัก มีการปรับบริการต่าง ๆ ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เช่น การเพิ่มการระบายอากาศภายในสถานที่
“ปัตตานีโมเดลแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังปรับตัวและสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองต่อโรคโควิด 19 การปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการด้านสุขภาพ ผ่านการสนับสนุนจากกลไกการกำกับดูแลและการประสานงานที่มีประสิทธิผล จะส่งผลให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ” ดร. ดาเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว
“การทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านคือกำลังหลักในการต่อสู้กับโควิด 19 ในจังหวัดปัตตานีและที่อื่น ๆ และจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกเรื่องการบริการทางสุขภาพในภาวะ “ความปรกติใหม่” นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของผู้นำทางศาสนายังช่วยให้สามารถส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับชุมชนในวิธีการที่เหมาะสมอีกด้วย “ความทุ่มเทและการทำงานหนักของทุกคนในการรับมือโควิด 19 นั้นเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและเป็นแรงบันดาลใจให้เรา” เขากล่าวเสริม
หลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อการระบาดของของโควิด 19 ในประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตสูงสุด โรงพยาบาลบางแห่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับมือการระบาดและการปกป้องบุคลากรด้านสุขภาพของตน ทำให้บริการด้านสุขภาพที่สำคัญต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว
เพื่อไม่ให้วิกฤตเช่นนี้ซ้ำรอยอีก รูปแบบบริการทางการแพทย์ใน “ความปรกติใหม่” จึงยีงมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงความเสี่ยง และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการของสถานพยาบาล ให้สามารถตระเตรียมระบบได้ดีขึ้น การรับมืออย่างทันท่วงทีด้วยการวางแผนอย่างมีข้อมูลเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจในยามที่มีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และนวัตกรรมบริการด้านการดูแลสุขภาพในความปรกติใหม่ คือปัจจัยที่จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นหลังวิกฤต
กิจกรรมอื่น ๆ ในโครงการนี้ยังรวมถึงการประเมินความเสี่ยงทุกระดับ (ทั้งที่กำลังเกิดขึ้นและที่คาดการณ์ไว้) ในสถานพยาบาลทุกแห่งใน 12 เขตพื้นที่และกรุงเทพมหานคร การระบุขีดความสามารถเพิ่มเติมที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งจำเป็นต้องมีเพื่อรับมือกับ “การพุ่งสูง” ของจำนวนผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 และการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างการเตรียมพร้อม
องค์การอนามัยโลกคือส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะให้การสนับสนุนสถานพยาบาลในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดด้วยการคาดการณ์ที่ทันท่วงที และคำแนะนำแบบมีพลวัต เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19
เผยแพร่ครั้งแรกที่ องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย