คำกล่าวของผู้ประสานงานสประชาชาติประจำประเทศไทย ในการสัมนา 'ร่วมสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน' ที่นิด้า
คำกล่าวของ กีต้า ซับบระวาล ในสัมนา 'ร่วมสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน' ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 11 ส.ค. 2020
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาอยู่ร่วมกับทุกท่านในงานวันนี้ เพื่อประกาศความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติและนิด้า และเพื่อเริ่มต้นการหารือว่าด้วย ‘การสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม’ ร่วมกับนักศึกษาและนักวิชาการ
ดิฉันขอขอบคุณนิด้าที่ได้ร่วมจัดงานซึ่งเหมาะแก่สถานการณ์ในปัจจุบัน นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เราหันหน้าเข้าหากัน เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อก้าวข้ามความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนจากวิกฤตโควิด และประสานความพยายามเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดิฉันตั้งตารอที่จะได้รับฟังสมาชิกผู้ร่วมอภิปรายในวันนี้ เพราะความคิดของท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราคิดอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเกี่ยวกับ ‘การสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม’ ในขณะที่เราต่างก็มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในชีวิตและหน้าที่การงาน
การเสวนาครั้งนี้สำคัญมากต่อสหประชาชาติ เนื่องจากเรามีอายุครบ 75 ปี และยังถือเป็นทศวรรษแห่งการทำจริงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เป้าหมายเหล่านี้เป็นจริง สหประชาชาติได้มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน รวมถึงตัวท่าน เพื่อสร้างปณิธานร่วมกันสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
จากการวิเคราะห์ของเรา มีคนไทยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ทราบเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และระดับการรับรู้ก็ยิ่งต่ำลงในหมู่คนรุ่นใหม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลงในวันนี้!
มุมมองของท่านมีความสำคัญ วันนี้เราอยากทราบว่า ‘การสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม’ นั้นมีความอย่างไรสำหรับท่าน สิ่งใดที่ท่านเชื่อว่าควรได้รับความสำคัญ สิ่งใดที่ท่านต้องการให้สหประชาชาติดำเนินการมากขึ้นในประเทศไทย
ในวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่แต่ละท่านสามารถทำได้เพื่อช่วยหนุนเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือการทำแบบสำรวจออนไลน์ UN75 ที่ใช้เวลาเพียง 1 นาที เพื่อบอกให้เราทราบว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมสำหรับท่าน สหประชาชาติต้องการข้อมูลจากท่าน และคำตอบเหล่านี้จะเป็นแนวทางในการวางนโยบายในอนาคต
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหประชาชาติและสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เชิญผู้นำทางธุรกิจระดับแนวหน้ามาประชุมหารือกันว่าภาคเอกชนจะสามารถช่วยผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ดีที่สุดได้อย่างไร ซึ่งภาคเอกชนก็ได้ให้คำมั่นร่วมกันว่าจะสมทบทุนจำนวน 1.2 ล้านล้านบาทภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดิฉันเชื่อว่าจะเพียงพอต่อการช่วยปิดช่องว่างทางการเงินที่ยังขาดอยู่ 50 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการเพิ่มเติมเพื่อพิชิตเป้าหมาย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันยังมีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่จากประเทศไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลี ซึ่งใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบอิงเทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อม ๆ กับสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ขาดแคลน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีความพิการ เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มคนชายขอบ วิสาหกิจเพื่อสังคมเหล่านี้มักตั้งอยู่บนหลักการของความยุติธรรมทางสังคม และใส่ใจกับผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
และวันนี้ ดิฉันก็ได้มาพบกับท่านพร้อมด้วยความตั้งใจที่จะเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรของสหประชาชาติ เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และหารือว่าเราจะร่วมมือกันได้อย่างไรบ้างในอนาคต
ดิฉันใคร่ขอกล่าวถึงสิ่งที่สหประชาชาติกำลังทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสักเล็กน้อย ซึ่งทุกท่านก็จะได้รับฟังจากตัวแทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในระหว่างการอภิปรายในอีกไม่ช้า
สหประชาชาติในประเทศไทยประกอบด้วยหน่วยงาน 20 หน่วยงานที่ทำงานโดยใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ความรู้ระดับโลก และความเชี่ยวชาญด้านวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เพื่อที่จะ ‘สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม’ สหประชาชาติกำลังทำงานร่วมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปได้ร้อยละ 8 นอกจากนี้หน่วยงานของสหประชาชาติยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการสร้างที่อยู่อาศัยสีเขียวกว่า 2 ล้านยูนิต ซึ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานหมุนเวียน เรากำลังนำร่องเทคโนโลยี e-mobility หรือระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แนะนำเทคโนโลยีในการลดไดออกซินในโรงงานผลิตอะลูมิเนียม และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อนำร่องกลยุทธ์การอนุรักษ์ทางทะเลที่มีชุมชนเป็นผู้นำ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และขยายความเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมเช่นกัน เรากำลังใช้ข้อมูลทางดาวเทียมเพื่อติดตามสถานการณ์หมอกควันพิษ ไฟป่า และระดับการปล่อยมลพิษ ซึ่งช่วยให้เราสามารถพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อจัดการกับไฟป่าและการเผาขยะชีวมวล
เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสนับสนุนการพิทักษ์โลก เนื่องจากขนาดและความรวดเร็วของวิกฤตโลกร้อนนั้นกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การจัดการหมอกควันพิษ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน และการลดละเลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เหล่านี้เป็นเพียงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนเท่านั้นที่เราทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน
เมื่อเราร่วมเป็นพันธมิตรกัน เราจะสามารถกำหนดทิศทางให้กับภูมิภาคและโลกได้
ดิฉันขอจบคำกล่าวด้วยการขอบคุณนิด้าที่ให้เกียรติร่วมเป็นพันธมิตรกับเรา และเปิดพื้นที่สำหรับการหารือที่สำคัญร่วมกับทุกท่านในวันนี้