“ปราการด่านแรกของไทย” หัวใจสำคัญของการเฝ้าระวังโรค
หนึ่งในปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของประเทศไทยต่อการควบคุมการระบาดของโควิด -19 คือ การจัดตั้งระบบกักกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง
จากบทสัมภาษณ์ นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกองระบาดวิทยาและกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของประเทศไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คือ การค้นหาและแยกผู้ป่วยรายแรกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เริ่มตั้งจุดคัดกรองพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งมีสามเที่ยวบินต่อวัน บริเวณหน้าประตูเทียบเครื่องบินเพื่อตรวจหาผู้ที่มีไข้สูงและอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ขณะนั้นรู้จักกันแต่เพียงว่าเป็นโรคปอดอักเสบปริศนา
นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกองระบาดวิทยาและกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบภารกิจการคัดกรองด่านเข้าออกระหว่างประเทศ เล่าว่า “ตอนต้นเดือนมกราคมหลังปีใหม่ จำได้ว่าไม่มีประเทศไหนตื่นเต้นเรื่องนี้ ไม่มีใครคิดจะตรวจด้วยซ้ำเพราะนึกว่าทุกอย่างถูกจำกัดวงอยู่ที่อู่ฮั่น”
เนื่องจากไม่มีแพทย์ประจำด่านเข้าออกระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในขณะนั้น นพ.โรม จึงได้รับมอบหมายให้มากำกับดูแลการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าที่นี่ ซึ่งในระยะแรกมีความท้าทายอย่างมาก “ประเด็นคือเราจะค้นหาผู้ป่วยมีไข้ต่ำๆได้อย่างไร เราโดนปรามาสมาตลอดว่าการคัดกรองที่สนามบินไม่เคยตรวจจับอะไรได้เลย หลายที่มีเครื่องเทอร์โมสแกนแต่ไม่รู้จักการประยุกต์ใช้” นพ.โรมกล่าวถึงที่มาของการตั้งมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานใหม่เพื่อใช้อุปกรณ์เทอร์โมสแกนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นิยามของผู้ป่วยต้องสงสัย คือผู้ที่มีไข้ 38 องศาเซลเซียสและอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ปกติเครื่องเทอร์โมสแกนนั้นจะวัดได้เพียงอุณหภูมิผิวซึ่งต่ำกว่าอุณหภูมิแกนของร่างกาย จึงต้องมีการประยุกต์หาวิธีคัดกรองด้วยการหาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผู้โดยสารในเที่ยวบินจากสิบคนแรก วิธีการคือ เทียบค่าระหว่างอุณหภูมิที่วัดจากเครื่องเทอร์โมสแกนและอุณหภูมิแกนที่วัดจากหู เมื่อได้ค่าเฉลี่ยนั้นแล้วจะนำมาตั้งค่าของเครื่องเพื่อให้ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีใครอุณหภูมิเกิน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำเครื่องวัดแบบมือถือไปยิงวัดอุณหภูมิที่หูซ้ำอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจ เพราะฉะนั้นเครื่องเทอร์โมสแกนจะตั้งค่าไว้ต่ำ เช่น 36.5 หรือ 36 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ การเดินทางในเวลากลางวัน และ กลางคืน ก็มีผลต่ออุณหภูมิร่างกาย ทุกครั้งจึงต้องมีการตั้งค่าเครื่องเทอร์โมสแกนใหม่สำหรับแต่ละเที่ยวบินขาเข้า
ผู้ป่วยรายแรกที่ตรวจพบเมื่อวันที่ 8 มกราคมมีอุณหภูมิ 38.1 องศาเซลเซียส เมื่อซักประวัติเพิ่มเติมก็พบว่ามีอาการหวัดและน้ำมูกด้วย ทางด่านฯจึงประสานงานเพื่อส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลบำราศนราดูรและมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขณะนั้น ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำให้ถอดรหัสพันธุกรรมแบบดั้งเดิม (conventional genetic sequencing) ก่อน แล้วไปถอดรหัสพันธุกรรมแบบสายยาว (whole genome sequencing) ต่อ
วันต่อมาผลขึ้นว่าเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวคล้ายเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (Bat SARS-like coronavirus) จึงต้องส่งไปถอดรหัสพันธุกรรมแบบสายยาวเพื่อให้รู้สายพันธุ์ที่แน่นอน ขณะนั้นมีเพียงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เท่านั้นซึ่งมีเทคโนโลยีพร้อม
เมื่อประเทศไทยค้นพบว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็ยังไม่สามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ทันทีเนื่องจากต้องมีการตรวจสอบจากฐานข้อมูลก่อน และวันที่ 11 มกราคม 2563 หลังจากที่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดในอู่ฮั่นถูกเผยแพร่ออกมาและได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของเชื้อจากผู้เดินทางกลับจากอู่ฮั่น ซึ่งพบว่าเป็นไวรัสตัวเดียวกันจึงถือว่าเป็นการพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกนอกเมืองอู่ฮั่น
เมื่อประเทศไทยเริ่มตรวจพบผู้ป่วยได้รายที่ 1 และรายที่ 2 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็เริ่มสนใจว่าทำได้อย่างไรและถามถึงขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งในที่สุดได้มีการถ่ายทอดให้ทุกด่านเข้าออกระหว่างประเทศได้ทำเหมือนกัน และได้แบ่งปันให้กลุ่มประเทศอาเซียน +3 ด้วย ต่อมาสนามบินต่างๆ จึงเริ่มมีการตรวจพบผู้ป่วยได้ ซึ่งตรวจพบผู้โดยสาร/ผู้ป่วยต้องสงสัยได้มากที่สุดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีการขยายพื้นที่เฝ้าระวังเพิ่มอีกหลายจุด ไม่ได้อยู่เฉพาะที่ประตูเทียบเครื่องบินเท่านั้น จนถึงปัจจุบัน ได้มีการคัดกรองที่ด่านโรคติดต่อระหว่างประเทศ (ทางอากาศ ทางบกและทางเรือ) ถึง 7,440,709 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ธันวาคม) และพบผู้ป่วยต้องสงสัย 3,646 ราย
ช่วงเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่ค่อนข้างวุ่นวายเพราะพบผู้ป่วยต้องสงสัยจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ด่านฯ ทุกคนเป็นปราการแถวหน้าซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อซึ่งต้องทำงานกันไม่หยุดหย่อน “เราต้องแยกผู้ป่วยไม่ให้ไปปะปนใน clean zone ตัวอย่างเช่น บริเวณเข้าแถวรอตรวจคนเข้าเมืองที่มีความหนาแน่นมากและบริเวณศุลกากร หากมีผู้ติดเชื้อหลุดมา จะแพร่เชื้อให้เจ้าหน้าที่และผู้โดยสารอื่น สนามบินจะกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดทันที เราจึงต้องจัดโซนให้ไม่มีการระบาดในสนามบิน” นพ.โรมกล่าว ซึ่งระยะนั้นยังคงมีผู้โดยสารไม่ยอมบอกความจริงว่าตัวเองป่วย หรือนักท่องเที่ยวที่พยายามต่อรองเพราะอยากมาเที่ยวและไม่อยากไปโรงพยาบาล การที่ผู้โดยสารปิดบังข้อมูลหรือประวัติการเดินทางนั้นจึงอาจทำให้มีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหลุดรอดออกไปได้
กระทรวงสาธารณสุขได้เปรียบเปรยการคัดกรองว่าเหมือนกับตะแกรง 3 ชั้น ดังนี้ ด่านฯที่ท่าอากาศยานกรองได้เพียงระดับแรกซึ่งอาจจะยังมีไม่ละเอียดพอ เมื่อหลุดรอดไปด่านที่สองคือโรงพยาบาลก็จะมีความละเอียดขึ้นอีก ต้องพยายามค้นหาผู้ป่วยให้ได้ สุดท้ายหากยังหลุดไปก็มีระดับชุมชนซึ่งละเอียดที่สุด “ต่อให้มีระบบไหนก็ตาม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดีที่สุด อสม.รู้ทุกหย่อมหญ้าเลยว่าใครไปใครมาบ้างและทำทะเบียนเก็บไว้หมด” นพ.โรมกล่าวเสริม
นอกจากการคัดกรองแล้ว ประเทศไทยยังคงมีระบบกักกันโรคที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นสถานกักกันโรคแห่งรัฐหรือสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยม อันจะเห็นได้จากทุกวันนี้ยังมีการตรวจพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานกักกัน ซึ่งทุกคนต้องผ่านการตรวจทางห้องปฏิบัติการถึงสองครั้ง จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม พบผู้ป่วยยืนยันในสถานกักกันที่รัฐจัดให้แล้วทั้งสิ้น 1,181 ราย
การจะทำงานด้านกักกันโรคให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ในมุมมองของประชาชนทั่วไปอาจเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนแต่ในความเป็นจริงต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน และการประกาศใช้พระราชกำหนดบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่นพ.โรมเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการรวมกฎหมาย 6 ฉบับเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการสั่งการแบบรวมศูนย์ เพราะการกักกันและควบคุมโรคนั้นมีหลากหลายกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ ยังมีภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทุกฝ่ายต้องประสานงานใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการบูรณาการของการกักกันโรคในทุกขั้นตอนตลอดจน การตรวจคนเข้าเมือง และพิธีการทางศุลกากร (Quarantine-Immigrations-Customs) ที่ครอบคลุม หากไม่มีพระราชกำหนดนี้ แต่ละกระทรวงต่างก็ใช้พรบ.ของตน จะทำให้การประสานงานยากลำบากในภาวะฉุกเฉิน เมื่อมีฝ่ายกลาโหมมาเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำท่าอากาศยาน ทุกอย่างจึงเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น
จากประสบการณ์ครั้งนี้ นพ.โรมคาดหวังว่า ศักยภาพในการคัดกรองโรคของด่านเข้า-ออกประเทศของไทยจะมีความยั่งยืนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นด่านฯทางอากาศ ทางน้ำหรือทางบก ซึ่งควรมีมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติเหมือนกัน และการคัดกรองจะไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่โรคโควิด 19 เท่านั้น แต่ต้องประยุกต์ใช้ได้กับโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อาทิ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และโรคเมอร์ส และในระยะยาวต้องสามารถคัดกรองโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย
คุณเพียงใจ บุญสุข คุณมณฑิรา นาควิเชียร และ Dr Mark Simmerman เอื้อเฟื้อข้อมูล
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย