ปัจจุบันประชากร 1 ใน 8 คนเป็นโรคอ้วน
เจนีวา (1 มีนาคม 2567) – การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Lancet แสดงให้เห็นว่าในปี 2565 ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน สถิติจากทั่วโลกพบว่าโรคอ้วนในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตั้งแต่ปี 2533 และเพิ่มขึ้นสี่เท่าในเด็กและวัยรุ่น (อายุ 5 ถึง 19 ปี) ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 43 ของประชากรวัยผู้ใหญ่นั้นมีภาวะน้ำหนักเกินในปี 2565
การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าอัตราการขาดสารอาหารจะลดลง แต่ประเด็นนี้ก็ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้และตะวันออก และแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
ประเทศที่มีอัตราการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และโรคอ้วนรวมกันสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและแคริบเบียน รวมถึงประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบ รวมถึงภาวะโภชนาการไม่เพียงพอ (ผอม แคระแกร็น น้ำหนักน้อยเกินไป) วิตามินหรือแร่ธาตุไม่เพียงพอ ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน การศึกษาพบว่าภาวะโภชนาการไม่เพียงพอเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่าครึ่งของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และโรคอ้วนก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด
องค์การอนามัยโลกมีส่วนร่วมในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของการศึกษาครั้งนี้ ขณะนี้ชุดข้อมูลทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ผ่าน Global Health Observatory แล้ว
“การศึกษาครั้งใหม่นี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันและการจัดการโรคอ้วนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผ่านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น” ดร. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกกล่าว “การกลับมาสู่เส้นทางเพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการควบคุมโรคอ้วนนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและชุมชน โดยการสนับสนุนจากนโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับประเทศ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือความร่วมมือจากภาคเอกชนซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อสุขภาพจากของผลิตภัณฑ์ของตน”
โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่ซับซ้อน สาเหตุของโรค และมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อควบคุมภาวะวิกฤตนั้นเป็นที่ทราบกันดี แต่การดำเนินการเหล่านั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี 2565 ประเทศสมาชิกได้ลงมติยอมรับแผนเร่งรัดขององค์การอนามัยโลกเพื่อหยุดโรคอ้วน (WHO Acceleration Plan to stop obesity) ซึ่งสนับสนุนการดำเนินการระดับประเทศจนถึงปี 2573 ในปัจจุบันรัฐบาลของ 31 ประเทศกำลังเป็นผู้นำในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอ้วนด้วยการดำเนินการตามแผนดังกล่าว
โดยมีมาตรการหลักคือ:
• การดำเนินการเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่วันแรกของชีวิต รวมถึงการส่งเสริม การคุ้มครอง และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
• การควบคุมการทำการตลาดของอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก
• นโยบายด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน รวมถึงมาตรการในการควบคุมการขายผลิตภัณฑ์ที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงในบริเวณใกล้เคียงโรงเรียน
• นโยบายการเงินการคลังและการสนับสนุนทางราคาเพื่อส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ
• นโยบายการติดฉลากโภชนาการ
• การให้ความรู้สาธารณะและการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกำลังกายที่เพียงพ
• มาตรฐานการมีกิจกรรมทางกายในโรงเรียน และ
• บูรณาการบริการป้องกันและจัดการโรคอ้วนเข้ากับการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ
“การดำเนินนโยบายที่สนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่จับต้องได้ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมกิจกรรมกำลังกายและวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีสำหรับทุกคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย” ดร. ฟรานเชสโก บรังกา ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอนามัยโลก และหนึ่งในผู้ร่วมเขียนการศึกษาฉบับนี้กล่าว “ประเทศต่างๆ ควรบูรณาการการป้องกันและการจัดการโรคอ้วนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน”
การจัดการกับภาวะโภชนาการไม่เพียงพอจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการจากหลายภาคส่วนทั้งในด้านการเกษตร การคุ้มครองทางสังคม และสุขภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโภชนาการที่จำเป็นอย่างทั่วถึง
อ่านต้นฉบับ