คำกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี หัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากสถานการณ์ COVID-19” 30 ส.ค. 2020
คำกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ในโอกาสการฉลองครบรอบ 20 ปีการจัดตั้งโกลบอลคอมแพ็กภายใต้สหประชาชาติ และ ครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ
- ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานสัมมนา หัวข้อ “วิถีคิดผู้นำสู่ความยั่งยืนภายใต้ชีวิตวิถีใหม่” ในโอกาสการฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดตั้งโกลบอลคอมแพ็กภายใต้สหประชาชาติ
และการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายในวันนี้ จากที่ได้รับฟังคำกล่าวของผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยแล้ว เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย - ผมทราบว่า UN โกลบอลคอมแพ็ก เป็นโครงการหนึ่งของสหประชาชาติ ที่ส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกใช้นโยบายในการดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยเน้นความยั่งยืนและการมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นสากล ๑๐ ประการของ UN โกลบอลคอมแพ็ก ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญตลอดมา ผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันสมาคมเครือข่าย
โกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยมีสมาชิกกว่า ๕๐ บริษัทเข้าร่วมด้วย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศของเราให้ดีขึ้นจากวิกฤตโควิด-๑๙ และในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทราบว่าไทยมีผลการดำเนินงานที่ดี ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน - ผมตระหนักดีว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคมและธุรกิจ” การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและปฏิบัติ รัฐบาลของผมจึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียง
อย่างเดียว ผมรู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ
ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan: NAP) เมื่อปี ๒๕๖๒ โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้ความสำคัญกับ ๓ เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ซึ่งผมต้องขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมถึงสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อน
การดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคมไทย
ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ - สำหรับหัวข้อที่ท่านให้ผมมาพูดในวันนี้ คือ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จาก
โควิด-๑๙” ซึ่งท่านคงเห็นเหมือนผมว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตระดับโลก เราไม่เคยประสบวิกฤตการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง เราต้องปรับตัวทั้งในการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจให้เป็นไปในรูปแบบ “New Normal” หรือ “วิถีปกติใหม่” ดังนั้น ผู้นำในทุกองค์กร รวมทั้งภาครัฐบาลจึงต้องพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่โลกใหม่ด้วย เราไม่อาจทำงานในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป - สำหรับรัฐบาลเองก็จะเร่งปรับปรุงวิธีการทำงานให้เป็นแบบ New Normal ตามแนวทางสำคัญ
๓ ประการ ได้แก่
หนึ่ง การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมวางอนาคตของประเทศไทย ต่อไปนี้ รัฐบาลจะต้องทำงานโดยนำทุกภาคส่วน และทุกระดับในสังคม เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยกันกำหนดอนาคตของประเทศ ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามานำเสนอวิสัยทัศน์ และความคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้รัฐบาลฟังได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” เพื่อทำหน้าที่ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของประชาชนในระดับพื้นที่ เริ่มจากปัญหาที่มี
ความเร่งด่วน ซึ่งต้องการการแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยน โดยขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้การดำเนินงานเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์
สอง รัฐบาลจะเปิดให้มีการประเมินผลงานภาครัฐ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง ให้ทุกคนสามารถประเมินผลการทำงานของรัฐว่า ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามที่เขาคาดหวังหรือไม่ เพื่อกำจัดสิ่งที่ทำแล้วไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนออกไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้น สามารถติดตามผลงานของรัฐบาลได้ ทุกอย่างต้องดำเนินต่อเนื่องและร่วมมือกัน โดยสิ่งที่ผมจะทำให้เกิดขึ้นเป็นอันดับต่อไปก็คือ สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการประเมินผล และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐให้ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลรับทราบโดยตรงได้ด้วย
สาม การทำงานเชิงรุก ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องทำงานให้บูรณาการระหว่างกัน ทั้งการบูรณาการข้ามหน่วยงานและข้ามกระทรวง และเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น รัฐบาลจะกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ และการสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชน เพื่อให้กระทรวงต่าง ๆ นำไปขับเคลื่อนต่อยอดให้เป็นรูปธรรม ผมจะติดตามโครงการสำคัญเร่งด่วนนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นจริง และมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา ผม ทุกคนในรัฐบาล และทีมงานข้าราชการทุกกระทรวงฯ จึงพยายามทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด หรือการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านมาตรการเยียวยาต่าง ๆ เริ่มจากการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจากทุกช่องทางอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการนำเชื้อไวรัสจากนอกประเทศเข้ามาภายในประเทศ การเว้นระยะห่างและการรักษาสุขอนามัยตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่จำนวนกว่าล้านคนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดภายในประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์ที่สำคัญในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กับประเทศ โดยทุกขั้นตอน มีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและรัดกุมภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งมีผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่กำกับดูแลภารกิจ ในทุกมิติด้วยตนเอง
- ภายใต้การดำเนินงานตามแนวทางข้างต้น กอปรกับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทั้งชาติ ส่งผล ให้ไทยได้รับคำชื่นชมจากสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก รวมถึงได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ว่าสามารถบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดและฟื้นตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
- วิกฤตการณ์โควิด-๑๙ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มี “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้มแข็งจากภายในและฐานราก โดยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของมนุษย์” เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ การมุ่งพัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อทุกคนมีความต้านทานจึงจะเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งผมก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ต่อสหประชาชาติและประเทศในภูมิภาคในการประชุม UNESCAP เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
- เพราะฉะนั้น วันนี้เรารอดพ้นจากความท้าทายครั้งนี้ไปได้ รัฐบาลต้องดึงศักยภาพของประเทศ
ออกมาใช้โดยระดมความเห็นและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และประชาชนทุกคน ให้เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนการฟื้นฟูประเทศให้ดีกว่าเดิม ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” ท่ามกลางวิกฤตนี้ “เราจะต้องรอด และวันหน้า เราต้องเข็มแข็งให้มากกว่าเดิม” พวกเราคนไทยจะ ฝ่าฟันไปด้วยกัน เพราะเราและโลกมีเป้าหมายที่ชัดเจนรออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งเราจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ หรือปี ๒๕๗๓ เรามีเวลาเหลืออีกไม่มากแล้ว แต่ผมเชื่อมั่นในประเทศไทยและคนไทย หากเราร่วมมือร่วมใจกัน ความก้าวหน้าและความสำเร็จอยู่ไม่ไกล และผมขอชื่นชมบทบาทของภาคเอกชนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมมือกันบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่าง ๆ - เวลานี้ที่เราต้องมองไปข้างหน้า มี ๓ ประเด็นที่ผมเห็นว่า มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้
หนึ่ง การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สะท้อนถึงความสำคัญของระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อไม่ให้มีช่องว่างระหว่างคนในสังคม ภาครัฐสนับสนุนระบบอาสาสมัครสาธารณสุขท้องถิ่นที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้แข็งแกร่งขึ้น ในวิกฤตที่ผ่านมา อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถควบคุมไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ
สอง เราต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส ต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเร่งด่วนมาเป็นลำดับ
โดยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน เช่น มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า การสนับสนุนเงินให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ลูกจ้างรายวัน กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการหนี้เดิมที่มีอยู่ เช่น มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ เพื่อให้ทรัพยากรของภาครัฐเพียงพอต่อการพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในระยะเร่งด่วน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกว่า ๒ ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นสองส่วนหลัก คือ งบประมาณในส่วนที่ได้มีการตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน ๑ ล้านล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน ๓ แผนงาน ได้แก่ (๑) โครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ๔๕,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับการเตรียมการในช่วงที่ผ่านมาและสำหรับในอนาคต (๒) แผนงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ๕๕๕,๐๐๐ ล้านบาท และ (๓) โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และงบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ วงเงินกว่า ๑ ล้านล้านบาท โดยทั้งหมด มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ และประชาชนที่เดือดร้อนในหลายส่วนอย่างครอบคลุม ผ่านการลงทุนและการดำเนินกิจกรรมทุกรูปแบบให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน
อันจะนำไปสู่การจ้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความแข็งแกร่งได้ต่อไป
ล่าสุด ผมได้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ" หรือ ศบศ. เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ
โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ ศบศ. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมและบรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว
สาม วิกฤตนี้ เป็นโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัว อย่างยั่งยืนเพื่อเตรียมรับความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ การสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก การดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การลดภาวะโลกร้อน การกำจัดขยะในทะเล และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะหากเราไม่บริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทยต่อไปจากนี้ จะมุ่งเน้นเรื่อง “ความยั่งยืน” และ “การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า วันนี้ ผมจึงดีใจมากที่ได้มาพบและแสดงวิสัยทัศน์ต่อผู้บริหารของบริษัทของประเทศไทยทั้งเล็กทั้งใหญ่ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของคนในโลก
- ผมอยากเล่าให้ทุกท่านฟังว่า รัฐบาลมองการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอย่างไร และอยากจะขอให้ท่านพัฒนาแผนธุรกิจไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน และเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง ผมรู้ว่า เอกชนไทยขนาดใหญ่หลายแห่งในที่นี้ หลายท่านเป็นบริษัทข้ามชาติ ผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ท่านดำเนินการไว้แล้ว จะได้แผ่ขยายไปในประเทศอื่น ๆ ให้เราเติบโตอย่างแข็งแรง แข็งแกร่งไปด้วยกันทั้งหมด แต่เราก็ต้องไม่ลืมหุ้นส่วนขนาดเล็ก ขนาดรากหญ้าที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญเช่นกัน
- รัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ เราจะทำเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
โดยมีแนวทางสำคัญ คือ “การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน” “สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลก” และ “เดินหน้าไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” - วิกฤตการณ์โควิด-๑๙ ทำให้เรามองเห็นศักยภาพของไทย และของทั่วโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การพัฒนาประเทศภายหลังวิกฤตการณ์นี้ ต้องอาศัยรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ นำมาต่อยอดและพัฒนา เราต้องเปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมากและการทำลายสิ่งแวดล้อม มาเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เน้นการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ประสานงานกันทุกภาคส่วน และต้องเน้น
การลงทุนและการพัฒนาที่ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมของไทย ใช้ภูมิปัญญาของคนไทยเอง ซึ่งผมอยากให้ภาคเอกชนตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ - สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนอย่างน้อยใน ๕ มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากเริ่มดำเนินการในเวลานี้ จะช่วยฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับสู่ความปกติเร็วขึ้น
- ที่ผ่านมา รัฐบาลขับเคลื่อนทั้งการลงทุนและการวางรากฐานที่แข็งแกร่งในโมเดลเศรษฐกิจ BCG
มาระยะหนึ่งแล้ว ผมจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจให้แก่ท่าน อย่างเช่น
- การจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank) เพื่อเก็บรักษาและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลายด้วยการใช้จุลินทรีย์ ซึ่งที่ผ่านมา ยังมีการดำเนินการค่อนข้างน้อย อยากให้ภาคเอกชนลองหาแนวทางใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วย
- โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) เป็นการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยว่า คนไทยมียีนเด่น ยีนด้อยอะไร ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มของโรคที่จะเกิดกับคนไทยได้ พอเราสามารถรู้ล่วงหน้า ก็จะสามารถเตรียมยา เตรียมการป้องกัน และเตรียมการรักษาได้ถูกต้อง เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีคนเก่งมากมายอยู่แล้ว นี่จะเป็นการต่อยอดให้ระบบสาธารณสุขของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก
- อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science) เพื่อขยายงานวิจัยไปในท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และนวัตกรรมของภูมิภาค หรืออาจเป็น
การพัฒนานวัตกรรมอาหารแบบครบวงจร เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ
ผมขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนออกไปในท้องถิ่นให้มาก ๆ เพื่อกระจายรายได้ และดึงศักยภาพของท้องถิ่นออกมาให้เต็มที่ เรายังมีทรัพยากรมากมายและควรได้รับการเพิ่มเติมด้านนวัตกรรมเหล่านี้ด้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนและได้ปรับมาตรฐานหลายด้าน เช่น BOI เพื่อตอบสนองการดำเนินการเหล่านี้ - โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) เพื่อขยายขนาดการผลิตอุตสาหกรรมชีวมวลจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยไบโอรีไฟเนอรีเป็นกระบวนการนำ ของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ชีวมวล หรือของเสียจากอุตสาหกรรมมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น แล้วอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพหรือเอ็นไซม์ มาเปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านั้นเป็นอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น วัสดุชีวมวล สารเคมีชีวมวล ชีวเวชภัณฑ์ และพลังงานชีวมวล ภาคเอกชนน่าจะลงทุนด้านนี้กันมาก ๆ เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังช่วยแก้ปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
- การสร้าง Big Data หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็ว โครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น
- TP Map (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า ให้สามารถครอบคลุมปัญหาที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย ทำให้สามารถระบุปัญหาความยากจนในระดับต่าง ๆ ได้อย่างตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหา
- Agri map เพื่อยกระดับผลผลิตภาคเกษตรแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลน้ำ และข้อมูลจากดาวเทียม ช่วยสนับสนุนแผนการผลิตให้สอดคล้องกับทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว
- นอกจากนั้น ยังมีแผนการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลในชุมชน ข้อมูล OTOP ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการข้อมูลเหล่านี้ไว้ด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอย่างถูกต้องของผู้บริหารในทุกระดับ เรื่องนี้ภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันให้บรรลุผลอย่างแท้จริง
- สำหรับโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวทีโลก เราต้องสร้างโอกาสโดยอาศัย
ความเข้มแข็งจากภายใน พึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาที่เรามีศักยภาพสูง
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ความมั่นคงทางอาหาร แต่ตอนนี้ สินค้าเกษตรและอาหารส่งออกของเรากลับมีมูลค่าต่ำลงเรื่อย ๆ เราต้องปรับเปลี่ยนจากการขายของถูก ปริมาณมาก เป็นการขายของที่มีมูลค่าสูง โดยการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า ผมต้องการปรับกระบวนทัศน์ด้านการผลิตอาหารของไทย
ทั้งองคาพยพ ให้ประเทศของเรามีระบบอาหารที่ยั่งยืน
- เริ่มจากภาคเกษตรกรรมต้องเป็น smart farming เกษตรกรรายย่อยต้องมีความเข้มแข็ง สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการ และการใช้ช่องทาง online ในการจำหน่ายผลผลิต โดยเกษตรกรต้องเรียนรู้ทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าด้านอื่น ๆ ขอให้ผู้บริหารศึกษาจากต่างประเทศในด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรมเพื่อมาปรับใช้กับภาคเกษตรกรรมในประเทศได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ยังมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่ดินทำกินน้อยว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอย่างไรได้
- สินค้าอาหารที่ไทยผลิตต้องมี innovation ต้องเป็น niche market หรือตลาดเฉพาะ ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของตลาด ผนวกกับการใช้จุดแข็งด้านมาตรฐานการแพทย์ของไทย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารสำหรับการรักษาโรค อาหารออร์แกนิค อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารแคลอรี่ต่ำ ไทยเองมีวัตถุดิบที่ดีอยู่แล้ว เช่นการผลิตข้าวหลายสายพันธุ์เพื่อตอบสนองตลาดเฉพาะ ขอให้ดำเนินการและสนับสนุนต่อไป
- รัฐบาลเองก็จะปรับการจัดสรรงบประมาณการลงทุนในโครงการนวัตกรรมการเกษตร
จากงบประมาณรายปี เป็นการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาสามารถดำเนินการได้ในระยะยาว และต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการตลาด สนับสนุนทุนวิจัยแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา และการจำหน่าย เพื่อเร่งรัดให้เกิดการเข้าสู่ตลาดโดยผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยคนไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนานั้นมีศูนย์รวมอยู่ที่หน่วยงานเดียว ทำให้ง่ายต่อการพิจารณาโครงการต่าง ๆ จึงขอให้เสนอเข้ามาและรัฐจะพิจารณาต่อไป
- จุดแข็งอีกอย่างของไทยที่สำคัญ คือ Creative Economy ประเทศไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีหัตถกรรมชุมชนที่ละเอียด ปราณีต รวมถึงวัฒนธรรมอาหารที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมา เรามักจะนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามาใช้เพื่อ
การท่องเที่ยวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ต่อไปนี้ รัฐบาลจะมุ่งเน้นการนำจุดแข็งด้านวัฒนธรรมของไทยมาใช้เพิ่มมูลค่า เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เน้นการได้รับประสบการณ์ตรงจากวิถีชีวิตในท้องถิ่น และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนในท้องถิ่น รวมทั้งการสนับสนุน local startup หรือ local artist ที่นำมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นต่อไป - ในด้านบริการสาธารณสุข ซึ่งเรามีระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ไทยยังขาด คือ เรายังนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ยา วัสดุ และเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ เราจึงควรสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ และการแพทย์ เราต้องทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของเรามีลักษณะครบวงจรอย่างแท้จริง ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การทดสอบ
การบรรจุภัณฑ์ โดยมีห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงกันในทุกระดับ สายการผลิตของเราต้องมีความยืดหยุ่นคล่องตัว
เพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายได้ ดังเช่นในการผลิตวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-๑๙ นอกจากนั้น
เราควรให้ความสำคัญกับการแพทย์ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ หากเราพัฒนาได้ ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลกอย่างแท้จริง - ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมพูดมานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประเทศไทยมีระบบการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และประหยัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของไทยให้สูงขึ้น สามารถเชื่อมโยงฐานการผลิตภายในภูมิภาคได้โดยสะดวก ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ หากไม่ดำเนินการแก้ไขตอนนี้อาจทำให้เกิดปัญหาระยะยาวได้ โดยปัจจุบันระบบคมนาคมขนส่งไทยไม่สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้เต็มที่ เพราะเราใช้ถนนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในการขนส่งผู้โดยสาร รัฐบาลมีแผนจะเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสสำหรับเส้นทางระยะยาวและระหว่างจังหวัด รวมถึงยกระดับรถแท็กซี่ไปสู่การเป็น สมาร์ตแท็กซี่ และยกระดับสมาร์ตบัสเทอร์มินัลเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการรถสาธารณะ ซึ่งภาคเอกชนสามารถเข้ามาสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ได้
- นอกจากนั้น รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมและทั่วถึง มุ่งเน้นที่จะพัฒนาระบบรถไฟเป็นระบบรางคู่ในเส้นทางในทุกภูมิภาค รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก็ยังเดินหน้าตามแผน รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาคต่าง ๆ เช่น รถไฟสายใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้ระบบรางเข้ามามีบทบาทต่อการคมนาคมขนส่งมากขึ้น ผมมีความฝันว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะมีโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสาธารณะทั่วถึงในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน ผมอยากให้ภาคเอกชนผนึกกำลังกับภาครัฐอย่างจริงจังในเรื่องนี้ และเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
- อย่างที่ผมบอกไปแล้วตั้งแต่ตอนต้น ในการพัฒนาของไทย ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยแรงงานของไทยกำลังลดลง เราต้องหาวิธีเพื่อนำศักยภาพของประชาชนทุกเพศ ทุกวัยออกมาใช้ให้ได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเรื่อง active aging ดูแลให้คนสูงอายุมีสุขภาพดี และสามารถทำงานเพื่อสังคมได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น การปลดล็อกและดึงศักยภาพของสตรีออกมาใช้ให้ได้มากขึ้น ทั้งโดยการขจัดการคุกคามทางเพศ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายในทุกมิติ การสนับสนุนด้านสวัสดิการสำหรับพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์และแม่เลี้ยงเดี่ยว ตลอดจนการส่งเสริมโอกาสให้ผู้ประกอบการสตรี ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการพัฒนาศักยภาพของสตรีในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการดูแลแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย
- นอกเหนือจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ เราต้องช่วยกันสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย Startup และ SMEs ให้ทุกคนมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน ขอให้ภาคธุรกิจเปิดเวทีให้ SMEs ด้วย รัฐบาลตระหนักดีว่า SMEs เป็นฟันเฟืองที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบัน SMEs มีสัดส่วนกว่าร้อยละ ๙๖ ของเศรษฐกิจโดยรวม และกลุ่ม SMEs อย่างเดียว ก็สร้างอาชีพให้กับพี่น้องคนไทยมากกว่า ๑๔ ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้น ผมขอให้ภาคเอกชนทุกท่านช่วยกันสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง SMEs และ Startup รุ่นใหม่อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการนำผู้ประกอบการรายย่อยเข้าอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน การสนับสนุนแหล่งเงินทุน และการให้โอกาสทางการตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด-๑๙
- ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมเองออกไปพบกับสมาคมธุรกิจต่าง ๆ ทั้งตัวแทนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก สมาคมผู้ค้าปลีก ชาวนาและเกษตรกร ชาวประมง และคนทำมาหากินทั่วไป
เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นโดยตรง และทำความเข้าใจต่อความเดือดร้อนที่แท้จริงที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาพิจารณา - ผมนำข้อคิดเห็นที่ได้รับมาสั่งการเป็นนโยบาย ไม่ว่าจะเรื่อง (๑) การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่กำหนดให้ต้องซื้อสินค้าหรือบริการจาก SMEs ในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ไปยังธุรกิจรากหญ้าที่ขึ้นบัญชีไว้ (๒) การเปิดห้างร้าน สถานที่ค้าขาย ให้ผู้ค้าปลีกได้กลับมาทำมาหากิน และผมก็สบายใจที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวด (๓) การให้หน่วยราชการพิจารณาใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วสำหรับการจัดประชุมสัมมนาในสถานที่ หรือโรงแรมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายได้แก่การท่องเที่ยวในท้องถิ่น รวมทั้ง (๔) การรับฟังข้อคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคการเกษตรและปัญหาภาคการประมงในระยะยาวด้วยตัวเอง เช่น แนวทางประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์
- สิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤต
โควิด-๑๙ คือ ความร่วมแรงร่วมใจอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยทุกคน อย่างที่เราเห็นในข่าวว่า คนไทย
หลาย ๆ คน แม้จะมีทุนทรัพย์และเวลาน้อย ก็ยังแบ่งปันกัน เช่นในรูปแบบของตู้ปันสุข ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศของเรามีคนเก่งและคนมีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนเป็นคนที่มีความคิดดี ๆ มีพละกำลัง และมีความพร้อมที่จะช่วยประเทศชาติ โดยไม่มีข้อแม้ ขอให้สังคมดำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ เราต้องเพิ่มโอกาสให้ตนเอง หาตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและนอกประเทศ - ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการขยายฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และประชาชนทั่วไปในรูปแบบ “งานอาสาสมัคร” คนไทยเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นได้จากการที่เรามีจำนวนอาสาสมัคร
ที่ลงทะเบียนเป็นทางการและไม่เป็นทางการมากกว่า ๑๐ ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของพี่น้อง ในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่าง ๆ - รัฐบาลมองว่า งานอาสาสมัครเป็นกลไกที่มีศักยภาพอย่างยิ่งทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาท้องถิ่น เพราะ ประการแรก อาสาสมัครถือเป็นการให้พื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา นอกจากนั้น อาสาสมัครยังสามารถมีบทบาทในการเชื่อมโยงนโยบายของรัฐบาลไปสู่ การดำเนินงานจริงในระดับชุมชน ทำให้เสียงของประชาชนได้รับการสะท้อนมาสู่นโยบายของรัฐบาล
- ไม่เฉพาะแค่ในประเทศเท่านั้น แต่รัฐบาลดำเนินงานร่วมกับนานาชาติในการส่งเสริมงานอาสาสมัครข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “อาสาสมัครเพื่อนไทย” (Friends From Thailand: FFT) ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และที่ผ่านมา เราส่งอาสาสมัครไทยไปปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ภูฏาน ติมอร์-เลสเต เบนิน โมซัมบิก และเลโซโท ความร่วมมือด้านการพัฒนาของไทยภายใต้โครงการ FFT
เน้นการเผยแพร่และขับเคลื่อน “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “SEP” ในพื้นที่จริง ซึ่งก็เห็นผล
ที่เป็นประโยชน์และนำความเจริญไปสู่ท้องถิ่นนั้น ๆ โดยไทยตั้งศูนย์เรียนรู้ด้าน SEP ใน ๙ ประเทศ และชุมชนต้นแบบ SEP ใน ๑๒ ประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยเป็นสากล และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ - นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมิตรประเทศ นอกจากนี้ เรายังได้รับองค์ความรู้และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ที่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยสามารถดำเนินมาตรการต่อสู้กับโควิด-๑๙ ได้อย่างครอบคลุม ไม่ละเลยกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสตรี ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ และแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ มากที่สุด ผมขอใช้โอกาสนี้ยืนยันว่า ไทยยึดมั่นในระบบพหุภาคี หลักค่านิยมสากล และการส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
- สิ่งที่พูดมาวันนี้ ทุกอย่างก็ครอบคลุมนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาดีกว่าเดิม ประเด็นสำคัญหลัก ๆ ที่เน้นย้ำ มี ๒ อย่างที่กล่าวไป คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ” ซึ่งทุกท่านในที่นี้ รวมทั้งเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สามารถมีบทบาทสำคัญได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้น การพัฒนาของเราต้องครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำงานแบบ win-win ยึดมั่นในระบอบ
พหุภาคี และความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ - เมื่อเราเริ่มทำงานในแบบใหม่ ๆ ก็อาจจะมีเสียงคัดค้าน หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายหนึ่ง ขอให้อย่าหมดกำลังใจ ผมพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกคน โดยเฉพาะภาคเอกชนและเยาวชน เพราะผมเชื่อมั่นว่า เราต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนทุกรุ่นและทุกวัยร่วมภารกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” ไปพร้อม ๆ กัน ผมมั่นใจว่า วิกฤตโควิด-๑๙ ครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยของเรายิ่งแข็งแกร่ง
มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นกว่าเดิม และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นประชาคมโลกเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน - เราทุกคน ทั้งคนไทย ประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลก จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน คิดใหม่
ทำใหม่ สร้างสรรค์วิธีการทำงาน และวิถีชีวิตแบบใหม่ เพื่อที่เราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน